การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นับเป็นเวทีการประกวดระดับชาติที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุดในประเทศไทย และจัดการแสดงอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร จนถึงปัจจุบันนับเป็นครั้งที่ 67 เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้มีเวทีแห่งการสร้างสรรค์ในระดับชาติโดยการส่งผลงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อประสม เข้าประกวด เวทีนี้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมตัดสินและนำผลงานไปจัดแสดงนิทรรศการ นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนรักงานศิลป์ได้ชื่นชมงานศิลปกรรมอย่างเต็มอิ่มทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ในครั้งนี้มีศิลปินส่งงานศิลป์เข้าประชัน 202 คน รวม 277 ชิ้นงานผลการคัดเลือกและตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ ปรากฏว่า มีผลงานศิลปกรรมได้รับรางวัลประเภทต่างๆ รวม 18 รางวัล และผลงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดง 63 ชิ้น
ศักชัย อุทธิโท เจ้าของผลงาน “มิติความดีงามของอารยธรรมแห่งบรรพชน” คว้าประกาศนียบัตรเกียรตินิยม อันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม กล่าวว่า ภาพนี้ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม จารีตประเพณีของสังคมชนบทที่สืบทอดกันมา โดยกลั่นกรอง วิเคราะห์การใช้ทัศนธาตุในการสร้างสรรค์
“ เส้นเกิดจากการเรียนรู้สัมผัสภายใน จากสัจธรรมแห่งวิถีชีวิตของความจริงแท้ สีและจุดเกิดจากการสัมผัสและสั่งสมธาตุรู้ที่สกัดจากวัฒนธรรม สร้าง อารมณ์ที่พริ้วไหว ถักทอทับซ้อน ระยิบระยับเคลื่อนไหวพร่าเบลอ กระตุ้นความรู้สึกจากประสบการณ์ของผู้ชมให้เกิดเงาสะท้อนขึ้นในใจ มีบรรยากาศสร้างมนต์เสน่ห์ที่เส้น สีสัน สร้างพื้นที่ชักนำให้ใช้จินตนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีความทับซ้อนกันอยู่ในสภาวะชีวิตของเรา “ ศักชัย กล่าว
ส่วนประเภทประติมากรรม มงคลชัย แก้วแจ้ง เจ้าของเหรียญเงินจากผลงาน”ฟ้ามืดแล้ว” บอกว่า ครอบครัวของตนเป็นเกษตรกร จอบและเสียมเป็นเครื่องมือหลักและเป็นจุดเริ่มต้นปลูกต้นส้มโอ ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นการหยิบจับเครื่องมือและความเป็นชาวสวนในวัยเด็ก เป็นเครื่องมือที่ใช้บ่อยที่สุดในการทำสวน ต้องใช้แรงเพื่อขุดดินจำนวนมาก ใช้เวลานาน ทำให้เกิดความเหนื่อยล้ามาก ส่วนใหญ่ทำงานกันถึงช่วงเย็นจนพระอาทิตย์ตกดิน จะมีประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “ฟ้ามืดแล้ว กลับบ้านกันนะ” เกิดเป็นแรงบันดาลใจสร้างศิลปะชุดนี้
รางวัลเหรียญเงิน ภาพพิมพ์ ลดากร พวงบุบผา เผยที่มาผลงาน”ยามฝัน นิรันดร์”ว่า ใช้ชีวิตอยู่กับแม่บุญธรรมอายุ 96 ปี สองคน ทำให้บรู้ถึงพฤติกรรมพิลึกพิลั่นของแม่จากความชรา สื่อสารที่ไม่ชัดเจน หลงลืม บางครั้งพูดถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้บนโลกแห่งความเป็นจริง
“ ภาพพิมพ์ร่องลึกนี้ได้แรงบันดาลใจจากแม่ ซึมซับความคิดและจินตนาการเกิดจากการใช้เวลาร่วมกันนํามาสร้างงานศิลปะในความหมายใหม่ที่เหนือจริง อ้างอิงจากรูปวาดของแม่ สื่อเรื่องราว จินตนาการ เนื้อหาสิ่งที่แม่คิด และมีตนเป็นผู้ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปลักษณ์ ปรากฏเป็นรูปปธรรมของสิ่งมีชีวิตและวัตถุในแบบเหนือจริง “ ศิลปินบอก
ด้านเหรียญเงิน สื่อผสม กรกนก พฤกษ์มโนนุกูล เล่าถึงงาน “ความจริง-ภาพลวง” สื่อผสมจัดวาง และภาพถ่ายนี้ว่า การยอมรับความจริงยากกว่าสร้างภาพลวงขึ้นมา คนบางประเภทยอมรับมีความสุขกับภาพลวง เพราะไม่สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงภายในจิตของผู้อื่นได้ ภาพลวงถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปิด ซ่อนเร้นการรับรู้และการแสดงออก เป็นอารมณ์ตรงข้ามกับความรู้สึกที่ไม่ปรารถนาจะเปิดเผย การบิด ดึง รั้ง ฝืนอวัยวะให้เปลี่ยนจากความ ไม่มีใครตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด มีเพียงการยอมรับระหว่างผู้แสดงและผู้รับ เป็นสิ่งที่เกิดจากจิตใจที่ซับซ้อนของคน
สนใจแวะไปชมได้ นิทรรศการจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16 มี.ค. – 17 เม.ย.2565 ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. ทุกวันพุธ-อาทิตย์ (เว้นวันจันทร์และวันอังคาร) จากนั้นจะนำไปจัดแสดง ณ สถาบันศิลปะในส่วนภูมิภาคต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สนช. ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญ ม.ศิลปากร จัดงานแสดงนิทรรศการ Bloom 2022: The Southern Blooming อวดโฉม 20 ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ชายแดนใต้ สร้างแรงบันดาลใจและรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นผลตอบรับเกินคาด
ปิดฉากไปแล้วอย่างงดงามกับงานแสดงนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน และนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ (The Southern Blooming) ผ่านการอวดโฉม 20 ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)