พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แนะนำโบราณวัตถุ 10 ชิ้นเอก ต้องชมในหมู่พระวิมาน
กรมศิลปากรเชิญชมนิทรรศการถาวร “ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล” จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอก ศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมแนะนำโบราณวัตถุ 10 ชิ้นต้องชมในหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สำหรับหมู่พระวิมาน พระมณเฑียรที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หมู่พระวิมานมีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่เรียงกัน 3 หลัง สำหรับประทับในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน เชื่อมต่อกันด้วยมุขเป็นห้องหลังขวางทั้ง 4 ทิศ รวมมีพระที่นั่ง 11 องค์ ท้องพระโรง 1 องค์ พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานหมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ให้เป็นห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จนกระทั่ง พ.ศ. 2555 กรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ บูรณะอาคารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มอาคารหมู่พระวิมาน และปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
พระที่นั่งพุดตานวังหน้า
ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ โดยหมู่พระวิมานใช้เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอกที่แสดงเอกลักษณ์อันวิจิตรของศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวม 14 ห้องจัดแสดง เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้งานประณีตศิลป์ของชาติ โดยมีฉากหลังเป็นบรรยากาศสถาปัตยกรรมและกลิ่นอายของวิถีชีวิตวังหน้า ประกอบด้วย พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ท้องพระโรงวังหน้า มุขกระสัน ทางเชื่อมระหว่างมณเฑียรที่ประทับด้านในกับท้องพระโรง จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติยศ กรมพระราชวังบวนสถานมงคล
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร จัดแสดงเครื่องราชยาน คานหาม พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ จัดแสดงเครื่องสูง พระแท่นราชบัลลังก์และพระโธรน พระที่นั่งทักษิณาภิมุข จัดแสดงเครื่องมหรสพและการละเล่น พระที่นั่งวสันตพิมาน (บน) จัดแสดงเครื่องที่ประทับวังหน้า
พระที่นั่งวสันตพิมาน (ล่าง) จัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข จัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์ พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข จัดแสดงเครื่องสัปคับ มุขเด็จ จัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก พระที่นั่งอุตราภิมุข จัดแสดงอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ล่าง) จัดแสดงศิลปะเครื่องมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (บน) จัดแสดงเครื่องใช้ในพุทธศาสนา และพระที่นั่งบูรพาภิมุข จัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้แนะนำโบราณวัตถุ 10 ชิ้นต้องชมในหมู่พระวิมาน
พระที่นั่งราเชนทรยาน
ได้แก่ 1. พระที่นั่งพุดตานฝ่ายพระราชวังบวร (พระที่นั่งพุดตานวังหน้า) ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 จัดแสดง ณ ห้องเฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มุขกระสัน 2. พระที่นั่งราเชนทรยาน ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จัดแสดงอยู่ที่ ห้องราชยานคานหาม พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร
กลองวินิจฉัยเภรีสมัยร.3
3. กลองวินิจฉัยเภรี สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สำหรับร้องทุกข์ถวายฎีกา จัดแสดง ณ ห้องพระแท่นราชบัลลังก์และพระโธรน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ 4. ศีรษะหุ่นพระยารักน้อย พระยารักใหญ่ ศิลปะรัตนโกสินทร์ แกะสลักจากไม้รัก เป็นฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จัดแสดง ณ ห้องนาฏดุริยางค์ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข
ศรีษะหุ่นพระยารักน้อย พระยารักใหญ่
5. แพลงสรงจำลอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ ทำด้วยเงินกะไหล่ทองกับนาก สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงสร้างถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีลงสรง เมื่อพุทธศักราช 2429 จัดแสดง ณ ห้องโลหศิลป์ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข
6. สัปคับ สัปคับจำหลักงาช้าง สมัยรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างล้านนา ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (150 ปีมาแล้ว) จัดแสดง ณ ห้องสัปคับ พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข 7. ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2365 จัดแสดง ณ ห้องเครื่องไม้จำหลัก มุขเด็จทิศตะวันตก
ฉลองพระองค์ของรัชกาลที่ 4
8. ฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงอยู่ที่ ห้องอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ พระที่นั่งอุตราภิมุข 9. ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องเครื่องประดับมุก พระที่นั่งพรหมเมศธาดา
10. กลองสำหรับพระนคร สมัยรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ 24 ( 200 ปีมาแล้ว) จัดแสดง ณ ห้องศัสตราวุธ พระที่นั่งบูรพาภิมุข
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการถาวร “ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล” เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน (ปิดวันจันทร์และอังคาร) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อัตราค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม
7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา
คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157
นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า
วธ.สั่งวางมาตรการลดเสี่ยงโบราณสถานตลอดฤดูฝน
13 ก.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย รู้สึกห่วงใยชาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมากที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด