นับเป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้วที่ “กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี่” ได้โลดแล่นอยู่ในเส้นทางวงการมวยไทย ซึ่งการคว้าแชมป์รุ่นซูเปอร์ไลท์เวทของศึก RWS ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ด้วยการเอาชนะคะแนนหนึ่งล้านเล็ก จิตรเมืองนนท์ก็ถือเป็นสิ่งที่กัปปิตันพูดออกมาอย่างเต็มปากเลยว่าเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตการเป็นนักมวยของเขา
“สิ่งที่ผมค้างคาใจมานาน 22 ปีของชีวิตนักมวย วันนี้ผมทำมันสำเร็จแล้ว ผมเลิกค้างคาใจแล้วครับ” นักมวยวัย 30 จากจังหวัดหนองบัวลำภูกล่าวบนเวทีหลังคาดเข็มขัดแชมป์พร้อมรับเงินรางวัล 3 ล้านบาท
เพราะตลอดที่ผ่านมา เส้นทางชีวิตของกัปปิตันต้องต่อสู้ผ่านความยากลำบากมามากมายเลยกว่าจะก้าวมาถึงความสำเร็จอย่างที่เห็นในวันนี้
กัปปิตัน เจ้าของฉายา “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” มีชื่อจริงว่า อนึ่ง คัฒมารศรี เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาหันมาชกมวยก็เป็นเพราะความชอบส่วนตัวของเขาล้วนๆ ไม่มีใครมาบังคับหรืออยากหารายได้มาช่วยเหลือที่บ้าน โดยช่วงนั้นมีค่ายมวยมาตั้งที่หมู่บ้านพอดี ตนก็เลยรู้สึกสนใจอยากลองชกมวยดูบ้าง ในการขึ้นชกครั้งแรกตนรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ก็แพ้น็อกไปเพราะยังออกอาวุธไม่เป็น ซึ่งหลังชกเสร็จ แม่ของเขาก็ไม่เห็นด้วยเลยที่ลูกชายเลือกที่จะทำอะไรแบบนี้ แต่กัปปิตันก็ยังดื้อดึงขอชกมวยต่อไปเพราะสัมผัสได้ว่านี่แหละคือสิ่งที่เขาหลงไหลและชื่นชอบอย่างแท้จริง
ในช่วงแรกๆที่ขึ้นชก กัปปิตันมีสถิติแพ้ติดต่อกัน 7 ไฟต์เลย แต่ก็ไม่เคยรู้สึกย่อท้อ ชกทำผลงานและสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆจนได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ค่ายมวยที่กรุงเทพฯ หลังจบป.4 แต่ก็ต้องตระเวนชกตามเวทีภูธรเหมือนเดิมเพื่อเก็บประสบการณ์และชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับ ก่อนจะได้ขึ้นชกที่เวทีลุมพินีเป็นครั้งแรกช่วงต้นปี 2550 และพัฒนาการชกอย่างต่อเนื่องจนได้ครองแชมป์ประเทศไทยรุ่น 154 ปอนด์เมื่อกลางปี 2559 ตามมาด้วยแชมป์ของเวทีลุมพินีเมื่อปี 2562
อีกเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับกัปปิตันก็คือเขาเป็นนักมวยที่เคยปล่อยน้ำหนักขึ้นไปชกถึงพิกัด 160 ปอนด์มาแล้ว โดยสาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าตอนรับราชการทหาร เขาต้องฝึกซ้อมมวยด้วยตัวเองในค่ายทหาร ไม่มีคนดูแล ส่งผลให้ควบคุมน้ำหนักไม่ค่อยได้และหาตัวคู่ชกลำบากมากเนื่องจากรุ่นน้ำหนักใหญ่ๆไม่ค่อยมีนักมวยเท่าไหร่ จนกระทั่งเมื่อปี 2562 ได้ย้ายมาอยู่ค่ายเพชรยินดีอะคาเดมีที่มีการนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วย ทำให้เขาเริ่มลดน้ำหนักจนลงมาชกได้ถึงพิกัด 140 ปอนด์ ส่งผลให้เขาได้มีรายการขึ้นชกบ่อยมากขึ้นเพราะการหาตัวคู่ชกในช่วงน้ำหนักประมาณนี้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว
อีกสิ่งสำคัญในช่วงนี้เลยก็คือการที่ “เสี่ยโบ๊ท” ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ เจ้าของค่ายเพชรยินดีอะคาเดมี่ได้ตั้งชื่อใหม่ให้กับเขาว่า “กัปปิตัน” หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นที่รู้จักในวงการมวยไทยภายใต้ชื่อ “ดีเซลเล็ก อู๊ดดอนเมือง”
ส่วนฉายา “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” ของเขาก็ไม่มีอะไรซับซ้อน สาเหตุก็มาจากการที่กัปปิตันชอบตัดผมทรงเกาลัด แถมมีใบหน้าคล้ายคนจีน ทำให้สื่อและแฟนมวยนิยมเรียกเขาว่าไอ้หนุ่มซินตึ๊งตามชื่อหนังจีนยอดนิยมนั่นเอง ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ประจำตัวที่กลายเป็นภาพจำของเขาในสายตาแฟนมวยเลยก็ว่าได้
ปรากฎว่าการได้ย้ายมาอยู่กับค่ายเพชรยินดีและขึ้นชกในชื่อ “กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี่” ก็ได้ทำให้เส้นทางอาชีพของเขาผงาดขึ้นยิ่งกว่าครั้งไหนๆ มีฟอร์มดีต่อเนื่องจนได้โอกาสไปชกในศึกวัน แชมเปียนชิพ และได้ครองแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่งรุ่น 145 ปอนด์จากการชนะน็อกอลาเวอร์ดี รามาซานอฟ นักชกรัสเซียชื่อดังในยกที่สองเมื่อปี 2564
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา กัปปิตันก็มีอันต้องเสียแชมป์เส้นดังกล่าวไปด้วยการแพ้คะแนนให้ฮิโรกิ อากิโมโตะ นักมวยชาวญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งหลังจากนั้น ตัวกัปปิตันก็ได้เบนเข็มหันมาชกในศึก RWS จนได้แชมป์รุ่น 140 ปอนด์มาครอง
“สำหรับเงินรางวัล 3 ล้านบาทที่ได้มาผมตั้งจะใจจะเอาไปโปะหนี้จาการกู้แบ๊งก์ไปสร้างบ้านที่หนองบัวลำภู เป็นบ้านที่ให้พ่อแม่ได้อยู่สบายขึ้นหลังจากลำบากมานาน ตัวผมเองชกเสร็จก็กลับไปอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ผมยังไม่แต่งงาน เคยมีแฟนแต่เลิกรากันไป ตอนนี้ผมโฟกัสกับการชกมวย อยากซ้อมอย่างเต็มที่ เอาครอบครัวก่อน ไม่เอาคนอื่น”
กัปปิตันบอกว่าเขารักอาชีพนักมวย อาจจะมีบ้างที่หมดไฟ แต่ก็ฮึดจนกลับมาได้ทุกครั้ง นักมวยไทยเป็นอาชีพที่ทำให้เขามีทุกอย่างที่อยากได้ มีฐานะที่ดีขึ้น พ่อแม่สบายขึ้น ซึ่งตอนนี้ตนก็ยังสนุก อยากขึ้นชกอยู่ตลอดเวลา
“ผมอยากสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ทำค่าตัวให้มากที่สุด ทำให้อนาคตชีวิตดีขึ้นและมีความสุข”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
RWSเตรียมทุ่มกว่า30ล้าน ต้อนรับก้าวเข้าสู่ปีที่80 สนามมวยราชดำเนิน
เวทีมวยราชดำเนินซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของมวยไทยกำลังมีอายุครบรอบ 79 ปีและก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 ของการก่อตั้งในเดือน ธ.ค. นี้ ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของ “คุณแบงค์" เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) และ ประธานรายการ RWS – Rajadamnern World Series ร่วมกับ พาร์ทเนอร์ ผู้บริหารและทีมงานเวทีราชดำเนิน มีส่วนสำคัญทำให้เวทีราชดำเนินยกระดับเป็นสังเวียนการแข่งขันมวยไทยระดับโลกที่มีแฟนมวยทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสมวยไทยที่ยังคงเอกลักษณ์มวยไทยดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน กลายเป็นหนึ่งใน ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย
'วันชัยน้อย'ท้า'ขุนศึกเล็ก' โดยมีแชมป์ราชดำเนิน เงิน1ล้านเป็นเดิมพัน
ศึกเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 ของเวทีราชดำเนินในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ คู่สำคัญคือ RAJADAMNERN STADIUM CHAMPIONSHIP SUPERFIGHT ขุนศึกเล็ก บูมเด็กเซียน จะขึ้นชกป้องกันตำแหน่งแชมป์รุ่นแบนตัมเวทของเวทีราชดำเนิน กับ วันชัยน้อย ส.ท.เหี่ยวบางแสน เจ้าของเข็มขัดแชมป์รุ่นแบนตัมเวทของเวทีมวยช่อง 7 HD เพื่อพิสูจน์ว่าใครกันแน่ที่คือเบอร์หนึ่งของพิกัดแบนตัมเวทกัน
ซูเปอร์ไฟต์แห่งปี 'ขุนศึกเล็ก'ป้องกันแชมป์'วันชัยน้อย' ที่ราชดำเนิน21ธ.ค.นี้
ขุนศึกเล็ก เพิ่งกระชากแชมป์รุ่นแบนตัมเวทของเวทีราชดำเนินกลับคืนมาได้ ด้วยการล้างตาเอาชนะคะแนน ริวกิ มาซึดะ นักชกชาวญี่ปุ่นด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ใน RAJADAMNERN STADIUM CHAMPIONSHIP SUPERFIGHT ที่เวทีราชดำเนิน เมื่อเสาร์ที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา และยังได้รับเงินรางวัล 750,000 บาท (500,000 ในฐานะผู้ชนะ 250,000 คู่ชกดุเดือด) ไม่รวมกับค่าตัว
'พญาหงส์ บัญชาเมฆ' แชมป์รุ่น105เวทีราชดำเนินคนแรก ขอบคุณ'บัวขาว'หนุนเต็มที่
คู่เอกของศึก RWS ที่สนามมวยเวทีราชดำเนิน เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2567 เป็นการชิงแชมป์มวยหญิงราชดำเนิน รุ่นมินิมัมเวตหญิง 105 ปอนด์ เป็นการพบกันระหว่าง พญาหงส์ บัญชาเมฆ พบกับ ซายะ อิโตะ คู่ปรับเก่าชาวญี่ปุ่น
'ขุนศึกเล็ก'รับกดดัน แต่มั่นใจชนะ'ริวกิ มาซึดะ' ลุ้นรับเงินล้านที่ราชดำเนิน21ก.ย.นี้
หลังจาก ขุนศึกเล็ก บูมเด็กเซียน พลาดท่าโดนหมัดขวาของ ริวกิ มาซึดะ พ่ายน็อกยก 2 เสียแชมป์รุ่นแบนตัมเวทอเวทีราชดำเนินในการชกศึก RWS Japan ที่ทิปสตาร์ โดม จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา และ RAJADAMNERN STADIUM CHAMPIONSHIP SUPERFIGHT ที่เวทีราชดำเนิน ในวันที่ 21 ก.ย.
'ชนะน็อคไฟต์ละล้าน' RWSราชดำเนินเพิ่มมูลค่าแชมป์ ยกระดับมวยไทย
เวทีราชดำเนินเดินหน้าสุดตัวผลักดันระบบนิเวศมวยไทย สร้างงานสร้างรายได้ให้กับนักมวยไทยและบุคลากรวงการมวยนับหมื่นอาชีพต่อปี เพื่อเป้าหมายให้มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ “เวิลด์คลาส” อย่างมั่นคงและยั่งยืน