เขื่อนจิงหง ในเขตปกครองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีน (ภาพจาก Global Times) เป็น 1 ใน 11 เขื่อนที่จีนสร้างในแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคนที่อยู่ใต้เขื่อน
ชาวบ้านหาไกในแม่น้ำโขง บริเวณใกล้วัดหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
‘ไก’ เป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่พบมากในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลง ชาวบ้านแถบอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะลงไปงมหาไกบริเวณหาดทรายและแก่งหิน เพื่อนำมาทำเป็นอาหารและขาย หากเป็นไกสด ราคากิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อนำมาตากแห้งใส่งาและเครื่องปรุงรส ทำเป็น ‘ไกแผ่น’ นำไปอบหรือทอดเหมือนสาหร่ายทะเลจากเกาหลีหรือญี่ปุ่น ราคาจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาท
ทว่าในช่วงหลายปีมานี้ ไกมีปริมาณลดลง ระยะเวลาหาไกสั้นลง จากเดิมชาวบ้านจะเริ่มหาไกได้ตั้งแต่ราวเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนพฤษภาคม ประมาณ 6-7 เดือน แต่ทุกวันนี้จะหาไกได้ประมาณช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนเท่านั้น แถมบางปียังพบว่าไกมีความผิดปกติ ไม่สมบูรณ์ มีเส้นสั้นเป็นกระจุก และมีปริมาณลดน้อยลง
‘ไก’ อาหารคน อาหารปลา มากมายด้วยคุณค่า
ไกเป็นอาหารของคนไทย-ลาวและปลาในแม่น้ำโขงมาช้านาน โดยเฉพาะบริเวณบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งในอดีตเป็นแหล่งจับปลาบึกชื่อดัง ปลาบึกและปลากินพืชต่างๆ จะกินไกเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังพบไกในลำน้ำน่าน โดยเฉพาะในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน บริเวณที่มีน้ำไหล ใสสะอาด ไกจะเกาะอยู่กับโขดหิน มีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาว สีเขียวสดใส
ชาวบ้านจะนำไกมาปรุงอาหารหลายอย่าง เช่น แกง หมก นำมาแผ่ให้เป็นแผ่นตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาปิ้งหรือทอด ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ชาวบ้านจะนำไกแม่น้ำโขงมาปิ้งหรือทอดกินกับน้ำพริกหลวงพระบาง (รสชาติคล้ายน้ำพริกเผา) เจ้านายชั้นสูงของไทยที่เคยเสด็จไปที่นั่น ทรงโปรดเมนูนี้มาก
ไกที่งมขึ้นมา เมื่อแกว่งน้ำทำความสะอาดแล้ว จะนำมาปั้นเป็นก้อนเพื่อบีบน้ำออก เตรียมนำไปขายสดหรือตากแห้ง
จากการศึกษาของ ดร.ยุวดี พีรพรพิศาล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2547พบว่า ไกแห้งปริมาณ 100 กรัม มีโปรตีน 20.60 หน่วย คาร์โบไฮเดรท 31.25 หน่วย พลังงาน 262 หน่วย วิตามมินบี 87 หน่วย วิตามินบี 2 355 หน่วย แคลเซี่ยม 768 หน่วย ฯลฯ มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าสาหร่ายทะเลทั่วๆ ไปหลายเท่าตัว (อกไก่ไม่มีหนัง 100 กรัม มีโปรตีนประมาณ 22 หน่วย พลังงาน 120 หน่วย)
พรมาณี ทีปะนะ ชาวบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ บอกว่า ครอบครัวมีอาชีพรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ในช่วงน้ำแล้ง ประมาณเดือนธันวาคมถึงเมษายน เธอกับสามีจะไปหาไกแม่น้ำโขง บริเวณใกล้วัดหาดไคร้ เพราะตรงนั้นจะมีลักษณะเป็นหาดทราย มีแก่งหิน น้ำใส และน้ำไม่ลึก สูงประมาณหัวเข่า ไกจะเกาะติดอยู่กับแก่งหิน มีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ สีเขียวใส มองเห็นได้ชัด ใช้มืองมลงไปในน้ำ สาวไกขึ้นมา
เมื่อได้ไกเต็มมือแล้ว จะเอาไกมาแกว่งในน้ำ เพื่อให้เศษดินทรายหลุดออกไป จากนั้นจึงนำไกใส่ตะกร้า แล้วแกว่งในน้ำอีกหลายครั้ง จนไกสะอาดดี จึงนำมารวมกันเป็นปั้น บีบเอาน้ำออก แล้วใส่ตะกร้าเก็บไว้เตรียมเอาไปทำไกแห้งหรือขายเป็นไกสด
ไกนำมาตากแห้งบนไม้แตะ ขายแตะละ 100 บาท
“ปกติชาวบ้านจะออกหาไกประมาณ 8 โมงเช้า เพราะอากาศไม่หนาวมาก และแดดยังไม่แรง พอตอนสายสัก 10 โมงก็จะขึ้น คนที่ขยันอาจจะหาไกจนถึงเย็น ช่วงที่หาได้น้อยจะได้ประมาณ 2-3 กิโลฯ คนที่หาเก่ง หรือช่วยกันทั้งครัวครอบจะหาได้ประมาณ 20 กิโลฯ กิโลฯ ละ 100 บาท จะมีแม่ค้าจากพะเยามารับซื้อเอาไปขายต่อ” พรมาณีบอก
บริเวณหาดทรายใกล้วัดหาดไคร้ในช่วงฤดูหาไก จะมีชาวบ้านเชียงของ รวมทั้งอำเภอใกล้เคียงมาหาไก วันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 30-40 คน คนที่หาไกเก่งๆ หรือช่วยกันทั้งผัวเมีย ขยันหาทั้งวันจะได้ไกประมาณ 20 กิโลกรัม ราคาขายไกสด กิโลกรัมละ 100 บาท วันหนึ่งจะขายได้ประมาณ 2,000 บาท เดือนหนึ่งราว 60,000 บาท หากรวมตลอดช่วงฤดูหาไกจะได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท แต่ไม่เป็นเช่นนั้นทุกปี
“ถ้าฝนตก หรือจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมา ปีนั้นจะหาไกได้น้อย เพราะถ้าแม่น้ำโขงมีมาก น้ำจะท่วมสูงและไหลเชี่ยว จะหาไกได้ยาก เหมือนปีที่แล้ว จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนมา ทำให้หาไกยาก หรือถ้าน้ำท่วมสูงก็จะหาไกไม่ได้เลย” นักหาไกบอก
ไกผสมเครื่องปรุง โรยงาขาว นำไปชุบแป้งทอดบางๆ มีรสชาติอร่อย หากขายเป็นกิโลกรัมประมาณ 2,000 บาท
เขื่อนน้ำโขงในจีน-ลาวและความเปลี่ยนแปลง
“ปภ.แจ้ง 8 จังหวัดริมน้ำโขงเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในช่วงวันที่ 4-10 มี.ค.นี้”
นี่คือหัวข้อข่าวออนไลน์จากเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง เนื้อข่าวระบุว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือนประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อให้เตรียมรับมือกับการที่เขื่อนจิงหง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน จะปล่อยน้ำลงมาในช่วงต้นเดือนมีนาคม ทำให้พื้นที่ใต้เขื่อนริมแม่น้ำโขง คือ พม่า ลาวไทย จะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นและอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ‘ครูตี๋’ ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ‘ครูตี๋’ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ บอกว่า ประเทศจีนที่อยู่เหนือแม่น้ำโขงสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศจำนวนหลายสิบแห่ง เขื่อนแห่งแรกสร้างเสร็จในปี 2539 ปัจจุบันมีเชื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในจีน รวม 11 เขื่อน และมีเขื่อนในลาวที่สร้างเสร็จแล้ว 2 เขื่อน (ดอนสะโฮงและไซยะบุลี) และเตรียมสร้างอีกหลายเขื่อน
เขื่อนเหล่านี้จะกักเก็บน้ำเอาไว้เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง และปล่อยน้ำที่ล้นจากเขื่อนออกมาในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้แม่น้ำโขงขึ้น-ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ประเทศท้ายเขื่อนอย่างไทย รวมทั้ง ลาว เขมร เวียดนาม จึงได้รับผลกระทบ เช่น เกิดน้ำท่วมในหน้าแล้ง เหมือนกับที่จีนกำลังจะปล่อยน้ำจากเขื่อนจิงหงลงมาตอนนี้ หรือเกิดน้ำแล้งในช่วงฤดูน้ำหลาก เพราะจีนกักน้ำเอาไว้ไม่ปล่อยออกมา
“นับแต่จีนสร้างเขื่อนเสร็จในปี 2539 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 25 ปี เกิดผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนหลายอย่าง เพราะการสร้างเขื่อนทำให้น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ หากน้ำท่วมก็จะกระทบต่อพืชพรรณต่างๆ ที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้ต้นไม้ตาย นกที่เคยวางไข่บนหาดทรายแม่น้ำโขงไม่มีที่วางไข่ คนที่เคยหาไกในช่วงหน้าแล้งก็ทำไม่ได้ หรือถ้าน้ำแล้งมากๆ ไกที่เกาะอยู่ตามแก่งหินก็จะตายเพราะโดนแดดเผา ปลาที่เคยว่ายขึ้นลงเพื่อวางไข่เริ่มสูญพันธุ์เพราะมีเขื่อนไปกั้น คนที่มีอาชีพหาปลาหาได้น้อยลง บางที 2-3 วัน ไม่ได้ปลาสักตัว” ครูตี๋ยกตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้การสร้างเขื่อนจะทำให้ตะกอนดินและแร่ธาตุต่างๆ ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ปากแม่น้ำลดน้อยลง เพราะเขื่อนจะดักตะกอนเอาไว้ เช่น การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในลาวทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อน เช่น แม่น้ำโขงในภาคอีสานเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำมีสีฟ้าใสเหมือนน้ำทะเลในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะตะกอนโดนดัก ความสมบูรณ์ในแม่น้ำจะลดลง
แม่น้ำโขงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวบ้านลงงมหาไกบริเวณใกล้วัดหาดไคร้ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นมองเห็นเป็นจุดเล็กๆ
กลุ่มรักษ์เชียงของหยุดจีนระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
คนเชียงของและคนลาวเรียกแม่น้ำโขงว่า “น้ำของ” แม่น้ำโขงมีต้นน้ำอยู่ในประเทศธิเบต ไหลผ่านมณฑลต่างๆ ในจีนลงมายังพื้นที่ชายแดนพม่า ลาว ไทย เขมร และออกสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนาม มีความยาวทั้งหมดประมาณ 4,880 กิโลเมตร
ในอดีต ฝรั่งเศส นักล่าอาณานิคม พยายามจะทะลุทะลวงแม่น้ำโขงให้เป็นเส้นทางค้าขาย แต่ต้องถอยหลังกลับเพราะเกาะแก่งและกระแสน้ำโขงที่เชี่ยวกราก ขณะที่จีนในยุคปัจจุบันมีนโยบาย ‘มุ่งสู่ใต้’ จะใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีแผนการจะระเบิดเกาะแก่งต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ เพื่อล่องเรือสินค้าขนาดใหญ่ไปค้าขายถึงหลวงพระบาง โดยจีนส่งวิศวกรเข้ามาระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงไปบ้างแล้วในเขตพม่าและลาว แต่มาสะดุดอยู่ที่ประเทศไทย
ครูตี๋ เล่าว่า ‘กลุ่มรักษ์เชียงของ’ เริ่มรวมตัวกันในปี 2539 เป็นประชาชนในเชียงของกลุ่มเล็กๆ มาจากข้าราชการครู นักธุรกิจ ศิลปิน นักพัฒนาเอกชน เริ่มจากการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันบวชป่าต้นน้ำดอยหลวง ฯลฯ จนเมื่อจีนเริ่มสร้างเขื่อน และเริ่มระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงในเขตพม่าและลาวในปี 2543 และเตรียมมาสำรวจในเขตแดนไทยตั้งแต่อำเภอเชียงแสนลงมาถึงเชียงของ
“พอมีข่าวว่าจีนจะเข้ามาระเบิดเกาะแก่งในไทย ช่วงปี 2543 กลุ่มรักษ์เชียงของจึงเริ่มรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในเชียงของ รวมทั้งครูและนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ คนหาปลาก็มาเข้าร่วม เพราะเขารู้ว่า เกาะแก่งต่างๆ เป็นที่อยู่อาศัยของปลา เป็นที่ปลามาวางไข่ และตะไคร่หรือสาหร่ายที่เกาะอยู่ตามแก่งหินก็เป็นอาหารของปลา ถ้าจีนมาระเบิดก็จะกระทบกับปลาและคน ทุกคนจึงร่วมกันต่อสู้” ครูตี๋เล่าถึงบทบาทของกลุ่ม
กลุ่มรักษ์เชียงของชูป้ายคัดค้านคณะวิศวกรจากจีนเข้ามาสำรวจแก่งในแม่น้ำโขง (ภาพกลุ่มรักษ์เชียงของ)
กลุ่มรักษ์เชียงของถือเป็นการรวมตัวของประชาชนกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องแม่น้ำโขง พวกเขารณรณงค์ทั้งในท้องถิ่นและผ่านสื่อมวลชนจากส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เช่น การเดินเท้ารณรงค์ปกป้องแม่น้ำโขง การยื่นหนังสือคัดค้านถึงสถานทูตจีนที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงปี 2545-2547
หลังจากนั้น คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร หลายคณะ ทั้งด้านต่างประเทศและด้านสิ่งแวดล้อมได้ลงมาศึกษาข้อมูล ผลกระทบ ฯลฯ จากกลุ่มรักษ์เชียงของและชาวบ้านในพื้นที่ เสียงของพวกเขาดังพอที่จะทำให้รัฐบาลไทยและจีนได้ยิน จนโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงต้องชะลอออกไป
จนกระทั่งในปี 2563 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบยุติโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำโขงตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เป็นการปิดฉากการระเบิกเกาะแก่งในแม่น้ำโขงอย่างถาวร !!
ก้าวย่างของสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง
นอกจากนี้ในปี 2555 พวกเขาและ ‘เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง’ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุลีในลาวที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายรับซื้อกระไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งนี้ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการซื้อขายไฟฟ้าจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามแดน (ขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด) รวมทั้งยังเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชียงของ เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ เนื่องจากหวั่นเกรงต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์ เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ โดยรัฐบาลจะใช้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ฯลฯ
ทุนจีนรุกคืบเข้ามาสร้างกาสิโนและสถานบันเทิงในลาว ฝั่งตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย
นอกจากการเคลื่อนไหวต่างๆ ดังกล่าวในลักษณะ ‘บู๊’ แล้ว พวกเขายังมี ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ หรือโรงเรียนแม่น้ำโขง ทำหน้าที่เป็นฝ่าย ‘บุ๊น’ ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ชาวต่างชาติที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ในลุ่มแม่น้ำโขง ให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้ออกไปสู่สาธารณะ ผ่านสื่อออนไลน์ ผ่านหนังสือเล่ม ผ่านคลิป VDO. ผ่านบทเพลง
“โฮงเฮียนแม่น้ำของ ไม่ได้มีอาคารใหญ่โตอะไรเลย เราเรียนอยู่ใต้ร่มไม้ เรียนอยู่ริมน้ำของ ออกไปศึกษาพันธุ์ปลา พันธุ์ไม้น้ำ นกชนิดต่างๆ ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องไกว่าได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนในลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ตั้งแต่เหนือ อีสาน พี่น้องคนลาว เขมร และเวียดนาม ร่วมกันปกป้องทรัพยากรในแม่น้ำโขงเอาไว้” ครูตี๋บอกถึงบทบาทของโรงเรียน
ส่วนการเคลื่อนไหวในวงกว้างก็ยังดำเนินต่อไป โดยจะร่วมกับ ‘เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง’ ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ศิลปิน ฯลฯ ขับเคลื่อนงานในนาม ‘สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง’ เพื่อให้เกิดพลัง รวมทั้งในอนาคตอันใกล้ก็จะเชิญชวนพี่น้องจากลาว เขมร และเวียดนามเข้าร่วมด้วย เป็น ‘สภาประชาชนอาเซียนลุ่มน้ำโขง’ ต่อไป
“ตลอดเวลา 25 ปีที่จีนสร้างเขื่อน เราได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังจะมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงในประเทศเพื่อนบ้านขึ้นมาอีกหลายแห่ง เราจึงต้องรวมพลังกันเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา และจะต้องมีการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะต้องมีการหยุดสร้างเขื่อน เพื่อช่วยกันปกป้องแม่น้ำโขงเอาไว้” ครูตี๋กล่าวย้ำ
(ภาพจากกลุ่มรักษ์เชียงของ)
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา
ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น 3 อำเภอริมโขงเชียงราย แสดงพลังค้านเขื่อนปากแบง
ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน ผู้นำสตรี และผู้นำท้องถิ่น อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกเทศมนตรี ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)