นักแสดงรุ่นใหม่สืบสาน ’โขนพระราชทาน’มรดกล้ำค่า

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หรือโขนพระราชทาน ซึ่งคนไทยและคนต่างชาติต่างรอคอย กลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง  ตอนนี้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เตรียมพร้อมหลังจากที่ว่างเว้นยาว 2 ปีจากสถานการณ์โควิดระบาด โดยเลือกเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” แสดงบนเวทีปลายปีนี้   ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ในการดูแลรักษาโขนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

ความคืบหน้าล่าสุด มูลนิธิฯ ปรับรูปแบบจากการออดิชั่นคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ เป็นการจัดให้มีการทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ โดยมีนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์  3 แห่ง จาก 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อ่างทอง และลพบุรี รวม 65 คน เข้าทดสอบฝีมือในครั้งนี้ ใน 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ,ละครนาง,โขนพระ,โขนลิง และโขนยักษ์ โดยมีคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิฯ   เหล่าศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง  และผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย ร่วมเป็นคณะกรรมการทดสอบ ณ วิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง จ.อ่างทอง เมื่อเร็วๆ นี้   

ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  กล่าวว่า  การแสดงโขนตอน “สะกดทัพ” เป็นการนำตอนยอดนิยมกลับมาแสดงอีกครั้ง ที่ผ่านมา นำตอน”พรหมมาศ” กลับมาแสดงถึง  3 ครั้ง ผู้ชมตอบรับดีมาก สำหรับตอน”สะกดทัพ” ครั้งนี้ยังคงความสนุก  ความวิจิตรอลังการของฉากเต็มที่ โดยได้ปรับปรุงบท เพิ่มฉากใหม่ และมีฉากพิเศษเป็นไฮไลท์ช่วงท้าย  ตอนนี้ติดตาตรึงใจผู้ชม คนคุ้นเคยจากจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว ฉากหนุมานอ้าปาก และฉากที่นำมาจัดแสดงในอาคารโขนที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด  การแสดงโขนจะเปิดจินตนาการผู้ชมจากภาพมาโลดแล่นมีชีวิต  ทั้งยังมีเทคนิคต่างๆ สอดแทรก เป็นตอนที่มีการผจญภัยของหนุมานตัวละครเอก นักแสดงบนเวทีมีจำนวนกว่า 200 คน อีกความพิเศษปีนี้ตัวละครมัจฉานุเปิดโอกาสให้เด็กร่วมแสดงครั้งแรก เดิมใช้นักศึกษา  

การทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ปีนี้ ดร.อนุชาระบุง่ายกว่าทุกครั้ง เพราะทุกคนผ่านการคัดเลือกจากอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์ ผลทดสอบแสดงให้เห็นว่า เยาวชนมีไหวพริบด้วยผ่านการฝึกซ้อมเต็มที่ ถือเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ที่มีความพร้อม ครูผู้ใหญ่ศิลปินแห่งชาติให้คำแนะนำและรายละเอียดของบทบาทตัวละครแก่นักแสดงรุ่นใหม่ เป็นโอกาสที่ดีได้ใกล้ชิดศิลปินแห่งชาติสายโขนละคร  ฉะนั้น จะใช้เวลาการซ้อมรวมน้อยลงและปรับไม่มากก็เข้าที่   ศิลปิน อาจารย์ นักแสดงฝีมือดี และนักแสดงรุ่นใหม่ที่ร่วมแสดงโขนมูลนิธิฯ ได้ทำงานถวายสมเด็จพระพันปีหลวง สืบสานพระราชปณิธานฟื้นฟูทำนุบำรุงมรดกศิลปวัฒนธรรมชาติ

“  สองปีที่อยู่กับโรคภัย เชื่อว่า ทุกคนคิดถึงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระพันปีหลวง การแสดงที่จะเกิดขึ้นเป็นการสนองพระราชดำริฟื้นฟูโขน  อีกทั้งยูเนสโกประกาศยกย่องโขนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี 2561 เป็นความรับผิดชอบของทุกคนต้องธำรงรักษา และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทุกคนไม่ต้องเล่นโขน แต่สนใจดูโขน ถือว่าได้ทำหน้าที่ในบทบาทความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมร่วมกัน “ ดร.อนุชา กล่าว

ดร.เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเวทีการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565  ตอน”สะกดทัพ” กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงช่วงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาการออดิชั่นเพื่อคัดเลือกเยาวชนร่วมเป็นนักแสดงในการแสดงโขนฯ  จึงต้องปรับรูปแบบเป็นการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายในของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในเขตภาคกลาง เพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่มีทักษะการแสดงมาร่วมแสดงในโขนมูลนิธิฯ ปีนี้ โดยการทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่จากวิทยาลัยนาฏศิลป์จาก 3 จังหวัด  รวม 65 คน นักแสดงที่เข้ารับการทดสอบได้รับบทบาทเป็นตัวละครตามความสามารถ ได้แก่ ละครพระ 6 คน ละครนาง 10 คน โขนพระ 8 คน โขนลิง 14 คน และโขนยักษ์ 20 คน เดือน ก.ย.นี้ จะเริ่มฝึกซ้อมการแสดงโขนแล้ว  ปีหน้าหากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติจะเปิดโอกาสให้ นร. นศ. และผู้รักการแสดงโขนทั่วประเทศออดิชั่นคัดเลือกนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในการแสดงโขนมูลนิธิฯ เช่นเดิม 

“ นักแสดงรุ่นใหม่ที่ร่วมแสดงโขนมูลนิธิฯ ถือเป็นอนาคตของวงการโขนละคร พวกเขาสามารถเลือกเรียนอย่างอื่นได้ แต่กลับเลือกเรียนนาฏศิลป์ ช่วยอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ และเป็นอาชีพที่ไม่ได้เงินมาก อนาคตโขนจะอยู่ได้ ถ้าทุกคนสนใจ โขนเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ ช่วยกันสืบสานต่อไป  “  ดร.เกิดศิริ กล่าว

 นายกอบกิจ กอกัน นศ.ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง ร่วมทดสอบบทบาทโขนพระ กล่าวว่า ก่อนการทดสอบครั้งนี้ได้ฝึกซ้อมอย่างหนักในเพลงหลักๆ ที่ใช้กับตัวละครโขนพระ ทั้งหน้าพาทย์ แม่บทใหญ่ แม่บทเล็ก ช่วงทดสอบมีสมาธิและแสดงบทบาทตามโจทย์ที่คณะกรรมการให้ ดีใจที่สามารถทำได้  สำหรับเวทีการแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ เป็นความฝันสูงสุดของนักแสดงรุ่นใหม่อยากได้รับคัดเลือกร่วมแสดง ภาคภูมิใจที่มีโอกาสแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” แสดงร่วมกับศิลปิน นักแสดงเก่งๆ เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของชีวิต จะตั้งใจสืบสานศิลปวัฒนธรรมการแสดงโขน จากนี้จะตั้งใจฝึกฝนกระบวนท่าเพื่อให้การแสดงจริงท่วงท่าร่ายรำงดงาม

ส่วนนางสาวลภัสรดา แก้วตะพาน นศ.ปี 2 สถาบันเดียวกัน ทดสอบบทบาทละครพระ  กล่าวว่า  ภูมิใจได้คัดเลือกร่วมแสดงบนเวทีโขนพระราชทานอันทรงเกียรติ  จากนี้จะตั้งใจซ้อม ฝึกฝน การแสดง เพื่อให้ผู้ชมที่ซื้อบัตรชมการแสดงได้สัมผัสความงดงามของนาฏศิลป์โขน จะเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดหาไม่ได้ในห้องเรียน จะเก็บเกี่ยวทุกนาทีให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพตัวเองก้าวสู่ศิลปินต่อไป

ปีนี้ตัวละครมัจฉานุใช้นักแสดงรุ่นจิ๋วครั้งแรก   ด.ช.ศิวพงษ์ พึ่งสายยัน นร. ชั้น ป.4 รร.เซนต์คาเบรียล ร่วมทดสอบความสามารถบทมัจฉานุ และเป็นนักแสดงอายุน้อยสุดบนเวที  กล่าวว่า เรียนโขนมา 6 ปี ฝึกฝนตัวละครโขนยักษ์มาตลอด แต่เมื่อทราบปีนี้เปิดให้เยาวชนทดสอบบทบาทมัจฉานุ ก็ต้องปรับตัวและฝึกซ้อมเปลี่ยนจากยักษ์มาเป็นตัวละครลิง ซึ่งยาก โขนยักษ์เน้นสง่างาม ส่วนโขนลิงไม่อยู่นิ่ง คล่องแคล่วมีการกระโดด ตนมีโอกาสดูโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หลายครั้ง อยากเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เพราะรักโขนความฝันสูงสุด คือ อยากแสดงเป็นทศกัณฐ์  แต่ส่วนตัวชอบเล่นยักษ์ต่างเมือง เช่น อินทรชิต วิรุณจำบัง ฯลฯ สำหรับการแสดงโขนตอนสะกดทัพ จะแสดงตัวละครมัจฉานุให้ดีที่สุด เป็นความภาคภูมิใจได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

8 ฉากยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพ'พระจักราวตาร'

เพื่อเฉลิมฉลอง 2 โอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เบื้องหลังโขนศิลปาชีพ ตอน'พระจักราวตาร'

การแสดงโขนสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ตอน” พระจักราวตาร” โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง    ใกล้จะเปิดม่านถ่ายทอดความวิจิตรงดงามของนาฎกรรมชั้นสูงสานต่อศิลปะการแสดงโขนมรดกชาติและมรดกโลก

สุดยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'

จากพระราชหฤทัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ที่ทรงตั้งมั่นฟื้นฟูศิลปะการแสดงโขน ที่ครั้งหนึ่งผู้ชมเบาบาง ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก กลายเป็นการแสดงโขนยอดนิยม ดึงดูดให้คนออกจากบ้านมาดูโขนและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้

เปิดตัวโขนพระราชทาน'จักราวตาร'

วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แถลงข่าวเปิดตัวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พระจักราวตาร โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้

เปิดไฮไลต์โขน 'กุมภกรรณทดน้ำ'

เป็นการแสดงที่ทุกคนตั้งตารอสำหรับโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ซึ่งปีนี้กลับมาอีกครั้งด้วยโปรดักชั่นยิ่งใหญ่อลังการและทันสมัยแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับการแสดงโขนที่ไหนมาก่อน

สิริมงคลบวงสรวงเทพยดาอาจารย์ โขน'กุมภกรรณทดน้ำ' ก่อนแสดง

พิธีบวงสรวงเทพยดาครูอาจารย์โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” เป็นอีกพิธีสำคัญก่อนการแสดงจริงจะเปิดม่านขึ้น