กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเปิดอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เสด็จไปทรงเปิดอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย เปิดตัวเครื่องดิจิทัลเพทซีที รุ่น Biograph Vision 600 Edge  

17 พ.ค.2565 – ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปทรงเปิดอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยายเปิดตัวเครื่องดิจิทัลเพทซีที รุ่น Biograph Vision 600 Edge  และทอดพระเนตรการให้บริการของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้บริหารและบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จฯ

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และรองศาสตราจารย์พยาบาลจุฬาภรณ์ และรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรและกราบทูลถวายรายงานโครงการจัดสร้างอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย 

ทั้งนี้ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก่อตั้งขึ้นจากพระปณิธาน และพระวิสัยทัศน์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในปีพุทธศักราช 2549 ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานการดำเนินงานด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีสร้างภาพวินิจฉัยในระดับโมเลกุลทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่นับเป็นการยกระดับความก้าวหน้าไปอีกขั้นในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไทยในช่วงเวลานั้น โดยเป็นหน่วยงานที่มีการนำเครื่องไซโคลตรอนและเครื่องเพทสแกนเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางมะเร็งวิทยา ประสาทวิทยา และหทัยวิทยา โดยมุ่งหวังที่จะให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงเป็นสถานที่วิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

การนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติส่วนต่อขยาย ซึ่งอาคารแห่งนี้ออกแบบเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับงานผลิตสารเภสัชรังสีซึ่งต่อเติมมาจากอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติเดิม โดยแบบแปลนการก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้เป็นสถานที่การผลิตยา มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 2 ชั้น ประกอบด้วย พื้นที่ชั้น 1 เป็นส่วนปฏิบัติการผลิตสารเภสัชรังสี ซึ่งติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน พร้อมระบบควบคุมเครื่องและเครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพ ชั้น 2 เป็นพื้นที่ติดตั้งเครื่องมือของระบบสนับสนุนการผลิตต่างๆ เช่น ระบบปรับและระบายอากาศของห้องสะอาด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เป็นต้น

จากนั้น เสด็จเข้าภายในอาคารเพื่อทอดพระเนตรห้องไซโคลตรอนที่ติดตั้งเครื่องไซโคลตรอนเครื่องที่สองด้วยรุ่น HM-20S  แบบ Self-shielded โดยมีกำลังการผลิตสารเภสัชรังสีที่สูงขึ้น และมีกำลังการผลิตไอโซโทปรังสีชนิดใหม่ได้หลากหลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ค้นคว้าพัฒนาสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกนที่สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ และมีความสำคัญต่อการช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยวางแผนการรักษา รวมทั้งการติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ณ ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้มากกว่า 20 ชนิด

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรในส่วนพื้นที่สำหรับการสังเคราะห์สารเภสัชรังสี ซึ่งเป็นห้องสะอาดที่มีการควบคุมปริมาณอนุภาคฝุ่นละอองและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานGMP PIC/S  สำหรับการผลิตสารเภสัชรังสีและทรงร่วมกิจกรรมประกอบชุด Casette เพื่อเตรียมการสังเคราะห์สารและกดปุ่มเพื่อเริ่มต้นการผลิตสารเภสัชรังสี โดยในส่วนนี้มีการแยกพื้นที่สำหรับการสังเคราะห์สารเภสัชรังสีออกเป็นพื้นที่สำหรับผลิตสารเภสัชรังสีไอโซโทปค่าครึ่งชีวิตสั้น หรือ Short-lived hot lab และพื้นที่สำหรับผลิตสารเภสัชรังสีไอโซโทปค่าครึ่งชีวิตยาว หรือ Long-lived hot lab เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างกัน และพื้นที่การผลิตแต่ละห้องจะมีการติดตั้งตู้ปฏิบัติการรังสีสูง หรือ Hot cells ซึ่งเป็นตู้ตะกั่วเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการควบคุมระดับความสะอาด ความดัน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ การขนส่งสารเภสัชรังสีสำหรับให้บริการแก่ผู้ป่วย ต้องบรรจุในภาชนะที่ปราศจากเชื้อ และบรรจุลงในถังที่มีเครื่องกำบังรังสี ที่มีการติดฉลากและติดป้ายกำกับทางรังสีตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการกระจายยาตาม GDP (จี-ดี-พี)และหลักการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีตามข้อกำหนดของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

จากนั้น เสด็จขึ้นชั้น M เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่การให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกนของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โดยบูรณาการสู่การเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบครบวงจรในแห่งเดียว เปิดให้บริการตรวจแก่ผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทุกสิทธิการรักษาและผู้ป่วยที่ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ การนี้ เสด็จทอดพระเนตรห้องรับรองผู้ป่วย และการทำงานของเครื่องแบ่งสารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัติ ซึ่งก่อนที่จะทำการตรวจด้วยเครื่องเพทสแกน ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เครื่องแบ่งสารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัตินี้ โดยเครื่องจะคำนวนปริมาณความแรงรังสีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมอุปกรณ์ฉีดสารเภสัชรังสีอัตโนมัติ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีให้กับผู้ปฏิบัติงาน จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรเครื่อง “PET/MRI  Biograph mMR 3 Tesla” ที่เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติของเครื่องที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างภาพวินิจฉัยเพื่อการตรวจรอยโรคขนาดเล็กและอวัยวะที่ซับซ้อนได้แม่นยำและถูกต้อง อาทิ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ มะเร็งสมอง มะเร็งนรีเวช มะเร็งศีรษะและลำคอ พร้อมเสด็จทอดพระเนตรเครื่อง“Digital PET/CT Biograph Vision 600 Edge”ที่เริ่มเปิดให้บริการเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ.๒๕๖๕ นี้ เพื่อนำมาเสริมประสิทธิภาพและรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ลดระยะเวลาในการรอคอยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการวางแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด 

สำหรับเครื่องดิจิทัลเพทซีที Biograph Vision 600 Edge มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง เรียกว่า ALPHA เพื่อช่วยยกระดับการเก็บข้อมูล การสร้างภาพ และการวินิจฉัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยระบบ Flow motion AI ซึ่งสามารถทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลผู้ป่วยให้สัมพันธ์กับพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายแบบ Personalized Medicine พร้อมระบุตำแหน่งและขอบเขตของอวัยวะได้อย่างแม่นยำ ทำให้การเก็บข้อมูลในบริเวณรอยโรคของผู้ป่วยมีความคมชัดสูง ลดระยะเวลาในการตั้งค่าการเก็บข้อมูล และคงมาตรฐานคุณภาพการตรวจ เพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วย และยังมีระบบ Oncofreeze  AI ช่วยเรียนรู้รูปแบบการหายใจจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละราย และแก้ไขตำแหน่งที่คลาดเคลื่อนให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ภาพรอยโรคบริเวณทรวงอกที่คมชัด นอกจากนี้ การออกแบบตกแต่งภายในศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ เพื่อนำมาใช้ในการตกแต่งห้องตรวจวินิจฉัยและห้องให้การรักษาสำหรับผู้ป่วย ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ ไม่เกิดภาวะเครียดขณะที่กำลังฉีดสารเภสัชรังสี หรือขณะที่เครื่องเพทสแกนกำลังทำงาน และเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยให้มีจิตใจเข้มแข็งต่อไป

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ความเป็นเลิศที่บูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอนหลากหลายชนิด สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยมาตรฐานการผลิตยาตาม GMP PIC/S และมาตรฐานการกระจายยาตาม GDP PIC/S และการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาทและสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเพทสแกนแก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา โดยนำวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงไปใช้ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม โดยสามารถเบิกจ่ายตรงตามสิทธิการรักษา รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าบริการเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้มากที่สุด อาทิ การตรวจวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทด้วยเครื่องเพทซีทีราคาเริ่มต้นที่ ๑๐,๐๐๐ บาท ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องเพทซีที ราคาเริ่มต้นที่ 20,000 บาท และเครื่องเพทเอ็มอาร์ไอ เริ่มต้นที่ 25,0000 บาท โดยผู้ป่วยสามารถนัดหมายผ่านทาง LINE @petscanchulabhorn หรือโทรนัดหมายที่เบอร์ 096-091-8369  ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันเพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีทีหรือเพทเอ็มอาร์ไอ และรองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกๆด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ สนองพระปณิธานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงวางรากฐานการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย และการแพทย์นานัปการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดอกไม้และผีเสื้อ'แห่งองค์สิริศิลปิน ส่งต่อความสุข

ตลอดเดือนธันวาคมนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ชวนประชาชนร่วมชื่นชมพระอัจฉริยภาพและเรียนรู้พระกรณียกิจกับนิทรรศการ “สิริศิลป์ศรีจักรีจุฬาภรณ์” ดั่งดอกไม้บาน รังสรรค์ความงดงามจากผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ “ดอกไม้และผีเสื้อ” ของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ

'เสืออวกาศ'ผลงานชุดใหม่'องค์สิริศิลปิน'

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงได้สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ “เสือ”ชุดใหม่ในปี 2567 นี้  จำนวน 51 ภาพ  พร้อมทั้งพระราชทานชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า “เสืออวกาศ”

ชมภาพวาดฝีพระหัตถ์องค์สิริศิลปิน สานพลังใจเพื่อผู้ป่วย

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 4 กรกฎาคม 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เชิญชวนปชช.ลงนามถวายพระพรกรมพระศรีสวางควัฒนฯ

1 ก.ค.2567 - สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567

ศรัทธาพุทธศาสนาในเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดีถวายพระกุศล

เจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติกรมพระศรีสวางควัฒนฯ ที่วัดป่าบ้านตาด

28 มิ.ย.2567 ที่ศาลาใหญ่ วัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเกสรศีลคุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็