คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายกฎระเบียบ (Regulatory Policy Committee) ของ OECD เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และ OECD ได้รับหนังสือตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการดังกล่าวด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือและการพัฒนากฎหมายที่สำคัญเวทีหนึ่งของโลก ที่ผ่านมาสำนักงานฯ ได้มีการทำงานร่วมกับ OECD มาอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน โดยมีความเป็นมาเป็นไปของการดำเนินงานดังนี้
- สำนักงานฯ ได้นำคำแนะนำ เรื่อง การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายของ OECD (OECD Checklist for Regulatory Decision-Making) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้มีการคิดอย่างรอบคอบรอบด้านก่อนการจัดทำร่างกฎหมาย และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำบทตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย (Checklist) ประกอบร่างกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีด้วยทุกครั้ง
- สำนักงานฯ ได้นำหลัก Good Regulatory Practices ของ OECD มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย โดยเสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้นำหลักการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis: RIA) และหลักการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว (Ex post Evaluation of Regulation) เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและมีความ ทันสมัยซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนากฎหมายที่ดีของ OECD มาบัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗ และเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ สำนักงานฯ ได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ขึ้นเพื่อเป็นกลไกหลักในการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยทั้งก่อนการตรากฎหมายและการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วทุกรอบระยะเวลา ตลอดทั้งพัฒนาระบบกลางการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนไปพร้อม ๆ กันด้วย (www.law.go.th)
- ตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้โครงการ Country Program ที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการร่วมกับ OECD สำนักงานฯ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการย่อยด้านการปฏิรูประบบกฎหมายและดำเนินการตามหลักปฏิบัติเรื่องการมีกฎหมายที่ดี (Regulatory Reform and Good Regulatory Practices) และสำนักงานฯ ได้นำหลักปฏิบัติดังกล่าวมาพัฒนาเป็นแนวทางและคู่มือการดำเนินการตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 (สำนักงานฯ ได้ทำสรุปไว้ในวิดีโอคลิป https://youtu.be/yqmG5upSm5Q) รวมทั้งได้จัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านการมีกฎหมายและกฎระเบียบที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก OECD ร่วมให้ความรู้ด้วยในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งสำนักงานฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแล้วครั้งหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563
- จากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและการดำเนินการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องดังกล่าว OECD จึงได้เชิญให้สำนักงานฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการนโยบายกฎระเบียบ (Regulatory Policy Committee – RPC) ประเภท Participant ของ OECD เพื่อที่สำนักงานฯ จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแนวทางในการพัฒนากฎระเบียบที่ดีร่วมกันต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วย หากในโอกาสต่อไปไทยจะสมัครเป็นสมาชิกของ OECD ที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างของกฎหมายและกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ซึ่งนายกรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564
การเป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายกฎระเบียบของOECDจะส่งผลดีต่อการพัฒนากฎหมายไทยอย่างไร?
ประการแรก การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการนโยบายกฎระเบียบนั้นจะส่งผลให้ประเทศไทยมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของ OECD เกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานการมีกฎหมายที่ดีที่มีผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายด้านกฎหมายของประเทศสมาชิก OECD และประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิก OECD
ประการที่สอง การดำเนินการร่วมกับ OECD ในการพัฒนากฎหมายของประเทศไทยนั้นจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจาก OECD และสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะ นักลงทุนจากต่างประเทศเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลในการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเกี่ยวกับกฎหมายที่ดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นภาระเกินสมควร
ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจและสังคมเปิดที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งการค้าขาย การเคลื่อนย้ายประชากร และการติดต่อสื่อสารกับประเทศต่าง ๆ อย่างเสรี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและบริบทของสังคมโลกให้มากที่สุดเท่าที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างถูกต้องและเคร่งครัด การเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการ RPC เป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพกฎหมายไทยให้ทัดเทียมสากลเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย
ติดตามงานด้านการพัฒนากฎหมายของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้ทาง www.facebook.com/thailawreform และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทาง www.facebook.com /profile.php?id=100067378185076
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามุ่งมั่นที่จะพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“Better Regulation for Better Life”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘กนก’ สะท้อน ปัญหาความยุติธรรมโดยกฎหมาย บังคับใช้ กม.มากกว่าตัวบทของ กม.
ประเด็นที่เกิดคำถามต่อไป คือกฏหมายมุ่งเน้นบังคับไม่ให้คนกระทำผิด มากกว่าการทำให้คนกระทำผิดเป็นคนดี ใช่หรือไม่
๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ดร.ณัฏฐ์-นักกม.มหาชน ชี้ 'กฎอัยการศึก' สส.ไทยไม่สามารถยกเลิกได้ แตกต่างจากเกาหลีใต้
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน เผย กฎอัยการศึกสถานะเป็นพระราชบัญญัติ การยกเลิกในประเทศเกาหลีใต้กระทำโดยมติสภา แตกต่างจากประเทศไทย สส.ตัวแทนประชาชน ไม่สามารถยับยั้งยกเลิกได้
แห่หนุนร่างกฎหมาย 'จัดระเบียบกลาโหม' ฉบับเพื่อไทย ตัดท่ออำนาจเหล่าทัพสกัดยึดอำนาจ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ในส่วนของการรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน