‘เพียรสาน...งานศิลป์’ เทิด 90 พรรษา พระมารดาแห่งจักสาน

“ สิ่งที่ข้าพเจ้าปลื้มใจที่สุดในชีวิต คือ การมีมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และสามารถรักษาสมบัติของบ้านเมืองไว้เป็นผลสำเร็จ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วของที่สวยงามอย่างนี้ก็จะสูญหายไป คนไทยรุ่นหลังจะไม่มีดู จะไม่ภูมิใจว่าเรามีวัฒนธรรมที่ยาวนาน มีศิลปะประจำชาติของตัวเอง “ พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สะท้อนสายพระเนตรกว้างไกล ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  

หนึ่งในงานหัตกรรมที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและฟื้นฟูไม่ให้สูญหายไป  คือ เครื่องจักสาน ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ราษฎรสืบทอดงานฝีมือจากบรรพบุรุษ อันมีเอกลักษณ์และผูกพันกับวิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่น อีกทั้งด้วยพระปรีชาสามารถทรงพัฒนาสู่งานประณีตศิลป์ สร้างรายได้ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่พสกนิกร  วันนี้งานส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ยังได้รับการสานต่อในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี รัชกาลปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  90 พรรษา  12 สิงหาคม 2565  มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นำความตระการงานจักสานมรดกแห่งภูมิปัญญาอันล้ำค่าเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลกผ่านนิทรรศการ ” เพียรสาน…งานศิลป์ “ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กำหนดจัด  3  เดือน เริ่มวันที่ 15 ส.ค. ถึงวันที่  10 ต.ค.2565  ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2498 ทรงส่งเสริมราษฎรประกอบอาชีพหัตถกรรมเสริมอาชีพเกษตรกรรม หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญ คือ ส่งเสริมเครื่องจักสาน เดิมมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพส่งเสริมงานผ้า งานผ้าปัก งานผ้าไทยชาวเขา  พระองค์ทรงเห็นว่า เครื่องจักสานเป็นงานฝีมือที่ราษฎรใช้ในครัวเรือน โดยใช้ภูมิปัญญาเดิมและวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วมาสร้างอาชีพ  ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะทำงานศิลปาชีพมากว่า 50 ปี   เพื่อพัฒนางานหัตถกรรมที่แสดงเอกลักษณ์ของชาติ เนื่องในโอกาสมหามงคล 90  พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงจัดนิทรรศการ “เพียรสาน…งานศิลป์”  แสดงพระอัจฉริยภาพในพระราชกิจต่างๆ ผ่านงานจักสานแขนงต่างๆ ที่ตื่นตาตื่นใจบนพื้นที่ 5 ชั้น ของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

 “ องค์พระประมุขบุกป่าฝ่าดงไปเยี่ยมราษฎร ราษฎรนำเครื่องจักสานที่ทำจากทางมะพร้าว ใบตอง ไม้ไผ่ หวาย มาทูลเกล้าฯ ถวาย ทอดพระเนตรงานจักสานจากฝีมือท้องถิ่น เป็นจุดเริ่มต้นทรงงานจักสานด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและพระราโชบายที่ทั้งสองพระองค์ช่วยคนไทยให้ช่วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน  ทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านทำเครื่องจักสานมากขึ้นเพิ่มรายได้  ชื่นชมสิ่งที่เขาทำ พระองค์ทรงรับสั่งว่าให้โอกาสทำสิ่งที่รักและคุ้นเคย เมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น ทรงพัฒนาผลงานสู่งานหัตถศิลป์ นอกจากนั้น ทรงขอลูกหลานจากครอบครัวนำมาฝึกสอนงานหัตถกรรมที่ศิลปาชีพวันนี้พัฒนาเป็นสถาบันสิริกิติ์ ผลิตผลงานเครื่องจักสานจากวัตถุดิบธรรมชาติสู่การสานเงิน สานทอง ที่มีคุณค่าแสดงถึงฝีมือ “    ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว

นอกจากนี้ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวว่า  พระองค์ทรงให้สงวนรักษาวัตถุดิบในการผลิตเครื่องจักสาน ไม่ให้ขาดแคลนในวันหน้า  หลายครั้งเสด็จฯ ป่าดงพาครูผู้เชี่ยวชาญสอนวิธีเก็บหญ้าลิเภาอย่างถูกต้อง ขนาดหญ้าลิเภาที่เหมาะสมทำเครื่องจักสานลิเภา ไม้ไผ่ก็เช่นกัน ทรงส่งเสริมให้ปลูกไผ่ในพื้นที่โครงการ ท้องไร่ท้องนา ลดการพึ่งพิงธรรมชาติ ส่วนจักสานชนเผ่า เช่น เย้า ม้ง เมี่ยน ทรงส่งเสริมและสอนจักสานไม้ไผ่ให้ประณีต  ส่งผลงานที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แม้วันนี้ไม่ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร งานจักสานก็ดำเนินต่อ สิ่งที่พระองค์ท่านทำมาตลอดช่วยให้ชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารลืมตาอ้าปากได้

 นิทรรศการ”เพียรสาน งานศิลป์” แบ่งพื้นที่จัดแสดง 5 ชั้น ดังนี้ ชั้นที่ 1 แม่ของแผ่นดิน                สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตาต่อประชาชน  ทรงมุ่งมั่นช่วยให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ชั้นที่ 2 แม่งาน กับจุดเริ่มต้นเรื่องราวการทรงงานจักสานแขนงต่าง ๆ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระราชทานงานศิลปาชีพให้แก่พสกนิกรจนก่อกำเนิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชั้นที่ 3 แม่ลาย เรียนรู้ขั้นตอนของการจักสาน และลวดลายที่หลากหลายจากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเป็นต้นแบบการพัฒนางานจักสานต่างๆ พร้อมรับชมสาธิตงานจักสาน โดยช่างฝีมือศิลปาชีพ  

ชั้นที่ 4 แม่ข่าย     รู้จักมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่มีเครือข่ายทุกภาคของประเทศ ชั้นที่ 5  แม่ศรีศิลป์ “แม่” คือ สตรีผู้ให้กำเนิด “ศรี” คือ ความดีงาม เจริญรุ่งเรือง “ศิลป์” ได้แก่ ผลงานที่ผลิตโดยช่างฝีมือ “แม่ศรีศิลป์” หมายถึง พระผู้พระราชทานกำเนิดและทรงเป็นมิ่งขวัญ นำความเจริญรุ่งเรืองอันเป็นมงคลด้วยงานศิลปะที่ควรค่าแก่ความภูมิใจในความเป็นไทย พร้อมจัดแสดงผลิตภัณฑ์จำหน่ายของมูลนิธิฯ

ตลอด 3 เดือนภายในงานผู้ชมสามารถร่วมสนุกฝึกทักษะงานจักสานผ่านเวิร์คช็อปทุกวันเสาร์ เริ่มวันที่ 20 ส.ค. วันเสาร์ที่ 8  ต.ค. เช่น จักสานเบื้องต้น, จักสานชนเผ่า, พัดสานงานสร้างสรรค์, กระเป๋าสวยด้วยมือเรา, สานเครื่องประดับจากเส้นลิเภา,สานกระจูดเป็นกระเป๋า  เป็นต้น นอกจากนี้ จัดเสวนาวิชาการ ในวันอาทิตย์ที่ 21 ส.ค. , วันอาทิตย์ที่ 4 และ 18  ก.ย.  และวันอาทิตย์ที่ 9 ต.ค.  เวลา 14.00-15.30  น.

เตรียมพบกันนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “เพียรสาน…งานศิลป์” ระหว่างวันที่ 15 ส.ค. ถึงวันที่ 10 ต.ค.นี้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เวลา  10.00 น. ถึง 19.00 น. (หยุดทุกวันพุธ) 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมป่าไม้ อนุรักษ์ “พลองใหญ่” ต้นไม้ทรงปลูกในสมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดพรรณไม้ให้เพิ่มมากขึ้น

การอนุรักษ์พรรณไม้มีค่าให้คงอยู่ และสามารถขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญที่จะทำให้พรรณไม้มีค่าได้เจริญเติบโตและงอกงามสมบูรณ์ ดังนั้นในปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ จึงได้ร่วมกับ

'ในหลวง' พระราชทานพระราชดำรัส งานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน 2567

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานมหกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “2 ทศวรรษ กองทุนแม่ของแผ่นดิน

พสกนิกร-คณะบุคคล ลงนามถวายพระพร'พระพันปีหลวง' วันเฉลิมพระชนมพรรษา

12 ส.ค. 2567 ที่อาคารหน่วยราชการในพระองค์ 904 ศาลาสหทัยสมาคมฯ และเต็นท์สนามหญ้าข้างอาคารลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง สำนักพระราชวังเปิดให้ลงพระนามและลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในหลวงพระราชทานสิ่งของมอบแก่ผู้ป่วยศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สวางคนิวาส

7 ส.ค. 2567 - เวลา 10.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ท่านผู้หญิงอินทิรา พลธร เชิญสิ่งของ และเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร นมกล่อง