นวัตกรชุมชนคนรุ่นใหม่ชาวอ่าข่าผลิตสินค้าจากป่าสู่เมือง ไม่ใช่ขายของป่าแบบเดิม
ชาป่านอกจากจะนำมาชงดื่มแล้วยังนำมาผลิตเป็นแชมพูและเจลอาบน้ำ
เชียงราย/ ‘มหาวิทยาลัยอ่าข่า’ จังหวัดเชียงราย สร้าง ‘นวัตกรชุมชน’ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ผลิตสินค้าจากป่าสู่เมือง ขายทางออนไลน์ เช่น กาแฟ ชาป่า ‘ชาเลือดมังกร’ เจียวกู่หลาน ครีมอาบน้ำ แชมพู ฯลฯ พร้อมร่วมมือกับสถาบันการศึกษาวิจัยสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างมูลค่า นอกจากนี้ยังเปิด ‘อ่าข่าแดข่อง’ ลานวัฒนธรรมแสดงการละเล่น ดนตรี จำหน่ายสินค้า โชว์ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพร หมอพื้นบ้าน ฯลฯ เป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่สินค้า เปิดทุกวันเสาร์ต้นเดือนและปลายเดือนที่เมืองเชียงราย
อาทู่ ปอแฉ่ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยอ่าข่า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดผลกระทบไปทั่ว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีคนตกงาน การค้าขายไม่ดี พี่น้องชาวอ่าข่าที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน
“บางคนที่เคยทำงานอยู่ในเมืองต้องกลับไปอยู่บนดอย ทำไร่ ทำสวน เช่น ปลูกกาแฟ ชา เก็กฮวย เจียวกู่หลาน ฯลฯ มหาวิทยาลัยอ่าข่าจึงส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลผลิตเหล่านี้เพื่อเพิ่มมูลค่า จากเดิมที่ขายผลผลิตเป็นวัตถุดิบให้พ่อค้าหรือส่งขายโรงงานจะได้ราคาไม่กี่บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปขายเองทางตลาดออนไลน์จะสามารถเพิ่มราคาได้หลายเท่าตัว นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยอ่าข่ายังเปิดลานวัฒนธรรมเพื่อให้พี่น้องอ่าข่าและชนเผ่าต่างๆ นำสินค้าของตนมาวางขายด้วย เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้” อาทู่บอกถึงความเป็นมา
อาทู่ ปอแฉ่
เปิดลานวัฒนธรรม ‘อ่าข่าแดข่อง’ จำหน่ายสินค้า-ภูมิปัญญา
เขาบอกว่า ลานวัฒนธรรมอ่าข่าหรือ ‘อ่าข่าแดข่อง’ เริ่มเปิดตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา โดยจะเปิดทุกวันเสาร์แรกและเสาร์สุดท้ายของเดือน เริ่มตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ใช้สถานที่ที่ลานวัฒนธรรมมหาวิทยาอ่าข่า ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำกก (ดูเส้นทางได้ที่ google map ‘ลานอ่าข่า เชียงราย’ หรือโทร. 081-9522179)
ลานวัฒนธรรมอ่าข่าจะเปิดให้พี่น้องชาวอ่าข่า รวมทั้งพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ม้ง เมี่ยน ปกาเกอะญอ ลาหู่ ฯลฯ นำสินค้าชุมชนหรือสินค้าที่ผลิตในครอบครัวมาจำหน่าย เช่น พืชผลทางการเกษตร น้ำผึ้ง สมุนไพร อาหาร เสื้อผ้าชนเผ่า เครื่องประดับ เครื่องจักสาน รวมทั้งสินค้าจากคนรุ่นใหม่ที่มหาวิทยาลัยอ่าข่าเข้าไปส่งเสริม
นอกจากนี้ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรม ดนตรีชนเผ่า อาหาร ภูมิปัญญาพื้นบ้าน สมุนไพร การนวดแบบพื้นบ้าน แก้ปวดเมื่อย การอบตัวด้วยสมุนไพร เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวก ขับไล่เหงื่อและของเสียในร่างกาย ฯลฯ
พิธีโลชิงช้าเป็นประเพณีที่สำคัญพิธีหนึ่งในรอบปีของชาวอ่าข่า
อาทู่บอกด้วยว่า มหาวิทยาลัยอ่าข่าจดทะเบียนกับกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2555 ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า’ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาต่างๆ ของชาวอ่าข่า โดยเปิดให้บุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย เข้ามาเรียนรู้ ส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ เช่น หมอสมุนไพรหรือการแพทย์แบบอ่าข่า ร่วมกับสถาบันการศึกษาวิจัยสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการผลิตหรือแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวอ่าข่า ฯลฯ
“ภารกิจของมหาวิทยาลัย คือ 1. ศึกษา วิจัย รวบรวมความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม จารีต และความเชื่อต่างๆ ของชาวอ่าข่า 2.ใช้มิติวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน และ 3.เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ต่างๆ ของอ่าข่า ที่ผ่านมามีทั้งคนไทยและต่างประเทศที่สนใจด้านมานุษยวิทยา หรือเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่าเข้ามาทำการศึกษาวิจัยแล้วหลายคน” อาทู่แจงภารกิจของมหาวิทยาลัย
ชาวอ่าข่า (Akha) มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันชาวอ่าข่ามีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่บริเวณมณฑลยูนนานของจีน โดยเฉพาะแคว้นสิบสองปันนา นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในลาว พม่า เวียดนาม และไทย (คนไทยทางภาคเหนือเรียก “อีก้อ” ถือเป็นคำเหยียดหยาม) ในประเทศไทยมีชาวอ่าข่าทั้งหมดประมาณ 110,000 คน อาศัยอยู่มากในจังหวัดเชียงราย
ภูมิปัญญาจากคนเฒ่าคนแก่ ปราชญ์ชุมชน ถูกนำมารวบรวมไว้ในมหาวิทยาลัยอ่าข่า
หนุนคนอ่าข่ารุ่นใหม่ผลิตสินค้าจากป่าสู่เมือง
ชาวอ่าข่าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร เช่น ปลูกชา กาแฟ ข้าวโพด ข้าวไร่ ลำไย ลิ้นจี่ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคในครอบครัว และขายให้แก่พ่อค้า เช่น ชา กาแฟ แต่ได้ราคาไม่ดีนัก มหาวิทยาลัยอ่าข่าจึงสนับสนุนให้เกษตรกร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นำผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
พันธกร วจนนิรันดร ชาวอ่าข่า อายุ 42 ปี อยู่บ้านสองแควพัฒนา ตำบลแม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย บอกว่า เดิมทำงานด้านพัฒนาสังคมในเมืองเชียงรายมาก่อน แต่อยากจะทำธุรกิจส่วนตัว จึงลาออกจากงานเดิม แล้วมาทำกาแฟคั่วหม้อดินบรรจุถุงที่บ้าน ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ‘Home Coffee’ เริ่มทำตั้งแต่ปี 2560 จำหน่ายในเฟสบุ๊คส์เป็นหลัก โดยจะรับซื้อเมล็ดกาแฟอาราบิก้าอินทรีย์จากชาวบ้านแล้วนำมาคั่วในหม้อดิน ใช้เตาถ่าน เพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นกาแฟที่หอมควันฟืน
พันธกร ชาวอ่าข่ารุ่นใหม่ผลิตสินค้าจากป่าสู่เมือง
ตอนหลังจึงเริ่มทำสินค้าตัวอื่น เช่น ชาจากเปลือกกาแฟ น้ำผึ่งป่า 100 % Kombucha ‘คอมบุฉะ’ หรือน้ำชาหมักจากผลไม้ เช่น สับปะรด มีจุลินทรีย์และยีสต์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นเครื่องดื่มเพื่อคนรักสุขภาพ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย เด็กดื่มได้ผู้ใหญ่ดื่มดี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
“นอกจากนี้ยังมี ‘ชาเลือดมังกร’ นำมาชงดื่มเหมือนกับชาทั่วไป แต่จะได้น้ำชาที่มีสีแดงหรือชมพู จึงเรียกว่าชาเลือดมังกร มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ดื่มแล้วร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลาย สินค้าเหล่านี้จะขายทางออนไลน์ แต่เมื่อมีการเปิดลานอ่าข่าแดข่อง ลานวัฒนธรรมอ่าข่า เป็นการเพิ่มช่องทางการขาย ผมจึงนำสินค้าไปขายด้วย” พันธกรอธิบายสินค้าตัวใหม่
ชาเลือดมังกรมีสีแดงอมชมพู มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
ชาเลือดมังกร ชาวอ่าข่าเรียกว่า “ฉี่หว่อ” เป็นพืชล้มลุก มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ชอบขึ้นอยู่ในพื้นที่สูง อากาศเย็น ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ เมื่อชาอายุได้ 6 เดือนจึงเด็ดยอดใบเอามาทำชา โดยล้างน้ำทำความสะอาด ผึ่งลมให้แห้ง นำมาคั่วในกระทะเพื่อให้น้ำในใบชาระเหยออกไป
จากนั้นจึงนำมานวดด้วยมือเพื่อกระตุ้นใบชาให้คลายสรรพคุณออกมา แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท พร้อมบรรจุถุงจำหน่าย ขนาดบรรจุ 30 กรัม ราคาถุงละ 120 บาท ดื่มด้วยการนำใบชามาชงน้ำร้อนเหมือนชาทั่วไป แต่หากนำมาคั่วไฟอ่อนก่อนชงก็จะได้กลิ่นและรสชาติที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากผลิตสินค้าต่างๆ ดังกล่าวแล้ว พันธกรยังมีแผนเปิดที่พักแบบโฮมสเตย์ เพราะบ้านของเขาตั้งอยู่บนเนินติดกับลำห้วยที่ไหลมาจากดอยแม่ยาว มีแก่งหินสวยงาม โอบล้อมด้วยป่าไม้ อากาศเย็นสบายทั้งปี เหมาะแก่คนรักธรรมชาติและสุขภาพได้มาพักผ่อน กินอาหารอ่าข่าที่เน้นผักพื้นบ้าน ดื่มน้ำสมุนไพร ชา กาแฟอินทรีย์ ฯลฯ (ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/FromGreenMountain/)
Kombucha น้ำชาหมัก สินค้าอีกชนิดจากป่าสู่เมือง
สร้าง ‘นวัตกรชุมชน’ ต่อยอดงานวิจัยสมุนไพรท้องถิ่นผลิตสินค้า
นอกจากนี้ยังมีคนรุ่นใหม่ชาวอ่าข่าที่บ้านแสนใจพัฒนา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เช่น วลัยลักษณ์ เฌอมือ อายุ 35 ปี เรียนจบ ปวช.ด้านคหกรรมที่เชียงราย ผลิตชาป่าบรรจุถุง ใช้ชื่อแบนด์ ‘Akha Winny Tea’ เป็นชาป่าที่ปลูกแบบอินทรีย์ คั่วด้วยมือ ผลิตในครัวเรือน ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร
นำมาบรรจุถุงละ 100 กรัม ราคา 50 บาท จำหน่ายทางออนไลน์และที่ลานวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยอ่าข่า เดือนหนึ่งสามารถจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ถุง ทำให้มีรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท ไม่ต้องเข้าไปทำงานในเมือง แต่ได้อยู่กับครอบครัวบนดอยด้วยความสุข
วลัยลักษณ์สาวอ่าข่าคั่วชาแบบบ้านๆ ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักร
เจตวัฒน์ เสรีธรรมรัตน์ อายุ 36 ปี ชาวอ่าข่าบ้านแสนใจพัฒนา ผลิตกระชายดำตากแห้งบรรจุถุง และนำกระชายดำตากแห้งมาผสมกับสมุนไพรเจียวกู่หลาน เป็นชาชงดื่ม ใช้ชื่อว่า ‘ชาเทวา’ มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย เจริญอาหาร บรรจุถุงละ 50 กรัม จำหน่ายราคาถุงละ 70 บาท
เจียวกู่หลานเป็นพืชล้มลุก ขึ้นอยู่รอบๆ ดอย ที่บ้านแสนใจพัฒนาซึ่งอยู่บนดอยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตร เจียวกู่หลานจะขึ้นได้ดี พบเห็นได้ทั่วไป มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพ ช่วยรักษาโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ลดไขมันในเส้นเลือด ชาวจีนเรียกว่า "ซียันเช่า" ซึ่งมีความหมายว่าสมุนไพรแห่งชีวิตอมตะ ญี่ปุ่นเรียกว่า "อะมาซาซูรู" มีความหมายว่า “ชาหวานจากเถา”
การจัดงานที่ลานวัฒนธรรมอ่าข่าเป็นช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่สินค้าจากป่าสู่เมือง
อาทู่ ปอแฉ่ กล่าวเสริมว่า ชาป่าและชาเทวาเป็นผลผลิตจาก ‘โครงการวิจัยพืชสมุนไพรอาหาร 4 ธาตุ’ ที่มหาวิทยาลัยอ่าข่าได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการในปี 2563 โดยการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรในท้องถิ่นที่ชาวอ่าข่าใช้เป็นอาหารหรือใช้เป็นเครื่องดื่ม
เช่น ชาป่า เพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะหากเด็ดใบชาป่าเอามาขายเป็นใบชาสดให้แก่พ่อค้าหรือขายส่งเข้าโรงงานจะได้ราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 25 บาท แต่หากนำมาแปรรูปจะเพิ่มราคาได้อีกหลายเท่าตัว เช่น ชาป่าขนาด 100 กรัม ราคาขาย 50 บาท หรือกิโลกรัมละ 500 บาท
ชาป่าหรือ ‘ชาอ่าข่า’ ไม่ใช่ชาพันธุ์อัสสัม ชาอู่หลง หรือชาที่นำมาหมักเป็นใบเมี่ยง แต่เป็นชาที่เกิดและเติบโตตามธรรมชาติ มีลักษณะเด่นแตกต่างจากชาพันธุ์อื่นๆ คือ ใบอ่อนจะมีสีแดง เมื่อนำมาทำชาดื่ม จะมีรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อย หรือดื่มแล้วจะรู้สึกเปรี้ยวที่ปลายลิ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปี้กระเปร่า ชาวอ่าข่าเรียกชานี้ว่า “อ่าข่าล้อบ่อเน้” ส่วนชาทั่วไปจะมีใบอ่อนสีเขียว และไม่มีรสเปรี้ยว
“มหาวิทยาลัยอ่าข่าส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เป็นนวัตกรชุมชน เพื่อผลิตสินค้าหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ไม่ใช่ขายของป่าแบบเดิม นอกจากนี้เรายังร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงวิจัยประโยชน์ของชาป่า แล้วนำมาผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ออกจำหน่าย เช่น เจลอาบน้ำชาป่า แชมพูสระผมชาป่า ครีมบำรุงใบหน้าหรือครีมหน้าเด้ง มีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณ ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ และเรายังมีพืชและสมุนไพรอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น หอมแดงของอ่าข่า มะเดื่อป่า เมื่อสุกจะมีรสชาติหวานอร่อย มีกลิ่นหอม สามารถนำมาแปรรูปได้ และจะส่งเสริมให้มีการปลูกเพิ่ม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านต่อไป” อาทู่บอกทิ้งท้าย
หอมแดงอ่าข่าพืชสมุนไพรที่มีแผนจะศึกษาเพื่อนำมาสร้างมูลค่า
มะเดื่อป่า (คนละพันธุ์กับมะเดื่ออุทุมพร) ทางเหนือเรียก “มะเดื่อว้า” ผลสุกเนื้อหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม อร่อยกว่ามะเดื่อฝรั่ง
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต้นปี 'ดอกประทัดดอย' บานสะพรั่งบนดอยภาคเหนือ
กรมอุทยานฯ ชวนนักท่องเที่ยว สัมผัสความงดงามดอกประทัดดอย บานสะพรั่งรับต้นปี ที่จะพบได้บนดอยพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น
'วราวุธ' กำชับทีม พม. เชียงราย เยี่ยมให้กำลังใจ ครอบครัว น้องเหมย เหยื่อเครื่องบินตก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทางการเกาหลีใต้ยืนยันว่า มีผู้โดยสารคนไทย 2 คน เสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินของเกาหลีใต้
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต