ปัจจุบันคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้บูรณะอาคารวชิรานุสรณ์หรือ”ตึกเหลือง” ให้กลับคืนความสวยงามตามสถาปัตยกรรมตะวันตกในอดีต เพื่ออนุรักษ์อาคารแห่งประวัติศาสตร์นี้ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่ทุ่งสามเสนจากอดีตที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยในสมัยอยุธยา สู่ยุครัตนโกสินทร์ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผ่านการสืบค้นจากเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่รอบด้าน โดยมีการจัดงาน”110ปี วชิรพยาบาลแห่งทุ่งสามเสน” และกิจกรรม Soft opening อาคารวชิรานุสรณ์ และวชิรปาร์ค เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก
อาคารวชิรานุสรณ์ วชิรพยาบาล เดิมเป็นบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ หรือบ้านหิมพานต์ การสร้างกินเวลาระหว่างปี 2448-2451 รอบบ้านพระสรรพการหิรัญกิจเป็นพื้นที่ย่านสานเสน ศูนย์กลางความเจริญในเวลานั้น มีชุมชนชาวสยาม ชาวเขมร ชาวญวณ และชาวจีนที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาสรรพการ (เชย อิศรภักดี) เป็นบุตรคนที่สามของพระพรหมภิบาล ขุนนางเก่าแก่ที่มีอำนาจ เคยรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ก่อนลาออกมาเป็นผู้จัดการฝ่ายไทยของแบงก์สยามกัมมาจล
การออกแบบตกแต่งภายในตึกเหลืองงดงาม
รูปแบบสถาปัตยกรรมของตึกพระสรรพการและตึกคุณทรัพย์ หรือภายหลังเรียก ตึกเหลืองและตึกชมพู เป็นแบบนีโอคลาสสิก ที่ผสมผสานองค์ประกอบตกแต่งจากสถาปัตยกรรมแบบโกธิค และศิลปะแบบอาร์ตนูโว งานออกแบบลักษณะนี้เป็นความถนัดของช่างอิตาเลียนที่ทำงานในสยามเวลานั้น ในการขึ้นตึกใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ พระราชทานน้ำสังข์และพระราชทานพรแก่พระสรรพการหิรัญกิจ และทรัพย์ สตรีข้างกายทอดพระเนตรในบ้าน
นอกเหนือตัวบ้านหรูหรางดงาม ใช้เป็นบ้านพักแล้ว ด้านหลังบ้านได้สร้างเขาดินขนาดใหญ่ เรียกว่า “ป๊ากสามเสน” เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ พบปะสังสรรค์ของชาวพระนคร การเปิดป๊ากสามเสน กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ มาเป็นประธาน มีการเก็บค่าเข้าชมรายครั้งและรายปี
จากเอกสารข่าวลงเรื่องบ้านหิมพานต์ ทำให้ทราบว่า มีการสร้างโรงละคร กระโจมแตร ในบริเวณบ้าน มีกรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ มีสระว่ายน้ำ สนามหญ้า มีเขาก่อด้วยหินขนาดใหญ่ มีถ้ำให้เข้าไปเที่ยว มีสระหน้าเขาประดับประดาด้วยเครื่องทะเล ภายในถ้ำมีทางขึ้นสู่ยอดเขาประดิษฐานพระพุทธรูปให้สักการะบูชา ภายหลังจากบ้านหิมพานต์สร้างเสร็จและเปิดใช้งานได้เพียง 2-3 ปี ป๊ากสามเสนปิดตัวลง เหตุจากเจ้าของบ้านดำเนินกิจการผิดพลาดทำให้ลาออกจากผู้จัดการแบงก์ ถูกฟ้องล้มละลาย และถูกถอดยศ ทำให้บ้านหิมพานต์ ป๊ากสามเสนรวมถึงที่ดินถูกโอนกรรมสิทธิ์เป็นของแบงก์สยามกัมมาจล
ดื่มด่ำศิลปะสถาปัตยกรรมภายในบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ
หลังพ้นราชการได้ย้ายไปอยู่บ้านสามเสนซอย 11 และได้ไปเรียนกฎหมาย สอบจนเป็นอัยการ และได้รับพระราชทินนามเป็นอำมาตย์โท พระอรรถวสิษฐสุธี ต่อมาขอพระราชทานทานสกุลจากรัชกาลที่ 6 ได้นามสกุลพระราชทาน”อิศรภักดี” เป็นต้นสกุลอิศรภักดี รับราชการจนเกษียณอายุ ถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถรอบด้าน ถึงแก่กรรมในวัย 73 ปี
สมัยรัชกาลที่ 6 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 240,000 บาท ซื้อที่ดินและบ้านหิมพานต์จากแบงก์ เพื่อจัดตั้งเป็นสถานพยาบาลให้ประชาชน จัดหาเครื่องมือทางการแพทย์และการพยาบาล เสด็จฯ เปิด “วชิรพยาบาล” เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2455 และใช้ตัวอาคารเป็นที่ทำการโรงพยาบาล
คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาลได้บูรณะอาคารวชิรานุสรณ์ ซึ่งอาคารหลังนี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีการบูรณะซ่อมแซม และเตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าถึงความเป็นมาปฐมภูมิของดินแดนสามเสน บ้านหิมพานต์ ห้องจำลองเสมือนจริงของพระสรรพการหิรัญกิจ ภาพถ่ายลำดับเหตุการณ์เล่าเรื่องตึกเหลือง กำเนิดวชิรพยาบาล จัดแสดงวัตถุสำคัญ เอกสารเก่า ภาพถ่ายบุคคล ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล บุคคลสำคัญของวชิรพยาบาล โดยใช้เทคโนโลทันสมัย รวมถึงให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลได้มีที่พักผ่อนหย่อยใจอีกด้วย
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ต้องอดใจ แต่ถ้าสนใจสามารถมาชม ‘ตึกเหลือง’ ดื่มด่ำสถาปัตยกรรม มาถ่ายภาพเช็กอิน พร้อมชมความสวยงามของตัวอาคารประวัติศาสตร์