22 ปีโรงเรียนม่อนแสงดาว “การศึกษาที่กินได้ ทำได้ ค้าขายเป็น” ‘ม่อนแห่งความหวัง’ ของเด็กชนเผ่า-ด้อยโอกาสในภาคเหนือ

ห่างจากตัวเมืองเชียงรายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 27 กิโลเมตร  บนเส้นทางเชียงราย-เทิง  พื้นที่ตำบลดอยลาน  อ.เมือง  จ.เชียงราย  ม่อนแสงดาววิชชาลัยตั้งอยู่ที่นั่น  ท่ามกลางแมกไม้ใหญ่ครึ้มเขียวขจีและโอบล้อมของภูเขา  ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนานาชาติพันธุ์  หรือนานาชนเผ่า มิใช่ นานาชาติ แต่อย่างใด  เพราะนั่นหมายถึงโรงเรียนสำหรับลูกหลานคนมีเงิน

แต่สำหรับเด็กๆ ที่ม่อนแสงดาว  เขาและเธอมาจากครอบครัวที่ยากไร้  มาจากดอยสูง  มาจากครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง  เช่น  เมี่ยน  ลาหู่  ปกาเกอะญอ  ม้ง  อ่าข่า  ลีซู  ฯลฯ

เมื่อสองปีก่อน  มีเด็กไทใหญ่จากพม่าตามพ่อแม่เข้ามาทำงานรับจ้างที่เชียงราย  ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ  โรงเรียนม่อนแสงดาวจึงให้เด็กคนนี้เข้ามาเรียน  แต่เมื่อครอบครัวของเด็กต้องกลับไปทำธุระในพม่า  เด็กจึงต้องตามพ่อแม่กลับไปด้วย  แต่บังเอิญว่าช่วงนั้นเกิดโรคโควิดและมีสงครามในพม่า  มีการปิดชายแดน  เด็กและครอบครัวจึงต้องติดอยู่ที่นั่น  ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

ครูตั้ม หรือ เทวินฏฐ์  อัครศิลาชัย  ผู้อำนวยการโรงเรียน  บอกตัวอย่างเด็กด้อยโอกาสจากทั่วสารทิศที่โรงเรียนม่อนแสงดาวอ้าแขนรับ  โดยไม่ต้องเสียแป๊ะเจี๊ยะหรือใช้เส้นสายฝากฝังแต่อย่างใด

เด็กหญิงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บนดอยในจังหวัดเชียงราย  มีโอกาสได้เรียนต่อ  ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกชักจูงเข้าสู่วงจรธุรกิจทางเพศ

ม่อนแสงดาวที่ส่องสว่างในยามค่ำคืนที่มืดมน

โรงเรียนม่อนแสงดาว  หรือ ศูนย์การเรียนรู้ม่อนแสงดาววิชชาลัย ตามชื่อที่จดทะเบียนเป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขององค์กรเอกชนตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2542  เป็นส่วนหนึ่งของ สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดเชียงรายที่ทำงานสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน  ด้านชีวิตความเป็นอยู่  วิถีชีวิต   วัฒนธรรม  และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมานานหลายปี 

ครูตั้มได้เห็นปัญหาของเด็กเยาวชนบนดอยที่ห่างไกล  ครอบครัวที่ยากจน  เด็กๆ ที่ไร้สถานะ  ขาดการศึกษา  หรือไม่มีโอกาสได้เรียนต่อหลังจบชั้นประถมศึกษา  หากเป็นเด็กหญิงถ้าโชคดีไม่ถูกชักจูงเข้าสู่ธุรกิจบริการทางเพศ  พวกเธอก็คงจะแต่งงาน  มีครอบครัว  และผลิตความยากจนออกมาอีก 

ครูตั้ม (ขวาสุด) จบคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ปัจจุบันอายุ 60 ปี

หากเป็นเด็กชาย  ถ้าไม่ลงจากดอยเพื่อเป็นแรงงานราคาถูก  หรือพลัดหลงไปในเส้นทางที่ดำมืด  พวกเขาก็คงเติบโตเป็นชาวไร่อยู่บนดอย  มีลูกมีหลาน  มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น  ขาดโอกาส  ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก

นี่คงเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อมและครูตั้มจะขวนขวานหาทุนและผู้สนับสนุนเพื่อจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมารองรับเด็กๆ ที่ยากไร้  ขาดโอกาสทางการศึกษา !!

ช่วงที่เปิดโรงเรียนใหม่ๆ  ในปี 2542  ยังไม่มีชื่อโรงเรียน  โรงเรียนยังเป็นกระต๊อบ  เป็นโรงเรือนไม้ไผ่หลังคามุงแฝก  ไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้  เพราะตั้งอยู่ติดกับป่า  ติดภูเขา  ตอนกลางคืนก็จะมืด  เด็กๆ ต้องจุดตะเกียงใช้  มีอยู่คืนหนึ่ง  เป็นคืนเดือนมืด  แสงดาวส่องสว่างอยู่เหนือม่อน  เด็กๆ นั่งดูดวงดาวกัน  เด็กหญิงลาหู่คนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาว่า ครู...ทำไมดาวที่นี่จึงสวยจัง...บ้านหนูไม่เห็นสว่างแบบนี่เลย ผมได้ยินก็สะดุดใจ  จึงนำมาใช้เป็นชื่อโรงเรียน 

ครูตั้มบอกที่มาของ ‘ม่อนแสงดาว’  และขยายความว่า ม่อน ในภาษาเหนือหมายถึงยอดเขา  ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของที่ตั้งโรงเรียนแห่งนี้

และที่สำคัญก็คือ...เป็นม่อนที่มีแสงสว่าง  ส่องนำทางให้เด็กๆ  ได้ก้าวเดินออกจากชีวิตที่มืดมน...!!

บรรยากาศยามค่ำคืนที่ม่อนแสงดาว

การศึกษาที่กินได้  ทำได้  ค้าขายเป็น

ม่อนแสงดาววิชชาลัย  เปิดรับสมัครเด็กที่ด้อยโอกาสให้เข้าเรียนแบบอยู่ประจำ  ไม่เสียค่าใช้จ่าย  มีที่พักแยกชาย-หญิง  เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษา  รับเด็กที่จบชั้น ป.6 เข้าเรียนต่อชั้น ม.1  และจบชั้น ม.3 เรียนต่อมัธยมปลาย  แต่หลักสูตรการเรียนการสอนจะแตกต่างกับโรงเรียนมัธยมศึกษาในระบบ 

เพราะที่นี่มีปรัชญา  คือ การศึกษาที่กินได้  ทำได้  ค้าขายเป็นเป็นโรงเรียนมัธยมทางเลือกสัมมาชีพ ที่ยึดหลัก ‘5 . คือ  .1 ได้เรียน ตามสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน .2 ได้รู้เห็น อาชีพและสังคมโลกกว้าง .3 ได้ปฏิบัติจริง .4 ได้เงินระหว่างเรียน (ค้าขาย  ผลิตสินค้า) และ .5 ได้วุฒิการศึกษา 

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าโรงเรียนม่อนแสงดาวไม่ได้เน้นให้เด็กเรียนจบเพื่อไปสอบแข่งขันเรียนต่อในมหาวิทยาลัย  แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  มีเด็กจากม่อนแสงดาวไปเรียนต่อและจบระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายแล้วรายคน  บางคนเรียนต่อและทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล  บางคนจบออกมาแล้วไปค้าขาย  เป็นผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย  บางคนกลับไปเป็นผู้นำในชุมชน  เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 

เด็กๆ และครูช่วยกันทำนา  แต่ผลผลิตที่ยังไม่เพียงพอ  เพราะพื้นที่มีน้อย  ต้องอาศัยน้ำจากฟ้า

ส่วนการเรียนการสอน เป็นหลักสูตรการศึกษาในยุค 4.0 เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต  แบ่งเป็น 4 กลุ่มวิชาหลัก  คือ 1.กลุ่มสาระทักษะการเรียนรู้และวิชาการ (ภาษาไทย  อังกฤษ คณิตศาสตร์  คอมพิวเตอร์  การสื่อสารออนไลน์)       2.กลุ่มสาระสัมมาชีพ (ชาวนารุ่นใหม่  ช่างศิลป์  กุ๊ก  บาริสต้า ฯลฯ)  3.กลุ่มสาระสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมศึกษา  และ 4.กลุ่มสาระการดำรงชีวิตด้วยศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โดยเฉพาะการเรียนรู้กลุ่มสาระสัมมาชีพ  จะมีวิชาชีพ 5 อาชีพที่เด็กจะต้องได้เรียน  คือ 1.ชาวนาหรือเกษตรกรยุคใหม่ (Young Smart  Farmer) และเด็กที่นี่จะต้องลงมือทำนา  ปลูกผัก  เลี้ยงไก่ไข่  เลี้ยงปลา  เอาไว้เป็นอาหารด้วย  2.อาชีพช่างศิลป์  เขียนรูป  งานปั้น  ย้อมผ้า  3.อาชีพกุ๊กและบาริสต้า  4.อาชีพหมอสมุนไพร และแพทย์พื้นบ้าน  และ 5.อาชีพช่างทอผ้า และตัดเย็บ 

นอกจากนี้ยังมีการเรียนการสอนตามความสนใจของผู้เรียน  โดยเด็กจะต้องทำโครงงานขึ้นมาว่าอยากจะเรียนวิชาอะไรเป็นพิเศษ  เพื่อให้เด็กมีความรู้ติดตัว  สามารถใช้ประกอบอาชีพได้  ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในเมืองหรือกลับไปอยู่บนดอย เช่น  ช่างไฟฟ้า  ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง  หรือด้านเกษตร  เช่น  บางคนทำโครงงานเลี้ยงไก่ชน  บางคนทำเรื่องเลี้ยงกบ  โรงเรียนก็จะจัดหาวัสดุ  อุปกรณ์  หาครูมืออาชีพมาสอน ครูตั้มบอก 

ล่าสุดเด็กๆ อยากจะทำพิซซ่า  ครูอ้อย’ ภาวิกา  อัครศิลาชัย  ต้องไปศึกษาสูตรการทำพิซซ่าเพื่อมาสอนเด็ก  แต่ที่พิเศษกว่าพิซซ่าเจ้าดังก็คือ  เป็น ‘พิซซ่าอ่าข่า’ ใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นส่วนผสมทำแป้ง  ใช้ผัก ‘อู๋ชิ’ ที่ชาวอ่าข่านิยมกิน  นำมาโรยหน้า  มีหมูสับและผักต่างๆ  เป็นส่วนผสม  เช่น  พริกหวาน  สับปะรด   มีเตาอบดินที่เด็กๆ และครูช่วยกันทำขึ้นเอง  ใช้ท่อนฟืนที่หาได้รอบๆ โรงเรียน  เรียกว่า พิซซ่าอู๋ชิ 

เตาอบพิซซ่าและ ‘อู๋ชิพิซซ่า’ หอมควันฟืน  อร่อยด้วยการคิดค้นดัดแปลงส่วนผสม

พิซซ่าอ่าข่านี้เด็กๆ ไม่ได้ทำเล่นๆ  เหมือนเล่นขายของ  แต่ทำออกมาขายจริงในงาน กาดอ่าข่า ที่จัดขึ้นที่ม่อนแสงดาวเมื่อวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  เป็นการเปิดตลาดนัดเพื่อให้เด็กนักเรียนม่อนแสงดาวนำสินค้าที่ตัวเองผลิตมาจำหน่าย  มีพิซซ่าอู๋ชิ  หอมเตาดินและควันฟืน  ราคาถาดละ 119 บาท 

นอกจากนี้ยังมีผ้ามัดย้อมที่เด็กทำเอง  ตุ๊กตาดินเผา  ถ้วยกาแฟดินเผา  รวมทั้งสินค้าต่างๆ  เช่น  พืชผักอินทรีย์  ข้าวอินทรีย์  ฯลฯ  มีชาวบ้านละแวกใกล้เคียง  พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์  และเพื่อนพ้องพันธมิตรในเชียงรายมาซื้อขายและอุดหนุนกันอย่างคึกครื้น

เป็นการศึกษาที่กินได้  ทำได้  และฝึกให้เด็กค้าขายเป็น...

บรรยากาศตลาดอ่าข่า  เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา  ที่โรงเรียนม่อนแสงดาว

22 ปีบนเส้นทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส

ม่อนแสงดาวเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันดำเนินการมาได้ 22 ปี  มีเด็กที่เข้ามาเรียนและจบในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6)  รวมทั้งบางคนอาจได้เรียนในช่วงสั้นๆ  (เช่น  เด็กไทใหญ่ที่ต้องกลับประเทศพม่าพร้อมกับครอบครัวและยังติดค้างเพราะมีการปิดชายแดน) รวมแล้วประมาณ 300 คน  ถือเป็นจำนวนที่ไม่มาก เพราะโรงเรียนต้องดิ้นรนหาทุนมาดำเนินการเอง กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้อุดหนุนงบประมาณ 

ดังนั้นจำนวนนักเรียนบางปีก็อาจจะเปิดรับได้มากถึง  30-40 คน ขึ้นอยู่กับแหล่งทุนหรืองบประมาณสนับสนุน เฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกิน  3 มื้อ สำหรับนักเรียน 1 คนที่อยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอน ไม่ต่ำกว่าวันละ 50 บาท  เป็นการกินอยู่แบบประหยัด ใช้ผักที่ปลูก เช่น ผักบุ้ง  คะน้า  กะหล่ำปลี  ผักกาด  พริก  มะเขือ  หน่อไม้  ผลไม้  กล้วย  ลำไย  ลิ้นจี่  สัตว์เลี้ยง  ไก่ไข่  ปลา  ฯลฯ ทำอาหารกินร่วมกัน 

มีข้าวที่ปลูกในโรงเรียนแต่ยังไม่พอกิน  เพราะมีพื้นที่ทำนาเพียง 2 ไร่ ได้ข้าวเปลือกปีหนึ่งประมาณ 500 กิโลกรัม ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งอาหาร ข้าวสารที่ต้องซื้อเพิ่มเติม วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ไม่รวมเงินเดือนครู  ปีหนึ่งหลายแสนบาท

แปลงเกษตรอินทรีย์ทำให้เด็กได้เรียนรู้จริง  ผลผลิตที่ได้นำมาทำอาหาร  หากผลิตได้เหลือก็จะนำไปขาย

ปัจจุบันม่อนแสงดาววิชชาลัยมีเด็กที่เข้ามาเรียนและกินนอนประจำ 8 คน  มีครูทั้งหมด 5 คน  รวมทั้งครูตั้ม  ผู้อำนวยการโรงเรียนมาช่วยสอนเป็นบางวิชา  เป็นการสอนแบบองค์รวม  สอนแบบ Home Room ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้  เช่น  สอนให้รู้จักตัวเอง  รู้จักผู้อื่น  ทักษะการตัดสินใจ  การปรับตัว  วางแผนชีวิต ฯลฯ

หากมีข่าวสารสถานการณ์สำคัญ  เช่น  โควิด  ไฟป่า  การเมือง  ฯลฯ  ล่าสุดสงครามรัสเซียกับยูเครน  ครูตั้มจะชวนนักเรียนมาล้อมวงพูดคุย  วิเคราะห์ข่าวร่วมกัน  เพราะแม้เด็กจะได้รับข่าวสารจากโทรศัพท์มือถือ  แต่ข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลท่วมล้นหน้าจอก็ต้องนำมาแยกแยะ  ฝึกให้เด็กได้วิเคราะห์ข้อมูล  รับรู้สถานการณ์บ้านเมืองและโลก

ส่วนเด็กๆ นอกจากจะเรียนหนังสือตามหลักสูตรของโรงเรียนแล้ว  ยังมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน  เช่น  จัดเวรทำอาหารประจำวัน  ล้างจาน  ทำความสะอาดห้องพัก  ปลูกผัก  ปลูกข้าว  ซักเสื้อผ้า  ฯลฯ  เป็นการฝึกหน้าที่และความรับผิดชอบ  ฝึกทักษะการใช้ชีวิต  การทำงานเป็นหมู่คณะ

ขณะที่ครูทุกคนก็จะต้องร่วมลงแรง  ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ  รวมทั้งช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน  พื้นที่ที่ทำกิจกรรม  ไม่เว้นแม้แต่ครูตั้ม  บางครั้งก็ต้องมาช่วยเด็กๆ  เก็บกวาด  ทำความสะอาด  ดำรงตำแหน่งสูงสุดตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนจนถึงภารโรง !!

เด็กๆ ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่แม่น้ำ

จากโรงเรียนสู่ชุมชน...และฝันน้อยๆ ที่ม่อนแสงดาว

นอกจากกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวแล้ว  ครูตั้มยังพาเด็กๆ ม่อนแสงดาวไปเรียนรู้นอกห้องเรียน  โดยมีชาวบ้าน  ปราชญ์ชุมชน  กลุ่มอาชีพต่างๆ เป็นผู้สอน  เช่น  การทอผ้า  การมัดย้อม  การทำเกษตร  ฯลฯ  ตามโครงการ การพัฒนาอาชีพบนฐานชุมชน(ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา - กสศ.) 

ขณะเดียวกัน  ม่อนแสงดาวก็นำวิชาความรู้  นำครูไปสอนหรือแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้านด้วย  เช่น  การทำเกษตรยั่งยืน  เกษตรอินทรีย์  ปุ๋ยอินทรีย์  น้ำหมักชีวภาพ  ฯลฯ  รวมทั้งนำเด็กไปออกร้านจำหน่ายสินค้าร่วมกับชาวบ้าน  เช่น  แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร  อ.เมือง  จ.เชียงราย  เมื่ออกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  เพื่อให้เด็กนำสินค้าที่ตนผลิตไปค้าขายจริง

ณัฐพงศ์  นายคันตอง  (เจมส์) เชื้อชาติลาหู่  อายุ 17  อยู่ที่บ้านแม่ลาว  อำเภอเมือง  จ.เชียงราย  เรียนระดับชั้น ม.4  บอกว่า  ครอบครัวมีฐานะยากจน  พ่อแม่ทำงานรับจ้างทั่วไป    แม่รู้ข่าวว่าโรงเรียนม่อนแสงดาวเปิดรับนักเรียนจึงพามาสมัคร  เรียนที่นี่ได้ 4 ปีแล้ว  เรียนสนุกดี  มีอิสระ  ได้ทำโครงการต่างๆ เช่น  เลี้ยงกบ 200 ตัว ถ้าโตก็จะเอาไปขาย  และเอามาทำกับข้าวที่โรงเรียน

ตื่นเช้า 7 โมงผมก็จะทำกับข้าว ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวต้ม  บางคนก็จะทำความสะอาด  มีเวรสลับกันทำ  แล้วเรียนตามตารางสอน  ตอนเที่ยงจะเก็บผักมาทำกับข้าว  มีผักบุ้ง  ผักต่างๆ บางทีก็จับปลาในบ่อมาทำกินกัน  มีปลาดุก  ปลานิล  ถ้าจบ ม.6 แล้วคิดว่าจะกลับไปทำเกษตรที่บ้าน  เพราะชอบอาชีพนี้  ได้อยู่กับธรรมชาติ  อยากเอาความรู้เรื่องทำเกษตรอินทรีย์ไปทำนา  เลี้ยงไก่  เป็นเกษตรรุ่นใหม่  ไม่ใช้สารเคมี  หนุ่มน้อยลาหู่บอก

ภานพ เชฟเตาดินอบพิซซ่าอู๋ชิ  พิซซ่าอ่าข่าขายในงานกาดอ่าข่า

ภานพ  หม่อโป  (จัมโบ้) เชื้อชาติอ่าข่า  อายุ 18 ปี  อยู่ที่ดอยฮาง  อ.เมือง  จ.เชียงราย  บอกว่า  ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทั่วไป  มีรายได้น้อย  พ่อแม่จึงพามาเรียนที่นี่ตั้งแต่ชั้น ม.1   ปีนี้เรียนอยู่ชั้น ม. 5  

เรียนที่นี่ได้ทำอะไรหลายอย่าง  ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ  เช่น  ทำผ้ามัดย้อม  ทำเตาดินเผา  ทำเตาอบพิซซ่า  ได้ทำพิซซ่าอ่าข่าด้วย  แต่ชอบเกษตรมากกว่า  ตอนนี้กำลังทำโครงงานเลี้ยงกบร่วมกับเจมส์  คิดว่าถ้าจบ ม.6 แล้วจะกลับไปทำเกษตรที่บ้านเป็นอาชีพ  หาเงินช่วยพ่อแม่  จัมโบ้บอก

ครูตั้มเสริมว่า  แม้ว่าเด็กๆ จะไม่ได้เรียนต่อในระดับสูง  แต่ก็มีโอกาส  มีทางเลือกมากกว่าเด็กที่ได้เรียนเพียงแค่ชั้นประถม  และเด็กก็จะมีวิชาความรู้ติดตัว  มีอาชีพ  อาจจะเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่  ทำเกษตรอินทรีย์ที่ตลาดมีความต้องการ  บางคนอาจจะกลับไปช่วยทำงานพัฒนาชุมชน  เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรู้

ส่วนม่อนแสงดาวก็จะเดินหน้าต่อไป  และต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น  โดยเราจะเอาผลผลิตที่ปลูกรอบๆ โรงเรียน  เช่น  ลิ้นจี่  ลำไย   กาแฟ  องุ่น  สมุนไพร  ฟ้าทะลายโจร  เอามาแปรรูป  มีสินค้าอื่นๆ  เช่น  ผ้ามัดย้อม  เครื่องปั้นดินเผา  เอามาจำหน่าย  มีร้านกาแฟ  ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ  มีพิซซ่าอบเตาดินร้อนๆ  มีที่พักแบบฟาร์มสเตย์  เด็กๆ จะได้ฝึกทำอาหาร  ฝึกทำงานจริง  จบแล้วอาจกลับไปทำโฮมสเตย์  หรือทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนบนดอยก็ได้  ส่วนโรงเรียนก็จะมีรายได้มาดำเนินงานต่อไป  เพราะยังมีเด็กๆ ที่ขาดโอกาสในการเรียนต่ออีกมากมาย”  ครูตั้มบอกถึงแผนงานที่วางเอาไว้...

 เพื่อก้าวไปสู่ปีที่ 23  และปีต่อๆ ไป...เป็นม่อนแสงดาวที่มีแสงสว่าง  ส่องนำทางให้เด็กๆ  ได้ก้าวเดินออกจากชีวิตที่มืดมน !!

เด็กหญิงที่มีโอกาสได้เรียนต่อ  หลายรุ่น หลายร้อยคน  ไม่ต้องเข้าสู่วงจรธุรกิจบริการทางเพศ

(สอบถามข้อมูลและสนับสนุนม่อนแสงดาวได้ที่ เฟสบุคส์ : ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาววิชชาลัย)

ภาพ :  โดยม่อนแสงดาว                                                                               

เรื่อง : โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“คลองเปรมประชากร…บ้านสวย น้ำใส” ด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง ร.10

คลองเปรมประชากรเป็นหนึ่งในคลองสำคัญของกรุงเทพมหานครที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของเมือง

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง (2)

พวกเราได้รู้จักบ้านน้ำเชี่ยวจังหวัดตราดไปแล้ว ต้องบอกว่าเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งในด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัย 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ผนึกพลังทุกภาคส่วนสร้างบ้านเพื่อทุกคน เสนอรัฐหนุนเสริมบ้านโดยชุมชน ปลดล๊อกสิทธิที่ดินและระบบการเงิน สู่ความยั่งยืนมั่นคง

กทม. : วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนจาก 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ร่วมเสนอแนวทางการการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เปิดวงแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง