เชิดชู'จ่าทวี'ครูผู้ให้ ช่วยสืบสานพุทธศิลป์

รางวัลศิลปาจารย์จัดตั้งครั้งแรกในปี 2565 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อมอบให้แก่ ศิลปินต้นแบบ  ครูศิลป์ ครูช่าง ครูภูมิปัญญาศิลป์ ปราชญ์ท้องถิ่น ที่มีความเชี่ยวชาญในการอนุรักษ์  สืบสาน ต่อยอดและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญา ตลอดจนมีผลงานโดดเด่นมากกว่า 20 ปี

จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ เป็นศิลปินคนแรกที่ได้รับรางวัลศิลปาจารย์ ชาวพิษณุโลกรู้จักเป็นอย่างดีในชื่อ” จ่าทวี” หรือ”ลุงจ่า” ในฐานะผู้บุกเบิกงานปั้นหล่อพระพุทธชินราช(องค์จำลอง)  งานประติมากรรมพุทธศิลป์อันทรงคุณค่านับหมื่นองค์ผ่านการรังสรรค์ของลุงจ่า ยังมีผลงานสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และรูปปั้นสำคัญต่างๆ  ด้วยความเชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ลุงจ่ายังทำหน้าที่ครูผู้ถ่ายทอดความรู้เสมอมา

กว่า 50 ปีบนเส้นทางสร้างงานพุทธศิลป์จนเป็นที่ยอมรับทั่วประเทศ เริ่มต้นวัยเด็กบิดาได้ถ่ายทอดความรู้ให้ลุงจ่า  และได้เรียนรู้งานศิลป์จากครูอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นจับพลัดจับพลูไปอยู่เมืองกรุงทำงานหลายอาชีพ ก่อนเดินทางกลับบ้านเกิด จ.พิษณุโลก ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวและได้ยึดอาชีพการหล่อปั้นพระที่มีเอกลักษณ์

สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติมาตลอดในการสร้างองค์พระ เป็นเทคนิคเฉพาะที่เรียกว่า สกุลช่างจ่าทวี โดยจะไม่หล่อปั้นพระพุทธชินราชที่ใหญ่หรือเทียบเท่าองค์จริง ดวงตาประดับด้วยเปลือกหอยมุกเพื่อให้เกิดความมันวาวเมื่อสะท้อนกับแสงไฟเหมือนมีชีวิต ลงรายละเอียดเหมือนองค์จริง แม้กระทั่งการสร้างท้าวเวสสุวรรณและอาฬหกยักษ์ประดับไว้ที่พระชานุ ( หัวเข่า)ขององค์พระที่ไม่เหมือนใคร อดีตปั้นพระในห้องเช่าเล็กๆ จนขยายมาเป็นโรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี) ขณะเดียวกันเป็นโรงเรียนสอนหล่อปั้นพระให้คนในพื้นที่และผู้ที่สนใจด้วย 

ด้วยใจรักวัฒนธรรมท้องถิ่น ลุงจ่าควักเงินส่วนตัวซื้อของเก่าโบราณเก็บสะสม ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา เครื่องมือหากิน เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ ที่บ่งบอกความเป็นรากเหง้าในอดีต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี สู่แหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญาและงานพุทธศิลป์สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองพิษณุโลก

ในการจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปาจารย์ ประจำปี 2565 ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี พิษณุโลก อนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า รางวัลศิลปาจารย์จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ศิลปินที่มีผลงานวัฒนธรรม เน้นผู้ทำหน้าที่เป็นครูผู้อนุรักษ์และส่งต่อองค์ความรู้ให้กับผู้คน สังคม ประเทศชาติ จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์  คู่ควรที่สุดและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ซึ่งเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้นิยามรางวัลศิลปาจารย์ไว้ว่า “รางวัลศิลปาจารย์ไม่อาจจะเปรียบเทียบกับรางวัลศิลปินแห่งชาติ แต่ก็นับว่าใหญ่กว่าในความหมาย” โดยศิลปินเข้ารับพระราชทานเข็มและโล่กับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

ด้าน จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ วัย 91 ปี  ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี และโรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี) กล่าวว่า รู้สึกภูมิที่ได้รับรางวัลศิลปาจารย์อันทรงเกียรตินี้เป็นคนแรก  การสร้างพระพุทธรูปเป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพยายามปรับปรุงพัฒนาการปั้นและหล่อองค์พระอยู่เสมอ พระพุทธชินราชองค์จำลองที่สร้างมีหลายรุ่นหลายขนาด ความรู้ได้ส่งต่อบุตรชายเพื่อสืบสาน และนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ร่วมกับวิธีการแบบดั้งเดิมเพื่อย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น งานในโรงหล่อยังเข้ามาดูงานและลงมือทำเองบ้าง ส่วนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีจำเป็นต้องสร้างขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ทุกคนได้เห็นถึงวิวัฒนาการการพัฒนาของสังคมในอดีต ปัจจุบันยังหาซื้อของเก่าอยู่เรื่อยๆ เพื่อสะสมไว้ เส้นทางนี้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ โดยยึดหลักซื่อสัตย์เป็นสำคัญ  อยากให้ทุกคนช่วยอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรม

ส่วนทายาทผู้สืบสานพุทธศิลป์ สกุลช่างจ่าทวี ธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ บุตรชาย  กล่าวว่า  ครอบครัวเรานับว่าผ่านอะไรมามากมายกว่าจะมีทุกวันนี้ คุณพ่อเป็นต้นแบบที่ดี แม้ว่าจะมีตนคนเดียวที่ทำงานโรงหล่อต่อ แต่พี่น้องก็ช่วยกันดูแลส่วนอื่นๆ ที่จะสืบสาน ต่อยอด ความตั้งใจของคุณพ่อ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์แม้ว่าจะไม่ใช่ช่องทางสร้างรายได้หลัก แต่อาชีพหล่อพระของพ่อทำให้มีเงินไปสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้นักเรียน เยาวชน เข้ามาศึกษาหาความรู้ ตนตั้งใจที่จะทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและส่งต่อไปยังรุ่นหลาน เพื่อให้สิ่งที่พ่อสร้างไว้คงอยู่ตลอดไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สวธ. จัดวันเด็กปี 68 ชวนเรียนรู้งานศิลป์ พบมาสคอต 'น้องหมูเด้ง Thai Cuteness ตัวตึง ถึงไทย'

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดกิจกรรมวันเด็กแบบจัดเต็มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนไทย เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และมุ่งปลูกฝังให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม รักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติไว้

สวธ.ชวนประกวดเยาวชนต้นแบบมารยาทไทย ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพฯ

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ กองทุน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศจัดการประกวด "เยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทยและมารยาทในสังคม ปี 2568"

วธ.จัดมหกรรม‘ปลาร้า หมอลำอีสาน’ ยกระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ดังก้องโลก

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท

สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท