ชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่าและธรรมชาติ (ภาพจากเชียงใหม่นิวส์)
“อ่อที กะตอที อ่อกอ กะตอก่อ” หรือ “ดื่มน้ำ ต้องรักษาน้ำ ได้กินจากป่า ต้องรักษาป่า” เป็นสุภาษิตคำสอนแบบสั้นๆ ง่ายๆ ของชาวกะเหรี่ยงที่พวกเขาสืบทอดและปฏิบัติกันมาช้านาน ผ่านบทเพลง ผ่านวิถีชีวิตจริง ไม่ใช่การท่องจำหรือพร่ำบ่นผ่านตัวหนังสือ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงใช้ชีวิตอยู่คู่ป่ามาได้เนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าความทันสมัยจากโลกภายนอกจะโอบล้อมพวกเขาเอาไว้ทุกทิศทุกทางแล้วก็ตาม !!
ปรัชญาจากบ้านหนองเต่า
บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่นี่เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงหรือ ‘ปกาเกอะญอ’ (มีความหมายว่า ‘คน’) มีประมาณ 200 ครอบครัว ประชากรราว 900 คน บ้านหนองเต่ามีผู้นำที่มีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์ผืนดินผืนป่าและต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพวกเขามายาวนาน ซึ่งในแวดวงนักพัฒนาและขบวนประชาชนภาคเหนือรู้จักกันดี นั่นคือ ‘พะตีจอนิ โอ่โดเชา’ ซึ่งถือเป็นปราชญ์แห่งขุนเขาและชาวปกาเกอะญอ
โรงเรียนที่ไม่มีหลังคาของชาวหนองเต่า โดยมีพะตีจอนิเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ (ภาพจากเฟสบุคส์ Lazy Man Coffee)
พะตีจอนิ (พะตีแปลว่าลุง) เริ่มงานอนุรักษ์ป่าตั้งแต่ปี 2516 นอกจากนี้ลุงจอนิยังมีบทบาทในการรวบรวมเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ 13 กลุ่มจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลรักษาป่าไม้และทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ เป็นแกนนำในการบวชป่า 50 ล้านต้นในปี 2538 (เนื่องในวโรกาสในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชสมบัติเป็นปีที่ 50) จัดตั้งธนาคารข้าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ 100 องค์กร ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำวางจำนวน 40 หมู่บ้าน ฯลฯ
จากการทุ่มเทการทำงานตลอดช่วงชีวิต ลุงจอนิจึงได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ มีผู้มาศึกษาเรียนรู้จากลุงจอนิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมากมาย ในปี 2542 คำบอกเล่าเรื่องการดูแลรักษาดิน น้ำ ป่า ตามความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอของลุงได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ ‘ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์’ (เรียบเรียงโดยกรรณิการ์ พรมเสาร์ และคณะ)
ชาวญี่ปุ่นสนใจแนวคิดและปรัชญาของลุงจอนิ นำมาตีพิมพ์พร้อมจัดทำเป็น DVD ออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้
ในปี 2555 ลุงจอนิได้รับปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารงานภาครัฐและเอกชนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ โดย ม.แม่โจ้ระบุผลงานตอนหนึ่งของลุงจอนิว่า “ลุงจอนิเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของบรรพบุรุษชาวปกาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนจนเป็นที่ประจักษ์”
ขณะที่ลุงจอนิบอกสิ่งที่แกทำว่า “โลกนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว ฉะนั้น คนกินน้ำก็ต้องรักษาน้ำ คนกินข้าวต้องรู้จักต้นข้าว คนอยู่ป่าก็ต้องดูแลป่า คนกินสรรพสิ่งก็ต้องดูแลสรรพสิ่ง”
‘Lazy Man’ ผลผลิตจากสวนของคนขี้เกียจ
แม้ว่าในวันนี้ลุงจอนิ (หรือที่ถูกควรจะเรียก ‘ปู่จอนิ’ เพราะวัยเฉียด 80) แทบจะวางมือจากแวดวงการอนุรักษ์และพัฒนาแล้ว เพราะลุงปล่อยให้ลูกหลานสืบทอดภารกิจนี้แทน โดยเฉพาะการดูแล ‘สวนของคนขี้เกียจ’ แต่ก็ยังมีผู้คนและหน่วยงานต่างๆ มาปรึกษาหารือ หรือมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย
ลุงจอนิในวัยเกือบ 80 ปี ยังแข็งแรง เล่าเรื่องราวต่างๆ ได้สนุกสนาน
‘ศิวกร โอ่โดเชา’ หรือ ‘แซวะ’ ลูกชายคนเล็กของลุงจอนิ บอกว่า สวนของคนขี้เกียจมีจุดเริ่มมาจากพ่อเมื่อราวปี 2522 เพราะก่อนหน้านั้นประมาณปี 2515 ทางราชการเข้ามาส่งเสริมให้ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านหนองเต่าและหมู่บ้านใกล้เคียงปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งขาย เช่น กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผักกาดแก้ว เพราะตลาดต้องการ แต่ก็ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ใส่ยาฆ่าแมลง เพื่อให้พืชผักที่ปลูกโตไว ผลผลิตสวยงาม ขายได้ราคา พ่อจึงใช้ที่ดินที่มีอยู่ 8 ไร่ทำตามการส่งเสริมของทางราชการ
“แต่ยิ่งทำไปยิ่งมีหนี้สิน เพราะต้องกู้เงินมาซื้อปุ๋ย ซื้อยา สุขภาพก็ทรุดโทรมเพราะพืชพวกนี้ต้องปลูกและดูแลตลอดทั้งปี ต้องฉีดพ่นยาทั้งปีเหมือนกัน ไม่งั้นแมลงจะมากิน แต่พ่อก็ต้องทนทำไปเพื่อใช้หนี้” แซวะบอก
เมื่อได้บทสรุปว่า พืชผักที่ทางราชการเข้ามาส่งเสริมนั้น ทำให้เกิดหนี้สินและส่งผลร้ายต่อสุขภาพ พ่อจึงหยุดปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืชเชิงเดี่ยวเหล่านั้น แล้วหันกลับมาทบทวนวิถีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ นั่นคือการทำไร่หมุนเวียน !!
การทำไร่หมุนเวียนคือการปลูกข้าวหรือพืชไร่สลับกัน จากแปลงนั้นไปแปลงนี้ เพื่อให้ดินได้ฟื้นตัว กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี และไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอยหรือบุกเบิกทำลายป่าไปเรื่อยๆ เช่น ปีนี้ปลูกข้าวในที่ดินแปลงนี้ พอปีต่อไปก็จะเปลี่ยนไปปลูกในแปลงถัดไป หมุนเวียนไป พอครบรอบหรือประมาณ 7 ปีก็จะหมุนเวียนกลับมาปลูกในแปลงเดิม เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ
ด้วยแนวคิดนี้ พ่อจึงปล่อยให้ที่ดิน 8 ไร่ที่เคยปรุพรุนไปด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์และสารเคมีกลับมาฟื้นตัว ด้วยการปล่อยให้ที่ดินทั้งหมดรกร้าง ให้ธรรมชาติดูแล ไม่ถาง ไม่เผา จนเพื่อนบ้าน แม้กระทั่งแม่ยังบ่นว่า “พ่อขี้เกียจ” เพราะเห็นว่าพ่อไม่ยอมทำสวน ปล่อยให้หญ้าและไม้ต่างๆ ขึ้นคลุมดิน แต่นานวัน...นานปีเข้า ต้นไม้ตามธรรมชาติเริ่มเติบโต นก หนู ไก่ป่า สัตว์เล็ก สัตว์น้อยเข้ามาอยู่อาศัย เพราะผืนดินเริ่มฟื้นตัว…
แซวะ (นั่งขวาสุด) กับชาวญี่ปุ่นที่มาศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรแบบคนขี้เกียจ และช่วยเปิดตลาดกาแฟจากบ้านหนองเต่าไปญี่ปุ่น
“พอดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ พ่อจึงเริ่มปลูกพืชผักต่างๆ แบ่งที่ดินออกเป็นสามแปลง แปลงหนึ่งปลูกพืชระยะสั้น เอาไว้กิน เช่น ฟักทอง ถั่ว แตงกวา มะเขือ หวาย หน่อไม้ พริก ข่า ตะไคร้ ที่เหลือก็จะขาย แปลงที่สองปลูกพืชระยะยาว เป็นไม้ผล ปลูกผสมกันไป เช่น อะโวคาโด้ พลับ สาลี่ บ๊วย กาแฟ ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ เช่น ฟาง ขี้วัว ขี้ควาย เอามาหมักทำปุ๋ย ผลผลิตนำมาขายเป็นรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ส่วนแปลงที่สามปล่อยให้เป็นป่าธรรมชาติ” แซวะบอกถึงผลผลิตจากสวนของคนขี้เกียจ
ปัจจุบันสวนของคนขี้เกียจมีแซวะและครอบครัวเป็นผู้ดูแล ปลูกพืชแบบผสมผสานในที่ดิน 8 ไร่ แม้แต่ในสวนหลังบ้านและที่ว่างรอบๆ บ้านก็ยังมีพืชผลที่กินได้ เพียงใช้ไม้สอยหรือเอื้อมมือปลิดลงมาก็ได้กินแล้ว เช่น มะหลอดหรือหมากหลอด ต๋าวหรือลูกชิด ไม่นับกล้วยหลายชนิด มะเฟือง อะโวคาโด้ พลับ และกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกแซมอยู่ใต้ร่มไม้ในสวนหลังบ้าน เป็นกาแฟอินทรีย์ มีผลผลิตประมาณปีละ 2 ตัน ส่วนใหญ่ส่งเป็นกาแฟสาร (กาแฟดิบตากแห้งที่สีเอาเปลือกออกแล้วแต่ยังไม่ได้คั่ว) ส่งขายที่ญี่ปุ่น โดยรวบรวมผลผลิตจากสวนของคนขี้เกียจและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์บ้านหนองเต่าไปจำหน่าย
บางส่วนนำมาคั่วบรรจุถุงขายเอง ใช้ชื่อว่า ‘Lazy Man Coffee’ จำหน่ายทางเฟสบุคส์ Lazy Man Coffee และวางจำหน่ายที่บ้านหนองเต่า เป็นกาแฟคั่วใหม่ พร้อมดริปสดๆ ร้อนๆ ให้ผู้มาเยือนได้จิบกาแฟอินทรีย์หอมกรุ่น แกล้มบรรยากาศขุนเขาและแมกไม้
แซวะกับผลผลิตจากสวนคนขี้เกียจ มีโลโก้เป็นชายขี้เกียจที่รอให้มะม่วงสุกหล่นใส่ปาก ซึ่งมีที่มาจากนิทานเรื่องชายขี้เกียจของชาวปกาเกอะญอ
พลังท้องถิ่นแก้ไขปัญหาที่ดินและไฟป่า
บ้านหนองเต่าเป็น 1 ใน 19 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตปกครองของ อบต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ในจำนวนนี้เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ รวม 13 หมู่บ้าน มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ น้ำแม่วาง (ไหลลงแม่น้ำปิง) มีต้นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกับดอยอินทนนท์
แซวะ บอกว่า คำสอนของชาวปกาเกอะญอ “อ่อที กะตอที อ่อกอ กะตอก่อ” หรือ “ดื่มน้ำ ต้องรักษาน้ำ ได้กินจากป่า ต้องรักษาป่า” เป็นเหมือนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขายึดถือและปฏิบัติมาเนิ่นนาน ผ่านพิธีกรรมต่างๆ เช่น มีการบวชป่าเพื่อรักษาป่าและพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่วาง ประกอบด้วยคณะกรรมการมาจากชาวบ้านหมู่ต่างๆ มีการตั้งกฎ กติกาในการดูแลป่าร่วมกัน
เช่น ห้ามตัดไม้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ห้ามเผา ถาง มีการกำหนดพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เก็บเห็ด สมุนไพร ลูกก่อ หน่อไม้ กำหนดเขตป่าใช้สอย สามารถนำไม้มาใช้ประโยชน์ เช่น สร้างบ้านได้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ และต้องปลูกต้นไม้ทดแทน
ท้องนาบ้านหนองเต่าหลังเก็บเกี่ยว มองเห็นดอยอินทนนท์อยู่ลิบๆ
ช่วยกันทำแนวกันไฟทุกปี ลาดตระเวนดูแลป่า ป้องกันไฟป่า การลักลอบจุดไฟเพื่อล่าสัตว์หรือหาเห็ด เพราะหากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควันส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ต้นไม้น้อยใหญ่ถูกเผาไหม้ทำลาย สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อยู่ในดิน รวมทั้งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ก็จะมอดไหม้ไปด้วย
“คนปกาเกอะญอถือว่าที่ดินไม่ใช่ของใคร ป่าไม่ใช่ของใคร เราเป็นผู้มาขอใช้ ไม่ได้ยึดเป็นกรรมสิทธิ์ เหมือนกับการทำไร่หมุนเวียน พอทำแล้วเราก็คืนให้ธรรมชาติ ครบ 7 ปีก็มาทำใหม่ หรือใครจะมาทำก็ได้ ไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร แต่มันขัดแย้งกับกฎหมาย ขัดแย้งกับหลักกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดปัญหา เกิดความขัดแย้งกัน” แซวะบอก
เกศริน ตุ่นแก้ว นายก อบต.แม่วิน บอกว่า อบต.แม่วินมีเขตการปกครองทั้งหมด 19 หมู่บ้าน ประมาณ 3,000 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 12,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวปกาเกอะญอ 13 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร มีปัญหาสำคัญคือเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า แม้ว่าชาวบ้านจะตั้งรกรากอยู่อาศัยกันมานานนับร้อยปี เช่น บ้านหนองเต่า ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอ จากการสืบค้นรากเหง้าพบว่า ชาวบ้านหนองเต่าอยู่อาศัยสืบต่อกันมานานประมาณ 300 ปี
เกศริน ตุ่นแก้ว นายก อบต.แม่วิน
อบต.แม่วินจึงได้แก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยใช้อำนาจของ อบต. และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ฯลฯ รวมทั้งจัดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นของชาวแม่วินในเดือนธันวาคม 2557 จนนำไปสู่การออกข้อบัญญัติ อบต.แม่วิน เรื่อง ‘การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ.2560’เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560
“ผลจากการออกข้อบัญญัติของ อบต.นำไปสู่การออก ‘หนังสือทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินตำบลแม่วิน’ ให้แก่ชาวบ้านในตำบลเป็นรายครัวเรือน เป็นการรับรองสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน และเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านโดนเจ้าหน้าที่จับกุมเรื่องการบุกรุกป่า แม้ว่าหนังสือที่ออกนี้จะไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายที่ดิน แต่ก็เป็นหลักฐานว่าชาวบ้านได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงไหน เนื้อที่เท่าไหร่ รวมทั้งเพื่อป้องกันการขยายพื้นที่เพิ่มด้วย” นายกฯ อบต.บอก
หนังสือประวัติการใช้ที่ดินรายครัวเรือน โดยการสำรวจที่ดิน ภายในเล่มจะแสดงชื่อผู้ครอบครองและทำแผนที่แสดงอาณาเขตที่ดินแต่ละแปลง
นอกจากนี้ข้อบัญญัติดังกล่าวยังมีกฎระเบียบที่สำคัญ เช่น 1.ห้ามเปลี่ยนมือ ซื้อขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก หากฝ่าฝืนจะถูกยึดที่ดินเป็นของส่วนรวม 2.ห้ามขยายพื้นที่ออกนอกเขตที่ระบุเอาไว้ 3.ที่ดินสืบทอดการครอบครองให้แก่ทายาทโดยธรรม 4.การใช้ประโยชน์ที่ดินต้องอยู่ภายใต้หลักการของความยั่งยืน 5.การเปลี่ยนการถือครอง การเช่าที่ดิน ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมตำบลแม่วิน ฯลฯ
ขณะที่ เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ในฐานะที่ทำงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชาวบ้านหนองเต่ามายาวนานเสริมว่า ชาวบ้านหนองเต่าถือว่าเป็นนักต่อสู้ เพราะแต่เดิมในพื้นที่มีการแย่งชิงทรัพยากร มีการทำไม้เถื่อน เก็บหาของป่าแบบทำลายล้าง แต่ได้มีคนหนุ่มสาวปกาเกอะญอลุกขึ้นมาต่อสู้ รื้อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมขึ้นมา มีการรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น ดูแลรักษาป่าต้นน้ำแม่วาง จากบ้านหนองเต่าหมู่บ้านเดียว ขยายเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำแม่วาง จนมีสมาชิก 13 หมู่บ้าน และร่วมกันทำแนวกันไฟป่าตั้งแต่ปี 2540
“ส่วน อบต.แม่วินก็มีบทบาทในการหนุนเสริมชาวบ้าน ไม่ใช่จะทำถนนอย่างเดียว มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ ได้ทำงานสัมพันธ์กับชาวบ้านหนองเต่ามานาน เห็นว่าชาวบ้านมีทรัพยากรบุคคล มีผู้นำ เมื่อมี อบต.สนับสนุน ทำให้เกิดพลังของท้องถิ่น เป็นการระเบิดจากข้างในอย่างแท้จริง” เดโชบอกทิ้งท้าย
เดโช (ซ้าย) มาเยี่ยมเยียนลุงจอนิ
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ ช่วยหาเสียงนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' คึกมั่นใจชนะล้านเปอร์เซ็นต์
'ทักษิณ' ถึงเชียงใหม่ 'เจ๊แดง-สมชาย-พิชัย' ต้อนรับ แวะกินก๋วยเตี๋ยวร้านมิชเชอร์ลิน 7 ปีซ้อน ก่อนช่วงเย็นขึ้นปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. 'สว.ก๊อง' ลั่นมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต