คปภ. ออกแนวปฏิบัติให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดกรณีการจ่ายเคลมประกันโควิดค่ารักษาพยาบาล และ/หรือค่าชดเชยรายวัน

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อหาทางออกร่วมกันกรณีโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ของสมาคมประกันชีวิตไทย และกรณีที่บริษัทประกันภัยบางบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าเคลม ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด ที่เข้ารับการรักษาพยาบาล

จากผลการประชุมหารือทำให้ได้ข้อยุติในหลักการเกี่ยวกับแนวทางการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันสุขภาพ COVID-19 กรณีมีการ admit เป็นผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ตามที่มีการเผยแพร่ผลการประชุมไปแล้ว โดยขณะนี้สำนักงาน คปภ. ได้นำหลักการดังกล่าวไปออกแนวปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อย และได้มีหนังสือแจ้งบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ถือปฏิบัติแล้ว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565

ทั้งนี้แนวปฏิบัติฯมีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้

  1. ให้ใช้กับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งบริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครอง และกรมธรรม์ประกันภัยยังมีผลใช้บังคับ
  2. กำหนดคำจำกัดความของ “กรมธรรม์ประกันภัย COVID-19” ให้หมายถึง กรมธรรม์ประกันภัย ข้อตกลงคุ้มครองสัญญาเพิ่มเติม เอกสารแนบท้าย หรือบันทึกสลักหลัง ที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและ/หรือค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้กรณีผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม และ“สถานพยาบาล” ให้หมายความว่า โรงพยาบาล สถานพยาบาล Hospitel และโรงพยาบาลสนาม แต่ไม่หมายความรวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการดูแลรักษาแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation

 โดยแนวปฏิบัตินี้กำหนดให้บริษัทต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและ/หรือค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ตามกรณี ดังต่อไปนี้

  1. ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาลตามเกณฑ์ในการนำส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลที่กำหนดตามแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation หรือแนวทางปฏิบัติอื่นเกี่ยวกับการรักษาหรือการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข หรือ
  2. ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และอาการหรือภาวะการป่วยไม่เป็นไปตาม ข้อ1. แต่แพทย์ผู้ทำการรักษามีดุลพินิจว่ามีความจำเป็นทางการแพทย์ต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลและได้รับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า “การกำหนดแนวปฏิบัติข้างต้นจะช่วยลดความสับสนและวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ทำให้ช่วยลดข้อพิพาทและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิดแล้วเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาล สถานพยาบาล Hospitel และโรงพยาบาลสนาม แต่ไม่สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาล และ/หรือค่าชดเชยรายวันได้ ส่วนประเด็นเรื่องแนวปฏิบัติใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่งกำหนดให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาแพร่เชื้อมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ป่วยแยกจากคนอื่นในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation (HI) , CI และ Hotel Isolation เป็นสถานพยาบาลอื่นที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลด้วยนั้น ได้ข้อสรุปเบื้องต้นจากการประชุมร่วมกันว่าให้อนุโลมจ่ายในกรณีจำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการนัดประชุมหารือในรายละเอียดกับภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และเมื่อได้ผลสรุปจะเร่งออกแนวปฏิบัติเพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยถือปฏิบัติต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปภ. ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีรถทัวร์เสียหลักพุ่งชนต้นไม้ 'เสียชีวิต 5 ราย - บาดเจ็บจำนวนมาก' ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากกรณีรถทัวร์นำเที่ยว หมายเลขทะเบียน 30-1097 นครปฐม เสียหลักตกเกาะกลางถนนพุ่งชนต้นไม้ บริเวณถนนเพชรเกษม หมู่ที่ 1 ตำบลป่าเว อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 22 ราย ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 8 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568

คปภ. ประกาศผลสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย “OIC InsurTech Award 2024”

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินและมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย

คปภ. เดินหน้าเคียงข้างเพื่อประชาชนเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ.

นางสาววิไลพร เจียรกิตติวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวางแผนและพัฒนากฎหมาย สำนักงาน คปภ. เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ. โดยมี นายประสงค์ หล้าอ่อน นายดำรงศักดิ์ ยอดทองดี

กสม. ชี้ ประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค จี้เยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหม

กสม. ชี้กรณีประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

คปภ. เห็นชอบสั่ง ‘บมจ. สินมั่นคงประกันภัย’  หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว

คณะกรรมการ คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “บมจ. สินมั่นคงประกันภัย” หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวคุมเข้มให้บริษัทหยุดรับประกันภัย ภายหลังศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เลขาธิการ คปภ. สั่งมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้เดือดร้อน