เพื่อเป็นการส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสฝึกฝีมือและมีใจรักในการแสดงโขน ล่าสุด มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดให้มีการทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” มาร่วมทดสอบความสามารถในครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมทดสอบจะได้รับบทบาทตามความสามารถ ใน 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ, ละครนาง, โขนพระ, โขนลิง และโขนยักษ์
สำหรับการทดสอบความสามารถนักแสดงในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายประเมษฐ์ บุณยะชัย คณะกรรมการและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พ.ศ.2563 ร่วมด้วยคณะกรรมการอีก 3 ท่าน ได้แก่ ดร. อนุชา ทีรคานนท์ ดร.สุรัตน์ จงดา และ ดร. เกิดศิริ นกน้อย พร้อมทั้ง ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) พ.ศ.2560 นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) พ.ศ.2554 และนายไพฑูรย์ เข้มแข็ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์-โขน) พ.ศ.2564 อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายสมศักดิ์ ทัดติ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนยักษ์) และนายวิโรจน์ เข้มแข็ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนลิง) ร่วมเป็นคณะกรรมการในการคัดเลือก ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ. อ่างทอง
นายประเมษฐ์ บุณยะชัย คณะกรรมการและศิลปินแห่งชาติ เผยถึงการแสดงโขนซึ่งเป็นการให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ และการสร้างงานสร้างอาชีพ ว่า การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในแต่ละครั้ง กว่าจะสำเร็จได้ผู้เชี่ยวชาญ ครู และศิษย์ต่างมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดศาสตร์และศิลปะการแสดงให้โลดแล่น เป็นที่เลื่องลือ ยิ่งไปกว่านั้น คนทำงานทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ก็ได้มีโอกาสได้ฝึกปรือจนมีฝีมือ มีอาชีพ มีความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป
ดร. เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเวที การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” กล่าวถึงการทดสอบความสามารถของนักแสดงรุ่นใหม่ว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาในการออดิชั่นเพื่อคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมเป็นนักแสดงในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงต้องปรับรูปแบบเป็นการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายในของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในเขตภาคกลาง เพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่มีทักษะการแสดงมาร่วมแสดงกับศิลปิน อาจารย์ และนักแสดงฝีมือดี ในโขนมูลนิธิฯ ประจำปี 2565 โดยการทดสอบความสามารถนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปจาก 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี อ่างทอง และลพบุรี โดยการทดสอบแบ่งตาม 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ จำนวน 6 คน ละครนาง จำนวน 10 คน โขนพระจำนวน 8 คน โขนลิง จำนวน 14 คน และโขนยักษ์ จำนวน 20 คน รวมถึงนักแสดงรุ่นเยาว์จากโรงเรียนต่าง ๆ ร่วมทดสอบการแสดงในบทมัจฉานุ จำนวน 7 คน รวม 65 คน โดยนักแสดงที่เข้ารับการทดสอบจะได้รับการบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ตามความสามารถ ทั้งนี้ในปีหน้าหากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และผู้มีใจรักในการแสดงโขนจากทั่วประเทศเข้าร่วมออดิชั่นเพื่อคัดเลือกนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในการแสดงโขนมูลนิธิฯ เช่นเดิม
ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดให้นักแสดงรุ่นเยาว์ร่วมแสดงโขนพระราชทาน ด.ช.ศิวพงษ์ พึ่งสายยัน นร.ชั้น ป.4 รร.เซนต์คาเบรียล ร่วมทดสอบความสามารถบทมัจฉานุ และเป็นนักแสดงอายุน้อยสุดบนเวที กล่าวว่า เรียนโขนมา 6 ปี ฝึกฝนตัวละครโขนยักษ์มาตลอด แต่เมื่อทราบปีนี้เปิดให้เยาวชนทดสอบบทบาทมัจฉานุ ก็ต้องปรับตัวและฝึกซ้อมเปลี่ยนจากยักษ์มาเป็นตัวละครลิง ซึ่งยาก โขนยักษ์เน้นสง่างาม ส่วนโขนลิงไม่อยู่นิ่ง คล่องแคล่วมีการกระโดด ตนมีโอกาสดูโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ หลายครั้ง อยากเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เพราะรักโขนความฝันสูงสุด คือ อยากแสดงเป็นทศกัณฐ์ แต่ส่วนตัวชอบเล่นยักษ์ต่างเมือง เช่น อินทรชิต วิรุณจำบัง ฯลฯ สำหรับการแสดงโขนตอนสะกดทัพ จะแสดงตัวละครมัจฉานุให้ดีที่สุด เป็นความภาคภูมิใจได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย
ฝีมือเกินอายุอีกคน ด.ช.ดีนาน จุณณะทรัพย์ นร.ชั้น ป.5 โรงเรียนอมาตยกุล ร่วมทดสอบบทบาทตัวละครมัจฉานุ กล่าวว่า เรียนการแสดงโขนมา 6 ปี ร่วมแสดงโขนมาในหลายโอกาส บทบาทหลักรับเป็นตัวละครหนุมาน แต่การทดสอบความสามารถครั้งนี้ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นมากๆ คณะกรรมการให้โจทย์แสดงการรบ การขึ้นลอยต้องคล่องแคล่ว ว่องไว หากขึ้นช้าจะทำให้ท่าไม่สวยงาม รวมถึงจังหวะไม่ได้ ที่สำคัญตนได้ร่วมแสดงกับศิลปินอาจารย์ รู้สึกดีใจมาก
” เคยรับบทมัจฉานุมาก่อน แต่การได้รับคัดเลือกแสดงบทบาทมัจฉานุในการแสดงโขนมูลนิธิฯ เป็นความใฝ่ฝันของผม รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก เวทีโขนพระราชทานเริ่มแสดงครั้งแรก ตอน ศึกมัยราพณ์ เมื่อ ปี 2554 ซึ่งเป็นปีเกิดของผม แต่วันนี้ผมได้เป็นหนึ่งในเยาวชนของชาติที่สืบสานมรดกวัฒนธรรม วันแสดงจริงทุกรอบผมจะแสดงให้ดีที่สุด ” นักแสดงรุ่นเยาว์ กล่าว
การแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” เป็นตอนที่มีฉากผจญภัยมากมาย ที่มาพร้อมความสนุกสนานจากเรื่องราวการต่อสู้ของ หนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม และ ไมยราพ พญายักษ์เจ้าเมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์สะกด ได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม จึงลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่าน ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” จะเปิดการแสดงในช่วงปลายปีนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ติดตามข่าวสารการจำหน่ายบัตรเข้าชมและความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความพิเศษโขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'
ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ก่อนเริ่มแสดงโขน ตอน “พระจักราวตาร” มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดพิธีคำนับครูขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยนาฏศิลป
เบื้องหลังโขนศิลปาชีพ ตอน'พระจักราวตาร'
การแสดงโขนสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ตอน” พระจักราวตาร” โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ใกล้จะเปิดม่านถ่ายทอดความวิจิตรงดงามของนาฎกรรมชั้นสูงสานต่อศิลปะการแสดงโขนมรดกชาติและมรดกโลก
สุดยิ่งใหญ่โขนศิลปาชีพฯ 'พระจักราวตาร'
จากพระราชหฤทัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงตั้งมั่นฟื้นฟูศิลปะการแสดงโขน ที่ครั้งหนึ่งผู้ชมเบาบาง ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก กลายเป็นการแสดงโขนยอดนิยม ดึงดูดให้คนออกจากบ้านมาดูโขนและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้
เปิดตัวโขนพระราชทาน'จักราวตาร'
วันที่ 3 ก.ย.2567 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แถลงข่าวเปิดตัวการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พระจักราวตาร โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เพิ่มรอบพิเศษ 5 ธ.ค.
หลังจากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ กระแสตอบรับจากผู้ชมล้นหลามจนบัตรขายดีหมดแล้วทุกรอบ ล่าสุด มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพิ่มรอบประชาชน วันอังคารที่ 5 ธ.ค. เวลา 10.00 น. รอบเดียวเท่านั้น หลังจากบัตร SOLD OUT ไปเป็นที่เรียบร้อย ด
เปิดไฮไลต์โขน 'กุมภกรรณทดน้ำ'
เป็นการแสดงที่ทุกคนตั้งตารอสำหรับโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งปีนี้กลับมาอีกครั้งด้วยโปรดักชั่นยิ่งใหญ่อลังการและทันสมัยแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับการแสดงโขนที่ไหนมาก่อน