สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำโดย รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล., คุณชัยพจน์ ตันตระวิวัฒน์ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และรศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ แถลงเปิดตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดวลวงสวิงครั้งยิ่งใหญ่ ‘กอล์ฟประเพณี 8 เกียร์ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2566’ (8 GEARS TRADITIONAL GOLF TOURNAMENT ENGINEERING ALUMNI ASSOCIATION) ในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ณ สนามบางกอก กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธานี ชูธงสร้างสีสันความยิ่งใหญ่ จับมือ 8 สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้ง 8 สถาบัน/มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมใหญ่สถาบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีวิศวกรกว่า 500,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนความก้าวหน้า นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่ออนาคตของประเทศ ด้วยวิชาชีพ ความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งมีหัวใจรักในกีฬาและสันทนาการเพื่อคุณภาพชีวิต ‘การแข่งขันกอล์ฟประเพณี 8 เกียร์’ ปีนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 6 โดย สจล.ได้ผนึกพลัง 8 สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วัตถุประสงค์ของ‘กอล์ฟประเพณี 8 เกียร์’ ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬากอล์ฟยิ่งใหญ่แห่งปีของเหล่าวิศวกร เพื่อสร้างความสัมพันธ์และสุขภาพอันดี เชื่อมความรักสามัคคี มิตรภาพ และความร่วมมือเพื่อพัฒนาประเทศและช่วยเหลือสังคมไทย กีฬากอล์ฟนำพาเหล่าวิศวกรจากต่างสถาบันได้มารู้จักเข้าใจกัน พบปะพูดคุยกัน ทั้งการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ การบริหาร ความคิดเห็นทางธุรกิจ และเป็นโอกาสในการต่อยอดนวัตกรรม งานวิจัย และประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรม อีกทั้งกอล์ฟเป็นกีฬาที่มีการบูรณาการระหว่างการออกกำลังกาย การเสริมสร้างบุคลิกภาพ และการฝึกสมาธิเข้าด้วยกัน ช่วยเสริมสร้างจรรยาบรรณของการเป็นวิศวกรที่ดี ดังนั้นในการฝึกซ้อมกีฬากอล์ฟก็จะได้รับการพัฒนาทักษะในด้านอื่นๆพร้อมกันไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่ออนาคตในการร่วมมือกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนบรรลุเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ต่างๆ และประเทศชาติ อาทิ การมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาแต่ละสถาบันที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ สนับสนุนสมาชิกเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม และอื่นๆ เป็นต้น
นายชัยพจน์ ตันตระวิวัฒน์ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าจะมีนักกอล์ฟเข้าร่วมการแข่งขัน ‘กอล์ฟประเพณี 8 เกียร์’ จำนวนมาก ซึ่งการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ 1. รุ่นนักกีฬาทั่วไป อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี ทีมละ 15 คน และ 2. รุ่นนักกีฬาอาวุโส อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ทีมละ 3 คน โดยกติกาการแข่งใช้กฎ Tournament Rule และกฎสนาม (Local Rules) ของสนาม รูปแบบการแข่งขันจะทำการแข่งขันแบบ Stableford จำนวนหลุมต่อ 100% ของแต้มต่อ โดยคิดคะแนนการแข่งจากคะแนนที่ดีที่สุดและคิดไม่เกิน 40 คะแนน จากแต่ละคนจาก 12 คน ของนักกีฬารุ่นทั่วไป และ 2 คน ของนักกีฬารุ่นอาวุโส ทีมใดมีผลรวมคะแนนสูงที่สุดเป็นทีมชนะการแข่งขัน ถ้าคะแนนรวมสูงสุดเท่ากันให้ครองถ้วยร่วมกัน
สำหรับสถิติการครองแชมป์ในการแข่งขันที่ผ่านมารวม 5 ครั้ง ได้แก่ วิศวะลาดกระบังครองแชมป์ 2 ครั้ง, วิศวะเกษตรครองแชมป์ 1 ครั้ง, วิศวะจุฬาครองแชมป์ 1 ครั้ง และวิศวะเชียงใหม่ครองแชมป์ 1 ครั้ง โดยการแข่งขันครั้งนี้จะเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ณ สนามบางกอก กอล์ฟ คลับ จังหวัดปทุมธานี Shot Gun ออกสตาร์ตในเวลา 11.00 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สจล. นำร่องเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ครบ 3 ด้านแห่งแรกของประเทศ
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่และมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตและเชื่อมโยงหลายอุตสาหกรรม เป็นชิ้นส่วนที่มีทั้งในอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
สจล. – ซีพีเอฟ บูรณาการความร่วมมือพัฒนาคนรุ่นใหม่ สร้างนวัตกรรมรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ