เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ อาคาร House of Thai Football สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชั้น 2 พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วย ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ คุณ ธัชนาถ ทองประกอบ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน การกีฬาแห่งประเทศไทย Mr.Kelly Cross ผู้เชี่ยวชาญจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ และ นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ ร่วมแถลงข่าวครบรอบ 1 ปี ในการดำเนินโครงการ Grow Together หลักสูตรการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนทั้งประเทศ
พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า, การกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในการดำเนินโครงการ Grow Together หลักสูตรการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนทั้งประเทศ”
“การวางรากฐานของฟุตบอลไทยเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ที่สมาคมฯ ยุคนี้ให้ความสำคัญ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเห็นความสำเร็จ โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ เองได้วางรากฐานของฟุตบอลไทยไว้ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งผมเองมีความตั้งใจที่จะพัฒนาวงการฟุตบอลไทย และวันนี้ก็ได้ปูรากฐานฟุตบอลไทยไว้แล้ว เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปที่จะเข้ามาสามารถต่อยอดพัฒนาฟุตบอลไทยก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากลต่อไปได้ทันที”
สำหรับ โครงการ “Grow Together” คือ “หลักสูตรการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนทั้งประเทศ” ที่แบ่งหมวดการพัฒนาออกเป็น 6 มิติ ครบตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับนักเตะทั้งบอลชาย บอลหญิง โค้ช บุคลากร ผู้ปกครอง ตลอดจนหน่วยงาน เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกองคาพยพที่จะพัฒนาบอลไทยชนิด “ปั้นดินไปถึงดาว” อย่างแท้จริง ซึ่ง 6 มิติ ประกอบด้วย
1.Coaching Education – หลักสูตรการ “สร้างโค้ชมาตรฐานโลก” เพื่อให้ในอนาคตอันไม่ไกล เราจะมีโค้ชที่มีขีดความสามารถที่ทั่วโลกยอมรับ ทางสมาคมฯ ได้สร้างบทวิเคราะห์ฟุตบอลไทยและปรัชญาการพัฒนาฟุตบอลไทย โดยมีการสร้างหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลที่มีอัตลักษณ์สอดคล้องกับฟุตบอลไทย ซึ่งในหลักสูตรมีการเรียนการสอนและการฝึกภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอล และแน่นอนว่าจะต้องมีการสอบ License หรือใบอนุญาต โดยใบอนุญาตนี้เทียบเท่ากับ AFC (Asian Football Confederation) หรือสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย
2.Grassroots – เพราะไม่ว่า “การชนะ” ในสนามแข่งจะสำคัญแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความใส่ใจ” ต่อทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่าง “นักเตะ” ที่ “Grow Together” มีหน้าที่เฟ้นหาดูแลตั้งแต่อายุน้อยๆ ตามสถิติต่างประเทศ พบว่ามีนักเตะสตาร์ดังระดับแนวหน้ามากมาย ที่ฉายแววตั้งแต่เล็กๆ แค่ 5 - 6 ขวบ ก็ถูกพาเข้าอคาเดมีแล้ว และการที่จะดูแลเด็กคนหนึ่งที่มีแววด้านฟุตบอล ไม่ใช่แค่การพาไปฝึกหัดในสนามแต่เพียงอย่างเดียว Grassroots ถูกคิดขึ้นมาเพราะความใส่ใจต่อการเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบของเด็กที่เล่นฟุตบอลเก่งคนหนึ่ง อย่างไม่ใช่ให้แค่เติบโตไปเป็น “นักบอล” ชื่อดัง แต่ต้องเป็น “มนุษย์” ที่ได้รับการดูแลในทุกช่วงวัย จากทั้งผู้ใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปค้นหา ให้โอกาสอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมาจากครอบครัวแบบไหน ฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร ถ้าเขาหรือเธอคนนั้นรักฟุตบอล ย่อมต้องได้รับโอกาส ซึ่งเป็นไปตามแนวคิด Talent Development Scheme ของ FIFA ที่ว่า "Give everybody a chance to play"
3.Academy – ความสำเร็จทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้น หากขาดซึ่งการจัดระเบียบอย่างเป็นระบบ จากหน่วยงานที่จะดูแลรับผิดชอบนักฟุตบอลทุกอายุรุ่นอย่าง “อคาเดมี” การเปิดลงทะเบียนให้ “อคาเดมี” ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อกับสมาคมฯ มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างชัดเจน จัดกิจกรรมร่วมกัน แบ่งปันองค์ความรู้ มีคอร์สอบรมบุคลากรในสังกัดอคาเดมี รวมถึงการรับรองนักเตะทุกคนในสังกัดให้มี FIFA ID (กรณีอายุ13ปีขึ้นไป) ซึ่งสามารถใช้ได้ทั่วโลก ข้อมูลของทั้งอคาเดมีและสมาชิกจะถูกนำไปทำฐานข้อมูล ประวัติ และถูกเก็บติดตามสถิติอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เยาวชนคนนั้นๆ เข้าสู่อคาเดมี เติบโตฝีเท้าจัดระดับค้าแข้ง อคาเดมีจะสามารถสำแดงสิทธิ์ในฐานะผู้ฝึกนักเตะ หากมีกรณีการซื้อตัวโอนย้ายไปสู่ระดับอาชีพ
4.Competitions – นับแต่นี้เราจะไม่รอให้ “ช้างเผือก” ปรากฏตัว แต่เราจะ “ปูพรม” หา “ช้างเผือก” สายฟุตบอล ที่เราเชื่อเหลือเกินว่า จะต้องมีอยู่มากมาย แต่พวกเขาไม่เคยถูกมองเห็น แต่จากนี้ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน เราจะหาให้เจอ!...เป็นไปไม่ได้เลยที่โลกจะได้พบนักเตะที่ “มีแวว” หากเด็กคนนี้ไม่มีโอกาสที่จะลงโลดแล่นในสนามฟุตบอล สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกสำหรับเยาวชน ในรุ่นอายุไม่เกิน 14 16 และ 18 ปี เพื่อเป็นเวทีให้นักฟุตบอลเยาวชนไทยในรุ่นอายุต่างๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันฟุตบอล ในรายการที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ และนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาฝีเท้าและความเข้าใจในเกมฟุตบอลอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของนักฟุตบอลเยาวชน ในการต่อยอดสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพในอนาคตต่อไป
5.Talent Identification – หลังจากผู้เชี่ยวชาญลงสนามตามดูทุกนัดแล้ว แน่นอนว่าจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เราย่อมจะเจอ “ช้างเผือก” ที่ฉายแววฝีเท้าจัดๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะถูกส่งตัวมาถึงขั้นตอนของ Talent ID จัดชุดเป็นทีมเยาวชน แบ่งรุ่น แบ่งระดับ จัดตำแหน่งที่เหมาะสมในทีม แยกโซนเพื่อความสะดวกในการจัดการแข่งขันเพื่อยกระดับขีดความสามารถ โดยสมาคมฯ ส่งทีม Scout ทั้ง 12 คน เพื่อเฟ้นหานักกีฬาที่มีความโดดเด่น เพื่อนำมาเก็บตัว ฝึกซ้อมและพัฒนา ภายใต้การดูแลของโค้ชเยาวชนทีมชาติ สร้างสังคมนักเตะรุ่นเล็กให้เชื่อมโยงรู้จักกัน และเติบโตไปด้วยกัน มุ่งสู่ทีมชาติและระดับโลกต่อไป
6.Sports Science And Technology – ในโลกที่ AI กำลังจะรันแทบทุกวงการ การนำเทคโนโลยีเข้ามาปฏิวัติวงการกีฬาเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและหวังผลลัพธ์ที่ทั้งเลิศและเที่ยงตรงได้เสมอ “Grow Together” สร้างเทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลเข้ากับแพลตฟอร์ม ACADEMY LICENSING , E LEARNING , COMPETITION MANAGEMENT เพื่อให้ทั้งทางฝั่งสมาคมฯ อคาเดมี โค้ช นักเตะ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองนักเตะทุกรุ่น ทุกช่วงอายุ สามารถเข้าถึงข้อมูล สถิติ อันเป็นประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบมาให้อัพเดทอยู่เสมอและใช้งานง่าย ราบลื่น ไม่มีสะดุด ข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยง 6 มิติเข้าด้วยกัน มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์หลักสูตรอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำผลที่ได้มาประยุกต์และปรับใช้ อันนำไปสู่การพัฒนาไปพร้อมๆ กันอย่างไม่หยุดยั้ง “Grow Together” จะนำพา “ฟุตบอลไทยยุคใหม่” ให้ก้าวทันโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าโลกจะหมุนไปไวแค่ไหน แต่ด้วยเทคโนโลยี Sports Science & Technology จะทำให้ข้อมูลจากการวิเคราะห์แบบ Real Time สร้างความสดใหม่เติมเต็มองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา ทางสมาคมฯ ได้มีการใช้ Hardware และ Software เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสมรรถภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์เกมเชิงกลยุทธ์ ในการสร้างแบบฝึกที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยในการพัฒนาความสามารถของนักกีฬาให้เพิ่มมากขึ้น