วธ.เผยผลโพล’วันวิสาขบูชา ปี 65′ ประชาชนรู้ความสำคัญ เป็นวันประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน พบสนใจตักบาตร-ทำบุญ-เวียนเทียน น้อมนำศีล 5 เป็นหลักชีวิต พ่อแม่ใช้วิธีพาเข้าวัดจูงใจร่วมกิจกรรมส่งเสริมพุทธศาสนา
13 พ.ค.2565 – นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน (โพล) ที่มีต่อ “วันวิสาขบูชา ปี 2565” ปีนี้ตรงกับวันที่15 พฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 7,865 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค ผลสำรวจพบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.28 คิดว่าวันวิสาขบูชามีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ รองลงมา ร้อยละ 67.15 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ร้อยละ 63.55 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และร้อยละ 49.26 เป็นวันสำคัญสากลของโลก และผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 51.46 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชาในปีนี้
ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงปัจจุบันอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต้องการให้จัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชารูปแบบใด พบว่า ส่วนใหญ่อยากให้จัดกิจกรรมรูปแบบปกติและรูปแบบออนไลน์ควบคู่กัน ส่วนกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่สนใจเข้าร่วม 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 ตักบาตรพระสงฆ์ อันดับ 2 ทำบุญ ทำทาน อันดับ 3 ลด ละ เลิก อบายมุข อันดับ 4 เวียนเทียน และอันดับ 5 ฟังพระธรรมเทศนา
รมว.วธ กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชนและประชาชนในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะนำหลักธรรมใดมายึดถือปฏิบัติและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า “ศีล 5”เป็นศีลพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ชาวพุทธทุกคนยึดถือปฏิบัติเป็นหลักของชีวิต รองลงมา “สติ” ความรู้สึกตัว ความระลึกได้ ความรับรู้ การเอาจิตไปรับรู้ ในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือปรากฏขึ้น ในปัจจุบัน “อริยสัจ 4” (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) คุณธรรมแห่งความสำเร็จและหลักการครองงาน และท้ายสุดความกตัญญูกตเวที ความรู้และตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้
นอกจากนี้ ผลสำรวจได้สอบถามถึงวิธีการจูงใจให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา มากขึ้น 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 พ่อ แม่/ปู่ย่า ตายาย/ญาติพี่น้อง พาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชา อันดับ 2 เปิดแหล่งเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมหรือเรียนรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์ อันดับ 3 ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมผ่านโซเชียลมีเดีย อันดับ 4 หน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาชนและคณะสงฆ์ ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในมิติทางศาสนา ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอันดับ 5 นำศิลปินดารา บุคคลที่มีชื่อเสียง มาร่วมรณรงค์/เชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ส่วนกิจกรรม/ประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า ควรสืบสาน รักษาไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ ประเพณีพิธีสมโภช น้ำสรงพระบรมธาตุดอยสุเทพ (เตียวขึ้นดอย) รวมทั้งงานวันอัฏฐมีบูชา ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (ตรงกับเดือน 6 ของไทย) เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
ทั้งนี้ วธ.โดยกรมการศาสนา ขอเชิญชวนเด็ก เยาวชนและประชาชน ร่วมกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ปี 2565 ในกิจกรรมตามรอย Buddha ตอบปัญหาธรรมะที่เวบไซต์ www.วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา.com วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.30 – 16.30 น. ผู้ตอบปัญหาธรรมะผ่าน 5 ข้อขึ้นไป 100 คนแรก จะได้รับของที่ระลึกจากกรมการศาสนา
—
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พิกัด 11 วัด งานอารามอร่ามประดับไฟรับปีใหม่
เพื่อส่งมอบความสุขปลายปีและเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดกิจกรรม “อารามอร่าม 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์1 พิพิธภัณฑ์ ประดับไฟฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2568 “ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่ห้ามพลาดและไม่ได้จัดเป็นประจำ เพราะ
ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม
โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List
แสดง'โขน-โนรา'สานสัมพันธ์ที่เขมร
25 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมาส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนและเวทีนานาชาติ
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
สืบสานประเพณีถวายผ้าพระกฐินวัดหนองแวง แหล่งรวมมรดกวัฒนธรรม
5 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลกฐิน พุทธศักราช 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา