“กิ๋นฮอม ต๋อมม่วน” ที่ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจท่าวังทอง จ.พะเยา สภาองค์กรชุมชนใช้แผนธุรกิจชุมชนหนุนชาวบ้านผลิตสินค้าขาย

สินค้าจากกลุ่มมีน้ำพริกเป็นสินค้าหลัก

กิ๋นฮอม  ต๋อมม่วน เป็นสำนวนของคนภาคเหนือ  มีความหมายในทำนองว่า เมื่อเสร็จจากการทำงานแล้วก็มากิน (กิ๋น) อาหารร่วมกัน (ฮอมอย่างสนุกสนาน (ต๋อมม่วน)” 

ที่ ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนเทศบาลตำบลท่าวังทอง  อ.เมือง จ.พะเยา’  ก็เป็นเช่นนั้น  เพราะทุกสัปดาห์สมาชิกกลุ่ม (กลุ่มแม่บ้านดอกบัว) กว่า 10 คน  จะมาร่วมกันผลิตสินค้าต่างๆ  เช่น  ผ้าอุ๊ก  น้ำพริกลาบ  น้ำพริกข่า น้ำพริกตาแดง  ฯลฯ  ช่วยกันทำงานตั้งแต่ 8-9 โมงเช้า  ใครถนัดทางไหนก็ทำทางนั้น 

พอเสร็จงานราวเที่ยงวันทุกคนก็จะละมือจากงาน  แล้วมากินอาหารร่วมกัน  บางคนจะเตรียมกับข้าวกับปลาจากบ้านมาร่วม  หรือไม่ก็ช่วยกันทำกินตรงนั้นด้วยความสนุกสนานคึกครื้น  มีน้ำพริกลาบ  น้ำพริกข่า  น้ำพริกตาแดงที่ทำเสร็จใหม่ๆ  มีผักต่างๆ ที่ปลูกเอาไว้  มีมะละกอ  มะม่วง  มะนาว  พริกขี้หนู  ข่า  ตะไคร้  ฯลฯ  หยิบเด็ดลงมาทำส้มตำ  ตำมะม่วง  หรือจะลาบ  จะอ่อมก็ไม่ยาก  เพราะเครื่องปรุงมีอยู่แล้ว  มีข้าวเหนียวนึ่งใหม่ๆ ส่งกลิ่นหอมควันฉุยรออยู่บนเตา

แค่มีไข่ต้ม  หรือไข่เจียว  ผักนึ่ง  ผักสด  กินกับน้ำพริกตาแดง  มีส้มตำหรือตำมะม่วงรสจัดจ้าน  กินกับข้าวนึ่งร้อนๆ  กินกันไป  พูดคุยกันไป  แล้วอย่างนี้จะไม่ กิ๋นฮอม  ต๋อมม่วน”  ได้อย่างไร ?

สภาองค์กรชุมชนตำบลสร้างเศรษฐกิจชุมชน

สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลท่าวังทองเริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2551  มีสมาชิกมาจากกลุ่มต่างๆ ใน 14  หมู่บ้าน  เช่น  กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มอาชีพ  กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  ฯลฯ   สภาองค์กรชุมชนตำบลนอกจากจะเป็นเวทีปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบลแล้ว  ในระยะหลังมานี้ยังมีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย

แสงหล้า  บุญเรือง  ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลท่าวังทอง  อ.เมือง  จ.พะเยา  บอกว่า  ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลท่าวังทองอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองพะเยา  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร  ทำนา  ปลูกผัก  เลี้ยงสัตว์  นอกจากนี้ยังมีอาชีพค้าขาย  และรับจ้างทั่วไป  มีรายได้พออยู่พอกิน  แต่ในช่วงหลายปีมานี้  เศรษฐกิจทั่วไปไม่ดี  ทำมาหากินลำบาก  สินค้ามีราคาแพง  แต่ชาวบ้านมีรายได้ลดลง  โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563

สภาองค์กรชุมชนฯ ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนในช่วงโควิด  โดยนำไก่พันธุ์ไข่ไปให้เลี้ยง  โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช.   (ขวา) แสงหล้า

ปี 2564  สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลท่าวังทองจึงส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจ  เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม  โดยเอาพืชผักที่ปลูกในครัวเรือนมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าขาย  เช่น  พริก  หอม  กระเทียม  ข่า  ตะไคร้  มะแขว่น  เอามาทำน้ำพริกลาบ  น้ำพริกข่า  น้ำพริกตาแดง  ขายทางเฟสบุ๊คส์  ขายทางไลน์  หรือเอาไปขายตามงานบุญ  งานประเพณี  งานออกร้านต่างๆ ประธานสภาฯ  เล่าความเป็นมา 

แสงหล้าบอกว่า  การส่งเสริมอาชีพดังกล่าว  ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ที่ส่งเสริมให้ตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ  จัดทำแผนธุรกิจชุมชน (Community  Business  Model  Canvas)  โดยมีการอบรมผู้นำชุมชนและผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้มีความรู้เรื่องการวางแผนการทำธุรกิจชุมชนเพื่อนำไปใช้จริง  เน้นการใช้ทุนที่แต่ละตำบลมีอยู่  เป็นทุนภายใน 

เช่น  ความรู้  ภูมิปัญญา  ผลผลิตหรือวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว  นำมาวางแผนการผลิต  การขาย  รวมทั้งเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายให้มาสนับสนุน  เช่น  มหาวิทยาลัยพะเยาช่วยออกแบบโลโก้  ออกแบบผลิตภัณฑ์  สนับสนุนช่องทางการจำหน่าย (สนับสนุนชุมชนตามโครงการ ‘มหาวิทยาลัยสู่ตำบล’ เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19)

ปกติชาวบ้านจะปลูกพืชผักสวนครัว  ปลูกพริก  ปลูกข่า  ตะไคร้อยู่แล้ว  เพื่อเอามาทำน้ำพริก  ทำกับข้าว  เราจึงคิดเอาวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วมาผลิตเป็นสินค้า  เพราะแต่เดิมแม่บ้านต่างก็ทำน้ำพริกกินในครัวเรือนอยู่แล้ว   แต่ต่างคนต่างทำ   มีสูตรแตกต่างกันไป  แต่เมื่อจะทำขาย  เราก็ต้องมาคุยกันว่าถ้าจะทำน้ำพริกลาบ  น้ำพริกตาแดง  จะต้องใส่อะไรเท่าไหร่   ให้เป็นสูตรมาตรฐาน  มีการชั่งตวงส่วนผสม  เพื่อให้รสชาติอร่อยคงที่  ไม่ใช่กะเอาเหมือนทำกินเอง  แสงหล้าอธิบาย    ตัวอย่างสูตรทำน้ำพริกลาบ  ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารต่างๆ  เช่น  ลาบเนื้อ  ลาบปลา  หรือใช้ทำเป็นน้ำจิ้มสำหรับเนื้อย่าง  หมูย่าง  ฯลฯ  มีส่วนผสม  คือ  พริกแห้ง 60 %  กระเทียม 10 %  มะแขว่น  10 %  กะปิ  เกลือ  หอม  อย่างละ 5 %  ข่า 3 %  และดีปลี 2 %  โดยสมาชิกกลุ่มจะมาร่วมกันทำน้ำพริกลาบและน้ำพริกอื่นๆ  สัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละประมาณ 10 กิโลกรัม  หรือตามลูกค้าสั่ง  ใช้ชื่อผู้ผลิตว่า กลุ่มแม่บ้านดอกบัว’ เพราะสมาชิกมีจุดเริ่มต้นมาจากบ้านดอกบัว  หมู่ที่ 11 เทศบาลตำบลท่าวังทอง

ส่วนการขายจะขายผ่านเฟสบุคส์  ไลน์  ฝากขายตามร้านค้า  รวมทั้งจำหน่ายตามงานต่างๆ  เช่น  งานบุญประเพณี  งานออกร้าน  ฯลฯ  ราคาขาย  น้ำพริกลาบ  และน้ำพริกตาแดง  กิโลกรัมละ 250  น้ำพริกข่า  กิโลกรัมละ 200 บาท  และบรรจุกระปุกและถุงพลาสติก  ขายตามขนาด  ราคาตั้งแต่ 10-20-50 บาท  เดือนหนึ่งๆ  มียอดขายรวมประมาณ 10,000 บาท

สมาชิกช่วยกันทำน้ำพริกลาบ

ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำ ผ้าอุ๊ก ลายใบไม้

อุ๊ก’ เป็นคำเมืองเหนือ  มีความหมายว่า บ่ม’  เช่น  อุ๊กมะม่วงให้สุก  การทำผ้าอุ๊กก็คือวิธีการนำผ้าที่ย้อมลวดลายด้วยใบไม้มาบ่มประมาณ 3 วัน  เพื่อให้สีจากใบไม้ติดแน่นอยู่ในเนื้อผ้า  เป็นเทคนิคการย้อมลายผ้าชนิดหนึ่งที่กลุ่มแม่บ้านดอกบัวนำมาผลิตเป็นสินค้าจำหน่าย

ส่วนวิธีการทำ  แสงหล้าบอกว่า  กลุ่มแม่บ้านดอกบัวจะนำใบไม้ที่มีลวดลายและสีตามที่ต้องมาใช้  เช่น  ใบสักจะใช้สีออกม่วง  ดาวเรืองให้สีเหลือง  เพกาให้สีเขียว  ฯลฯ  โดยนำกะละมังใส่น้ำ  เติมสารสนิมและสารส้มอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะลงในน้ำ  นำใบไม้ที่ต้องการลวดลายมาแช่ในกะละมังนาน 30 นาที  ส่วนผสมดังกล่าวจะช่วยให้ลวดลายใบไม้เด่นชัดและติดแน่นกับเนื้อผ้า

นำใบไม้วางบนผ้าตามลวดลายที่ต้องการ  แล้วนำมาพับเตรียมนำไปอุ๊กในหม้อนึ่ง

นำผ้าขาวดิบที่ต้องการย้อมมาแช่น้ำเปล่า  นิยมใช้ผ้าฝ้ายดิบ  ขนาดประมาณ 1 X 2 เมตร  แล้วนำไปผึ่งแดดพอหมาดๆ  นำแผ่นพลาสติกขาวใสขนาดเท่าผืนผ้าที่จะย้อมมาปูบนโต๊ะ  นำผ้ามาวางทาบ  นำใบไม้ที่แช่ในกะละมังนาน 30 นาทีมาสะเด็ดน้ำ  แล้ววางใบไม้ทาบลงบนผืนผ้าตามลายที่ต้องการ  (ผ้าผืนหนึ่งอาจใช้ใบไม้หลายชนิดมาทำลวดลายผสมกันก็ได้  จะได้ลวดลายและสีที่ต่างกัน) 

เมื่อวางใบไม้ให้เป็นลวดลายตามที่ต้องการแล้ว  จึงพับแผ่นผ้าพลาสติกและผ้าที่จะย้อม  โดยพับทบไปมา  จนพลาสติกและผ้ามีขนาดความยาวเหลือประมาณ 1 ฟุต  นำเชือกมามัดหัวท้ายให้แน่น  แล้วนำห่อผ้าที่มัดแน่นอยู่ในแผ่นพลาสติกไปนึ่งในหม้อนึ่ง  ใช้ความร้อนปานกลาง  เพื่อบ่มหรือ ‘อุ๊กผ้า’ ด้วยความร้อน  ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง  ลวดลายจากใบไม้ที่ทาบกับผืนผ้าเมื่อโดนความร้อนจะติดแน่นกับเนื้อผ้า 

นำผ้ามาอุ๊กในหม้อนึ่ง

จากนั้นจึงอุ๊กผ้าโดยไม่ใช้ความร้อน  ปล่อยให้ห่อผ้าอุ๊กอยู่ในหม้อนึ่งอีก 3 วัน  แล้วนำผ้าออกมาล้างด้วยน้ำสารส้ม  เพื่อให้ลวดลายและสีติดแน่นทนทานยิ่งขึ้น  นำผ้าไปตากให้แห้ง  จะได้ผ้าอุ๊กตามลวดลายที่ต้องการ  นำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าต่างๆ 

“เราจะทำผ้าอุ๊กตามออร์เดอร์ของลูกค้า  ขายเป็นผืน  ขนาดกว้าง 1 เมตร  ยาว 2 เมตร  ราคา 500 บาท  ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเอาไปตัดเป็นเสื้อ  ใส่สบาย  เป็นเสื้อผ้าแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ  เพราะไม่ใช้สารเคมีในการย้อม  ใช้ใบไม้และสีจากธรรมชาติ ตอนนี้ถือว่าเพิ่งเริ่มทำ  ต้องปรับปรุงลวดลายให้สวยงามต่อไป”  แสงหล้า  ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลท่าวังทองบอก

ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านดอกบัวมีสมาชิกจำนวน 25 คน  สมาชิกช่วยกันลงหุ้นๆ ละ 100  บาท  อย่างน้อยคนละ 1 หุ้น  และออมเงินเข้ากลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์อีกเดือนละ 30  บาท  มีเงินทุนเริ่มต้นในการผลิตสินค้าประมาณ 20,000 บาท 

ส่วนสมาชิกที่มาช่วยทำงานจะมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายหรือหักต้นทุนออกแล้ว  จำนวน 40 %  แล้วนำมาเฉลี่ยกัน  หรือมีรายได้ประมาณวันละ 70-100 บาท  นอกจากนี้ยังให้ชาวบ้านเอาผลผลิตที่ปลูก  เช่น  พริก  ข่า  ตะไคร้  ฯลฯ  มาขายให้กลุ่มเพื่อทำเป็นน้ำพริก  หรือนำผักต่างๆ ที่ปลูกในครัวเรือน  เช่น  ผักสลัด  มะเขือ  ผลไม้  มาขายในยามที่กลุ่มไปออกร้านจำหน่ายสินค้า  ช่วยให้สมาชิกและชาวบ้านมีรายได้  มีงานทำ

ลวดลายที่ได้จากใบเพกา

พอช.ต่อยอดศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน

สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลท่าวังทองเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สนับสนุนให้ชุมชน  ตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ  สร้างเศรษฐกิจและทุนชุมชนขึ้นมา  โดยใช้ทุนภายในที่ตำบลมีอยู่  คือ  คน  ทรัพยากรธรรมชาติ  ผลผลิตที่มี  ภูมิปัญญา  ฯลฯ 

น้ำพริกต่างๆ ของกลุ่มแม่บ้านเทศบาลตำบลท่าวังทอง

เพื่อนำทุนเหล่านั้นมาผลิตเป็นสินค้า  หรือบริการต่างๆ  เช่น  การจัดการท่องเที่ยวในชุมชน   โดยมีเครื่องมือสำคัญ  คือ แผนธุรกิจเพื่อชุมชน’ หรือ ‘Community Business Model Cannas’  (CBMC)  เป็นการออกแบบจำลองแผนธุรกิจเพื่อชุมชน  ครอบคลุมเรื่องการผลิต  การแปรรูป การตลาด  เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายมาสนับสนุน  ฯลฯ  และพัฒนาเป็น ‘ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน’ เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้  รวบรวมและกระจายผลผลิตของชุมชนไปสู่ตลาด

ทั้งนี้การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน  ‘Community Business Model Cannas’   พอช.มีกระบวนการฝึกอบรมให้แก่ผู้นำชุมชน  กลุ่มอาชีพ  กลุ่มองค์กรต่างๆ  9 ขั้นตอน  คือ  1.การค้นหาจุดขาย  สร้างแบรนด์  2.ค้นหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย     3.การสื่อสารการตลาด  4.ปิดการขายและบริการหลังการขาย  5.ช่องทางเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต  6.แผนการดำเนินกิจกรรมหลัก (เพื่อบรรลุผลข้อ 5-4-3-2-1)  7.จากข้อ 6 อะไรที่ทำเองได้  8.จากข้อ 6 อะไรที่ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย  และข้อ 9.จากข้อ 6 ใช้เงินเท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการติดตามเสริมพลังหลังฝึกอบรมอีก 2 ขั้นตอน  คือ 1.การถอดบทเรียนหลังการอบรม ทบทวนการจัดทำแผนธุรกิจ CBMC 9 ขั้นตอน  2.การนำแผนธุรกิจ CBMC ไปปฏิบัติจริง  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  กระบวนการ  วิธีการ  การแก้ไขปัญหาอุปสรรคผ่านการปฏิบัติจริง  ฯลฯ 

ตั้งแต่ปี  2562  จนถึงปัจจุบัน  พอช. ได้สนับสนุนการฝึกอบรมและจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน  โดยมีพื้นที่ดำเนินการกว่า 1,129 ตำบล   มีผู้นำชุมชนได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถกว่า 1,200 คน  ใน 3 กลุ่มหลัก  คือ  กลุ่มการเกษตร  กลุ่มการแปรรูป-การตลาด  และกลุ่มการบริการ (ท่องเที่ยวโดยชุมชน)  มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวชุมชนมีอาชีพที่มั่นคง  มีรายได้ที่พอเพียง  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าขณะนี้การใช้เครื่องมือ CBMC เพื่อสนับสนุนชุมชนและพัฒนาไปสู่การเป็น ‘ศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน’  เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน  และยังไม่บรรลุเป้าหมายทั้งหมด... 

แต่อย่างน้อยๆ  ก็ทำให้สมาชิกและชาวบ้านในชุมชนได้มาพบปะ  มาทำงานร่วมกัน  ช่วยเหลือจุนเจือกัน  เสร็จจากงานแล้วก็มา ‘กิ๋นฮอม  ต๋อมม่วน’  เหมือนกับชาวบ้านที่ท่าวังทอง  จ.พะเยา  เป็นความสุขน้อยๆ  ในยามที่ผู้คนทั้งโลกต้องเผชิญกับโรคร้ายและสงครามที่ไม่พึงปรารถนา !!

สมาชิกศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชนเทศบาลตำบลท่าวังทอง  อ.เมือง  จ.พะเยา

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

พะเยา-เชียงราย-แพร่-น่าน จัด'วิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก' 4จังหวัด4สนาม

พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ผนึกกำลัง 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2  จัดใหญ่งานวิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก  กว่า 700 คนเหล็กเตรียมตบเท้าเข้าร่วม  4 จังหวัด 4 สนาม เริ่มสนามแรก วันที่ 30 พ.ย.-1  ธ.ค. 67  ที่จังหวัดพะเยา 

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

ถนนทรุดตัวยาวกว่า 100 เมตร เส้นรอยต่อ อำเภอเมืองพะเยา ถึงอำเภองาว จ.ลำปาง

ได้เกิดเหตุถนนทรุดตัวฝั่งขาเข้าจังหวัดพะเยา สถานที่เกิดเหตุถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 กิโลเมตรที่ 815 + 800 ถึงกิโลเมตรที่ 815 + 900 เมตร(ขาขึ้น)

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย