เปิดพิพิธภัณฑ์ในแดนใต้ ปลุกเรียนรู้พหุวัฒนธรรม

ที่ จ.นราธิวาส มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส โดยจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ  งานหัตถกรรม ผ้าพื้นเมือง เรือกอและสีสันงดงาม ตลอดจนภาพถ่ายและโมเดลจำลองเทศกาลประเพณีสำคัญของชุมชน สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยบนดินแดนปลายด้ามขวานอย่างสุขสงบ

พิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งเปิดใหม่นี้เป็นผลงานของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้แรงบันดาลใจจากการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเป็นพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งตั้งเป้าจะยกระดับเป็นศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ปัจจุบันเปิดให้ชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าชมพิพิธภัณฑ์สัมผัสประสบการณ์ที่มีค่า สร้างความคึกคักในพื้นที่

ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่งเสียงชื่นชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศาสนา ประเพณี วิถีชีวิต และมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นอันหลากหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เป็นอีกกลไกขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาแดนใต้ด้วยการพัฒนา

ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ. ขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และนโยบาย วธ.ในการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์ และการจัดการองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม รวมถึงผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย (Fashion)  จัดประกวดออกแบบเครื่องแต่งกาย “ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” ตามแนวคิด BATIK CITY นำผ้าบาติกจาก 3 พื้นที่ชายแดนใต้ และสงขลา เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อรู้คุณค่าของผ้าไทยและสนับสนุนการนำมรดกวัฒนธรรมมาพัฒนาสู่สากล

อีกภารกิจสำคัญ ปลัดวธ. เน้นย้ำส่งเสริมการเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสที่จะพัฒนาเป็นศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีห้องจัดแสดงเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรม  มีพื้นที่โรงละคร  ลานศิลปวัฒนธรรม  ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน เช่น นิทรรศการ “รากร่วมชายแดนใต้” และ นิทรรศการ “ผ้าไทย เก๋ๆ เท่ห์ได้ทุกที่”

สำหรับเดือน มิ.ย. และ ก.ค. 2565 มีนิทรรศการ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมรดกทางวัฒนธรรม : CPOT” และ นิทรรศการ “5 F มิติทางวัฒนธรรม สู่เวทีโลก” ปลุกการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม เสียงตอบรับดี ช่วงเดือน ต.ค. 2564 – เม.ย. 2565 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,717 คน ขณะที่เพจเฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส Narathiwat City Museum มีการเข้าถึงมากกว่า  18,000 คน  
“ วธ.ได้รับคำชื่นชมจากผู้แทน ศอ.บต. ในการดำเนินงานกิจกรรมขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนราธิวาส แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนาในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างดี “ ยุพา กล่าว 

ในอนาคตจะมีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นอีก   ปลัด วธ. กล่าวว่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน ภายในพิพิธภัณฑ์มีนิทรรศการวิถีชีวิต ประเพณีของชาวมุสลิม จัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอาน นำเสนอผ่าน 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และภาษายาวี เพื่อให้ครอบคลุมผู้ชมทุกกลุ่ม พิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 แห่งสามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมใน จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา เช่น วัดคูหาภิมุข จ.ยะลา วัดปุราณประดิษฐ์ จ.ปัตตานี และเจดีย์วัดโคกคาย   จ.สงขลา รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เมืองสุไหงโก-ลก ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งเที่ยวธรรมชาติ  สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน หนุนเศรษฐกิจฐานรากสู่ชุมชนในแดนใต้อย่างยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เที่ยว'บ้านฟ้าหยาด' ยลวัฒนธรรมครบรส

มนต์เสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านฟ้าหยาด ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย  จ.ยโสธร พร้อมใจกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยเฉพาะประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกมีอัตลักษณ์คู่เมืองยโสธร  ที่คนในชุมชนนำข้าวเปลือกมาคั่วใ

วิถี'ปกาเกอะญอ' วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ชวนเดินทางไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เพื่อพบกับชุมชนชาวปกาเกอะญอ หรือที่เรียกว่า “กะเหรี่ยง”  ที่ยังคงใช้ชีวิตตามวิถีปกาเกอะญอ

ตั้งศูนย์สืบสานอุปรากรจีน สานต่องิ้วศิลปะล้ำค่า

เปิดการแสดงงิ้วถ่ายทอดศิลปะล้ำค่า เชื่อมไมตรีประเทศไทยและประเทศจีนอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสครบรอบ 42 ปี งิ้วไทย-จีน    การสืบสานงิ้วศิลปะโบราณครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มูลนิธิส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรม สมาคมอุปรากรศิลปะไทย-จีนแห่งประเทศไทย

วธ.ลุยตลาดเมืองคานส์ ชวนลงทุนถ่ายทำหนังในประเทศ

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ คานส์ ฟิล์ม เฟสติวัล 2024 ที่เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2567 มีนานาประเทศร่วมเทศกาลเพื่อแสดงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ สำหรับประเทศไทย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา สัมผัสอัตลักษณ์บ้านสบคำ

อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งลาว ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทยวน พม่า  เมี่ยน ม้ง ลั้วะ อาข่า ลาหู่ โดยเฉพาะในชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ต.เวียง อ.เชียงแสน  เป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย

'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (2)

มาจาริกแสวงบุญตามเส้นทางพุทธภูมิพาเดินทางข้ามด่านชายแดนเนปาล เพื่อไปบ้านเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองลุมพินี เรามีเวลาอยู่ที่อุทยานลุมพินีวันสถาน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าหลายชั่วโมง