จังหวัดราชบุรี อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดยาวเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียว ที่จะไปพักผ่อนหย่อนใจ เพราะนอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ อย่างตลาดน้ำดำเนินสะดวก ใกล้ชิดธรรมชาติที่อำเภอสวนผึ้ง แต่ในตัวเมืองราชบุรี ก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย บางสถานที่ ไม่เคยรู้มาก่อนก็มี คราวนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) พาไปรู้จักเมืองราชบุรี ที่ได้ชื่อว่าเมืองโอ่งให้ดียิ่งขึ้น
ในเส้นทางท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ตามรอยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราช(พ.ศ.2411-2415 ) หลังจากที่ท่านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ พ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วท่านได้เข้ามาพำนักบ้านที่จังหวัดราชบุรี และพัฒนาราชบุรีให้รุ่งเรือง นอกจากนี้ เรายังได้ย้อนเวลากับไปสมัยทราวดี เมืองโบราณต้นกำเนิดศิลปะอันงดงามอีกด้วย
ล้อหมุนออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าเพื่อเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดมุ่งหน้าสู่ จ.ราชบุรี เริ่มจุดหมายแรกที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี อาคารสีชมพูเด่นตระหง่าน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นศาลากลางจังหวัด และมีการบูรณะในพ.ศ. 2534 ได้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงที่มาของจ.ราชบุรี โดยด้านในแบ่งเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องสภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี ห้องถัดมาคือ ก่อนประวัติศาสตร์และโบราณคดีราชบุรี ตั้งแต่สมัยทราวดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เครื่องใช้ ภาชนะดินเผา โครงกระดูกมนุษย์จริง เศียรพระพุทธรูปศิลา พระอบทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุ 5 องค์ ที่พบบริเวณโบราณสถานหมายเลข 1 ตำบลคูบัว ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ราชบุรียังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ซึ่งในห้องจัดแสดงมีหลักฐานแสดงให้เห็นคือ ซุ้มพระพุทธรูปบนกำแพงแลง วัดมหาธาตุ รูปปูนปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งพบเพียงร่างท่อนกลาง ในสมัยอยุธยามีหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ส่วนองค์พระพุทธรูปหินทราย ใบเสมาหินทราย พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ถัดมายังห้องเผ่าชนชาติพันธุ์วิทยา ที่มีเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม วิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยภาคกลาง ไทยจีน ไทยยวน ไทยมอญ ไทยกะเหรี่ยง ไทยลาวโซง ไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม เรายังได้เห็นพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลราชบุรี ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ ส่วนห้องมรดกดีเด่น จะเล่าเรื่องประเพณีวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และบุคคลสำคัญ ห้องสุดท้ายเป็นการจัดแสดงพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อจังหวัดราชบุรี
บริเวณพื้นที่นี้จะเห็นว่ามีบ้านสีเหลือง 2 ชั้นตั้งอยู่ ปัจจุบัน คือ ที่ทำการพิพิธภัณฑ์ แต่ในอดีตนั้นคือทำเนียบ หรือ บ้านพักในช่วงบั้นปลายชีวิต ของท่านช่วง บุนนาค หลังท่านพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รูปแบบบ้านเป็นสถาปัตยกรรมในยุคโคโลเนียล เนื่่องจากในช่วงนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม ศิลปะในการสร้างบ้านจึงมีความผสมผสานความเป็นยุโรปตะวันตกกับตะวัน ด้านล่างเป็นใต้ถุนสูง โดดเด่นด้วยสีเหลืองมัสตาร์ด ซึ่งไฮไลท์ของบ้านหลังนี้คือป้ายสถิตดวงวิญญาณของท่านช่วง และบรรพบุรุษเชื้อสายตระกูลของท่าน ส่วนอัฐิของท่าน ยังคงอยู่ที่วัดบุปผารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูล
เดินเท้าไปทางด้านซ้ายของพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ที่คนไทยเชื้อสายจีนที่นี่ให้ความเคารพศรัทธาอย่างมาก โดยท่านช่วง ได้มอบที่ดินให้กว่า 2 ไร่ ในการสร้างศาลเจ้า ซึ่งในอดีตเป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ โดยเทพเจ้าที่เป็นประธานในศาลคือ เทพเจ้ากวนอู ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่น มือขวาอยู่ท่าลักษณะจับเครา มือซ้ายถือคำภีร์ เป็นงานแกะสลักจากไม้ มีอายุเก่าแก่ราวๆ 140 ปี ความวิจิตรงดงามที่ถูกซ่อนไว้หลังศาลเจ้าพ่อกวนอู คือ ตู้ไม้เก็บป้ายวิญญาณขนาดใหญ่ ที่สร้างด้วยความปราณีต มีการแกะสลักลวดลาย ภาพจิตรกรรมบนฝาตู้ไม้มีการลงพื้นสีดำเขียนลายด้วยทอง ประกอบด้วยสัญลักษณ์มงคล วิวทิวทัศน์ วรรณกรรมจีน หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าพ่อกวนอู นอกจากจะเป็นป้ายดวงวิญญาณของชาวจีนแล้ว ตรงกลางด้านบนสุดยังเป็นป้ายดวงวิญญาณของท่านช่วง บุนนาค ที่ได้สร้างขึ้นอีกอันหนึ่งไว้ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย
ส่วนวัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร เป็นวัดที่ท่านช่วง ได้เป็นผู้สร้างขึ้นในแบบเรียบง่าย สมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นวัดใหม่ในแถบนี้ พระอุโบสถจึงเป็นหลังเล็กๆ เพราะยังไม่มีพระมาจำพรรษา สถาปัตยกรรมในการสร้างเป็นแบบยุโรป ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน ได้รับอิทธิพลในการสร้างตามคติรัชกาลที่ 4-5 คือ พระมีความเป็นสามัญมนุษย์ จึงไม่มีเนื้อนูนตรงกระหม่อม ผนังโบสถ์มีการนำหินมาเขียนลายหินอ่อน ตัดกับกระเบื้องลายคราม ลวดลายสุริยมณฑล คล้ายกับดวงอาทิตย์ที่ล่อมรอบด้วยดอกไม้ด้านล่าง บนเพดานประดับด้วยโคมไฟแชงกาเรียระย้าสวยงาม
ในช่วงค่ำ พวกเราเดินทางข้ามอำเภอไปดูกรรมวิธีการผลิตเต้าหู้ที่ โรงงานเต้าหู้วัดไทร อ.โพธาราม โดยมีพี่หนึ่ง ลูกเขย รุ่นที่ 3 มาบอกเล่าขั้นตอนการทำเต้าหู้ที่สืบทอดมากว่า 70 ปี ซึ่งมีส่วนผสมเหมือนเดิมทุกอย่าง มีการปรับเพียงการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนในบางส่วน ที่นี่จะทำเต้าหู้ 3 ประเภท คือเต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง และเต้าหู้กระดาน โดยขั้นตอนแรกต้องทำให้ได้น้ำเต้าหู้เพื่อแยกไปทำเต้าหู้ทั้ง 3 ประเภท
เต้าหู้ขาว มีส่วนผสมหลักคือ ดีเกลือ ส่วนเต้าหู้เหลือง ใช้ส่วนผสมหลักคือเจี๊ยะกอ และต้องนำไปต้มด้วยขมิ้นเพื่อให้เกิดสีเหลือง ส่วนเต้าหู้กระดาน ใช้สวนผสมคือ เจี๊ยะกอเช่นกัน แต่จะแตกต่างกันที่อุณหภูมิและปริมาณน้ำ และไม่ใช้ขมิ้น โดยทุกขั้นตอนมีความสะอาด ใส่ใจ และเบามือ เพื่อให้เต้าหู้ออกมาสวยและเนื้อสัมผัสที่ดี เราได้ลองลิ้มรสน้ำเต้าหู้ ยอมรับเลยเป็นรสชาติแตกต่างจากที่เคยดื่มมา เป็นรสถั่วเหลืองที่กลมกล่อมไม่ผ่านการแต่งกลิ่นใดๆ อีกทั้งตัวเนื้อเต้าหู้ ก็นุ่มนิ่มแถมรสสัมผัสยังละมุนละลายในปากเลย ใครอยากมาลองชิมได้ที่ตลาดเช้าโพธาราม ต้องรีบมาตั้งแต่ตี 3 เลย เพราะของเขาขายหมดไวมาก หรือโทรจองล่วงหน้า 1 วันได้ที่เบอร์ 082 455 4509
อีกหนึ่งวันในราชบุรี คงไม่พลาดที่จะไปวัดช่องลม ที่ประดิษฐานหลวงพ่อแก่นจันทร์ ปางอุ้มบาตร สันนิษฐานว่าอายุ 1,000 ปี โดยมีเรื่องเล่าว่าพบหลวงพ่อลอยน้ำมา ตั้งแต่เศียรถึงพระอุระทำด้วยเนื้อทองสำริด สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปในยุคอู่ทอง เพราะมีรัศมีเปลวเพลิง แต่ส่วนโครงหน้าได้อิทธิพลมาจากศิลปะแบบทราวดี ส่วนองค์พระแกะสลักจากไม้แก่นจันทร์ สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงเรียกได้ว่าเป็นพระ 2 ยุค เดินไปด้านหน้าท่าน้ำของวัด จะพบกับประตูท่าเรือจีน ที่วิจิตรและประณีตมากๆ ยังคงอยู่ในข้อสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 200 ปี ลวดลายยอดหลังคาที่เป็นปูนปั้นรูปมังกรพ่นน้ำ มีดอกโบตั๋นตรงกลาง รอบๆประกอบด้วยสัตว์มงคล สีครามที่ใช้ทายังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่จางๆ จิตรกรรมยังหลงเหลือรอยปลายพู่กันที่บรรจงวาดเขียน รวมไปถึงฝีมือในการปั้นปูนให้พริ้วไหวดั้งของจริง ซึ่งนับว่ามีความสมบูรณ์ที่สุด
ก่อนโบอกมือลา เราไปสักการะอีกวัดที่เก่าแก่ คือ วัดมหาธาตุวรวิหาร สร้างตั้งแต่สมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเขมร วัดจึงมีสถาปัตยกรรมแบบขอมช่วงยุคบายน ที่มีการเปลี่ยนจากศาสนาฮินดูเป็นพุทธมหายาน โดยมีสัญลักษณ์คือ พระชัยพุทธมหานาค ศิลปะแบบบายนที่ประดิษฐานอยู่ด้านบนพระปรางค์ และด้านหลังมีหลวงพ่อพันปีปางรำพึง ด้านหลังเป็นจิตรกรรมอดีตพระพุทธเจ้า สมัยอยุธยาที่หาชมได้ยาก ส่วนพระวิหารด้านหน้าประดิษฐานพระมงคลบุรี หันหน้าไปทางทางตะวันออก เพื่อดูแลเมืองริมน้ำแม่กลอง และพระศรีนัคร์ หันหน้าตะวันตก ดูแลเมืองเก่า ประทับนั่งพระปฤษฎางค์ชนกัน ซึ่งมีองค์ใหญ่ บริเวณรอบๆเรายังเดินชมซากปรักหักพังของหินศิลาแลง และศิลปะปูนปั้นรอบประปรางค์ที่ช่างได้สร้างไว้อย่างวิจิตรงดงาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เซเว่นฯ เปิดตัว แสตมป์เสน่ห์ไทย ให้ลูกค้าสะสม
เซเว่นฯ จับมือ ททท. สร้างปรากฎการณ์ “แสตมป์เสน่ห์ไทย ใครๆ…ก็หลงรัก” ผ่านแคมเปญสุดจึ้งแห่งปีโดยมี “โดราเอมอน” มาสร้างความสนุก ผสมผสานความเป็นไทยครั้งแรก!!! จัดใหญ่ทั่วไทย…แจกใหญ่ทั่วถึงสะสมได้ทั้งรูปแบบดวงแสตมป์ และ M-Stamp บน 7 App ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ถึง 15 ธันวาคม 2567
ททท. กางแผนปี 68 ดึงต่างชาติเที่ยวทะลุ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 3.4 ล้านล้าน
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในงานประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ปี 2568 (Tourism Authority of Thailand Action Plan 2025 : TATAP 2025) ว่า ททท.ตั้งเป้าหมายในปี 2568 สร้างรายได้รวมเพิ่มจากที่ทำได้ในปี 2567 ไปอีก 7.5%