พอช.สรรหาผู้อำนวยการสถาบันคนใหม่ เปิดรับสมัคร 14 ก.พ. - 4 มี.ค.นี้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สรรหาผู้อำนวยการสถาบันคนใหม่แทน ผอ.คนเก่าที่หมดวาระ  เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจมีคุณสมบัติเหมาะสมระหว่างวันที่ 14 ก.พ.- 4 มีนาคมนี้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543  ปัจจุบัน พอช. ย่างเข้าสู่ปีที่ 22  มีวิสัยทัศน์ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) คือ   “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”

‘พอช.’ ยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม  มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของ พอช.  คือ  1.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ  การพัฒนาอาชีพ  การเพิ่มรายได้  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการและหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ  ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม

2.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน  3.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน   ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  และ 4.ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น  ระดับจังหวัด  และระดับประเทศ

อำนาจหน้าที่ของสถาบัน  1.ประสานงานการพัฒนาองค์กรชุมชนของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้าถึงชุมชนตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง  2.ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับองค์กรชุมชนและการพัฒนาองค์กรชุมชน  3.ส่งเสริมและแนะนำให้องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนมีบทบาทที่เหมาะสมในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น  รวมถึงการพัฒนากิจกรรมในเชิงธุรกิจ  4.รับรองสถานภาพการเป็นองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากกิจการที่อยู่ในอำนาจของสถาบัน  5.ให้สินเชื่อแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน  ฯลฯ

บ้านที่มากกว่าคำว่า “บ้าน”

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา  เช่น  สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท  ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  คนไร้บ้าน  สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน  โดยยึดหลักให้ชุมชนและผู้ที่มีความเดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัย “แนวใหม่”   โดยให้ชุมชนและผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลัก  และมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา  พอช.และภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุน

การพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและเปรมประชากร   เปลี่ยนจากชุมชนรุกล้ำลำคลองให้อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย   รัฐบาลสามารถสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม   ขณะที่ชุมชนมีที่อยู่อาศัยใหม่  มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น  พอช.ยังสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ  พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนทุกมิติ  เช่น  การส่งเสริมอาชีพ  รายได้  พัฒนาคุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  จัดการขยะ  น้ำเน่าเสีย  ฯลฯ  เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกมิติ  มิใช่เฉพาะด้านกายภาพ  “แต่เป็นบ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน”

การพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าวนี้   พอช.ดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และรัฐบาล  มีเป้าหมายประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน  มีวิสัยทัศน์คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”

ชาวบ้านที่อำเภอห้วยคต  จ.อุทัยธานี  ช่วยกันลงแรงสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ที่มีความเดือดร้อน

ชุมชนสู้ภัยโควิด-19

นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ในประเทศไทย  ตั้งแต่ปี 2563  พอช.ได้สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนในเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  ได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ  การเฝ้าระวัง  การดูแลสมาชิกในชุมชน  การจัดทำศูนย์พักคอยในชุมชน  ส่งเสริมอาชีพ  สร้างแหล่งอาหาร  แจกจ่ายอาหาร  สิ่งของจำเป็นให้แก่กลุ่มเสี่ยง  ครอบครัวเปราะบาง  ผู้ได้รับผลกระทบ  ฯลฯ

โดยโควิดระยะที่ 1 (ปี 2563) พอช. อนุมัติงบประมาณ 144.25 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนให้แก่เครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง จำนวน  300 ชุมชน  และเครือข่ายบ้านมั่นคงในชนบท 1,500 ชุมชน

โควิดระยะที่ 3  (ปี 2564) อนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 สู่การเข้าถึงชุมชนบุกรุก  ชุมชนที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ  ครอบคลุมทั้งเขต/เมืองในกรุงเทพฯ  ปทุมธานี  นนทบุรี  และสมุทรปราการ  ระดับเครือข่ายเมือง 63 พื้นที่  และระดับชุมชน 737 พื้นที่ 

พอช.ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาคและแพทย์ชนบท  ตรวจคัดกรองเชื้อโควิดให้แก่ชาวชุมชนช่วงโควิดปี 2564 ที่ พอช.

นอกจากภารกิจของ พอช.ในสถานการณ์ร้ายแรงดังกล่าวแล้ว  พอช.ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกหลายด้านที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับชุมชน  ท้องถิ่น  และภาคีเครือข่าย  เช่น  ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  เพื่อให้ชุมชนมีกองทุนในการดูแลสมาชิกในชุมชน  ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย  ส่งเสริมอาชีพ  การศึกษา  ดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น  ฯลฯ 

ส่งเสริมการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  เพื่อให้ชุมชนมีเวทีกลางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น  สร้างประชาธิปไตยจากฐานรากอย่างแท้จริง  ฯลฯ

พอช. เปิดสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ 

เนื่องด้วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  คนล่าสุด  คือนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา  คณะกรรมการสถาบันจึงได้เปิดสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ตามระเบียบที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบัน พ.ศ.2543  คือ

มาตรา 24 ให้สถาบันมีผู้อำนวยการคนหนึ่ง  คณะกรรมการเป็นผู้มีอํานาจสรรหา  แต่งตั้ง  และถอดถอนผู้อํานวยการ  หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้อํานวยการให้เป็นไปตามข้อกําหนดของคณะกรรมการ

เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต  เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่พอช.

มาตรา 25 ผู้อํานวยการต้องเป็นผู้สามารถทํางานให้แก่สถาบันได้เต็มเวลาและต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย (2) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการแต่งตั้ง (3) มีความรู้  ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมในการบริหารกิจการของสถาบันตามวัตถุประสงค์และอํานาจหน้าที่ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 (4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 15 (3) (4) (5) หรือ (6)

มาตรา 26  ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี  และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้  แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา 28  ผู้อํานวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมาย  วัตถุประสงค์  และอํานาจหน้าที่ของสถาบัน  ระเบียบ  ข้อบังคับ  ข้อกําหนด   นโยบาย  ประกาศ  และมติของคณะกรรมการและเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตําแหน่ง  เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในตามมาตรา 36  วรรคสอง  รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) เสนอเป้าหมาย แผนงาน  และโครงการต่อคณะกรรมการเพื่อให้การดําเนินงานของสถาบันบรรลุวัตถุประสงค์

(2) เสนอรายงานประจําปีเกี่ยวกับผลการดําเนินงานต่าง ๆ ของสถาบัน   รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี  ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

(3) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดําเนินงานของสถาบันให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อคณะกรรมการ

ทั้งนี้ข้อห้ามตามมาตรา 15  เช่น  ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย  คนไร้ความสามารถ   หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ   ไม่เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก  เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  ไม่เป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง   สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  กรรมการหรือผู้ดํารงตําแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง   ที่ปรึกษาพรรคการเมือง  หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง  ฯลฯ

ผู้ที่สนใจและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เลขที่ 912  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โทร. 0  2378  8300  ต่อ 8382

 

 

เรื่องและภาพ  โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา