สง่างามพระบรมรูปในหลวง ร.9 อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์ และน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ วันที่ 13 ตุลาคม 2565 วันคล้ายวันสวรรคต ร.9

สำหรับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีขนาดความสูง 7.41 เมตร หรือขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักสวนจิตรดา ถนนศรีอยุธยา  หล่อด้วยโลหะสำริด ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 8 เหลี่ยม มีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

คำจารึกทั้ง 8 ด้าน ประกอบด้วย แผ่นจารึกที่ 1  ด้านทิศตะวันออกฉียงเหนือพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพ วันจันทร์ ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470  เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันอาทิตย์ ที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2489  เสด็จสวรรคต วันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2556  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดูลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวิโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี มาทรงประกอบพิธิเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2565 

 แผ่นจารึกที่ 2 ด้านทิศตะวันออก พระราชาผู้ทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ‘เราจะครองแผ่นเดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ เมื่อวันที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย โดยสมบูรณ์ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานว่าจะทรงบำเพ็ญสรรพราชกรณียกิจด้วยทศพิธราชธรรม ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อบำบัดทุกข์บำารุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ สมดังพระราชปณิธานที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยไว้ทุกประการ

 แผ่นจารึกที่ 3 ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลางใจราษฎร์ ” ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือ การที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง’ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารทั่วพระราชอาณาจักร ทำให้ทรงใกล้ชิดกับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทรงเห็นถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร จึงทรงศึกษาหาวิธีแก้ไข นำมาซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 2,000 โครงการ ด้วยทรงมุ่งหมายให้พสกนิกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การอุทิศพระองค์ทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรตลอดรัชสมัย ก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

แผ่นจารึกที่ 4 ด้านทิศใต้ ปราชญ์ของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักคิดและนักปฏิบัติ พระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลอันเกิดจากการทรงงานหนักและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนา

คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ทรงเข้าใจ เข้าถึง  ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน และป่าไม้ ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎร เกิดเป็นแนวพระราชดำริด้านการเกษตร ‘การเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่’ อันเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็ก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังพระราชทานแนวพระราชดำริ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีคุณธรรม

แผ่นจารึกที่ 5 ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระภูมินทร์บริบาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา พระอัจฉริยภาพในศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ทรงประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้านของพระองค์ เปรียบประดุจเป็น ‘พลังแห่งแผ่นดิน เป็นภูมิคุ้มกัน”นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน พระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข การคมนาคม การชลประทาน การศึกษา เทคโนโลยี ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ

แผ่นจารึกที่ 6 ด้านทิศตะวันตก นวมินทร์โลกกล่าวขาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ อาทิ อัครศิลปิน พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งฝนหลวง พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน นอกจากนี้ ได้มีการถวายพระนามด้วยความจงรักภักดี อาทิ กษัตริย์เกษตร กษัตริย์นักพัฒนา และกษัตริย์นักกีฬา พระเกียรติคุณของพระองค์ ไม่เพียงแต่เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ใจคนไทยทั้งชาติเท่านั้น หากแต่ยังปรากฎชัดต่อสายตานานาอารยประเทศอีกด้วย ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลหลากหลายสาขาจากสถาบันและองค์กรต่างประเทศ เช่น รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ที่องค์การสหประชาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในฐานะที่ทรงเป็นนักคิด และทรงมีคุณปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นเกียรติภูมิอันสูงสุดของประเทศชาติและชาวไทยทั้งปวง

แผ่นจารึกที่ 7 ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สืบสาน รักษา และต่อยอด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชจริยวัตรอันงดงาม ทรงเป็นต้นแบบแห่งความเพียรในการทำความดี และทรงอุทิศพระองค์เพื่อประเทศชาติและประชาชน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงน้อมนำมาเป็นพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด ในการมุ่งมั่นทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์และความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติสืบไป

แผ่นจารึกที่ 8 ด้านทิศเหนือ บรมราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมนทารรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น ณ พื้นที่ซึ่งทรงอุทิศให้เป็นสวนสาธารณะ มีภูมิสถาปัตย์ตามแบบอย่าง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศให้ปรากฎแผ่ไพศาลสืบไปตลอดนิรันดร์กาล

เชิญชวนคนไทยเฝ้าฯ รับเสด็จในหลวงและพระราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 เวลา 17.00 น.โดยพร้อมเพรียง วันเดียวกันเปิดให้ประชาชนกราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ในหลวง-พระราชินี' ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

'พี่คนดี' ร่ายกลอน 'ตราบฟ้าสิ้น ดินสลาย' ผู้ใดมีจิตคิดทำลาย ขอให้แพ้พ่ายไม่ตายดี

เพจเฟซบุ๊ก P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น) โพสต์บทกลอนเรื่อง "ตราบฟ้าสิ้น ดินสลาย" มีเนื้อหาดังนี้ คุณความดี ของพระองค์ จะคงอยู่

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเททองหล่อพระบรมรูปในหลวง ร.9

18 มิ.ย.2565 - ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เสด็จ