คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะคีรี อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
จั๊กจั่นที่สวนลำไย
สภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป้าหมาย “พยุหะเมืองต้องแวะ” ควักทุนตัวเองไปศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชนตามภาคต่างๆ จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวในตำบล ล่าสุดตามไปดูชาวสวนลำไย ต.ปะตง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี จับ ‘จั๊กจั่น’ ขาย ทำรายได้เดือนละนับแสนบาท
“ปากก็พร่ำว่าต้องสร้างรูปธรรม แต่ไม่เห็นทำในตำบลของตัวเอง” พัชรินทร์ เกษสุวรรณ เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ บอกว่า ถ้อยคำแบบนี้เคยได้ยินคนในตำบลแอบค่อนขอดทีมงานสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ ดังนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมงานสภาองค์กรชุมชนจึงควักทุนตัวเองจัดทริปไปศึกษาการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ และล่าสุดตามไปดูชาวสวนลำไยตำบลปะตง อ.สอยดาว จ.จันทบุรีจับจั๊กจั่นขาย
ต้องขอบอกก่อนว่า ‘จั๊กจั่น’ ที่กำลังจะไปดูชาวบ้านจับนี้ไม่ใช่ ‘จั๊กจั่น อคัมย์ศิริ’ ดาราสาวนะจ๊ะ !! แต่เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชอบส่งเสียงร้องในช่วงฤดูผสมพันธุ์ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อนเช่นนี้
ส่วนหนึ่งของคณะศึกษาดูงานการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ
ชาวสวนลำไยเมืองจันท์พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ อ.พยุหะคีรี เดินทางจากนครสวรรค์ด้วยรถตู้ พร้อมด้วยโชเฟอร์คู่ใจ บ่ายหน้าสู่ชายแดนไทยด้านทิศตะวันออก ชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา โดยมีจุดหมายอยู่ที่ตำบลปะตง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไยแหล่งใหญ่ในภาคตะวันออก ตามที่ได้นัดหมายกับ ‘พี่นาจ’ ไกด์กิติมศักดิ์เอาไว้
พี่อำนาจ สังข์นาค (นั่งซ้าย)
‘พี่นาจ’ หรือ ‘อำนาจ สังข์นาค’ อายุ 55 ปี อาชีพทำสวนลำไย มีสวนลำไย 50 ไร่ พี่นาจเล่าว่า สวนลำไย ในตำบลปะตงมีจำนวนรวมกันหลายหมื่นไร่ ทำรายได้ให้คนในตำบลมานานหลายปี แต่เมื่อปลายปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงลำไยออกสู่ตลาด ชาวสวนต่างขาดทุนกันย่อยยับ โดยเฉพาะตนเองขาดทุนกว่าหนึ่งล้านบาท เพราะลำไยราคาตกต่ำ ด้วยเหตุที่ส่งออกนอกไม่สะดวกเพราะติดปัญหาโควิด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ยค่ายา แต่ยังโชคดีที่ในแต่ละปียังมีรายได้จากการจับจั๊กจั่นขาย เป็นรายได้ชดเชย ระดับแสนบาทต่อเดือน
ค่ำคืนนี้พี่นาจและทีมชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญจับจั๊กจั่น เช่น พี่ประมวล ฟักนาคิน หรือ ‘โอ่ง’ อายุ 53 ปี อาชีพทำสวนและขับรถโดยสารสองแถววิ่งจากสอยดาวไปเมืองจันท์ พี่ศักดิ์ดา ฟักนาคิน หรือ ‘เนส’ พาคณะสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะออกจับจั๊กจั่นเวลาประมาณ 19.00 น. โดยทั้งคณะตระเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับจั๊กจั่น เช่น ไฟฉายคาดหัว ถังใส่น้ำ ถุงตาข่าย ฯลฯ
จั๊กจั่นมีอายุสั้น เกิดแล้วแก่เลย
ตามคำบอกเล่าของพี่โอ่งผู้เชี่ยวชาญประจำหมู่บ้าน บอกว่า จั๊กจั่นมีอายุยาวถึง 18 ปี แต่มันจะโผล่ออกมาจากดินส่งเสียงร้องขับขานบทเพลงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเพื่อที่จะหาคู่ผสมพันธุ์ เมื่อจั๊กจั่นผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียจะวางไข่ไว้ใต้เปลือกไม้ และเมื่อวางไข่เสร็จ ตัวเมียก็จะหมดอายุขัยและตายลงในที่สุด ช่วงที่เป็นไข่ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน จากนั้นไข่ก็จะกลายสภาพเป็นตัวอ่อน และทิ้งตัวจากเปลือกไม้ลงไปฝังตัวอยู่ในดินและใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินเป็นเวลา 17-18 ปี
จั๊กจั่นและคราบที่ลอกแล้ว (ขวาล่าง) บางชนิดจะมีอายุยาวถึง 18 ปี
ส่วนข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกถึงวงจรชีวิตของจั๊กจั่นว่า ระยะไข่ ตัวเมียจะเจาะต้นไม้ให้เป็นรูเล็กๆ เพื่อวางไข่ เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อนจะร่วงลงสู่พื้นดิน ไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 4 เดือน ระยะตัวอ่อน จะอาศัยอยู่ในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตรถึงมากกว่า 2.5 เมตร ตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืช ตัวอ่อนใช้เวลาเติบโตประมาณ 4 - 6เดือน
ระยะตัวเต็มวัย เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่จะไต่ขึ้นมาบนลำต้นไม้เพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน ระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน วงจรชีวิตโดยรวมของจั๊กจั่นจะมีอายุประมาณ 2-5 ปี แต่มีจั๊กจั่นบางชนิดที่มีวงจรชีวิตยาวนานถึง 17 ปี จักจั่นตัวผู้สามารถทำเสียงได้ดังมาก มักส่งเสียงร้องในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน ส่วนตัวเมียไม่สามารถทำเสียงได้
จับจั๊กจั่นทำรายได้เดือนละนับแสนบาท
ที่สวนลำไยจะมีจั๊กจั่นมากมายมหาศาล ทุกๆ ปีจั๊กจั่นจะออกจากดินเพื่อมาลอกคราบในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ช่วงนี้แหละที่ชาวบ้านจะพากันออกจับจั๊กจั่น ระยะที่จับคือช่วงที่เป็นตัวอ่อนกำลังออกจากดิน พวกมันจะคลานขึ้นต้นลำไยกลายร่างเป็นดักแด้เพื่อลอกคราบ และช่วงที่ลอกคราบออกจากดักแด้แล้วแต่ตัวยังเป็นสีขาว ชาวบ้านเรียกว่า “นางฟ้า” แต่ช่วงชีวิตของนางฟ้าจะสั้นมาก ประมาณเวลา 19.00-21.00 น.เท่านั้น
นางฟ้าเพิ่งลอกคราบมีตัวสีขาว
ดังนั้นระยะเวลาการจับจั๊กจั่นที่เหมาะสมหรือเป็น ‘นาทีทอง’ ของนักจับจั๊กจั่นจะเป็นช่วงเวลานี้ เพราะหากเลยเวลานี้แล้ว จั๊กจั่นจะกลายเป็นตัวแก่ทั้งหมด เมื่อนำไปขายจะได้ราคาต่ำกว่านางฟ้า เมื่อจับตัวอ่อนและนางฟ้าได้แล้วคนจับจะนำมาใส่ในถังที่ใส่น้ำเอาไว้ เพื่อให้จักจั่นยังคงเป็นตัวสีขาวหรือยังเป็นนางฟ้าอยู่ หากไม่ทำเช่นนี้ จักจั่นจะกลายเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ราคาก็จะถูกลง
“วิธีการจับจะใช้ไฟฉายคาดหัวส่องดูตามลำต้นลำไย จะพบจั๊กจั่นทั้งตัวอ่อนและนางฟ้า รวมทั้งคราบที่ลอกทิ้งไว้ ส่วนจั๊กจั่นตัวแก่ ชาวบ้านจะใช้ไฟแบล็คไลท์เปิดล่อเพื่อให้จั๊กจั่นบินมาเล่นไฟ และชนกับผืนพลาสติกที่กางขึงเอาไว้ไว้ แล้วล่วงลงกะละมังใส่น้ำทำให้จับได้ง่าย” พี่โอ่งนักจับจั๊กจั่นมือหนึ่งบอกเคล็ดลับ
จั๊กจั่นเมื่อจับได้ในแต่ละคืนจะมีพ่อค้าในอำเภอมารับซื้อถึงหน้าบ้าน มีจุดนัดหมายซึ่งเป็นที่รู้กันระหว่างพ่อค้ากับชาวบ้าน ราคาซื้อขายจั๊กจั่นนางฟ้าสูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนตัวแก่ราคาจะย่อมเยาลงมา เพราะคนกินจะนิยมกินนางฟ้า เพราะตัวจะนุ่มมีความมันมากกว่าตัวแก่
จั๊กจั่นตัวแก่จะมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ
พ่อค้าเมื่อรับซื้อมาแล้วก็จะรวบรวมให้ได้จำนวนมากๆ แล้วบึ่งรถขึ้นไปขายส่งต่อที่ตลาดภาคอีสานซึ่งเป็นตลาดใหญ่ นักเปิบปลายทางนิยมกินจั๊กจั่นตัวเป็นๆ ราคาถ้าคิดเป็นตัวตกประมาณตัวละ 1 บาท
พ่อค้าบางรายอาจจะรับซื้อแล้วนำไปแช่แข็งเพื่อส่งขายได้ตลอดทั้งปี แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่านางฟ้า สามารถนำไปทำอาหารได้หลายชนิด เช่น ทอด คั่วเกลือ คั่วสมุนไพร ลาบ พล่า ยำ ตำน้ำพริก หรือใส่ในแกง เป็นอาหารโปรตีนสูง และได้รับความนิยมไม่ต่างจากจิ้งหรีด จิ้งโก่ง ตั๊กแตน ฯลฯ
พี่นาจ บอกว่า แม้ว่าจั๊กจั่นที่ตำบลปะตงปีหนึ่งจะมีให้จับแค่ปีละ 3 เดือน คือตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม และระยะเวลาจับก็เป็นช่วง 1 ทุ่ม-3 ทุ่ม แค่วันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
“แต่คนที่จับเก่งๆ จะได้คืนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม หรือมากกว่า ราคาขายกิโลกรัมละ 250 บาท หรือมีรายได้ประมาณวันละ 2,500 บาทขึ้นไป เดือนหนึ่งๆ จะได้ประมาณ 1 แสนบาท ในช่วง 3 เดือนจะมีรายได้ถึง 3 แสนบาท ถือเป็นรายได้ที่มาช่วยชาวสวนในช่วงโควิดได้ไม่น้อย” พี่อำนาจบอกทิ้งท้าย
คนพยุหะเดินหน้า “เมืองต้องแวะ”
ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครสวรรค์ไม่ถึง 30 กิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหลายแห่ง ในอดีตถือว่าเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟู โดยเฉพาะการค้าขายทางน้ำ เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือเมล์ลงไปกรุงเทพฯ มีตลาดริมน้ำ มีโรงสีใหญ่น้อยตั้งอยู่เรียงราย ที่รู้จักกันดีคือ ‘ท่าข้าวกำนันทรง’ แต่เมื่อมีการตัดถนนพหลโยธินผ่านอำเภอพยุหะเมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้คนหันไปเดินทางด้วยรถยนต์ การค้าขายทางน้ำจึงซบเซาลง พลอยทำให้เมืองพยุหะมีสถานะเป็น ‘ทางผ่าน’
พัชรินทร์ เกษสุวรรณ เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ บอกว่า เมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แกนนำในตำบลพยุหะพยายามจะรื้อฟื้นการท่องเที่ยวขึ้นมา เพราะในตำบลและอำเภอมีแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะและวัฒนหลายแห่ง แต่ทำได้ไม่นานก็เลิกไป เพราะขาดแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนจึงร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์รื้อการท่องเที่ยวขึ้นมา เป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนเมืองพยุหะจากทางผ่านให้เป็น ‘เมืองต้องแวะ’
จุดชมวิว ‘สันหลังมังกร’ บนเขาแก้ว มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลคดโค้งดั่งมังกรเลื้อย
ในปี 2564 สภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะเชื่อมต่อกับ ม.ราชภัฏนครสวรรค์ นำข้อมูลศักยภาพตำบลมาจัดทำเป็นโครงการ ‘1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย’ โดยใช้ข้อมูลทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำมาวางแผนเพื่อฟื้นฟูคุณค่าท้องถิ่น ส่งเสริมของดีของเด่นให้เมืองพยุหะเป็นที่รู้จัก เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวและคนที่เดินทางผ่านมา ‘ต้องแวะ’
เช่น ส่งเสริม ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีแห่ธงแดงขึ้นเขาแก้ว จัดอบรมนักเรียน 4 โรงเรียนให้เป็น ‘มัคคุเทศก์น้อย’ พัฒนากลุ่มสัมมาชีพในตำบลเพื่อเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ของฝาก พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การออกแบบ ส่งเสริมอาหารและขนมของท้องถิ่น ฯลฯ โดยเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้จัดงาน ‘ตลาดชุมชน ถนนวัฒนธรรม พยุหะต้องแวะ’ ที่ลานวัดอินทราราม มีการแสดงทางวัฒนธรรม มรดกชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหาร ขนม ของฝาก ฯลฯ
“การไปศึกษาดูงานการจับจั๊กจั่นที่จันทบุรี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้วิถีชุมชนนอกพื้นที่ เพราะที่นั่นทางราชการกำลังส่งเสริมให้ตำบลปะตง อำเภอสอยดาวเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน เราจึงไปศึกษาดูงานเพื่อให้คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะเกิดความคิดสร้างสรรค์ นำสิ่งดีๆ กลับมาประยุกต์ใช้ และออกแบบเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลพยุหะให้เหมาะสม มีความโดดเด่น” พัชรินทร์บอก
การจัดงาน ‘ตลาดชุมชน ถนนวัฒนธรรม พยุหะต้องแวะ’ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริเวณวัดอินทราราม
เธอบอกด้วยว่า คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลยังมีแผนไปศึกษาดูงานการจัดการท่องเที่ยวชุมชนที่มีความโดดเด่นทั่วทุกภาค เช่น บ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ อำเภอบ่อเกลือ จ.น่าน ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ฯลฯ รวมทั้งเตรียมจัดงานตลาดชุมชน ถนนวัฒนธรรมขึ้นอีกต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และทำให้ ‘พยุหะเป็นเมืองต้องแวะ’ ต่อไป…!!
หมายเหตุ : สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ปัจจุบันจัดตั้งแล้วประมาณ 7,800 แห่งทั่วประเทศ สภาฯ มีบทบาทเป็นพื้นที่กลางให้ชาวบ้านในตำบลมาปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาชุมชนหรือส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็น รมว.รักษาการ พ.ร.บ.ฉบับนี้
เรื่องและภาพโดย พัชรินทร์ เกษสุวรรณ เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ และสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
CP LAND รุกโครงการบ้านเดี่ยว ส่ง SŌLVANI ปูพรมภาคกลาง พิษณุโลก – นครสวรรค์ จับตลาดบน
CP LAND บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย เดินหน้าสานต่อบุกตลาดบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียมโซนภาคกลาง พิษณุโลก-นครสวรรค์
ชู 'อบจ.' ขับเคลื่อนงานฟื้นฟูสมรรถภาพ เชื่อมระบบฟื้นฟูกายใจชุมชนครบวงจร
สสส.ชวน อบจ.เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่ นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยชี้ระบบต้องเชื่อม ฟื้นฟู -กาย -ใจ ชุมชนให้ครบวงจร
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
'น้ำเจ้าพระยา' ขึ้นสูง! ผวาท่วมตลาด-สถานที่เที่ยวชื่อดัง
น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ลอดใต้พนังกั้นน้ำหน้าตลาดสรรพยา เทศบาลต้องเร่งสูบออก ป้องท่วมตลาดและโรงพัก ร.ศ.120 สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง