เที่ยวกรุงเทพฯตามแนวรถไฟฟ้าMRT จากสถานีสนามไชย -รอบเกาะรัตนโกสินทร์

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล

แม้กาลเวลาจะผันผ่าน ทำให้กรุงเทพมหานคร มีอายุถึง 240ปี   ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการพัฒนามาหลายยุคหลายสมัย จนมาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล ท่ามกลางตึกรามสูงระฟ้ามากมายที่เกิดขึ้นมากมาย ดาษดื่นด้วยห้างสรรพสินค้าทันสมัย ขณะที่ ยามค่ำคืนก็เต็มไปด้วยแสงสี แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคน แม้แต่คนกรุงเทพเอง ยังไม่รู้ว่าแหล่งสถานที่โบราณสถานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์  มีเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจซุกซ่อนไว้มากมาย

ซุ้มประตูจีนด้านหน้าพระวิหารทิศตะวันออก


แหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯเหล่านี้ แม้จะอยู่ไม่ไกลกันมากนัก แต่ถ้าจะเคลื่อนตัวย้ายไปชมอีกสถานที่หนึ่ง แม้จะอยู่ห่างกันไม่ไกลมาก แต่ก็ไม่ใกล้พอที่จะใช้วิธีเดินเท้าอย่างเดียว การไปเที่ยวหลายสถานที่ให้ครบในหนึ่งวัน จึงต้องอาศัยการนั่งรถเมล์ รถยนต์ส่วนตัว(ซึ่งหาที่จอดแสนยาก) การนั่งแท็กซี่  หรือการเดินเท้าถ้าร่างกายฟิตพอ เพราะต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนในช่วงกลางวัน   แต่ปัจจุบันการไปเที่ยวแหล่งวัฒนธรรมโบราณเก่าแก่ในกรุงเทพฯ  มีอีกทางเลือกใหม่เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือที่เรียกกันว่า MRT สายสีน้ำเงิน  ที่หลายสถานนีผ่านจุดโบราณสถานหลายแห่ง

พระพุทธโลกนาถ ปางห้ามแก่นจันทร์

โดยทางMRT ก็มองเห็นแง่มุมนี้ และช่วยโปรโมทประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ไปในตัว จึงผุด”กิจกรรมเที่ยว-แวะ-แชะ-ชิม ทั้ง 5 ทริปภายใต้โครงการ “Happy Journey with BEM” ตลอดทั้งปี 2565 ประกอบด้วย 5 ทริป เชิญชวนผู้โดยสารให้มาร่วมกิจกรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ทริปแรกเริ่มที่สถานีวัดมังกร และล่าสุดในทริปสองที่สถานีสนามไชย ในคอนเซ็ปท์ “ประตูเชื่อมท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์” เราก็ได้มาร่วมเดินเที่ยว 1 วันในเมืองกรุงแบบชิลๆ ได้ความรู้ และเดินทางง่ายอีกด้วย

ร่องรอยการขุดค้นทางโบราณคดี หลักฐานการสร้างท้องพระโรง

ส่วนอีก 3 ทริปที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ประกอบด้วย ทริปที่สถานีสามย่าน “แคมปัส ทัวร์ จุฬาฯ ร้อยห้าปี” วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ทริปที่สถานีหัวลำโพง “Street Photo Walk เดิน ถ่าย ทัวร์” วันที่ 8 ตุลาคม 2565 และทริปที่สถานีอิสรภาพ “ตามรอยพระเจ้าตากสิน เที่ยวฝั่งธน” วันที่ 17 ธันวาคม 2565

บรรยากาศทริปชมพิพิธภัณฑ์สถานีสนามไชย


ออกเดินทางจากฝั่งนนทบุรีด้วยรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่เชื่อมต่อ MRT ที่สถานีเตาปูน นั่งยาวๆต่อไปถึงสถานีสนามไชย ไม่ต้องเสี่ยงรถติด ก็ถึงจุดหมาย เริ่มด้วยการฟังเกร็ดความรู้ของพื้นที่ตั้งรถไฟฟ้าสถานีสนามไชย เพราะเป็นสถานีเดียวในระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่ตั้งอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน พื้นที่เมืองเก่าของกรุงเทพฯ อาทิ ป้อมบางกอก หรือ ป้อมวิชาเยนทร์ ซึ่งก็คือป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปัจจุบัน วังท้ายวัด และพื้นที่ก่อกระทรวง หรือ กระทรวงพาณิชย์ ในอดีต ซึ่งปัจจุบันคือ มิวเซียมสยาม  โดยทั้งหมดได้มีการจำลองสถานที่มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สนามไชย ที่เปิดให้เข้าชมอยู่ภายในสถานี

พระพุทธไสยาสน์

ความน่าสนใจของพิพิธภัณพ์นี้ยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ที่พบในระหว่างการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้วโครงกระดูกวัว แต่ที่ดูเป็นไฮไลท์ คือ หลักฐานการสร้างท้องพระโรง ประกอบด้วย หลุมเสา ที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ท้องพระโรงหลังนี้มีเสาไม้ เพื่อใช้รองรับหลังคา บันไดทางขึ้น เพราะพบแนวซุงและอิฐที่ใช้เป็นฐานรากของบันไดทางเข้าท้องพระโรง มีลักษณะก่ออิฐถือปูนสูง 3-5 ขั้น และคลองราก คือ ฐานรากที่ใช้รองรับน้ำหนักพนัง มีลักษณะเป็นไม้ซุงวางเรียงกัน เมื่อนำมาเทียบกับแผนผังโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่าตรงกับตำแหน่งท้องพระโรงของวังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช นับว่าเป็นจุดที่ควรค่าแก่การแวะชมมากๆ

ศิลปะประดับมุกมงคล 108 ประการที่พระบาท พระพุทธไสยาสน์

จากใต้ดินสู่บนดิน เราเดินสามารถเดินเลียบตามถนน เพื่อไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดโพธิ์ ได้ใกล้ๆ  โดยรศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รับหน้าที่ไกด์นำชมทัวร์รอบวัด โดยวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่1-รัชกาลที่ 3 ความวิจิตรของศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัด กลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนและไทยที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเป็นวันในการชื่นชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดเราจึงจะพาไปชมจุดไฮไลท์ เดินผ่านซุ้มประตูเข้าเขตพุทธาวาสมาจุดแรกที่พระอุโบสถ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย ด้านในประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร ที่สำคัญคือบริเวณพัดยศตรงฐานพระบรรจุพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 1 จิตรกรรมฝาผนังวัดเป็นเรื่องราวของอดีตชาติพระพุทธเจ้าที่มีลายเส้นที่ปราณีต หลายคนอาจจะไม่สังเกตบริเวณระเบียงด้านนอกมีการทำภาพประติมากรรมเรื่องรามเกียรติ์เป็นห้องๆ ด้วย

พระโกศทรงฝรั่ง ของสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 7

รอบพระอุโบสถจะมีวิหารประจำทิศทั้ง 4 ซึ่งเราได้มาชมพระวิหารทิศตะวันออก มุขหลัง ด้านในประดิษฐานพระประธานพระพุทธโลกนาถ ปางห้ามแก่นจันทร์ สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 400-500 ปี รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดศิลปะจีน เราจึงได้เห็นซุ้มประตูจีน สื่อถึงความเจริญ แนวศิลปะแบบจีนนิยมนำมาประดับตามวัดด้านหน้าพระวิหาร และแม้แต่ในพระบรมมหาราชวัง  ดังเห็นได้จากรอบๆวัดโพธิ์มีตุ๊กตาศิลาจีนในท่าทางต่างๆประดับไว้ ส่วนด้านพระระเบียงวัด มีองค์พระพุทธรูปแต่ละยุคสมัย เช่น สุโขทัย เชียงแสน ลพบุรี อู่ทอง และอยุธยา ที่ประดิษฐานถึง 150 รูป ซึ่งแต่ละองค์ทำให้เราเห็นถึงชั้นเชิงฝีมือของช่างในสมัยนั้น

ห้องทรงพระอักษร ในตำหนักวาสุกรี

เดินต่อมาที่พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งแต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ สังเกตได้ง่าย หากกระเบื้องเคลือบสีเขียว นามว่า พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ รัชกาลที่ 1

กระเบื้องเคลือบสีขาว นามว่า พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน รัชกาลที่ 2   กระเบื้องเคลือบสีเหลือง นามว่า พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร รัชกาลที่ 3 และ กระเบื้องเคลือบสีน้ำเงินเข้ม นามว่า พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย รัชกาลที่ 4 โดยการสร้างพระมหาเจดีย์แค่ 4 องค์เหตุเพราะรัชกาลที่ 4 ทรงไม่ให้มีการสร้างต่อ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้นท่านได้เคยเห็นกันทั้งสี่ พระองค์จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน  

ห้องส่วนพระองค์ ในตำหนักวาสุกรี

ถ้ามาวัดโพธิ์พลาดไมได้ คือ การกราบพระพุทธไสยาสที่เรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาส สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 มีขนาดองค์พระยาว 46  เมตร ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ จุดเด่นคือพุทธลักษณะศิลปะประดับมุกที่ฝ่าพระบาททั้ง 2  ข้าง ซ้าย-ขวาเป็นรูปอัฎฐตดรสตมงคล หรือมงคล 108 ประการ เดินต่อไปยังพระมณฑป หรือ หอไตรจตุรมุข

ห้องบรรทม ในตำหนักวาสุกรี

โดยที่ซุ้มประตูทางเข้ามณฑปทั้งสองข้างมียักษ์ 2 คู่ เพื่อให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก คือ คู่ ลัทธาสูร(ผิวกายสีอมชมพู) และพญาขร(ผิวกายสีเขียว) อีกคู่ มัยราพณ์(ผิวกายสีน้ำเงินเข้ม) และแสงอาทิตย์(ผิวกายสีแดง)

ผู้ร่วมทริปกราบสักการะพระโกศ ตำหนักวาสุกรี

การเดินทางครั้งนี้เราได้มีโอกาสเข้าไปยังเขตสังฆาวาส เพื่อเข้าชมตำหนักวาสุกรี  ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 7 โดยยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นพระผู้มีผลงานดีเด่นทางด้าวัฒนธรรมระดับโลก (กวีเอกของโลก) หลังจากสิ้นพระชนม์ ได้มีการทำพิพิธภัณฑ์ ด้านในประดิษฐานพระโกศทรงฝรั่ง ด้านข้างประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์สำคัญ เป็นบุญตาที่ได้เข้าชมห้องทรงพระอักษร ที่มีกระดานฉนวน คัมภีร์ใบลาน แบ่งเป็นห้องพระส่วนพระองค์เล็กๆเรียบง่าย  อีกห้องเป็นห้องบรรทม ซึ่งมีเครื่องสมณบริขารของพระองค์จริงๆด้วย และมีการเก็บรักษาพระพุทธรูปเก่าแก่ที่หาชมได้ยาก

ยักษ์วัดโพธิ์

จุดสุดท้ายที่มิวเซียมสยาม ก็คืออาคารกระทรวงพาณิชย์เดิมในอดีต ในยามค่ำคืนที่นี่มีกิจกรรมยามเย็นฟังเพลงดนตรีสด ส่วนด้านในก็มีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของและโครงสร้างของตึกที่เป็นแบบฝรั่ง คลาสสิก สไตล์กรีก-โรมัน แต่จุดไฮไลท์คือ เราได้ขึ้นไปชมห้องใต้หลังคา ซึ่งปกติไม่ได้เปิดให้เข้าชม เป็นการสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เดิมเคยเป็นที่เก็บเอกสารหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เมื่อบูรณะก็ยังให้คงอยู่ในโครงสร้างเดิมให้มากสุด ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องเว้ามุงหลังคา มีการเดินไฟใหม่ เพราะห้องใต้หลังคาที่เป็นห้องที่ออกแบบให้ป้องกันน้ำซึมและป้องกันความร้อนได้ดีมาก

บรรยากาศยามเย็นที่มิวเซียมสยาม
ห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม
ชมนิทรรศการเรียนรู้ความเป็นมาอาคารมิวเซียมสยาม 


จบทริปในหนึ่งวัน กลับบ้านด้วยรถไฟฟ้า ด้วยใบหน้าอิ่มเอิมเพราะได้ทั้งบุญและความรู้  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BEM สานต่อภารกิจสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่าตัดต้อกระจก ปีที่ 2

นางวัฒนา สิทธิไวทยาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (ที่ 3 จากขวา) บริจาคเงินสนับสนุนการผ่าตัดต้อกระจก

Happy Journey with BEM สุดล้ำ พาสายอาร์ตเปิดโลก NFT 'ปลดล็อกความชิค กับอาร์ตติสแห่งสีสัน’ กับกิจกรรม Art Journey

จากศิลปะที่เคยเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ยาก แต่ตอนนี้ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้แล้วบนโลกดิจิทัล แถมยังสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลให้กับศิลปินยุคใหม่ ไฮเทคขนาดนี้

Happy Journey with BEM ชวนเจาะลึก “NFT ไฮเทคศิลป์ ดิจิทัลอาร์ตสร้างมูลค่า” กับกิจกรรม Art Journeyฟรี!

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง

ตวัดพู่กัน “บันทึกสีน้ำ เล่าเรื่องรอบราง” สุดปัง กับโครงการ “Happy Journey with BEM”

“ใครๆก็เป็นศิลปินได้?” คำตอบนั้นไม่ไกลเกินเอื้อมกับกิจกรรม “Happy Journey with BEM 2023” “ตวัดพู่กัน บันทึกสีน้ำ เล่าเรื่องรอบราง” ที่จัดขึ้นในวันที่ 11 เม.ย. 2566 (รอบแรก)

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเข้าร่วมกิจกรรม Happy Journey with BEM เที่ยวรอบเส้นทางรถไฟฟ้า MRT

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวรอบเส้นทางรถไฟฟ้า MRT กับโครงการ Happy Journey with BEM