กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ‘สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย’
10 ธ.ค.2565 เวลา 14.03 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “ สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายฐาปนสิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรประธานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายนิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพและคณะกรรมการ จัดงาน เฝ้า ฯ รับเสด็จ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ครั้นเสด็จถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เสด็จฯ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 โดยมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลถวายรายงาน ก่อนเบิกผู้จัดและผู้สนับสนุนการจัดงานเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก
จากนั้นทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2565 ความตอนหนึ่งว่า “ ดีใจที่ได้กลับมาอีกครั้ง ปีนี้ก็อย่างที่เขียนไว้ในคำนำว่า เป็นปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลค่อนข้างจะนานด้วยโรคโน้นโรคนี้จนจำไม่ได้ว่าเป็นอะไรบ้างและปีนี้เป็นปีอย่างที่ทราบกับว่า มีเรื่องโควิดที่ทำให้เดินทางไปไหนๆ ไม่ค่อยได้ นอกจากประเทศไทย ก็ได้ไปต่างประเทศ 4 หน ซึ่งน้อยกว่าปกติ และบางรูปก็รู้สึกว่า จำไม่ได้แล้ว รูปนี้คืออะไร ก็อาจเดาๆ ถูกบ้างผิดก็ช่วยแก้หลังไมค์ก็แล้วกัน ส่วนภาพที่เป็นตัวอย่างที่จะฉาย ปีนี้เป็นอย่างเดียวกับปีที่แล้ว นอกจากภาพถ่ายก็จะมีภาพการ์ตูนอยู่บางส่วน ซึ่งการ์ตูนของปีนี้ เป็นตามที่ในอินเตอร์เน็ตบอกว่า วันนี้เป็นวันอะไร ก็คิดว่าทำไมมันมีแบบนี้ก็ไม่รู้ ก็เขียนรูปไปตามนั้น จะดูออกบ้างดูไม่ออกบ้างก็เดาๆ กันไป “
จากนั้นทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ อาทิ ภาพวังสระปทุม แพนี้ของเต่ากับตะพาบต่างหาก น้องวรนุสมาทำไมรับสั่งว่า นี่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงวังสระปทุม แพทำให้เต่ากับตะพาบไว้กินผักขนมปัง ตัวนี้มายังไงก็ไม่ทราบ บางทีก็เดินไปเดินมา บางทีไปก็เดินไปที่บ้านเคาะประตูอยากเข้า เจ้าหน้าที่บอกว่า มีเยอะเกินไป ให้อุทยานมันจับไปปล่อยอุทยานบ้าง เหมือนงูเหลือม จากที่มี 126 ตัว ตอนนี้ข่าวล่าสุดมี 132 ตัวแล้ว นับตั้งแต่มาอยู่วังสระปทุม 23 ปี ก็ได้เห็นมา 132 ตัว ตอนแรกก็อยากจะเลี้ยงแค่คนอื่นเขาบอกว่า ไม่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกับงู ก็ยื่นคำขาด ก็เลยให้ไปอยู่กับอุทยานแห่งชาติที่นู่นที่นี่ เพื่อเฝ้าดูว่าพฤติกรรมของงูจะขึ้นต้นไม้จะลงน้ำ ตัวสุดท้ายยาวประมาณ 4.1 เมตร ก็นอนนิ่งที่กลางลำตัวมีก้อนตะปุ่มตะป่ำอยู่ ตอนแรกก็ตกใจนึกว่า แมวต่างๆ ที่เลี้ยงไว้ แต่ตัวที่ตั้งชื่อไว้อยู่ครบ แต่ผ้เชี่ยวชาญมาดูท้องแล้วบอกว่า ตัวที่อยู่ในท้องน่าจะใหญ่กว่าแมว ก็เข้าใจว่าเป็นตัวเงินตัวทอง ซึ่งตัวนี้เราจะไปทำร้ายอะไรก็ไม่ได้ เพราะเป็นสัตว์สงวนตามกฎหมาย
อย่างว่าในวังสระปทุมก็กินกันไปกินกันมา แมวที่อยู่ในวังสระปทุมมานาน ที่ชื่อใบตอง ก็กินลูกตัวเงินตัวทอง ไม่เหลือขาหน้าขาหลังตัว ไม่ทราบว่าทำไมกินเก่งขนาดนั้น ถึงกินตัวเงินตัวทองได้
ภาพการแสดงที่งานเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง พระองค์ตรัสว่า การไปต่างประเทศปีนี้ไปได้ 4 ประเทศ หนึ่งในนั้น คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ตอนแรกบอกท่านทูตว่าไม่ค่อยสบาย ไปไม่ไหว ท่านทุตบอกว่า ไหวสิ ก็บอกว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ท่านทูตก็บอกว่าห้องน้ำเต็มไปหมดเลยเยอะแยะ และแก้ได้หมดทุกเรื่อง ไปตรวจแล้ว ฉีดยาไม่ได้ผล เค้าบอกว่าไปถึงเจอ ความต้านทานก็มาเอง ก็ไปฉีดวัคซีนเพิ่มก็มีความต้านทาน เลยบอกท่านทูตว่า ไปได้แล้ว ก็ไปดูโดยนั่งอยู่ข้างล่าง เพราะเดินขึ้นลงบันไดลำบาก ก็มีการแสดงต่างๆ หลายรูปแบบ เดินแถวเข้ามา มีทีมไทยไปแข่งแพ้ชนะไม่สำคัญ แต่เราก็มีนักกีฬาที่ไปแข่งได้อย่างสมศักดิ์ศรี ก็ไปดูของที่ระลึกกัน
ภาพแม่น้ำสะแกกรัง มีเรือนแพ พระองค์รับสั่งว่า ไปบ้านที่อุทัยธานี แม่น้ำสะแกกรัง แถวนี้มีเรือนแพหลายหลัง ตรงทางเดินเลียบแม่น้ำสะแกกรัง เช้าๆ เย็นๆ ก็ออกไปเดินออกกำลังกาย ก็จะเจอแมวเยอะแยะไปหมด เพื่อนบ้านล้วนแต่มีแมวกัน ก็ทักทายแมวเพื่อนบ้านทุกวัน กเลยทำให้ปีนี้มีรูปแมวหน้าใหม่เยอะสักหน่อย ไม่รู้หมาจะตกกระป๋องไปหรือเปล่า มีหมาน้อยกว่ามีแมว ก็มีแมวของเพื่อนบ้าน
ภาพ Ecole Cantonale d’agriculture, Pont-de-la-Morge รับสั่งว่า ไปที่สวิตเซอร์แลนด์ที่นี่จะมีวิทยาลัยที่ทำเอ็มโอยูร่วมกับวิทยาลัยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มี 3 แห่ง เขาก็สลักชื่อของทุกคนที่ไปในลูกแอปเปิ้ลไว้ให้ ที่นี่ก็น่าสนใจ นอกจากเป็นวิทยาลัยอย่างธรรมดาแล้ว พื้นที่ยังมีเกษตรกรที่ทำงานเกษตร แปรรูปไม้ผล เป็นน้ำผลไม้ และชาวบ้านก็จะมาอธิบายเอง มีงานขายของด้วย คราวหน้ากะจะไปอีกสองแห่งที่ทำเอ็มโยูแล้วที่ยังไม่มีเวลาไปเยี่ยม
ภาพแอปเปิ้ลพระนามาภิไธย Ecole Cantonale d’agriculture รับสั่งว่า เขาทำให้เป็นพิเศษ อร่อยด้วย ก็ชิมตัวเองไปแล้ว
” ขอบคุณทุกท่านที่มาในวันนี้ เชิญถ่ายภาพในนิทรรศการได้ตามสบาย หวังว่าวันหน้าจะได้จัดอีก ขอบคุณมาก “
ก่อนเสด็จ ฯ ขึ้น ชั้น 9 เสด็จฯ ไปยังห้องจัดนิทรรศการ ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “ สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” ทอดพระเนตรนิทรรศการ
การนี้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition สีเหลือง เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โอกาสนี้ ทรงนำกล้องไลก้าชุดสีเหลืองดังกล่าวถ่ายรูป ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา คู่กับภาพของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในปีที่ผ่านๆมา ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของงานนิทรรศการในทุกปี
จากนั้น เสด็จฯ ไปยังโต๊ะจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ทรงจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2565 แก่ผู้ที่มาร่วมงาน เสด็จพระราชดำเนินกลับ
สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 หัวข้อ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ร่วมตามรอยเสด็จฯ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในระหว่างปี 2564-2565 เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งไประกอบไปด้วย ภาพแขวนผนัง จำนวน 150 ภาพ ภาพวาดการ์ตูนฝีพระหัตถ์ จำนวน 106 ภาพArt wall จำนวน 10 ภาพ โดยแต่ละภาพที่นำมาจัดแสดง นอกจากเป็นภาพที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะการถ่ายภาพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองจากสายพระเนตรที่ทรงประสบพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย อีกทั้งยังให้ข้อคิดเตือนใจในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มาชมภาพที่เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายของพระองค์ท่าน
นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2550 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นความรู้แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชน เริ่มตั้งแต่นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “แสงคือสี สีคือแสง” ในปี 2550 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง” ในปี 2551 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ถ้าเดินเรื่อยไปย่อมถึงปลายทาง” ในปี 2552
นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สี แสง แสดงชีวิต” ในปี 2553 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อุปบัติ ณ โลกี” ในปี 2554 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ควงกล้องท่องโลก” ในปี 2555 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “รูปยาตรา ภาพทัศนาจร” ในปี 2556 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ อันมีทิพเนตรส่องไป” ในปี 2557 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อยู่มานาน กาลเวลามีสุข” ในปี 2558 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ทัศนียมรรคา” ในปี 2559 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “กาวยประภา” ในปี2560 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สวัสดีปีจอหมา มาคอยท่าปีกุนหมู” ในปี 2562 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์“มหัศจรรย์พรรณภาพ” ในปี 2563 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ชีวิตยามอยู่บ้าน” ในปี 2564 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ธรรมดาแบบใหม่ : New Normal” และในปี 2565 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย”
สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์หัวข้อ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2566 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00 น. – 20.00 น. และมีการจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สืบมรรคาทัศนาทั่วไทย” ในราคาเล่มละ 900 บาท ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน) และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ รายได้ทั้งหมดนำขึ้นทูลเกล้าถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สคส.กรมสมเด็จพระเทพฯ
กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพรปีใหม่ 2568 ปีมะเส็งงูเล็กแก่พสกนิกรไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล ชีวิตก้าวหน้า
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'สานสายใยเพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย'
29 ต.ค.2567 - เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานเปิดงาน“สานสายใยเพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย ครั้งที่ 26 ” ณ ลิฟวิ่ง ฮอลล์ ชั้น 3 สยามพารากอน
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดเทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ณ เอ็มสเฟียร์
18 ต.ค.2567 - เวลา 14.30 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ณ เอ็ม กลาส
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ 'บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่'
1 ต.ค.2567 - เวลา 9.04 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024) ภายใต้แนวคิด "รักษา กายา
กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหารทองถนิมเฝ้าฯ
10 ก.ย.2567 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหารทองถนิม เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลงาน “อัคราภิรักษศิลปินแห่งแผ่นดินสยาม”
กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าฯ
2 ก.ย.2567 - เวลา 9.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสา