IFMA ประทับใจทวีปแอฟริกา 28 ประเทศร่วมตะบัน "แอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024" มั่นใจโร้ดแมปโปรโมททั่วโลกสร้างมาตรฐานก้าวแรกดันบรรจุโอลิมปิก 2032 ที่ออสเตรเลีย ลุยผนึกรัฐบาลไทยสนองนโยบายนำ "มวยไทย" สร้างซอฟต์พาวเวอร์
การแข่งขัน "แอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024" (Africa Muaythai Championships 2024) ที่สังเวียนไคโร อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดียม ภายในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เพื่อรอบแรกของรอบคัดเลือกนักกีฬามวยไทยไปสู่การแข่งขันกีฬาเวิลด์เกมส์ 2025 ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ในปี 2568 โดยมีนักมวยไทย 28 ประเทศของทวีปแอฟริการ่วมตะบันหมัด ซึ่งจัดโดยสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมมือกับ กระทรวงเยาวชนและกีฬาอียิปต์, คณะกรรมการโอลิมปิกอียิปต์, สหภาพแอฟริกามวยไทย และสมาคมมวยไทยอียิปต์ ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีนายธนบดี จูทอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร, สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งอียิปต์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาของอียิปต์ และชาติสมาชิกต่างๆ เข้าร่วม
ศึกมวยไทย "แอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024" เป็นหนึ่งในแผนงานที่ IFMA ดำเนินการเผยแพร่ศิลปะแม่ไม้มวยไทยเพื่อโปรโมตศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย ต่อยอดไปสู่การบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2032 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันปี ค.ศ.2032 หรือ พ.ศ.2575 อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนมวยไทยซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยให้เผยแพร่ไปสู่ระดับนานาชาติตามนโยบายของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนอกเหนือจากการชิงชัยของนักมวยไทย 28 ประเทศของทวีปแอฟริกาแล้ว ประเทศไทยยังนำการแสดงไหว้ครูมวยไทย มวยไทยโบราณ และวงปี่พาทย์มวยไทย ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทย ไปประกอบการชกให้กับชาวแอฟริกาได้สัมผัสถึงศิลปะประจำชาติไทยอย่างใกล้ชิด
นายธนบดี จูทอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เปิดเผยว่า ดีใจที่มวยไทยของเราได้รับความนิยม โดยเฉพาะปีนี้อียิปต์ได้เป็นเจ้าภาพจัด "แอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024" จึงยินดีมาก มีวงปี่พาทย์มวยไทยมาบรรเลง ประทับใจมาก สถานทูตไทย ณ กรุไคโร สนับสนุนมวยไทยมาโดยตลอดตั้งแต่การผลักดันให้มีการก่อตั้งสมาคมมวยไทยที่อียิปต์ นอกเหนือจากนี้เราสนับสนุนจัดแสดงกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเชิญสมาคมมวยไทยของอียิปต์ร่วมโชว์ในกิจกรรมต่างๆ ที่สถานทูตจัดขึ้นดึงดูดความสนใจจากเยาวชนของอียิปต์ได้จำนวนมาก มวยไทยถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ นอกเหนือจากอาหารไทย และภาพยนต์ ในการแข่งขันครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ว่า คนอียิปต์รู้จักประเทศไทยผ่านการนิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างมวยไทย
ด้าน สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการ IFMA กล่าวว่า IFMA เล็งเห็นถึงความสำคัญหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมวยไทย และสำหรับองค์กรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) คือ สนับสนุนความหลากหลายในมวยไทยโดย IFMA มี 5 สมาพันธ์ทวีป ซึ่งสมาพันธ์มวยไทยแห่งแอฟริกา มีความสำคัญเท่าเทียมกับทวีปอื่นๆ และยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกในปัจจุบัน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันและมีความเท่าเทียมกัน โดยทวีปแอฟริกาถือว่ามีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และอีกในไม่ช้าจะมีประชาการมากกว่า 2 พันล้านคน หลายประเทศในแอฟริกามีความกระตือรือร้นในด้านการพัฒนากีฬาทั้งมวยไทย, ฟุตบอล, รักบี้, บาสเกตบอล, กรีฑา และอื่นๆ อีกด้วย
IFMA ได้ทำงานร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์กีฬาแห่งแอฟริกา (UCSA) และประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนามวยไทยไปให้ถึงขีดสุด รวมถึงเสริมสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ ส่งเสริมด้านสุขภาพ การบริหารจัดการที่ดี และโปรโมตส่งเสริมด้านวัฒนธรรมให้ทัดเทียมกับการโปรโมตด้านการต่อสู้ นอกจากนี้ยังมีโครงการ "กีฬาสำหรับทุกคน" พร้อมกับการแข่งขันสำหรับผู้พิการ และเด็กพิเศษ ซึ่งความสำเร็จที่ได้นั้น ทำให้มวยไทยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมาคมสมาพันธ์กีฬาแห่งแอฟริกา(UCSA) และสหพันธ์โอลิมปิกแห่งชาติ 54 ประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับก้าวต่อไปคือ การแข่งขันกีฬาแอฟริกันเกมส์ ต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของ IFMA
สเตฟาน ฟ็อกซ์ กล่าวต่อไปว่า IFMA ลงทุนอย่างมากในการอบรมโค้ช อีกทั้งยังสนับสนุนอุปกรณ์ และนักกีฬาให้เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ทวีป และชิงแชมป์โลก โดยในปีนี้ได้จัดการแข่งแอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024 ครั้งที่ 3 ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ มี 28 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และมีสมาชิกระดับสูงจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC), สภาโอลิมปิกแห่งแอฟริกา และสมาคมสมาพันธ์กีฬาแห่งแอฟริกา (UCSA) เข้าร่วมด้วย เพื่อแสดงถึงความเชื่อถือ และความเคารพที่มวยไทยได้เข้าไปสู่ในทวีปแอฟริกาแล้ว ดังนั้นการทำให้เข้าใจและส่งเสริมมวยไทยให้กลายเป็นศิลปะและวัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการให้มีความเข้าใจ และส่งเสริมมวยไทยในฐานะศิลปวัฒนธรรมต่อไป นำไปสู่ความเป็นสากล และการพัฒนาด้านกีฬาเป็นสิ่งสำคัญในยุทธศาสตร์ IFMA และสหภาพมวยไทยแห่งแอฟริกา เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนามวยไทยในแอฟริกา
ขณะที่ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธาน IFMA ซึ่งไม่ได้เดินทางไปร่วมงานเนื่องจากติดภารกิจอยู่ที่ประเทศไทย เปิดเผยว่า IFMA มีความตั้งใจอย่างมาก และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ให้มวยไทยได้รับการบรรจุในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินของ IOC ซึ่งตอนนี้ยังเหลือระยะเวลาอีกพอสมควรในการเผยแพร่กีฬามวยไทยไปทั่วโลก นอกจากนี้ IFMA วางแผนร่วมมือกับทางรัฐบาลไทยในการผลักดัน "มวยไทย" ในการสร้าง "ซอฟต์พาวเวอร์" ไม่ว่าจะเป็นการมวยไทยโบราณ ดาบสองมือ กระบี่กระบอง และศิลปะมวยไทยโบราณต่างๆ รวมทั้งได้มีการพูดคุยกันในการส่งครูมวยไทยไปสอนแม่ไม้มวยไทยตามประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการที่จะเรียนศิลปะแม้ไม้มวยไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นักไวรัสวิทยา' สรุป 3 สายพันธุ์ 'โรคฝีดาษลิง' ความรุนแรงอาจขึ้นอยู่กับช่องทางการติดเชื้อ
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
'นพ.ธีระ' หวั่นการตรวจ ATK และ RT-PCR ไม่เพียงพอ
'หมอธีระ' ชี้โควิด-19 อาละวาดหนัก ทั่วโลกป่วยทะลุ 313 ล้านคนไปแล้ว โอมิครอนขยายวงอย่างเร็ว เตือนไทยดูตัวอย่างต่างประเทศ ผวาไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อเพราะการตรวจ ATK และ RT-PCR ไม่เพียงพอ
‘หมอธีระ’ เผยแอฟริกาโควิดเริ่มคงที่ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. ทวีปอื่นติดเชื้อเพิ่มขึ้นชัดเจน
ศ.นพ.ธีระ ชี้ทวีปแอฟริกาโควิดเริ่มคงที่ตั้งแต่หลังกลางเดือนธันวาคม ในขณะที่ทวีปอื่นๆ เป็นขาขึ้น ยุโรปและอเมริกา ขึ้นชัดเจนมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่สามของธันวาคม สังเกตว่าเอเชีย อเมริกาใต้ และโอเชียเนีย เริ่มแล้วตั้งแต่ปลายธันวาคมเป็นต้นมา