“เสือยิ้มยาก” ประวัติ วะโฮรัมย์ สุดยอดนักวีลแชร์เรซซิ่งไทย คว้าเหรียญทองกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่เมืองสุราการ์ตา (โซโล) ประเทศอินโดนีเซีย ได้สำเร็จ เผยยังพร้อมรับใช้ชาติต่อไป โดยมีเป้าหมายไปแข่งเอเชียนพาราเกมส์ และชิงแชมป์โลกปีหน้า ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชื่นชมวีลแชร์บาสเกตบอล มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปถึงระดับกึ่งอาชีพได้
การแข่งขันมหกรรรมกีฬาคนพิการ อาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่เมืองสุราการ์ตา (โซโล) ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2565 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนทัพนักกีฬาคนพิการไทย และเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 479 คน ร่วมชิงชัย สถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา T Sports 7 ถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขัน ทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง ทาง ช่อง T Sports 7 และ เฟซบุ๊ค แฟนเพจ T Sports 7
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า ในการแข่งขันอาเซียน พาราเกมส์ ครั้งที่ 11 นี้ ทัพนักกีฬาไทยโชว์ผลงานได้ค่อนข้างน่าพอใจ แม้กีฬาที่อาจจะไม่ได้เหรียญทอง แต่อยากจะให้ดูการพัฒนาของกีฬาแต่ละชนิด ในการต่อยอดไปสู่ระดับที่สูงขึ้นไป อย่างเช่น วีลแชร์บาสเกตบอลที่คว้าเหรียญทองแรกในอาเซียนพาราเกมส์ครั้งนี้ ถือว่าสุดยอดมาก และมีแนวโน้มที่จะพัฒนากีฬาชนิดนี้ต่อไปได้ถึงระดับกึ่งอาชีพได้
“กีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล ดูสนุก เข้าใจง่าย ในขณะที่บอคเซีย นักกีฬาไทยก็เป็นระดับโลกแล้ว จะเห็นได้ว่านักกีฬาไทยเราคือของจริง ซึ่งก็อยากที่แฟนกีฬาได้ติดตามชมและเชียร์นักกีฬาคนพิการไทย โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา ช่อง T Sports 7 เป็นช่องเดียวที่เน้นเรื่องกีฬาคนพิการ ได้ ถ่ายทอดการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ครั้งนี้ ให้แฟนกีฬาได้เห็นผลงาน และสอดแทรกเรื่องความรู้ของการแข่งขันกีฬาคนพิการอีกด้วย”
ในขณะที่ การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่สนามมานาฮาน ประวัติ วะโฮรัมย์ สุดยอดนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งไทย วัย 41 ปี คว้าเหรียญทองประเภท 1,500 เมตร คลาสที 54 ด้วยเวลา 3.22.04 นาที เหรียญเงิน พิพัฒน์พงศ์ เสียงล้ำ 3.22.34 นาที เหรียญทองแดง ภูธเรศ คงรักษ์ 3.26.23 นาที
ประวัติ วะโฮรัมย์ ซึ่งเป็นตำนานนักกีฬาคนพิการระดับโลกของไทย โดยลงแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งแรกในปี 2000 ที่ซิดนีย์ จากนั้นติดทีมชาติไทยแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ต่อเนื่องในปี 2004 เอเธนส์, ปี 2008 ปักกิ่ง, ปี 2012 ลอนดอน, ปี 2016 ริโอ เดอ จาเนโร และ ปี 2020 โตเกียว (แข่งขันปี 2021) กวาดไป 7 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง
อย่างไรก็ตาม ประวัติ วะโฮรัมย์ เจ้าของฉายา “เสือยิ้มยาก” ซึ่งลงแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ตั้งแต่ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2544 ที่ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า อาเซียนพาราเกมส์ เป็นการแข่งขันที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของนักกีฬาคนพิการได้สร้างผลงาน ก่อนจะก้าวไปสู่ระดับเอเชีย จนถึงพาราลิมปิกเกมส์ต่อไป ส่วนตนเองยืนยันว่า ยังไม่เลิกเล่นทีมชาติ โดยยังมีเป้าหมายในการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ และชิงแชมป์โลกในปีหน้า
ข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ - เป็นการแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการ ที่จัดขึ้นในทุก 2 ปีต่อเนื่องจากกีฬาซีเกมส์ โดยมีประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 11 ประเทศ ดำเนินงานอยู่ภายใต้สหพันธ์กีฬาคนพิการแห่งอาเซียน (ASEAN Para Sports Federation : APSF) โดยมีนโยบายให้เป็นกีฬาคู่ขนานกับกีฬาซีเกมส์ เช่นเดียวกับ กีฬาเอเชียนเกมส์-เอเชียนพาราเกมส์ และกีฬาโอลิมปิกเกมส์-พาราลิมปิกเกมส์
ข้อมูลเกี่ยวกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) - Sports Authority of Thailand เรียกโดยย่อว่า SAT มีพันธกิจ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อการส่งเสริมกีฬา ทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการกีฬา ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทําโครงการ แผนงาน และสถิติเกี่ยวกับการส่งเสริมการกีฬารวมทั้งประเมินผล, ช่วยเหลือแนะนํา และร่วมมือในการจัดและดําเนินกิจกรรมกีฬา, สํารวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่สําหรับการกีฬา,ติดต่อร่วมมือกับองค์กรหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกราชอาณาจักร, สอดส่องและกํากับดูแลการดําเนินกิจกรรมกีฬา, ริเริ่ม พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการกีฬาคนพิการ, ประกอบกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา
ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ - จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ การกีฬาแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมนักกีฬาไปแข่งขันในระดับชาติหรือนานาชาติ, พัฒนานักกีฬาบุคลากรกีฬาและสมาคมกีฬา, ส่งเสริมและสนับสนุนการทำกิจกรรมกีฬาในระดับชาติและนานาชาติ, สนับสนุนเงินรางวัลแก่นักกีฬา, ให้ทุนการศึกษานักกีฬาและบุคลากรกีฬา, ช่วยเหลือด้านสวัสดิการ แก่นักกีฬาและบุคลากรกีฬา