เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา เป็นประธานในพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชิงปฏิบัติการ "โครงการต้นกล้ามวยไทย" โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นผู้ลงนามร่วมกัน
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชิงปฏิบัติการ "โครงการต้นกล้ามวยไทย" ครั้งนี้ เป็นไปตาม Roadmap ข้อตกลงระหว่าง กรุงเทพมหานคร กับ กกท. เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนากีฬามวยไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ที่มั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างฐานกีฬามวยไทยให้เป็นที่นิยม และเข้มแข็งสู่อนาคตด้วยกลไกการขับเคลื่อนมวยไทยในสถานศึกษา และชุมชนท้องถิ่น โดย กกท. จะดำเนินงานในด้านการเรียนการสอนมวยไทยในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ด้วยการส่งครูมวยไทยที่จบหลักสูตรมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬามวยไทย ทำการฝึกสอนมวยไทยขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เป็นการพัฒนามาตรฐานทางด้านกีฬามวยไทยระดับพื้นฐานไปสู่เยาวชนของชาติ และเป็นการต่อยอดอาชีพครูมวยไทยที่จบหลักสูตรมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬามวยไทยให้สามารถสร้างอาชีพได้ต่อไป
ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ได้ทำเอ็มโอยูเรื่องของต้นกล้ามวยไทยร่วมกับ กกท. ในการผลักดันมวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ระดับเยาวชนให้เข้าใจสปิริตของมวยไทย ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นรูปธรรมมากขึ้น กทม. มี 437 โรงเรียน ดังนั้น 20 โรงเรียนนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จะมีการขยายผลต่อไปในอนาคต โดย 20 โรงเรียนเริ่มต้น จะเลือกในส่วนที่เป็นโรงเรียนมัธยมก่อน แล้วค่อยขยายผลต่อไประดับประถมต่อไป
"ซอฟต์พาวเวอร์นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการใช้ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติในการดึงดูดโน้มน้าวใจคน ให้คนมาสนใจ มวยไทยก็ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง โครงการนี้จะช่วยหล่อหลอมจิตวิญญาณมวยไทยให้อยู่คู่กับเยาวชนไทยทุกคน" ดร.ชัชชาติ กล่าว
ขณะที่ ดร.ก้องศักด กล่าวว่า กกท.มีพันธกิจในการพัฒนากีฬาโดยใช้มวยไทย ซึ่งโชคดีที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์และผลักดันนโยบายนี้ขึ้นมา ครั้งนี้นับเป้นความสำคัญเป็นความก้าวหน้าของคณะกรรมการณ ที่จะได้ร่วมมือกับ กทม. นำร่องโครงการนี้ ไม่ใช่แค่ 400 กว่าโรงเรียนในกทม. แต่จะต้องขยายผลไปทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าให้ความสำคัญเรื่องมวยไทยตั้งแต่เด็กๆ
ทางด้าน ผศ.พิมล กล่าวว่า โครงการต้นกล้ามวยไทย เกิดขึ้นจากนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกทม.เป็นอย่างดี มีการคุยกันแค่ไม่ถึง 10 วัน ก็บรรลุเป้าหมายแล้ว คาดว่าจะคิกออฟได้ในเดือน พ.ค.หรือเทอมแรกของการเรียนปีการศึกษาหน้า ทางคณะอนุกรรมการจะเตรียมครูมวยและอุปกรณ์ให้ ส่วนทางโรงเรียนก็เตรียมเรื่องของสถานที่ไว้รองรับ
"สิ่งที่คาดหวังคืออยากจุดประกายให้นักเรียนในโรงเรียนมีโอกาสเข้าถึงมวยไทย ไม่ใช่แค่เตะต่อยกัน ต้องเข้าใจวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ และจริยธรรมของมวยไทยด้วย ไม่ใช่แค่เก่งแต่หมัดมวยเท่านั้น ต้องมีจริยธรรมและมีค่านิยมที่ดีด้วย" ผศ.พิมล กล่าว
ผศ.พิมล กล่าวเพิ่มว่า นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับครูมวย เพราะเริ่มต้นจะต้องมีการจ้างครูมวยอย่างน้อย 20 คน และจะมีเพิ่มอีกในอนาคต อีกทั้งนักเรียนเหล่านี้อนาคตก็สามารถต่อยอดขึ้นมาเป็นนักมวยหรือครูมวยในอนาคตได้ หวังว่าจะได้ช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริงในอนาคต.