ชาวศรีถ้อยร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ
“เมื่อก่อนน้ำไม่ค่อยพอใช้ ทำสวนกาแฟได้ผลผลิตแค่ไร่ละ 1 ตัน พอทำฝายแล้วทำให้มีน้ำใช้ กาแฟเพิ่มเป็นไร่ละ 2 ตัน ลิ้นจี่เมื่อก่อนได้ประมาณไร่ละ 500 กิโลฯ เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น 1 ตัน ผลก็ไม่แตก ขายได้ราคาดี” สมสิทธิ์ แซ่จ๋าว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านปางปูเลาะ เทศบาลตำบลศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา บอกถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว หลังจากที่ชาวศรีถ้อยช่วยกันทำฝาย ‘เพื่อชีวิต’ หรือฝายชะลอน้ำขึ้นมา
อำเภอแม่ใจ เป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ปลูกประมาณ 12,000 ไร่ ผลผลิตประมาณปีละ 6,000 ตัน ทำรายได้ให้เกษตรกรปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่เทศบาลตำบลศรีถ้อย อ.แม่ใจ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกลิ้นจี่ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบเชิงเขาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติดอยหลวง เพราะมีแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่ใจ และมีลำห้วยหลายสายที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำในเขตอุทยานฯ ทำให้ชาวสวนลิ้นจี่มีน้ำใช้ตลอดปี
ประกอบกับสภาพอากาศที่ชุ่มชื้นหนาวเย็นเพราะอยู่ติดกับเขตป่าเขา ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ลิ้นจี่จากศรีถ้อยมีคุณภาพดี มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่จะปลูกพันธุ์ฮงฮวย เนื้อหวาน กรอบ กลิ่นหอม รสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด ราคารับซื้อหน้าสวนในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25-26 บาท หากเป็นลิ้นจี่เกรดส่งออก (ห่อผล) ราคาจะสูงประมาณกิโลกรัมละ 50-70 บาท ทำรายได้ให้เกษตรกรศรีถ้อยรวมกันประมาณปีละ 30 ล้านบาท
แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ภูมิอากาศของโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะความแห้งแล้ง ปริมาณฝนลดลง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั่วประเทศ ชาวสวนที่ตำบลศรีถ้อยก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน เพราะน้ำในลำห้วยแห้งขอด เกิดการแย่งชิงน้ำ คนที่อยู่ต้นน้ำใกล้ลำห้วยก็จะสูบน้ำเอาไปใช้ก่อน คนที่อยู่ท้ายน้ำก็จะขาดแคลน ส่งผลให้ลิ้นจี่ไม่ได้คุณภาพ ลูกเล็ก ผิวแตก ขายไม่ได้ราคา
สวนลิ้นจี่ในเขตเทศบาลตำบลศรีถ้อยจะเริ่มสุกและออกสู่ตลาดประมาณปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคมทุกปี แต่หากฝนแล้งหรือขาดน้ำจะทำให้ผลปริแตก
กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ “ไม่ได้ช่วยแค่เกิด แก่ เจ็บ ตาย”
ประทีป ภาชนนท์ เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย เล่าว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ก่อตั้งในปี 2553 มีสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 480 คน (ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,800 คน เงินกองทุน 2.3 ล้านบาท) จัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกเหมือนกับกองทุนฯ ทั่วไป เช่น มอบเงินช่วยเหลือสมาชิกในยามคลอดบุตร ทุนการศึกษาเด็ก ยามเจ็บป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เสียชีวิต ฯลฯ
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย มอบทุนการศึกษา ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,800 คน มีเงินกองทุนประมาณ 2.3 ล้านบาท
นอกจากนี้กองทุนยังมีสวัสดิการช่วยเหลือที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านหรือส่วนรวม เป็นสวัสดิการระยะยาว เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง เพราะน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร
“ในช่วงปี 2559 เกิดปัญหาโลกร้อน ฝนตกน้อย เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้รับผลกระทบเหมือนกัน คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการจึงประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และมีการส่งตัวแทนไปศึกษาดูงานการจัดการน้ำ เช่นที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ (ในพระบรมราชูปถัมภ์) หลังจากกลับมาเราจึงนำความรู้ต่างๆ มาใช้ เช่น การปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ การทำฝายชะลอน้ำ” ประทีปบอกถึงสวัสดิการของกองทุนฯ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน
เขาบอกว่า ปัญหาเรื่องน้ำในเขตเทศบาลตำบลศรีถ้อยมีมานานแล้ว เช่น หากปีไหนฝนตกมาก น้ำจากลำห้วยจะไหลลงอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ แต่อ่างที่มีอยู่ก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ น้ำจะไหลล้นลงไปยังพื้นที่ที่ต่ำกว่า ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งกระแสน้ำจากลำห้วยจะพัดพาตะกอนหิน ดิน ทราย เศษซากไม้ ฯลฯ ไปสะสมรวมกัน ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน
แต่ปีไหนที่ฝนตกน้อย น้ำในลำห้วยที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำก็จะมีปริมาณน้อย ทำให้ชาวสวนลิ้นจี่ (รวมทั้งชาวสวนที่ปลูกกาแฟ แคนตาลูป) เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้ผลผลิตเสียหายหรือไม่ได้คุณภาพ เช่น ดอกลิ้นจี่ที่ออกแล้วจะร่วง ไม่ติดผล หรือติดผลแต่มีลูกเล็ก มีรสเปรี้ยว ผิวเปลือกแตก ฯลฯ ชาวสวนลิ้นจี่ต้องขาดรายได้ บางรายต้องขาดทุน ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา
ฝายชะลอน้ำสร้างด้วยก้อนหินในลำห้วย ไม่ต้องใช้วัสดุอื่น ทำให้ประหยัดงบประมาณ
ส่วนประโยชน์ของการก่อสร้างฝายชะลอน้ำนั้น มีมากมายหลายประการ เช่น 1.ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ทำให้น้ำซึมลงไปใต้ดิน จากเดิมที่ฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว 2. ชะลอความแรงของน้ำ ช่วยลดการกัดเซาะตลิ่ง 3.ช่วยดักตะกอนแม่น้ำ กิ่งไม้ เศษไม้ ดิน หิน โคลน ทราย ทำให้ลำน้ำหลังฝายตื้นเขินช้าลง 4.ช่วยเก็บกักน้ำ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นบริเวณฝายและพื้นที่เหนือฝาย ช่วยป้องกันไฟป่า
5.เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เช่น ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำนา ทำสวน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย 7.เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน มีเห็ด หน่อไม้ สมุนไพร บนพื้นที่ริมตลิ่ง ริมห้วย 8.เก็บความชุ่มชื้น เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน ใช้ประโยชน์ในการทำประปาหมู่บ้าน ฯลฯ
‘ฝายเพื่อชีวิต’ รวมพลังชุมชนท้องถิ่นสร้างฝาย 300 ลูก
การสร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วยที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำบนสันปันน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2545 ชาวบ้านปางปูเลาะหมู่ที่ 13 ซึ่งเป็นชาวเย้า หรือ ‘เมี่ยน’ ได้ช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมาก่อนแล้ว
สมสิทธิ์ แซ่จ๋าว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านปางปูเลาะ บอกว่า ชาวบ้านช่วยกันสร้างฝายในลำห้วยหกที่ไหลมาจากดอยหลวง โดยใช้ไม้นำมาปักขวางกั้นลำห้วย ใช้ดิน หิน และปูนซีเมนต์มาเสริมความแข็งแกร่งเพื่อต้านทานกระแสน้ำ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานาน เรียกว่า “ฝายแม้ว” เพราะมีที่มาจากชาวม้ง (ชาวบ้านเรียก “แม้ว”) ที่คิดค้นสร้างฝายชนิดนี้ขึ้นมาก่อน
สายัณห์ โยธา คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘คนสร้างฝาย’ บอกว่า ประสบการณ์สร้างฝายของชาวบ้านปางปูเลาะ และการไปศึกษาเรียนรู้ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ในปี 2559 นำมาสู่การจัดตั้งกลุ่ม ‘คนสร้างฝาย’ ขึ้นมาในปี 2560 โดยมีสมาชิกมาจากชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ในเขตเทศบาลตำบลศรีถ้อยเข้าร่วม
เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย สภาเด็กและเยาวชน ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลศรีถ้อย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ฯลฯ ร่วมกันสร้างฝายในลำห้วยที่ไหลมาจากดอยหลวงหลายสาย โดยใช้ก้อนหินในลำห้วยนำมาเรียงกันซ้อนกันเป็นแนวขวางกั้นลำห้วย เมื่อน้ำไหลผ่านฝายหินจะช่วยชะลอน้ำ
ชาวบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ดอยหลวงทำฝายหินในช่วงฤดูแล้งปี 2562
“ตอนแรกก็มีปัญหากับอุทยานฯ ดอยหลวง เพราะพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและลำห้วยที่จะสร้างฝายอยู่ในเขตอุทยานฯ มีกฎหมายและข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ห้ามเคลื่อนย้ายก้อนหินที่จะนำมาทำฝาย ห้ามบุกรุกเขตอุทยานฯ กลุ่มคนสร้างฝายและเทศบาลตำบลศรีถ้อยจึงไปพูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ จนเข้าใจ เพราะฝายที่สร้างจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แก้ความเดือดร้อน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น ถือว่าเป็นฝายเพื่อชีวิต ตอนนี้สร้างไปแล้วประมาณ 300 ลูก” ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคนสร้างฝายบอก
สังเวียน ชัยทิพย์ ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย บอกว่า สภาองค์กรชุมชนฯ มีบาทในการเป็นเวทีกลางนำปัญหาต่างๆ ในตำบลมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง สภาฯ จึงได้เข้ามาร่วมกับกลุ่มคนสร้างฝายและเทศบาลตำบลศรีถ้อยเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น จัดประชุมผู้นำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องการสร้างฝาย เรื่องการปลูกป่าต้นน้ำ ดูแลต้นน้ำ และระดมชาวบ้านมาช่วยกันสร้างฝาย
ดาบตำรวจเทพสงวน ปันสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีถ้อย บอกว่า เทศบาลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยการจัดทำผังน้ำในตำบล เพื่อให้รู้เส้นทางการไหลของแหล่งน้ำ จากต้นน้ำ-กลางน้ำ-และปลายน้ำ พื้นที่รับประโยชน์ ฯลฯ จากนั้นจึงเชิญผู้นำในตำบล ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนฯ ปราชญ์ชุมชน มาประชุมเพื่อวางแผนร่วมกันแก้ไขปัญหา
ดาบตำรวจเทพสงวน ปันสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีถ้อย
มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์บริหารการจัดการน้ำ’ (มีนายกฯ เป็นประธาน) เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน นำไปสู่การสร้างฝายชะลอน้ำหลายสาย เช่น ห้วยเคียน ห้วยแม่ใจ ความยาวรวมประมาณ 10 กิโลเมตร รวมฝายที่สร้างตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันประมาณ 300 ฝาย/ลูก
“เทศบาลตำบลศรีถ้อยมีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 4,000 คน เป็นพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ปลูกประมาณ 6,700 ไร่ เมื่อก่อนมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ บางปีน้ำก็ท่วม ทำให้ชาวสวนลิ้นจี่ได้รับความเสียหาย แต่ช่วงหลังมานี้เมื่อมีการสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว ปัญหาความเสียหายก็น้อยลง ชาวสวนสามารถผลิตลิ้นจี่ได้มีคุณภาพ ได้ราคาดี แต่ในพื้นที่ยังมีเกษตรกรที่ทำนา ทำสวนกาแฟ ปลูกแคนตาลูป ซึ่งมีความต้องการน้ำเช่นกัน เทศบาลก็จะต้องร่วมกับชุมชนแก้ไขปัญหานี้ต่อไป” นายกเทศมนตรี บอกถึงการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่จบ
สวนลิ้นจี่ที่ศรีถ้อยทำรายได้ให้เกษตรกรประมาณปีละ 30 ล้านบาท
‘คนสร้างฝาย’ คว้ารางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
สายัณห์ โยธา ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘คนสร้างฝาย’ กล่าวเสริมว่า หากจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้เต็มพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลศรีถ้อยจะต้องสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ 200-300 ลูก รวมทั้งจะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยชมภูที่มีอยู่เป็นอ่างขนาดเล็ก ไม่เพียงพอต่อเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งกลุ่มคนสร้างฝายได้เสนอให้เทศบาลตำบลศรีถ้อยบรรจุแผนการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืนเอาไว้แล้ว
ส่วนความรู้และประสบการณ์ในการสร้างฝายนั้น สายัณห์บอกว่า จุดที่จะนำก้อนหินมาเรียงเพื่อสร้างฝายจะต้องเลือกบริเวณลำห้วยที่มีความแคบและไม่มีความโค้ง เพราะหากลำห้วยกว้างจะต้องใช้ก้อนหินจำนวนมาก หากมีความโค้งกระแสน้ำจะไหลแรง อาจทำให้ฝายพังได้ง่าย ต้องมีต้นไม้ มีรากไม้ช่วยยึดหน้าดิน มีดินและหินยึดตลิ่งทั้ง 2 ฝั่ง จากนั้นจึงนำก้อนหินที่หาได้ในลำห้วยมาวางเรียงซ้อนกันให้มีความแน่นหนา วางให้สูงเหนือระดับน้ำในลำห้วย ฝายแต่ละลูกควรห่างกันไม่เกิน 10 เมตร
สมาชิกกลุ่มโครงการไทยสามัคคีร่วมสร้างฝายเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“ปีหนึ่งเราจะทำฝายประมาณ 3 ครั้ง จะทำในช่วงหน้าแล้ง เพราะน้ำในลำห้วยมีน้อย ถ้าน้ำมีมากจะทำลำบาก ทำครั้งหนึ่งจะมีชาวบ้านกลุ่มต่างๆ มาช่วยกันประมาณวันละ 40-50 คน หมุนเวียนกันไป วันหนึ่งจะทำได้ประมาณ 20-30 ลูก แล้วแต่สภาพพื้นที่ว่ามีความยากง่ายแค่ไหน บางครั้งมีคนมาช่วยวันละเกือบ 100 คน” ผู้แทนกลุ่มคนสร้างฝายบอก
เชาบอกด้วยว่า ข้อดีของฝายหินคือไม่ต้องซื้อวัสดุ เพราะใช้หินในลำห้วย ไม่เสียค่าแรง เพราะชาวบ้านมาช่วยกันทำ บางทีก็ห่อข้าวจากบ้านมากินกันเอง ตอนหลังกองทุนสวัสดิการเอาเงินมาช่วยเพื่อเป็นค่าอาหารครั้งละ 2,000 บาท”
ประทีป ภาชนนท์ เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย บอกว่า การจัดประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นทั่วประเทศ ‘รางวัลสรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิดของ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์’ ในปี 2562 กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อยได้ส่งผลงานด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติเข้าประกวด โดยมีผลงานเด่นด้านการสร้างฝายชะลอน้ำ การฟื้นฟูและดูแลป่าต้นน้ำ เพื่อให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ และชาวบ้านในตำบลมีน้ำในการทำเกษตร มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนประเภทต่างๆ เข้ารับรางวัลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562
“ถือเป็นการสร้างฝายเพื่อชีวิต เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชาวชุมชนในระยะยาว ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อยได้รับรางวัลด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะการจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติจากการประกวดกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศในปี 2562” เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา บอกด้วยความภูมิใจ..........
ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลศรีถ้อยร่วมกันสร้างเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นี่คือตัวอย่างความร่วมมือ ร่วมใจของชาวศรีถ้อย สร้างฝายเพื่อชีวิต เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน..!!
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
พะเยา-เชียงราย-แพร่-น่าน จัด'วิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก' 4จังหวัด4สนาม
พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ผนึกกำลัง 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จัดใหญ่งานวิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก กว่า 700 คนเหล็กเตรียมตบเท้าเข้าร่วม 4 จังหวัด 4 สนาม เริ่มสนามแรก วันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค. 67 ที่จังหวัดพะเยา
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
ถนนทรุดตัวยาวกว่า 100 เมตร เส้นรอยต่อ อำเภอเมืองพะเยา ถึงอำเภองาว จ.ลำปาง
ได้เกิดเหตุถนนทรุดตัวฝั่งขาเข้าจังหวัดพะเยา สถานที่เกิดเหตุถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1 กิโลเมตรที่ 815 + 800 ถึงกิโลเมตรที่ 815 + 900 เมตร(ขาขึ้น)
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย