ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานหนังสือที่จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รับการตอบรับจากเหล่านักอ่านมากกว่าจัดในสถานที่อื่น ปีนี้งานหนังสือแห่งชาติจะกลับมาจัดที่นี่อีกครั้ง เมื่อศูนย์ฯ สิริกิติ์เปิดให้บริการหลังปิดปรับปรุงใหญ่ ด้วยการเดินทางสะดวกสบาย อยู่ใจกลางเมืองในบรรยากาศที่คุ้นเคย เชื่อว่า งานหนังสือจะคึกคักสุดๆ คณะผู้จัดงานคาดมีคนมาเดินชมงานไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน เม็ดเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาท โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT กำหนดจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 (Book Expo Thailand 2022) ภายใต้แนวคิด ‘ BOOKTOPIA : มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง’ ตั้งแต่วันที่ 12-23 ต.ค. 2565 งานนี้ มีสำนักพิมพ์เข้าร่วม 306 ราย 788 บูธ กิจกรรมเวทีและอบรมสัมมนากว่า 100 รายการ จัดโซนหนังสือ 6 หมวด พร้อม 6 กิจกรรมไฮไลท์
สำหรับภาพรวมธุรกิจหนังสือปี 64 นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า ช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 สำนักพิมพ์ส่วนหนึ่งปิดตัว พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อหนังสือผ่าน Market Place เช่น shopee, Lazada และมีการพรีออเดอร์หนังสือเพียงแค่เห็นปกและตัวอย่างบทแรก จากเดิมต้องมีหนังสือออกเป็นเล่มก่อน สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวมาจำหน่ายหนังสือแบบออนไลน์ สายป่านไม่ต้องยาวก็สามารถทำธุรกิจอยู่รอดได้
ขณะที่หนังสือออกใหม่ นายก PUBAT บอกว่า ก่อนโควิดมี 2 หมื่นปก ช่วงโควิดหนังสือใหม่ลดจำนวนเหลือ 18,000 ปก หมวดที่เพิ่มคือ การ์ตูน นิยายแปล และหนังสือเด็ก ส่วนที่ลดลง คือ แบบเรียน หนังสือแนวธุรกิจ รวมถึงนวนิยายไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด จำเป็นต้องสร้างเวทีให้นักเขียนสร้างงานนิยายมากขึ้น
“ ปี 65 ยอดพิมพ์หนังสือใหม่ 7,690 ปก เมื่อถึงสิ้นปีจะมีแค่ 12,000 ปกเท่านั้น คาดหวังว่างานหนังสือระดับชาติที่จะเกิดขึ้น หากมีเสียงตอบรับดีจากนักอ่าน เชื่อว่าการผลิตหนังสือใหม่จะกลับมา ย้อนไปปี 57 ธุรกิจหนังสืออู้ฟู่มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ก่อนจะลดลงต่อเนื่อง ปี 64 อยู่ที่ 13,000 บาท คาดว่าปีนี้จะขยับเป็น 15,000 บาท อีกทั้งพบว่ายอดขายในMarket Place เติบโตถึง 61% ในปี 65 “ นางสาวทิพย์สุดา กล่าว
ส่วนงานหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 นายก PUBAT กล่าวว่า ที่ผ่านมา งานหนังสือหรือบุ๊คแฟร์ที่จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จัดขึ้นครั้งแรกปี 2504 ถูกจัดในหลายสถานที่ ทั้งสนามหลวง สวนลุม ในห้าง โรงเรียน หอประชุมจุฬาฯ หอประชุมธรรมศาสตร์ สถานีรถไฟฟเ จนกระทั่งปี 2543 ถูกจัดขึ้นที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์เป็นครั้งแรก
“ เราพยายามเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์การอ่าน ซึ่งที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ สร้างนักอ่านนักเขียนให้เติบโตงอกงาม เราจึงเรียกที่นี่ว่า “บ้าน” เพราะจัดงานยาวนาน 19 ปี จน กระทั่งปี 62 ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ปิดปรับปรุง ปีนี้กลับมาจัดงานที่บ้านอีกครั้ง เชื่อว่าจะตอบโจทย์ทั้งผู้จำหน่ายและผู้ซื้อเป็นอย่างดี “ นางสาวทิพย์สุดา กล่าว
ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ แบ่งเป็น 6 โซนหนังสือ ได้แก่ 1.หนังสือเด็กและการศึกษา 2.หนังสือทั่วไป 3.หนังสือเก่า 4.หนังสือประวัติศาสตร์และการเมือง 5.หนังสือนิยายและวรรณกรรม และ6.หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น
ที่น่าสนใจมี 6 กิจกรรมเด่น ประกอบด้วย Book Wonderland บริเวณแลนด์มาร์กกลางพื้นที่การจัดงาน เป็นจุดสำคัญของการถ่ายรูปและเช็คอิน เป็นการจำลองเมืองหนังสือมาไว้ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โซนนี้มีถนนห้องสมุด เป็นถนนสายพิเศษที่ตกแต่งด้วยรายชื่อนักเขียน ชื่อหนังสือ และบางประโยคประทับใจจากหนังสือ แถมยังจะได้พบปะสังสรรค์ พูดคุย และกระทบไหล่นักเขียนที่ชื่นชอบ
ถัดมากิจกรรม ถนนนักอ่าน หรือ Reader Road โดย PUBAT x สมาคมป้ายยา พบกิจกรรม Envelope letters on the wall เขียนความในใจใส่ซองจดหมายติดไว้บนกำแพงในบูธ Book Blind Date แลกเปลี่ยนหนังสือ โดยห่อหนังสือและเขียนแค่คำโปรย Book Playlist จัดลิสต์หนังสือตามหัวข้อและอารมณ์ที่พร้อมจะส่งต่อให้นักอ่านคนอื่นๆ ได้อ่านตาม และล้อมวงเข้ามาป้ายยาหนังสือกัน
กิจกรรม Live-Brary พบกับกิจกรรมอ่านมนุษย์ หรือห้องสมุดมนุษย์ นายก PUBAT ให้ภาพโซนนี้ว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากเดนมาร์ค แทนที่จะเปิดหนังสืออ่าน แต่เปลี่ยนมนุษย์เป็นหนังสือแทน เพื่อลดอคติ ความไม่เท่าเทียม การตัดสินคนจากภายนอก
“ เรารวบรวม “หนังสือมนุษย์ : Human Book” 10 คน ทั้งคนไร้บ้าน เด็กหลุดจากระบบการศึกษา สาวซุปเปอร์ไซด์ สาวลายสัก ฯลฯ มาให้นักอ่านได้อ่านด้วยกระบวนการรับฟัง เพื่อสร้างความเข้าอกเข้าใจ ก้าวข้ามอคติที่มีอยู่ หัวใจคือ อย่าตัดสินหนังสือจากปก ตัดสินคนจากภายนอก “ นางสาวทิพย์สุดา เผยอีกไฮไลท์
นอกจากนี้ มีนิทรรศการ Booktopia เมืองในฝันของนักอ่าน บริเวณด้านหน้าระหว่างฮอลล์ 6 – ฮอลล์ 7 เปิดพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์และพลังของการมีส่วนร่วม เชิญชวนนักอ่านร่วมแชร์ แบ่งปัน และเติมเต็มไอเดียของภาพเมืองในฝัน แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบได้ผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง
ส่วนไฮไลท์สุดท้าย Book Factory นายก PUBAT ให้ภาพว่า จำลองพื้นที่โรงพิมพ์ จัดวางสิ่งของเหลือใช้และเศษกระดาษเสมือนว่าอยู่ภายในโรงพิมพ์ เห็นสิ่งหลงเหลือจากกระบวนการพิมพ์ในแต่ละขั้นตอน ก่อนมาเป็นหนังสือแต่ละเล่ม ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและมีส่วนร่วมสร้างเมืองในฝันไปด้วยกัน
ตลอด 12 วัน บริเวณเวทีกลาง มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ยิ่งอ่าน ยิ่งสร้าง แรงบันดาลใจ ขับเคลื่อน E-library ห้องสมุดโรงเรียน จาก B2S จาก รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ และพฐา รัตนวิศิษฎ์กุล ตลอดจนงานเปิดตัวหนังสือใหม่ที่หนอนหนังสือรอคอย เช่น ทักษิณ ชินวัตร Thought and Theory, “ปรับ” เมื่อโลก “เปลี่ยน” กับบทเรียนจากเศรษฐกิจโลกหมื่นปี, นักสู้ อานันท์
บรรยากาศการล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดจากเหล่าคนดังจะกลับมาที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ลิสต์รายชื่ออย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ท็อป-จิรายุศ ทรัพย์ศรีโสภา ไม่รวมกิจกรรมเสวนาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เอาใจครอบครัวและเด็กๆ รวมทั้งความบันเทิงจากกิจกรรมของ BNK 48, CGM 48 และการเปิดตัวซีรีย์เรื่องใหม่จากผู้จัดและนักแสดงวัยรุ่น
เตรียมพบกับมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ตั้งแต่วันที่ 12 – 23 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ที่เก่า ที่ๆ นักอ่านเรียกหาและคิดถึง เดินทางง่ายรถไฟฟ้า MRT สถานีศูนย์ฯ สิริกิติ์ รถส่วนตัวภายในศูนย์ฯ มีที่จอดรถรองรับ ช่วงนี้ฟรีค่าจอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
งานสัปดาห์หนังสือ โกยเงิน 350 ล้าน 'การ์ตูน-นิยาย'ขายดีสุด
18 เม.ย.2566 - นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 สนับสนุนโดย BOOK☆WALKER ปีนี้จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Bookfluencer
‘สัปดาห์หนังสือ’ ปลุกอินฟลูฯ สายการอ่าน
ปีนี้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จะจัดภายใต้แนวคิด " Bookfluencer : ผู้นำอ่าน“ ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.– 9 เม.ย. 2566 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หนังสือดีเด่น ปี 66 ปลุกรักการอ่าน
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการกระจายหนังสือดี มีคุณภาพ และกระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดประกวดหนังสือดีเด่นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี การประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวม411 เรื่อง