ชาวบึงกาฬเป็น 1 ใน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง มีความเชื่อ ความศรัทธา เรื่องพญานาคอย่างเหนียวแน่นสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ทำให้พญานาคไปปรากฏในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พบได้จากงานสถาปัตยกรรมตามวัดวาอารามในจังหวัดบึงกาฬ โดยเฉพาะวัดอาฮงศิลาวาสริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณแก่งอาฮง จุดที่ได้ชื่อว่าลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ซึ่งมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับความเชื่อเป็นเมืองหลวงพญานาค ภายในวัดมีรูปปั้นพญานาคมากมาย เป็นหนึ่งจุดชมบั้งไฟพญานาคขึ้นมาจากแม่น้ำโขง
การเคารพบูชาพญานาคยังปรากฏผ่านถ้ำนาคาในอุทยานแห่งชาติภูลังกาที่โด่งดังมากเวลานี้ ความอัศจรรย์ของธรรมชาติมีหินขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายงูยักษ์หรือพญานาคอยู่หลายจุด บางก้อนลักษณะคล้ายกับหัวและลวดลายหินราวกับเกร็ดพญานาคที่มีชีวิต ชาวบ้านเชื่อว่า ถ้ำนาคา คือพญานาคที่ถูกสาปให้กลายเป็นหิน เพราะบริวารของพญานาคผู้ครองเมืองบาดาลไปมีสัมพันธ์สวาทกับมนุษย์ และเมืองบาดาลที่พญานาคและบริวารอาศัยอยู่ คือ บึงโขงหลงใน จ.บึงกาฬ ทุกวันนี้ ยิ่งใกล้ออกพรรษาบั้งไฟพญานาค 10 ตุลาคมนี้ คนยิ่งแห่แหนจากทุกสารทิศมาบึงกาฬ
ความเชื่ออันแรงกล้านี้นำมาสู่การจัดงาน”เทศกาลแห่งศรัทธา” แห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง เมื่อวันที่ 2-4 ก.ย. ที่ผ่านมา ณ บริเวณองค์การบริหารสวนตำบลหนองพันทา ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทา พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ ตลอดจนเครือข่ายชุมชนที่หวงแหนวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิด พร้อมด้วยนายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
มีโอกาสไปร่วมประเพณีนี้ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน โดยประยุกต์วัฒนธรรมร่วมสมัยระหว่างเทศกาลผีตาโขนของจังหวัดเลยที่มีการใช้หน้ากากผีตาโขนรังสรรค์จากหวดนึ่งข้าวเหนียวแต่งแต้มลวดลายงดงามและงานเทศกาลวันมาฆบูชาสักการะพระธาตุยาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีธุงใยแมงมุมหลากสีสัน เข้าไว้ด้วยกัน แล้วเชื่อมประเพณีความเชื่อบึงกาฬที่มีพญานาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธา นำมาสู่ลวดลายพญานาคบนธุงความสูงเกือบ 2 เมตร ที่ใช้ในขบวนแห่ พร้อมการร่ายรำจากชาวโซ่พิสัยในชุดผ้าพื้นถิ่นสีม่วงกว่า 300 ชีวิต ส่วนผู้ชายใส่โสร่ง สวมรองเท้าแตะ สื่อความเป็นพื้นถิ่นกันแบบเลอค่า
ขบวนธุงหลากสี ทั้งสีม่วง สีประจำจังหวัดบึงกาฬ สีเขียว สีประจำอำเภอโซ่พิสัย และสีขาวสื่อพลังศรัทธาพญานาค ถือเป็นการแห่ธุงพญานาคในประเทศไทยครั้งแรกและมีหนึ่งเดียวในโลก ความตระการตาต่อด้วยขบวนแห่ขันหมากเบ็งสะท้อนภูมิปัญญาการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวอีสานจากงานประดิษฐ์ใบตองและดอกไม้, ขบวนกระติบข้าวเหนียวเล่าที่มาของกระติบข้าวเหนียว ซึ่งอยู่คู่วิถีอีสาน จากนั้นเรามาเดินเล่นถนนสายวัฒนธรรมตลาดบกและตลาดน้ำลิ้มลองอาหารพื้นถิ่น และเรียนรู้ผ้าจากกลุ่มชาติพันธุ์ในบึงกาฬ ซึ่งมีเทคนิคการทอและลวดลายพญานาคเป็นเอกลักษณ์ เทศกาลนี้จะผลักดันเป็นงานประเพณีประจำปีของ จ.บึงกาฬ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้นด้วย
มาถึง อ.โซ่พิสัย ต้องไปพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ เราได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่อนุรักษ์สถาปัตยกรรมบ้านเรือนอีสานให้กลายเป็นมิวเซียมที่เจ้าของบ้านอาศัยอยู่จริง โดยอาจารย์สุทธิพงษ์ สุริยะ หรืออาจารย์ขาบ ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง จุดเด่นนำศิลปะ 2 แขนงทั้งศิลปะร่วมสมัยผสานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายในจัดแสดงวิถีชีวิตของชุมชนชาวอีสานแบบดั้งเดิม รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ในอดีต เราได้สัมผัสกลิ่นอายวิถีชีวิตชุมชนชนบทผ่านไอเดียสร้างสรรค์
ความเชื่อความศรัทธาพญานาคในดินแดนลุ่มน้ำโขงยังนำมาจัดสร้างประติมากรรมพญานาคสองฝั่งโขงภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ เพราะชาวไทยและชาวลาวที่อาศัยริมโขงล้วนมีความศรัทธาพญานาค งานศิลป์ชิ้นนี้ถือเป็นตัวแทนของผู้คนที่ผูกพันกับพญานาค ออกแบบให้มีส่วนเศียรพญานาคโผล่พ้นพื้นดิน กับส่วนหางที่เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวโค้งตัวลอดท้องและหาง พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ชีวิตแฮปปี้ มีพลังเหลือล้น เราไม่รอช้าเดินลอดท้องพญานาคกันเลย
อีกจุดห้ามพลาด องค์พญานาค 3 เศียรขนาดใหญ่สีเขียวมรกตงามสง่า ชื่อ “พญาทะนะมูลนาคราช” ให้ผู้คนที่นับถือพญานาคและนักท่องเที่ยวได้มากราบไหว้สักการะบูชา เป็นสิริมงคลกับชีวิต นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนแผ่นป้ายขอพรจากองค์พญานาค เขียนเสร็จแล้วนำไปแขวนไว้ ก็มีแผ่นไม้เล็กๆ จำนวนมากแขวนเรียงรายสวยงาม เป็นอีกบรรยากาศที่แปลกตา เรามักเห็นในศาลเจ้าหรือวัดญี่ปุ่น บรรยากาศรอบลานพญานาคร่มรื่น แถมยังมีกราฟฟิตี้พญานาคชวนเสพงานศิลปะ
ออกจากพิพิธภัณฑ์ไปเดินเล่นต่อในหมู่บ้าน ยิ่งตื่นตาตื่นใจกับศิลปะกราฟฟิตี้พญานาคที่กระจายอยู่กว่า 100 ผลงานทั่วทั้งหมู่บ้าน ตามผนังบ้าน ร้านตัดผม ร้านรวงขายหัตกรรมจักสาน พญานาคในอิริยาบถต่างๆ เข้ากับสถานที่ กลายเป็นหมู่บ้านสตรีทอาร์ตพญานาค หนึ่งเดียวในโลก ที่มีบรรยากาศน่ารัก สร้างรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนชุมชน ส่วนใครชอบปั่นจักรยานสามารถใช้บริการจักรยานของพิพิธภัณฑ์ ปั่นระยะทางใกล้ๆ ไปตามเช็คอินกราฟฟิตี้พญานาคแต่ละจุดๆ โพสต์ลงโซเชียลได้ รวมทั้งใครที่อยากดื่มด่ำกับวิถีชุมชนที่นี่มีบริการพักค้างคืนโฮมสเตย์ในชุมชน จะได้ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ-ผูกข้อมือ ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นทั้งอาคารคาวและอาหารว่างจากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น
อาจารย์ขาบ บอกว่า งานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” เป็นการนำทุนวัฒนธรรมที่ท้องถิ่นมีอยู่แล้วและนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ขณะที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมสำคัญ ดำเนินงานมา 6 ปี เป็นตัวอย่างการนำซอฟต์ พาวเวอร์ มาพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจฐานราก เปลี่ยนโฉมหมู่บ้านเกษตรกรรมชนบทที่ห่างไกลความเจริญด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องพญานาคมาออกแบบนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อนอกจากเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ ชมกราฟฟิตี้พญานาคในหมู่บ้าน ยังสามารถจับจ่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำงานออกแบบมาเพิ่มมูลค่า ทั้งปลาร้าบอง เครื่องจักสานชิคๆ ยาหม่อง ผ้าฝ้ายทอมือ สร้างรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น
นอกจากหมู่บ้านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว แนะนำให้ไปเช็คอินกราฟฟิตี้พญานาคในพื้นที่ต่างๆ ของอำเภอโซ่พิสัย ทั้งสถานีตำรวจที่ใช้ศิลปะเชิญชวนให้คนอยากไปใช้บริการโรงพัก โรงพยาบาลโซ่พิสัยนำกราฟฟิตี้พญานาคไปบำบัดและสร้างความผ่อนคลายผู้เข้ามาใช้บริการสถาน แม้กระทั่งวัด โรงเรียน ก็มีกราฟฟิตี้เพิ่มสีสัน รวมแล้วกว่า 300 ชิ้นทั่วอำเภอ ส่วนที่สำนักสงฆ์อัคธัมโมมีการนำไหปลาแดกที่ชาวบ้านทิ้ง มาเก็บล้างทำความสะอาดและจัดวางตามไอเดียของอาจารย์ขาบ กลายเป็นรั้วไหปลาแดก หนึ่งเดียวในโลก ตอนนี้เร่งมือสร้างรั้วไหปลาแดกให้ยาวที่สุด เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่พัฒนาต้อนรับออกพรรษานี้ที่คนจะไหลมาบึงกาฬเนืองแน่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้วิถีชุมชนที่ผูกพันกับพญานาคนี้กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่อยากจะมาตามหาความสุข เติมพลังให้กับชีวิต ทำให้มีคนมาเยือนบึงกาฬอย่างไม่ขาดสาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประติมากรรมเพื่อชุมชน แหล่งรวมคนเมืองแห่งใหม่
ใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดให้กับคนเมืองแล้ว การมีสวนประติมากรรมให้เที่ยวชมย่านใจกลางเมือง เป็นแหล่งนัดพบชาวเมืองแห่งใหม่ เต็มเต็มความสุขของการใช้ชีวิตในเมืองด้วยผลงานศิลปะที่ชวนให้เราหยุดพัก
7 ศิลปินรางวัล'ศิลปาธร' ต้นแบบคนรุ่นใหม่
ศิลปินศิลปาธรล้วนเป็นศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจมุ่งมั่น สร้างผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)ยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล’ศิลปาธร’ จำนวน 7 สาขา
ปักหมุดพิพิธภัณฑ์ใน LA ต้องไปชมสักครั้ง
การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศให้สนุกสนาน นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่งดงามตระการตาและแหล่งมรดกวัฒนธรรมล้ำค่า พิพิธภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งในเดสติเนชั่นที่เราอยากแนะนำให้ไปเยี่ยมชม เก็บเกี่ยวช่วงเวลาพิเศษควรค่าแก่การจดจำ
ไทยโชว์งานศิลปะร่วมสมัย'ช็องจู คราฟต์ เบียนนาเล่'
12 ก.ย.2567 - นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการจัดนิทรรศการประเทศรับเชิญในงาน 2025 Cheongju Craft Biennale ร่วมกับ Mr. Lee Beom-seok ผู้ว่าการเมืองช็องจู ประธานคณะกรรมการจัดงาน Cheongju Craft Biennale ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมื่อวันก่อน
มท.1ชื่นชม 'บึงกาฬ' จับยาบ้าล็อตใหญ่มูลค่า 210 ล้านบาท
'อนุทิน' ชื่นชม ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง 'บึงกาฬ' จับยาบ้าบิ๊กล็อต 7 ล้านเม็ด เตือนแก๊งยาเสพติดรอดวันนี้หนีตลอดไป
'นิรันดร์กัลป์'ธีมศิลปะ ภูเก็ตเบียนนาเล่
มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale , Phuket 2025 เปิดตัวผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ นายอริญชย์ รุ่งแจ้ง และ Mr. David The พร้อมภัณฑารักษ์ นางสาวมาริสา พันธรักษ์ราชเดช และ Ms. Hera Chan ณ HOUSE OF TIN BARON อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ตอกย้ำความพร้อมจัด Thailand Biennale ครั้งที่ 4