เปิดให้เข้าชมแล้วนิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย: สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” งานแสดงโบราณวัตถุเครื่องกระเบื้องจากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวซู ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 97 ชิ้น ผลงานเซรามิกส่วนใหญ่ที่จัดแสดงมาจากเมืองอาริตะ จังหวัดซากะ ซึ่งเป็นเมืองที่ผลิตเครื่องเคลือบด้วยหัตถศิลป์ชั้นสูงเก่าแก่ นอกจากคอลเลคชันเซรามิกญี่ปุ่นโบราณ ยังจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาของไทยจำนวน 90 ชิ้น เนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมากว่า 135 ปี
สำหรับ เมืองอาริตะ จ.ซากะ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะคิวซู ถือเป็นแหล่งกำเนิดเครื่องกระเบื้องของญี่ปุ่น เริ่มต้นในปี 1610 ภูมิปัญญานี้มีการสืบทอดต่อเนื่องมากกว่า 400 ปี ผ่านการใช้กระบวนการของดิน น้ำ ลม ไฟ คือ ปั้นดินทราย ฉาบไล้ด้วยน้ำ นำผึ่งลม โหมฟืนไฟในเตา โดยมีแร่เกาลิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอดีต ปัจจุบันแร่ชนิดนี้มาจากเหมืองที่อะมากุสะ จ.คุมาโมโตะ
ขวดแปรงตีชาเขียนสีลงบนเคลือบลายดอกโบตั๋น
เครื่องกระเบื้องเมืองอาริตะนับว่าเป็นงานหัตถกรรมอันมีค่า ญี่ปุ่น เรียกว่า “ไซคุ”หัวใจสำคัญคือความละเอียดและปราณีตของช่างปั้น ตั้งแต่การขึ้นรูปทรง จนสำเร็จเป็นภาชนะที่งดงาม โดยผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาเมืองอาริตะมีนามว่า คานากาเอะ ซังเป ชาวเกาหลี ที่มายังญี่ปุ่นในช่วงสงครามบุนโรกุ เคอิโช รวมถึงช่างฝีมืออื่นๆ ที่มีทักษะในการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและลวดลายที่ปราณีตสวยงาม
ยุคทองของอุตสาหกรรมเซรามิกเมืองอาริตะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หมิงสู่ราชวงศ์ชิงในปี 1644 ทำให้การส่งออกเซรามิกเติบโตยาวนานกว่า 100 ปี ผ่านเรือของบริษัท Dutch East India Company รวมถึงส่งออกมาประเทศไทย จนถึงยุคเสื่อมถอยของการส่งออกในปี 1684 จากประกาศยกเลิกข้อจำกัดในการค้าขายทางทะเล จีนกลับมาผงาดครองตลาดอีกครั้ง เป็นเหตุให้ต้องกลับรุกตลาดในประเทศมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต มีทั้งราคาถูกและแพง ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องกระเบื้องเมืองอาริตะขับเคลื่อนจนถึงปัจจุบัน
จานเขียนลายครามรูปบุคคลและศาลาจีน
พิพิธภัณฑ์เซรามิกคิวซูร้อยเรียงเรื่องราวการจัดแสดงเซรามิกได้อย่างน่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้ เริ่มที่โซนการส่งออกของญี่ปุ่น-เซลาดอนสู่ลายคราม-ก่อนจะเป็นเครื่องกระเบื้องอาริตะ ที่มีการจัดแสดงเซรามิกโบราณ อาทิ ขวดแปรงตีชาเขียนสีลงบนเคลือบลายดอกโบตั๋น(1650-1660), โถ เขียนลายครามภาพดอกไม้(1660-1680), ขวดเคลือบสีขาวที่ก้นขวดเขียนลายครามตรา IC(1680-1700), ขวดใส่ซอสญี่ปุ่น เขียนลายครามว่า JAPANSCHZOYA(1800-1840), กุณฑี เขียนสีบนเคลือบภาพพระศรีอริยเมตไตรย(โฮเทอิ)(1660-1670), ชาม เขียนสีบนเคลือบลายมังกรและดอกเบญจมาศ(1655-1660)
ถัดมาโซน คากิเอมอนและนาเบชิมะ เซรามิก 2 รูปแบบ ที่สมบูรณ์แบบและยิ่งใหญ่แห่งเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่น โดยเซรามิกคากิเอมอนเป็นแบบเขียนหลายสีใช้เตาเผาส่วนตัว คุณภาพดีสำหรับชนชั้นสูง ส่งออกไปยุโรป ส่วนนาเบชิมะ เผาเตาทางการใช้เทคนิคและการออกแบบปราณีต ส่งให้ตระกูลของโชกุน โดยแสดงงานชิ้นสำคัญ ได้แก่ จานแบบคราก เขียนลายครามรูปหงส์และตรา VOC (1690-1710), กาน้ำ เขียนสีบนเคลือบลายหงส์และดอกคิริ(1730-1760), จานขอบลายหยัก เขียนลายครามภาพชาวจีนและสุนัข(1680-1690)
ชมคอลเลคชั่นเซรามิกญี่ปุ่นโบราณ
โซนวัฒนธรรมอาหารและเครื่องเซรามิกสมัยเอโดะ(1603-1868) โชว์จานเขียนลายครามรูปบุคคลและศาลาแบบจีน(1610-1630) อยู่ในช่วงปีการเริ่มผลิตเซรามิกเมืองอาริตะ, จานปากหยัก เขียนสีเคลือบลายมังกรและเสือแบบคากิเอมอน(1670-1690), แจกันสามขามีหู เขียนสีเคลือบลายมังกรและหงส์(1875-1880)
นอกจากนี้ มีนิทรรศการจำลองการทำงานของช่างเซรามิกในเมืองอาริตะในแผนกต่างๆ, การจำลองเตาเผาแบบไต่ระดับตามไหล่เขาในฮิเซ็น โดยเป็นรูปแบบสันนิษฐานของแหล่งเตาเทนกูตานิ เมืองอาริตะช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 และเตาเผาของไทย, การจัดแสดงเซรามิกเมื่อครั้งเรือจมในอ่าวไทย เกาะคราม จ.ชลบุรี และเซรามิกหรูหราที่ส่งออกไปยังยุโรปและเอเชีย และแสดงเซรามิกไทยจากแหล่งเตาสันกำแพง, เครื่องสังคโลก แหล่งเตาศรีสัชนาลัย เป็นต้น
ชามเขียนสีบนเคลือบลายมังกรและดอกเบญจมาศ
สนใจเข้าชมนิทรรศการพิเศษ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย : สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ได้ตั้งแต่วันนี้ -14 ธ.ค. ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทุกวันพุธ – อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ระหว่าง 3 เดือน สำนักช่างสิบหมู่จัดเวิร์กชอป การขึ้นรูปชิ้นงานจานวันที่ 25 ก.ย วันที่ 9 และ23 ต.ค.รวม 3 วันๆ ละ 4 รอบ รอบละ 30 คน การเขียนสีใต้เคลือบในวันที่ 6 และ 20 พ.ย.และ 4 ธ.ค. 3 วันๆ ละ 4 รอบ ผู้ร่วมกิจกรรมรอบละ30 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม
7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา
คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157
นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า
วธ.สั่งวางมาตรการลดเสี่ยงโบราณสถานตลอดฤดูฝน
13 ก.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย รู้สึกห่วงใยชาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมากที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด