กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษพระราชทานแก่คณาจารย์-นิสิต-บัณฑิตวิทยาลัย มก.

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษเรื่อง”ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง Immuno-oncology” พระราชทานแก่คณาจารย์ นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ผ่านสื่อออนไลน์

18 ม.ค.2565 – ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทรงบรรยายพิเศษ  เรื่อง  “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง Immuno-oncology” พระราชทานแก่ คณาจารย์ และนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 50 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) โดยวันนี้ เป็นวันแรกของการบรรยายพระราชทานในหัวข้อเรื่อง ระบบภูมิคุ้มกันกับโรคมะเร็ง (The Immune System and Cancer) ซึ่งเป็นเรื่องการรักษามะเร็งโดยใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็งในร่างกาย

ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System)  เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอย่างมาก ในคนปกติทั่วไป เมื่อมีเซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในร่างกาย เริ่มกลายพันธุ์เพื่อก่อตัวเป็นมะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่กำจัดเซลล์ที่กลายพันธุ์ทิ้ง เราก็รอดพ้นจากการเป็นมะเร็ง  แต่ในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เซลล์ที่กลายพันธุ์ไม่ถูกระบบภูมิคุ้มกันทำลาย ก็จะกลายเป็นมะเร็งได้ ระบบภูมิคุ้มกันจึงมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสุขภาพให้รอดพ้นจากการคุกคามของเชื้อโรค  ทั้งยังสามารถช่วยให้สมรรถภาพของเซลล์ทำงานได้ตามปกติ และป้องกันโรคมะเร็ง

      ​ในการนี้ ทรงบรรยายถึงหลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม (Foreign agents) เข้าสู่ร่างกาย โดยระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นเพื่อให้กำจัดสิ่งแปลกปลอม ซึ่งก็คือเซลล์มะเร็งออกไปจากร่างกาย จัดเป็นแนวทางใหม่และเป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง ที่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อย และยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี

อีกทั้ง ทรงบรรยายถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ภูมิคุ้มกันที่ได้มาแต่กำเนิด (Innate Immunity) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired or Adaptive Immunity) ซึ่งร่วมกันทำงานเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน โดยมีระบบการเฝ้าระวังของภูมิคุ้มกันที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ปกติของร่างกาย (Self) และเซลล์ที่ผิดปกติได้ (Non-Self) โดยปกติ เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจะไม่ทำลายเซลล์ของร่างกายเนื่องจากมีความสามารถในการจดจำเซลล์ของร่างกายได้ จึงสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้  เซลล์ต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด จะทำให้เกิดการตอบสนองในลักษณะภูมิคุ้มกันทั่วไป สามารถจำแนกคุณลักษณะในระดับโมเลกุลที่อยู่บนผิวเซลล์ของเซลล์แปลกปลอมหรือเซลล์ผิดปกติ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสสิ่งเหล่านี้มาก่อนและส่งสัญญาณไปเรียกเซลล์อื่นๆ ของระบบภูมิคุ้มกันให้มายังตำแหน่งนั้น เพื่อร่วมกันโจมตีและกำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปอย่างรวดเร็ว เช่น การกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย

        อย่างไรก็ตาม หากการทำงานของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จำเป็นต้องใช้ระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะมากขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาความจำถึงการสัมผัสเซลล์แปลกปลอมนั้นมาก่อน ทำให้เกิดการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อสัมผัสอีกครั้ง   โอกาสนี้ ทรงยกตัวอย่างกลไกการทำงาน และ การตอบสนองของเซลล์ชนิดต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น โดยทรงเน้นถึงความสำคัญที่ระบบภูมิคุ้มกันสามารถจำแนกได้ว่าเซลล์มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อในร่างกายเจ้าของเองนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม แม้ว่าเซลล์มะเร็งนั้นจะเคยเป็นเซลล์ปกติที่อยู่ในร่างกาย และกำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปจากร่างกาย โดยที่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อตนเอง พร้อมทั้ง ทรงยกตัวอย่างแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง (Tumor Antigens) ที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน แอนติเจนเหล่านี้สามารถเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค และการนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการการรักษาโรคมะเร็งต่อไป

            ตลอดการบรรยายพระราชทานครั้งนี้ ทรงนำเนื้อหาที่ได้จากการที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเพียรพยายามศึกษาค้นคว้า และติดตามความก้าวหน้าทางงานวิจัย วิชาการด้านการรักษาโรคมะเร็งทั้งในคนและสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่คณาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกิดความรู้เข้าใจในรายละเอียดพื้นฐานได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าด้านการรักษาโรคมะเร็งทั้งในคนและสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมภาพวาดฝีพระหัตถ์องค์สิริศิลปิน สานพลังใจเพื่อผู้ป่วย

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 4 กรกฎาคม 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เชิญชวนปชช.ลงนามถวายพระพรกรมพระศรีสวางควัฒนฯ

1 ก.ค.2567 - สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567

ศรัทธาพุทธศาสนาในเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดีถวายพระกุศล

เจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติกรมพระศรีสวางควัฒนฯ ที่วัดป่าบ้านตาด

28 มิ.ย.2567 ที่ศาลาใหญ่ วัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเกสรศีลคุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็

'ด้วยรักษ์และเมตตา' จิตรกรรมกล่อมเกลาจิตใจ

เพื่อสืบสานพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี "องค์สิริศิลปิน" ในการส่งเสริมสนับสนุนความสามารถด้านการสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในงานศิลปะได้มีโอกาสแสดงทักษะด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ