ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นปราสาทชายแดนแห่งหนึ่งของประเทศไทย แม้ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดต่อกับไทย-กัมพูชา อ.โคกสูง จ.สระแก้ว แต่ชื่อชั้นของปราสาทแห่งนี้มีความสำคัญยิ่ง เป็นปราสาทหินศิลปะเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เป็นปราสาทบนฐานสูงที่สุดในไทย
ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปี การบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธมใช้วิธีอนัสติโลซิส (anastylosis) โดยกรมศิลปากรเริ่มต้นจากปราสาทที่มีสภาพพังทลาย หินหล่นกระจัดกระจาย นำหินเก่าแต่ละก้อนจัดเรียงประกอบคืนตำแหน่งเดิมและใช้หินใหม่ทดแทนส่วนที่ขาดหายไป เพื่อคืนความสมบูรณ์กลับมาให้ได้มากที่สุด จนเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทุกคนเช่นทุกวันนี้ และจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี 2562
ปราสาทเขมรล้อมรอบด้วยคูน้ำ
สมเด็จพระกษิฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เปิดศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธมที่จัดสร้างใหม่ นำเสนอเรื่องราวการค้นพบปราสาท และศิลาจารึกจากปราสาทเขมรแห่งนี้ อารยธรรมเขมรโบราณ และปราสาทเขมรในประเทศไทยอย่างครบถ้วน มีแบบจำลองของสด๊กก๊อกธมในอดีตเมื่อครั้งยังสมบูรณ์น่าชม
หุ่นจำลอง 3 มิติ การสร้างปราสาทในห้องนิทรรศการ
ได้รับเชื้อเชิญร่วมเดินทางไปในโอกาสสำคัญนี้ เพื่อสัมผัสความโดดเด่นปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว เยี่ยมชมศูนย์บริการข้อมูลแห่งใหม่ ซึ่งห่างจากอาณาจักรกัมพูชาเพียงหนึ่งกิโลเมตร แค่ข้ามถนนศรีเพ็ญไปจะมีกับระเบิดมากมาย แต่ไม่ต้องกังวลในพื้นที่อุทยานฯ มีปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดปลอดภัย 99.99 % ทริปนี้ฟังบรรยายจาก ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม
มีคนถามมากถึงชื่อ”สด๊กก๊อกธม” สามารถถอดแยกความหมายเป็นคำๆ ได้ “สด๊ก” แปลว่า รก ทึบ คำว่า “ก๊อก” แปลว่า ต้นกก และคำว่า “ธม” แปลว่า ใหญ่ นำทุกคำมารวมแปลได้ว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงต้นกกใหญ่ที่ขึ้นรถอยู่ในบาราย สระน้ำขนาดใหญ่ด้านตะวันออกของปราสาท เดิมชาวบ้านเรียก ปราสาทเมืองพร้าว เพราะพบต้นมะพร้าว ปัจจุบันบริเวณนี้ก็มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่
แบบจำลองสด๊กก๊อกธมภายในศูนย์บริการข้อมูล
ปราสาทสด๊กก๊อกธม นับเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย สร้างขึ้นด้วยหินทรายและศิลาแลง เมื่อ พ.ศ.1595 ตามพระราชบัญชาของพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 กษัตริย์เขมร เพื่อพระราชทานแด่ “พระกัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน” พระราชครูของพระองค์ ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่สืบเชื้อสายตระกูลพราหมณ์ประจำราชสำนักอาณาจักรเขมรโบราณ
คติการสร้างนั้นเป็นการจำลองเขาไกลาศที่ประทับของพระศิวะ กล่าวคือ ปราสาทประธานเป็นปราสาทที่ตั้งบนฐานเป็นชั้นเปรียบเสมือนเขาไกลาศ และทางเดินที่มุ่งเข้าหาปราสาทประธานเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ที่เป็นที่ประทับของเทพเจ้า
เสานางเรียงมากที่สุดในไทยอยู่ที่นี่
เราเดินผ่านทางเดิน 3 ช่วง ปูพื้นด้วยศิลาแลง มีเสานางเรียงตั้งเรียงรายขนาบทั้งสองข้าง เสานางเรียงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทำจากหินทราย ฐานสลักลวดลาย หัวเสาคล้ายดอกบัวตูม ทางเดินพาเราผ่านโคปุระไปถึงปราสาทประธาน เป็นอาคารสำคัญจุดศูนย์กลางของปราสาทสด๊กก๊อกธม เปรียบกับที่ประทับของพระศิวะ และเป็นที่ประดิษฐานของศิวลึงค์ รูปเคารพแทนองค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู เรื่องเล่าจากศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 2 กล่าวถึงการสถาปนาศิวลึงค์ที่ปราสาทขอมโบราณนี้
บันไดทางขึ้นปราสาทที่ปรากฎเบื้องหน้า เย้ายวนให้เราไม่รีรอเดินไปสู่ชั้นบน ซึ่งด้านในประดิษฐานรูปเคารพ คงเหลือเฉพาะฐานโยนี ปัจจุบันมีการจำลองศิวลึงค์ประดิษฐานไว้ ย้อนเวลาไปศิวลึงค์ที่ประดิษฐานบนโยนี เมื่อมีการบูชาด้วยการสรงน้ำ ทำให้น้ำสรงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และไหลออกมาทางท่อโสมสูตร ซึ่งปราสาทสด๊กก๊อกธมปรากฎท่อโสมสูตรที่ทิศเหนือของปราสาทประธาน ระเบียงคดด้านทิศใต้ และทิศตะวันตก น้ำที่ไหลออกจากท่อนี้ส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้คนที่มาสักการะเพื่อเป็นสิริมงคล ใครนึกภาพไม่ออกลงจากปราสาท แวะศูนย์บริการข้อมูลมีภาพวาดจำลองพิธีบูชาให้ดู
ปราสาทประธานบนฐานสูง
ยอดของปราสาทประธานก็มีความพิเศษลักษณะซ้อนชั้นลดหลั่นกัน 4 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยเรือนธาตุ ซุ้มประตู ทับหลัง และหน้าบันซ้อนกันงดงาม ทับหลังหน้าบันแกะสลักภาพบุคคลและลวดลายพันธุ์พฤกษาวิจิตร ด้านหน้าซุ้มประตูประดับบรรพแถลง มุมหลักแต่ละชั้นประดับนาคปัก ยอดประสาทสอบลงเป็นทรงพุ่ม มุมย้อยประดับกลีบขนุนรูปบุคคล ยอดบนสุดเป็นรูปทรงกลศคล้ายกับหม้อน้ำมนตร์ในฮินดู ปัจจุบันสูญหายไป
บรรยากาศร่มรื่นภายในปราสาทเขมรโบราณ
มุมสูงว่างามแล้ว จากบนปราสาทมองลงมาพื้นล่าง จะเห็นเสานางเรียงปักบริเวณลานภายในระเบียงคตล้อมรอบปราสาท มีบรรณาลัยหินทรายหรือสถานที่เก็บคัมภีร์ 2 หลัง เราอิ่มเอมกับสถาปัตยกรรมของปราสาท ที่เทียบเคียงได้กับศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรโบราณแบบเกลียงผสมปาปวน ที่เป็นลักษณะเฉพาะศิลปะเขมรปาปวน ยังมีกรอบหน้าบันสลักพญานาค 5 เศียร ไม่พูดถึงภาพสลักซุ้มประตูประธาน ซุ้มประตูรองที่เหลือภาพสลักสมบูรณ์ พรรณนาความสวยได้ไม่หมด ต้องมาดูให้เห็นกับตา
จำลองศิวลึงค์ประดิษฐานบนโยนี บูชาด้วยการสรงน้ำ
ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของปราสาทสด๊กก๊อกธม ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์ กล่าวว่า เป็นปราสาทเขมรที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก เกิดก่อนปราสาทพิมาย และปราสาทพนมรุ้งกว่า 100 ปี มีส่วนยอดปราสาทเป็นทรงพุ่มยุคแรกๆ ที่ส่งอิทธิพลไปถึงปราสาทพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง
เสานางเรียงปราสาทสด๊กก๊อกธมที่สะดุดตานักท่องเที่ยว เธอให้ตัวเลขรวมแล้ว 143 ต้น ถือเป็นปราสาทที่มีเสานางเรียงมากที่สุดในไทย ปัจจุบันยังไม่พบโบราณสถานที่มีเสานางเรียงมากเท่าที่นี่ โดยกำลังศึกษาเพิ่มเติม คิดว่าอดีตน่าจะมีเสานางเรียงตั้งถึงคันดินที่ล้อมรอบ แต่ยังไม่มีหลักฐานพอ มีเพียงภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2498 ซึ่งเป็นภาพสด๊กก๊อกธมเก่าที่สุด ก่อนที่เขมรแดงจะเข้า มีการปรับพื้นที่ ทำให้หลักฐานบางอย่างสูญหายไป
บาราย สระน้ำโบราณ
ส่วนบาราย สระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกของปราสาท หน.อุทยานฯ บอกว่า ชาวเขมรโบราณนำความรู้เรื่องการชลประทานผสมกับความเชื่อทางศาสนา สันนิษฐานว่า อาจมีการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภคและประกอบพิธีกรรมสำคัญ จนกลายเป็นประเพณีการสร้างบารายคู่กับเทวสถาน ขณะนี้ ศก. ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องสหวิทยาการกับปราสาทสด๊กก๊อกธม สำรวจระบบจัดการน้ำในพื้นที่ เป้าหมายพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ปัจจุบันได้ปรับภูมิทัศน์ทำทางเดินสู่บารายให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ภูมิปัญญาคนโบราณ
เส้นทางงานอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานยังเดินหน้าต่อไป เช่นเดียวกับเส้นทางสู่ปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวมาสัมผัสความงามอารยธรรมเขมรและสถาปัตย์สด๊กก๊อกธมอันยิ่งใหญ่ที่ปราสาทแห่งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม
7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา
คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157
นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า
วธ.สั่งวางมาตรการลดเสี่ยงโบราณสถานตลอดฤดูฝน
13 ก.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย รู้สึกห่วงใยชาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมากที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด