‘อาโรคยปณิธาน’ โยงประวัติศาสตร์โรคระบาดในไทย

โรคภัยไข้เจ็บไม่ได้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเท่านั้น  แต่ได้ทิ้งร่องรอยให้เราเห็นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างโรคระบาดก็เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รวมตัวกันอยู่เป็นสังคมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่  มีการตั้งถิ่นฐาน เพาะปลูกทำนา  เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ จนนำไปสู่การเกิดโรค  โรคระบาดเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน  

เมื่อโรคเพิ่มขึ้นมนุษย์เริ่มแสวงหาหนทางพ้นจากโรค  ไม่ว่าจะด้วยสัญชาติญาณ การสังเกตจากธรรมชาติและสัตว์  การลองผิดลองถูก สั่งสมเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ในการรักษาโรค มีทั้งการรักษาเยียวยาทางกาย และจิตใจ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และยังคงต้องคิดหาหนทางใหม่ๆ ที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บอยู่เสมอ

ส่วนระบบสาธารณสุขปัจจุบันมีการพัฒนาสามารถควบคุมและจัดการโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้คนห่างไกลโรคระบาด จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ( Covid-19) ผู้คนล้มตายจำนวนมาก สร้างวิกฤติให้กับประชากรโลกตลอด  2 ปีที่ผ่านมา เกิดการเรียนรู้สู้โรคขนานใหญ่ องค์ความรู้ด้านการรักษาโรคในอดีตถูกพลิกฟื้น ควบคู่ไปกับการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตยารักษา และวัคซีนป้องกันโรค มุ่งหมายเพื่อหาแนวทางการบำบัดแก้ไขโรคร้ายลดตัวเลขคนป่วยและตายให้น้อยที่สุด

คัมภีร์พระตำรับแผนฝีดาษ

เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจโรคระบาดที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ กรมศิลปากรพาข้ามเวลาเข้าสู่อดีตเพื่อพบหลักฐานการเกิดโรคผ่านนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช  2565  เรื่อง “อาโรคยปณิธาน”  ซึ่งหมายถึง ความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ดังกล่าว ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร   เมื่อวันก่อน

ในนิทรรศการเริ่มที่หัวข้อ มนุษย์กับโรคภัย นำเสนอเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์  โรคภัยของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดี นำเสนอโรคต่างๆ ที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากหลักฐานต่างๆ ทั้งทางด้านโบราณคดี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง จารึก และบันทึกต่าง ๆ

หนึ่งในหลักฐานสำคัญนำมาจัดแสดง เป็นคัมภีร์พระตำรับแผนฝีดาษ รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นอักษรสาสนโสภนและหลวงสารประเสริฐทรงชำระและชำระเมื่อ พ.ศ.2414 ได้มาจากห้องสมุดกรมศึกษาธิการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ แล้วยังมีสมุดไทยดำ อักษรขอมปนไทย เส้นชุบทอง ประกอบด้วยแผนภาพฝีดาษประจำ 12 เดือน วิธีรักษาพร้อมทั้งตำรับยารักษาอาการระดับต่างๆ  รวมถึงอธิบายลักษณะของฝีขึ้นวันกำเนิดเป็นฝีร้ายและลักษณะฝีที่ขึ้น

แท่นหินบดยา มีจรึกเยธมฺมาฯ เก่าแก่สมัยทวารวดี

ถัดมาแท่นหินบดยา มีจารึกเยธมฺมาฯ เก่าแก่สมัยทวารวดี  พุทธศตวรรษที่ 11-12 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล  พบที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2507 การนำคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนามาจารึกบนแท่นหินบดยาจะทำให้ตัวยาศักดิ์สิทธิ์ด้วยพุทธคุณ     พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะพ้นจากโรค พ้นจากทุกข์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญทำให้เรารู้ถึงความเชื่อและศรัทธาของผู้คนสมัยทวารวดีที่มีต่อพระพุทธศาสนาและปรุงยารักษาโรคแล้วยังมีประติมากรรมฤาษีดัดตน  เป็นท่าดัดตนของโยคีอินเดียเป็นการออกกำลังกายที่ใช้ศิลปะเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และแก้ปวดเมื่อย  

ประติมากรรมฤาษีดัดตน

ในส่วนศาสตร์แห่งการรักษา นำเสนอแนวทางการรักษาโรคที่มีวิธีอธิบายสมุฏฐานและวิธีบำบัดโรคมากกว่าหนึ่งวิธี ได้แก่ ศาสตร์ด้านความเชื่อ ศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย และศาสตร์ด้านการแพทย์แผนตะวันตก  มาชมหน้ากากชิมเมลบุช ประดิษฐ์ขึ้น พ.ศ. 2433 โดย นพ.เคอร์ท ชิมเมลบุช ศัลยกรรมชาวเยอรมัน ลักษณะเป็นตะแกรงหน้ากากโปร่ง หุ้มด้วยผ้าสำสีสำหรับหยดยาสลบ แล้วนำไปครอบจมูกและปากให้ผู้ป่วยสูดดม เป็นเครื่องมือแพทย์ยุคเริ่มแรกสำหรับผ่าตัดภายในโรงพยาบาลศิริราช ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ศัลยแพทย์ผ่าตัดด้วยความเรียบร้อย และลดอาการเจ็บปวดผู้ป่วยได้

หน้ากากให้ยาสลบชิมเมลบุช

นอกจากนี้ มีหัวข้อ สังคมระดมปัญญา สู่ชีวิตวิถีใหม่ นำเสนอการจัดการวิกฤติโรคระบาดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสังคมไทยให้ผ่านพ้นด้วยพลังของทุกภาคส่วนในสังคม เดินชมนิทรรศการจนทั่วจะเห็นได้ว่า โรคร้ายมีมาแต่อดีตมีการรักษาไม่ให้แพร่กระจาย ส่วนในไทยวันนี้ประชาชนต้องดูแลป้องกันตัวเอง  อยู่ร่วมกับโควิด เพราะไม่ช้าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น            สนใจชมนิทรรศการพิเศษ  เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร   เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 15  พ.ค. – 7 ส.ค. 2565  เวลา 09.00-16.00  น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเจิมเทียนพรรษา

7 ก.ค.2567 - เวลา ๑๓.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ วังสระปทุม ทรงเจิมเทียนพรรษา สำหรับทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดบูชา

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงบาตรในโอกาสครบ 110 ปี รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

30 พ.ค.2567 - เวลา 07.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบาตร เนื่องในโอกาสวันสถาปนาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ครบ 110 ปี

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรจำลอง

20 พ.ค.2567 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (จำลอง) ซึ่ง มูลนิธิรามาธิบดีฯ และ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ได้ร่วมกันจัดสร้างให้ประชาชนเช่าบูชา

'จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง' พระราชนิพนธ์กรมสมเด็จพระเทพฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พระราชทาน พระราชานุญาตให้มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ “ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” เผยแพร่   ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง”

ตื่นตาสินค้าพื้นเมือง 57 ชาติ งาน'ออกร้านคณะภริยาทูต'

เตรียมตัวเที่ยวงานออกร้านคณะภริยาใจกลางกรุงเทพฯ ตื่นตากับสินค้าพื้นเมืองที่เป็นอัตลักษณ์ของของแต่ละประเทศ  ด้วยการจับมือร่วมกันสภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ Donation HUB “รับ”เพื่อ“ให้” กับสถานทูต 57 ประเทศทั่วโลก และศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยประกาศคามพร้อมการจัดกิจกรรม “งานออกร้านคณะภริยาทูตครั้งที่ 57”