กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษผ่านออนไลน์เรื่อง”ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง”พระราชทานแก่คณาจารย์ และนิสิต สังกัดคณะสัตว์แพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มก.
19 ม.ค.2565 – ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง – Immuno-oncology” พระราชทานแก่ คณาจารย์ และนิสิต สังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 50 คน
โดยในวันนี้เป็นการบรรยายต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (Cancer Immunotherapy: Immune Checkpoint Inhibitors)” ซึ่งร่างกายสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ยังทรงอธิบายอย่างต่อเนื่องถึงกระบวนการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunoediting) ซึ่งเริ่มจากการที่เซลล์มะเร็งถูกตรวจพบและทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกัน แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ถูกทำลาย ทำให้สามารถคงอยู่ต่อไปและพยายามปรับตัวอยู่ร่วมกับเซลล์ปกติ และต่อมามีการปรับตัวเพื่อหลบหนีจากระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญและแพร่กระจายออกไป เนื่องจากไม่มีการควบคุม หรือการกำจัดโดยระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถหลบหนีจากการกำจัดของระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การกดระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็งเอง โดยเกิดที่โมเลกุลของจุดตรวจภูมิคุ้มกัน (immune checkpoint molecules) บนผิวของเซลล์มะเร็ง ไปทำปฏิกิริยากับตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ (T cells) ที่มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของระบบเม็ดเลือดขาวนี้ ทำให้สามารถยับยั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-เซลล์ที่จุดตรวจภูมิคุ้มกัน (immune checkpoints) และหลบหลีก (evade) จากการทำลายของระบบภูมิคุ้มกันได้
ดังนั้น การยับยั้งการกด (suppression)ระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็ง โดยการใช้ยาซึ่งเป็นโมโนโคลนอล แอนตี้บอดี้ (monoclonal antibody) ไปยับยั้งการทำปฏิกิริยาที่จุดตรวจภูมิคุ้มกันนี้ จะทำให้เพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น ถือเป็นแนวทางใหม่ของการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (cancer immunotherapy) ดังนั้น การพัฒนายา ตลอดจนกลไกในการทำงานของยากลุ่มนี้ จึงเป็นความหวังแนวทางการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการใช้แนวทางการรักษาโดยใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน และทรงยกตัวอย่างการใช้ยาในกลุ่มยับยั้งจุดตรวจภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดร่วมกัน ซึ่งให้ผลการรักษามะเร็งที่ดีขึ้น แต่ในบางรายอาจจะมีอาการข้างเคียง(side effects) และ ความเป็นพิษ(toxicities) ในร่างกายขึ้นได้ ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลผลการรักษาในระยะยาวด้วยการใช้ยากลุ่มนี้ ร่วมกับการรักษาแบบเคมีบำบัด (chemotherapy) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเพิ่มการตอบสนองในการต้านมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังในการวางแผนการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่ระยะ (phase) ของการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเป้าหมาย ตลอดจนขนาด (dose) ของยาที่ใช้ และระยะเวลา (schedule) ของการใช้ยาเป็นองค์ประกอบด้วย
พระกรุณาธิคุณของ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ที่ทรงบรรยายมาอย่างต่อเนื่องทั้ง 2 ครั้งนี้ ทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยที่จะถ่ายทอดพระประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ อย่างเต็มพระกำลังความสามารถ เพื่อปูพื้นฐานภาพรวมของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านมะเร็ง ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแสวงหาแนวทางในการรักษาบำบัดโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ และด้านสัตวแพทย์ในอนาคตกับการรักษามะเร็งทั้งในคนและสัตว์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นการสร้างคุณูปการต่อวงการสาธารณสุขไทยต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เสืออวกาศ'ผลงานชุดใหม่'องค์สิริศิลปิน'
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงได้สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ “เสือ”ชุดใหม่ในปี 2567 นี้ จำนวน 51 ภาพ พร้อมทั้งพระราชทานชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า “เสืออวกาศ”
ชมภาพวาดฝีพระหัตถ์องค์สิริศิลปิน สานพลังใจเพื่อผู้ป่วย
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 4 กรกฎาคม 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เชิญชวนปชช.ลงนามถวายพระพรกรมพระศรีสวางควัฒนฯ
1 ก.ค.2567 - สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567
ศรัทธาพุทธศาสนาในเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์
เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดีถวายพระกุศล
เจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติกรมพระศรีสวางควัฒนฯ ที่วัดป่าบ้านตาด
28 มิ.ย.2567 ที่ศาลาใหญ่ วัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเกสรศีลคุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็
'ด้วยรักษ์และเมตตา' จิตรกรรมกล่อมเกลาจิตใจ
เพื่อสืบสานพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี "องค์สิริศิลปิน" ในการส่งเสริมสนับสนุนความสามารถด้านการสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในงานศิลปะได้มีโอกาสแสดงทักษะด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ