‘อัตลักษณ์ศิลป์ถิ่นไทย’ เวทีใหญ่พัฒนาศิลปะ

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการและการแสดงนิทรรศการ “อัตลักษณ์ศิลป์ถิ่นไทย”  ครั้งที่ 8 ประจำปี 2565 ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในเครือมหาวิทยาลัยราชภัฏ 31 แห่ง ปีนี้สามสถาบันราชภัฏในเขตพื้นที่ภาคอีสานเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร และ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย  เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนางานทัศนศิลป์และกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัย

ภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ คือ นิทรรศการใหญ่” อัตลักษณ์ศิลป์ถิ่นไทย” เปิดเวทีให้ศิลปินอาจารย์ในเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมด 128 คนจาก 31 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ แสดงฝีมือผ่านผลงานสร้างสรรค์หลากหลายแขนง ตลอดจนเชื้อเชิญศิลปินแห่งชาติ ศ.เดชา วราชุน และศิลปินชั้นเยี่ยมที่มีชื่อเสียง รศ.อัฐพร นิมมาลัยแก้ว ร่วมจัดแสดงผลงาน ทำให้มีผลงานมากกว่า 131 ชิ้น ให้ผู้รักงานศิลป์ได้ชื่นชม  ณ หอศิลป์ทองทวาปี มรภ..สกลนคร พิธีเปิดนิทรรศการที่ผ่านมา ผศ.ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นประธาน บรรยากาศคึกคักด้วยศิลปิน คนในแวดวงศิลปะถิ่นอีสาน 

กล่าวได้ว่า แต่ละผลงานศิลปินสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจ มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำกัน โดยเฉพาะศิลปกรรมสมัยใหม่บนแผ่นดินอีสาน  นับเป็นนิทรรศการที่น่าสนใจของคนที่รักงานทัศนศิลป์อย่างมาก และเป็นงานแสดงของเหล่าคณาจารย์มรภ..ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาศิลปะรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาตัวเองและสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนวงการศิลปะให้ก้าวต่อไป

การจัดโครงการครั้งนี้เป็นความสำเร็จในการรวบรวมเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศที่เปิดสอนในหลักสูตรเกี่ยวกับงานศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านทัศนศิลป์หรือประยุกต์ศิลป์ ที่สำคัญเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทางด้านศิลปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันในเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ

นอกจากโชว์ผลงานศิลปะแล้ว มีการจัดบรรยายทางวิชาการหัวข้อ “คติ ความเชื่อและตำนาน สู่พลังของเรื่องเล่าและจินตนาการ” โดย อาจารย์ ดร.ประสิทธิ์ วิชายะ  อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และบรรยายหัวข้อ “ศิลปะเอเชีย : มหาอำนาจใหม่แห่งวงการศิลปะร่วมสมัย” โดย นายศุภวัตร ทองละมุล  ศิลปินอิสระ  ช่วงเสวนามีอาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจร่วมฟังเรื่องความก้าวหน้าในวงการศิลปะ รวมไปถีงศักยภาพของศิลปินเอเชีย รวมถึงศิลปินไทย ในการรังสรรค์ผลงานที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ

รศ.สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดี มรภ.เลย กล่าวว่า ศิลปะเกิดจากการถ่ายทอดจินตนาการของศิลปินบนพื้นฐานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย นิทรรศการครั้งนี้มีเนื้อหาสะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางสังคม ธรรมชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีของความเป็นไทยจากทุกภูมิภาคถ่ายทอดออกมาได้อย่างเด่นชัด ผ่านความคิดสร้างสรรค์ของคณาจารย์ทางศิลปะทั้ง 31 สถาบันนำมาจัดแสดงเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อชุมชน ต่อผู้คน ทั้งในด้านการพัฒนาสุนทรียภาพ ด้านอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนสอนในอนาคตต่อไป

ด้าน ผศ.วิชิต กัมมันตะคุณ รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่างานศิลปกรรมเป็นการถ่ายทอดงานศิลปะที่มีคุณค่า คณาจารย์ 31 แห่ง สร้างงานศิลปะโดดเด่นผ่านจิตรกรรม ประติมากรรมที่จัดแสดงสะท้อนให้เห็นแนวความคิด  ทัศนคติ  และประสบการณ์ที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่สร้างผลงานออกมาได้อย่างประณีตสวยงาม  และมีคุณค่าอย่างยิ่ง  นับว่าเป็นผลงานที่สร้างสรรค์พัฒนาศักยภาพทางด้านศิลปะ  

ผู้สนใจซึมซับคุณค่าสุนทรียภาพผลงานศิลปะในนิทรรศการ “อัตลักษณ์ศิลป์ถิ่นไทย” แวะเวียนมาได้ที่หอศิลป์ทองทวาปี มรภ.สกลนคร จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

เพิ่มเพื่อน