“ดร.หญิง” ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมด้วย “ทนายกระดูกเหล็ก” อนันต์ชัย ไชยเดช ชี้แจงข้อกล่าวหา “บัตรสนเท่ห์” ร้องเรียนการทำหน้าที่โดยมิชอบ 11 ข้อ แจงละเอียดยิบทุกประเด็น เตรียมดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ กกท. ให้ข่าวข้อมูลอันเป็นเท็จ พร้อมเผยมูลเหตุจูงใจของบัตรสนเท่ห์ ขัดผลประโยชน์ผู้มีอิทธิพลในวงการกีฬา
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก “ดร.หญิง” ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมด้วย ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช หรือ “ทนายกระดูกเหล็ก” แถลงข่าว ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีบัตรสนเท่ห์ กล่าวหาว่า ดร.สุปราณี คุปตาสา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการกองทุนฯ โดยมิชอบ รวม 11 ข้อหา
นายอนันต์ชัย แถลงว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ได้มีผู้ใช้นามว่า ผู้ร้องทุกข์ ยื่นบัตรสนเท่ห์ ไม่ระบุชื่อ ต่อ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวหาว่า ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานอันมิชอบของ ดร.สุปราณี รวม 11 ข้อหา ซึ่ง กกท. ได้รับเรื่องร้องเรียน และบัตรสนเท่ห์ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อ ดร.สุปราณี ทั้งชื่อเสียง และวงศ์ตระกูล ในเรื่องนี้ กกท.ต้องรับผิดชอบ และจะได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ กกท. ที่ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อไป
จากกรณีร้องเรียนดังกล่าว ตนเองจะขอชี้แจงกฎระเบียบการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ ซึ่งถูกว่าจ้างโดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพราะฉะนั้น ดร.สุปราณี เป็นลูกจ้างของกองทุนฯ ไม่ใช่ลูกจ้างของ กกท. ซึ่ง ดร.สุปราณี ไม่มีอำนาจในการอนุมัติเงิน ส่วนเงินจากกองทุนฯ จะถูกส่งต่อไปยังกองคลังกองทุน ซึ่งภายใต้การบริหารของ กกท. โดยมีผู้ว่า กกท. เป็นผู้จ่าย ดังนั้น ดร.สุปราณี ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเงินดังกล่าว เพราะการจ่ายเงิน คลังกองทุน (กกท เบิกจ่าย) จะจ่ายก็ต่อเมื่อเอกสารหลักฐานถูกต้องเท่านั้น
ในวันที่ 19 มกราคม 2566 สำนักข่าวสเตชั่นไทยดอทคอม ได้เผยแพร่บัตรสนเท่ห์การร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ กกท. ต้องรับผิดชอบ ที่นำบัตรสนเท่ห์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อผู้สื่อข่าว ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ผู้ว่าการ กกท. ตั้งคณะทำงานขึ้นแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนตัวมองว่า เป็นการวางแผนทำกันเป็นขบวนการ เพราะโดยหลักแล้วบัตรสนเท่ห์ ควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ถึงที่มาที่ไปและความน่าเชื่อถือ แต่ข้อมูลดังกล่าวกลับได้ถูกเผยแพร่ต่อสื่อสาธารณะชนเป็นจำนวนมากต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนฯ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ ซึ่งมีกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.กกท. พ.ศ.2558 และระเบียบคณะกรรมการ กกท. ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การบริหารกองทุนฯ และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนฯ พ.ศ.2559 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 8 ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของกรรมการบริหารกองทุนฯ ข้อ 12 ของผู้จัดการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติโครงการ หรือการจ่ายเงินแต่อย่างใด
เพราะฉะนั้น ผู้จัดการกองทุนฯ จึงไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติโครงการ การเบิกจ่าย ผู้มีสิทธิคือ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และผู้ว่าการ กกท. ดังนั้น การที่มีผู้ยื่นบัตรสนเท่ห์ และการเสนอข่าวดังกล่าว จึงคลาดเคลื่อนต่อความจริง ข้อความเป็นความเท็จทั้งสิ้น
จากบัตรสนเท่ห์ดังกล่าว โดยเฉพาะสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้เสนอข่าวอันเป็นเท็จ กล่าวหาว่า ผู้จัดการกองทุนฯ มีปัญหาต่างๆ นานา โดยเฉพาะการจัดการเงินกองทุนฯ การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น ในความเป็นจริง สื่อควรสัมภาษณ์หรือขอข้อเท็จจริงจากผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่ใช้อำนาจปลายปากกาเขียนวิจารณ์หรือรับฟังเพียงเอกสารของฝ่ายที่เกลียดชัง
ในบัตรสนเท่ห์ พูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อน และสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ IFMA ซึ่งจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย มีสมาชิก 149 ประเทศทั่วโลก และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ก็ได้รับรอง IFMA เรียบร้อยแล้ว จนทำให้มวยไทยเป็น Soft Power และได้รับความนิยมไปทั่วโลก
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า กกท. ยังไม่เคยให้การสนับสนุน IFMA เลยสักบาทเดียว และที่ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ให้ข่าวว่า IFMA ได้เงิน 393 ล้าน ล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กกท. ได้ยืนยันในการประชุมของกองทุนที่ผ่านมาว่า ไม่มีการจ่ายเงินให้ IFMA แต่อย่างใด เรื่องนี้มีมติการประชุมกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 แล้วว่า IFMA ไม่ได้เงินจากกองทุนฯ แม้แต่บาทเดียว ส่วนหน่วยงานของรัฐจะไปสนับสนุนสมาคมอื่นที่ไม่ได้รับการรับรองจาก IOC ก็สุดแล้วแต่
สำหรับมูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดบัตรสนเท่ห์ มีอยู่ 5 ประการ
1 เกิดจากปี 2565 สมาคมไม่ได้รับเอกสารยืนยันโครงการทั้งปีจากการกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะผู้รวบรวบว่าได้รับเท่าไรต่อปีเพื่อให้บริหารตามกรอบวงเงินที่ถูกต้อง สมาคมจึงเข้าใจว่าคำขอทุกคำขอได้รับอนุมัติจึงดำเนินการล่วงหน้า เมื่อถึงเวลากลับเบิกเงินไม่ได้
2. เกิดจากการที่นักกีฬาบางสมาคมไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง และถูกหักค่าหัวคิว ทำให้นักกีฬาไม่ได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องได้รับ และมีการใส่ชื่อ นักกีฬาผี ซึ่งไม่ได้เข้าแข่งกัน แต่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยง
3.เรื่องการที่ กกท.ได้ให้สมาคมกีฬาต่างๆ กู้ยืมเงินตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2564 ซึ่งขณะนั้น ดร.ก้องศักด ยอดมณี เป็นผู้ว่าการ กกท.
4.เรื่องเงินรางวัลนักกีฬา ตามระเบียบหากมีการแข่งขันระดับนานาชาติ (single sport) รางวัลจะสูงขึ้นเทียบได้กับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ แต่ถ้าหากแข่งขันกีฬาระดับเขต รางวัลก็จะน้อยลง แต่ปรากฏว่า เมื่อมีการแข่งขันกีฬาระดับเขต แต่อยากได้รางวัลระดับชาติ จึงทำให้บางสมาคมฯ ไม่พอใจ อยากได้รางวัลระดับชาติแทนระดับเขต
5.เกิดจากการที่ ดร.สุปราณี ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ อย่างเคร่งครัดตามระเบียบคณะกรรมการการ กกท.ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การบริหารกองทุน และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.2559 ข้อ 12 (2), ข้อ 14 และข้อ 16
จากมูลเหตุจูงใจดังกล่าว จึงทำให้ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ได้ทำบัตรสนเท่ห์ขึ้นมา และอยู่ในช่วงสัญญาจ้างผู้จัดการกองทุน มีกำหนดเวลา 4 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ถามว่ามีขบวนการเตะตัดขา ดร.สุปราณี เพื่อไม่ให้ไปต่อหรือไม่
เรื่องที่ 1 กองทุนมาทราบปัญหาในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ทำให้กองทุนต้องยุติการใช้เงินในแผนงานอื่นๆ เพื่อรวบรวมเงินที่เหลือมาให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อนำไปให้สมาคม ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้กองทุนเสียหาย ถ้าท่านไม่เชื่อสามารถไปถามผู้ว่าการ กกท. ได้ว่าเกิดเหตุการณ์นี้จริงหรือไม่ ที่กองทุนไม่ได้ออกมาชี้แจง และกองทุนได้แก้ไขปัญหาร่วมกับ กกท. ในปี 2566 แจ้งโครงการทั้งปีแก่สมาคมกีฬาแล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้ว่าการฯ แล้วว่าได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อย
เรื่องที่ 2 กรรมการบริหารกองทุนได้เสนอการแก้ไขปัญหาโดยให้จ่ายเงินตรงให้กับนักกีฬา ที่ประชุมมีมติมอบให้เลขานุการคือ ผู้ว่าการ กกท. ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ แก้ไขปัญหาโดยการจ่ายเงินตรงให้กับนักกีฬา โดยประชุมกันถึง 3 ครั้ง คือวันที่ 20 สิงหาคม 2563, 21 ธันวาคม 2563 และวันที่ 2 เมษายน 2564
หลักจากที่มีมติดังกล่าวแล้ว ให้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อมโดยการสั่งจ่ายตรงให้กับนักกีฬา ปรากฏว่า มีสมาคมต่างๆ เริ่มออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะแทนที่เงินจะเข้าสมาคมนั้นๆ เงินกลับไปเข้านักกีฬาโดยตรง ทำให้บางสมาคมเกิดความไม่พอใจ และ ดร.ก้องศักด ได้ใช้อำนาจตัวเองยุติการเบิกจ่ายเงินโดยตรงให้กับนักกีฬา โดยจ่ายให้สมาคมเหมือนเดิม อันเป็นการฝ่าฝืนมติที่ประชุมของบอร์ดกองทุนฯ
เรื่องที่ 3 เงินกู้ยืมของสมาคมต่างๆ ปรากฏว่า กกท. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับสมาคมกีฬาต่างๆ แค่กระดาษแผ่นเดียว พร้อมแนบมติบอร์ด การกู้ยืมเงินประมานหลายร้อยล้านบาท และยังคงเป็นหนี้ค้างในระบบ กกท. มากกว่า 400 ล้านบาท คำถาม การทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างสมาคมต่างๆ กับ กกท. ชอบด้วยระเบียบ หรือกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร?
ปรากฏว่า ดร.สุปราณี ได้ไปให้ข้อมูลกับ กมธ.การกีฬา 2566 ในประเด็นที่ถูกฟ้องตามบัตรสนเท่ห์ และ กมธ.การกีฬา ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการ กกท. ขอข้อมูลการกู้ยืมเงินจากสมาคมต่างๆ ปีงบประมาน 2562 ถึง 2564 ตามหนังสือของ กมธ.การกีฬา ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเอกสารดังกล่าวถึงยังผู้ว่าการ กกท. วันที่ 2 มีนาคม 2566 ทำให้เกิดความไม่พอใจ ดร.สุปราณี เพิ่มมากขึ้น ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2566 ดร.ก้องศักด ได้แต่งตั้ง นายถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ในประเด็นที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการใช้อำนาจของผู้จัดการกองทุนฯ แต่นายถิรชัย วุฒิธรรม อยู่สมาคมเดียวกันกับผู้ร้อง สรุปร้องเอง สอบเอง ใช่หรือไม่
เรื่อง เงินยืม ของสมาคมต่างๆ ดร.สุปราณี ได้หารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และฝ่ายการคลังกองทุน กกท. ทราบว่า การกู้เงินไม่ถูกต้องตามระเบียบการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังมีระเบียบชัดเจนว่าด้วย เรื่องการยืมเงินราชการ ตามหนังสือตอบข้อหารือเกี่ยวกับการยืมเงินราชการ และการทดรองเงินราชการ ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557
ด้วยเหตุนี้ ดร.สุปราณี จึงพยายามช่วยเหลือสมาคมต่างๆ ด้วยการเสนอระบบ sop หมายถึง ระบบการขอรับการส่งเสริม และการเบิกจ่าย ที่ไม่ใช่เงินยืม โดยให้มีหลักฐานในการขอเบิก ทำให้เกิดความยุ่งยากกับสมาคมต่างๆ ซึ่งแต่เดิมเคยเบิกง่ายๆ เพียงกระดาษแผ่นเดียว แต่ต่อมาเกิดความยุ่งยากจากเอกสารประกอบการเบิกจ่าย ต้องทำแบบถูกต้อง และมีหลักฐานชัดเจน ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งทำให้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมาคมต่างๆ เกิดความไม่พอใจ ดร.สุปราณี
เรื่องที่ 4 เงินรางวัล ดร.สุปราณี เป็นเลขาคณะอนุกรรมการด้านสวัสดิการกีฬา สมาคมกีฬาต่างๆ คิดว่า ดร.สุปราณี มีอิทธิพลในการให้รางวัลด้วย จากมูลเหตุจูงใจดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจกับสมาคมต่างๆ บางสมาคม จึงได้มีการจัดทำบัตรสนเท่ห์ และสมาคมกีฬาต่างๆ ไม่เข้าใจว่า การพิจารณาเรื่องเงินรางวัลต้องเป็นการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฯ และก่อนจะมาถึงคณะอนุกรรมการฯ มีคณะทำงานที่มีผู้มีความรู้ในเรื่องกีฬาช่วยกันพิจารณาและกรอง
ในขั้นตอนการทำงาน ผู้จัดการกองทุนได้รับผลการพิจารณาเงินรางวัลจากเจ้าหน้าที่ของกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญเงินรางวัลเสนอมา และได้ร่วมกันพิจารณาเบื้องต้น หลังจากนั้นนำเสนอเข้าคณะอนุกรรมการด้านสวัสดิการกีฬาพิจารณาว่าท่านเห็นว่าอย่างไร จึงจะนำเสนอต่อคณะกรรมมการบริหารกองทุน ในขณะนี้มีหลายสมาคมที่ขออุทธรณ์คำสั่ง โดยเฉพาะสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้จัดการกองทุนได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการด้านสวัสดิการกีฬา 3 ครั้ง คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ตั้งคณะทำงาน (ผู้จัดการไม่ได้เป็นคณะทำงาน) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน เพื่อพิจารณาและสรุปว่าเห็นชอบคำอุทธรณ์หรือคำอุทธรณ์นั้นตกไป ขณะนี้ผู้จัดการยังไม่ได้ถอดใจ กำลังคิดและแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในเรื่องนี้อยู่ ทั้งนี้ ท่านสามารถสอบถามจากเลขาธิการสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ ชื่อ พันโทหญิง ดร.อภิญญา ดัชถุยาวัตร
สมาคมกีฬาที่ซื้อยาใช้เอง อนุกรรมการด้านสวัสดิการกีฬา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุน ให้เรื่องการใช้ยาเป็นเรื่องของทางทีมแพทย์ เช่น นายแพทย์อรรถฤทธิ์ ซึ่งท่านก็เปิดให้มีคำขอและระบุการใช้ เพื่อสุขภาพของนักกีฬาเอง และเพื่อหลีกเลี่ยงสารต้องห้ามนักกีฬา ซึ่งประเทศไทยเคยถูกแบนมาแล้วอย่างร้ายแรงจาก WADA ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้ประเทศไทยถูกแบนอีกเป็นคำรบสอง
เรื่องที่ 5 ในขั้นตอนการพิจารณาโครงการก่อนเสนออนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬา และคณะกรรมการบริหารกองทุน มีคณะทำงานซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบไปด้วยผู้แทนจากอนุกรรมการฯและคณะกรรมการบริหารกองทุน ผู้ว่าการ กกท. หรือบุคคลที่ผู้ว่าการมอบหมาย รองผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ กกท ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการตามระเบียบหลักเกณฑ์กองทุนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเกิดความเป็นธรรมอย่างที่สุด และมีข้อเสนอแนะต่างๆอันมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนากีฬา
ทนายกระดูกเหล็ก กล่าวในตอนท้ายว่า ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องคิกบ็อกซิ่ง เรื่องแผนงานงบประมาณการสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีงบประมาณ 36,700,658 บาทไม่ใช่งบมหาศาล และทุกอย่างต้องผ่านขั้นตอนการขอรับเงินสนับสนุนตามระเบียบ และหากดูแผนภูมิ กีฬาเจ็ตสกี IOC ก็ไม่ได้รับรอง แต่ใช้งบสูงถึง 97,973,168 บาท
ด้านเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คิกบ็อกซิ่ง ที่เป็นข่าวอ้างว่าบริษัทเครือญาติเข้ามารับงาน ข้อเท็จจริงคือ ทางบริษัท ก นั้นไม่ได้รับงานและเงินอุดหนุนจากกองทุน แต่รับเงินโดยตรงจากสมาพันธ์คิกบ็อกซิ่งแห่งเอเชีย บริษัท ก เพียงแค่ได้รับการติดต่อให้ดูแลในส่วนของนักกีฬาต่างชาติ ที่เดินทางมาร่วมแข่งขัน คิกบ็อกซิ่งชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งนักกีฬาใช้เงินส่วนตัวของเขาเอง ไม่เกี่ยวกับเงินกองทุนฯ และเขาได้มาว่าจ้างบริษัท ก มาประสานงานเกี่ยวกับจัดหาโรงแรม ที่พัก รถรับส่งไปกลับสนามบินและที่พัก เท่านั้นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวม244.2ล้านบาท ยอดเงินอัดฉีดทัพ อชก.ไทย 'กองทุนกีฬา'เร่งจ่าย
"ดร.หญิง" ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า จากผลงานของทัพนักกีฬาไทยในศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคม 2566 คว้าไปรวมทั้งสิ้น 12 เหรียญทอง 14 เหรียญเงิน 32 เหรียญทองแดง รวมทั้งสิ้น 58 เหรียญรางวัล จบอันดับ 8 ของการแข่งขันนั้น กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ได้สรุปจำนวนเงินรางวัลตามหลักเกณฑ์เงินรางวัลสำหรับนักกีฬาที่คว้าเหรียญเอเชี่ยนเกมส์ไว้ เหรียญทอง 2 ล้านบาท เหรียญเงิน 1 ล้าน เหรียญทองแดง 5 แสนบาท
'กกท.'ผนึก'กองทุนฯ-ส.มวยอาชีพ' สัมมนาเรื่องสารต้องห้าม ให้บุคลากรกีฬาเห็นถึงผลเสีย
"กกท." ผนึก "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" และ "ส.มวยอาชีพ" จัดการอบรมสัมมนา สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ให้กับบุคลากรทางการกีฬา นำไปเผยแพร่สู่องค์กรตัวเองได้อย่างถูกต้อง และตระหนักถึงบทลงโทษ เพื่อทำให้ประเทศไทย เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล
'เงือกแป๋ม'ว่ายทุบสถิติ ฟรีฯ 400 ม.หญิง ประเดิมทองแรกให้ว่ายน้ำไทย
การแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ ในอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่ อควอติก เซ็นเตอร์ ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ มรดก เตโช ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.66 มีชิงชัย 26 เหรียญทอง โดย ฉลามหนุ่ม-เงือกสาวทีมชาติไทย ลงล่าเหรียญทองในหลายรายการ
'ไทย-ซาอุฯ' จัดกิจกรรม'มวยไทย'สานสัมพันธ์ เผยแพร่ความนิยมสู่สากล
“ไทย-ซาอุดีอาระเบีย” จัดกิจกรรมมวยไทยสานสัมพันธ์ ผนึกกำลังส่งเสริมมวยไทย พร้อมเผยแพร่ความนิยมสู่สากล กองทุนฯ สนับสนุนงบประมาณส่ง นักแสดงนาฎยุทธ์มวยไทย สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน
กองทุนฯลงมือเอง เคลียร์ปัญหา'เงินค้างท่อ' ให้เบิกจ่าย โปร่งใส รวดเร็ว
จากกรณีปัญหา “เงินค้างท่อ” ในวงการกีฬาไทยกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาจังหวัด ในการดำเนินกิจกรรมกีฬาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะผู้เบิกจ่ายเงินกองทุน และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF)ในฐานะผู้อนุมัติงบประมาณ ได้พยายามร่วมมือกับสมาคมกีฬาทั้งแห่งประเทศไทยและแห่งจังหวัด ในการเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้วงการกีฬาไทยเดินหน้าพัฒนาต่อไปนั้น