นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวง พม. (นั่งกลางเสื้อฟ้า) ร่วมเวทีนำเสนอผลงานวิจัย
กรุงเทพฯ / พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีนำเสนอผลวิจัย เรื่อง ‘การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง’ ใน 5 พื้นที่ เชียงใหม่ ชัยนาท มหาสารคาม ปราจีนบุรี และสตูล เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้นำไปส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) ระหว่างเวลา 9.30-12.00 น. ที่โรงแรมเดอะพันธุ์ทิพย์โฮเทล เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีนำเสนอ ‘ผลการศึกษาวิจัยพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ’ มีผู้เข้าร่วมในเวทีจำนวน 30 คน และร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom ประมาณ 80 คน มีนายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวง พม. เป็นประธานในการจัดงาน
นายปฏิภาณ จุมผา ร่วมประชุมผ่านซูม
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า งานวิจัยในครั้งนี้มีความสำคัญมาก ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ลงไปศึกษาพื้นที่จากชีวิตจริงทั้ง 5 พื้นที่ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และเป็นผู้กล้าแห่งยุค สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ต้องขอขอบคุณ สกสว.ที่ได้จัดส่งงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้กับกระทรวง พม. เปิดโอกาสให้ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมให้มีการปฏิบัติการศึกษาพื้นที่ที่จะเป็นทิศทางของขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เพื่อจะนำไปสร้างองค์ความรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตัวเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้ต่อไป
นายธนสุนทร สว่างสาลี
นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวง พม. กล่าวมอบนโยบาย “การวิจัยกับการพัฒนาสู่ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง” มีใจความสรุปว่า ถ้าเรามีพื้นฐานงานวิจัยรองรับ เราทำโครงการกิจกรรมจากการหาข้อมูลจากพี่น้องประชาชน มีนักวิจัยจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วย ความน่าเชื่อถือจะได้รับการยอมรับมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้
ผู้เข้าร่วมเวทีนำเสนอผลการศึกษาวิจัย
5 พื้นที่ต้นแบบ เชียงใหม่ มหาสารคาม ชัยนาท ปราจีนบุรี สตูล
การศึกษาวิจัยพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ ดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยมีนางสาวสุธิดา บัวสุขเกษม เป็นหัวหน้าโครงการ นักวิจัยหลัก ประกอบด้วย นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง นางสาวนพรัตน์ พาทีทิน ดร.โอฬาร อ่องฬะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ นายนาวิน โสภาภูมิ และคณะนักวิจัยร่วมจากชาวบ้านในพื้นที่
ส่วนพื้นที่วิจัย 5 จังหวัด คือ 1.เชียงใหม่ ศึกษาการก่อรูปและปฏิบัติการของสภาลมหายใจเชียงใหม่ และพื้นที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง 2.มหาสารคาม ศึกษาในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร และพื้นที่ตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม 3.จังหวัดชัยนาท ศึกษาเรื่องการจัดการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่าน “นักจัดการข้อมูลชุมชน” และพื้นที่ตำบลโพงามและตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี
การจัดประชุมศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่ตำบลเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี
4.ปราจีนบุรี ศึกษาเรื่องการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี และ 5.สตูล ศึกษาการใช้สภาองค์กรชุมชนและการสร้างพื้นที่กลางในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และพื้นที่ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า
คณะผู้วิจัยได้ใช้แนวทางในการศึกษาในลักษณะแบบผสมผสาน ระหว่างการวิจัยในเชิงคุณภาพกับการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการวิจัยเชิงปริมาณได้ใช้เครื่องมือ ‘แบบสอบถามเพื่อศึกษาความคิดเห็นต่อชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง’ มีกลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 676 ราย ใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป และความคิดเห็นต่อความเข้มแข็งของชุมชน โดยสอบถามความคิดเห็นต่อความเข้มแข็งของชุมชนใน 6 ด้าน คือ ด้านคนมีคุณภาพ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านคุณภาพชีวิต ด้านความสามารถในการปรับตัว ด้านองค์กรชุมชน และด้านความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาคี
ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อที่สำคัญ คือ 1.เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานของพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ และ 2. เพื่อศึกษาองค์ประกอบที่สำคัญต่อการดำเนินงานอย่างบูรณาการของพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง
การจัดประชุมศึกษาวิจัยในพื้นที่ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
6 ประเด็นร่วมพลังชุมชนท้องถิ่น
จากการศึกษาของคณะวิจัยในพื้นที่ 5 จังหวัด นำมาสู่กระบวนการสังเคราะห์บทเรียนจากเงื่อนไขของพื้นที่ต่าง ๆ โดยพบว่า การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยการดำเนินงานอย่างบูรณาการ มีประเด็นร่วมสำคัญที่สามารถสะท้อนให้เห็นพลังของการทำงานของชุมชนท้องถิ่น 6 ประเด็นที่สำคัญ คือ
1.การมีจินตภาพร่วมของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นรวมถึงเครือข่ายชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น ที่ตำบลดงใหญ่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ชาวบ้านในตำบลได้ใช้ประโยชน์จาก ‘ป่าดงใหญ่’ เพื่อเป็นแหล่งอาหารมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการบุกรุก แผ้วถางป่า ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ผู้นำชุมชนกลุ่มหนึ่งจึงชักชวนชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาปกป้องป่า มีการกำหนดกฎระเบียบข้อห้าม มีการดูแลป่าร่วมกัน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน จนทำให้ป่าฟื้นตัวขึ้นมา
2.กลไกการขับเคลื่อน ตัวอย่างเช่น กรณีการต่อสู้เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือกันของผู้นำในท้องถิ่น เช่น อบต.เขาไม้แก้ว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะครูโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว รพ.สต. และเกิดผู้นำรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนขึ้นมา นำไปสู่การจัดตั้งกลไกองค์กรชุมชนแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาในตำบล และส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนาในหลายมิติ
การจัดเวทีศึกษาวิจัยเกษตรอินทรีย์ที่เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี
3.การมีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น การดำเนินงานของ “นักจัดการข้อมูลชุมชน” ใน จ.ชัยนาทในระดับพื้นที่ที่ดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบของขบวนองค์กรชุมชน นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชนจังหวัดชัยนาท จนได้รับการบรรจุเป็นแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) รวม 2 โครงการ คือ 1.โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ 2.โครงการครอบครัวดีมีภูมิคุ้มกันบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4.มีกติกา มีข้อตกลงร่วม ตัวอย่างเช่น ตำบลดงใหญ่ จ.มหาสารคาม มีกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าและสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน เช่น มีกำหนดกฎระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน การอนุรักษ์ป่าโดยใช้ความรู้ ภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณีที่เกี่ยวกับป่า เช่น ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดเก็บเห็ด สมุนไพร เก็บฟืน ประเพณีบวชป่า ฯลฯ ทำให้ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศในป่าได้
5.บทบาทภาคประชาสังคม กลไกสนับสนุนที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ตัวอย่างเช่น ตำบลดงใหญ่ จ.มหาสารคาม ในอดีตมีปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโรงงานต้มเกลือปล่อยน้ำเสีย ทำให้ดินเค็มส่งผลกระทบไปถึงต้นน้ำลำน้ำเสียว ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญในการทำการเกษตรของชาวบ้าน ต่อมาได้เกิดขบวนการอนุรักษ์ลำน้ำเสียว โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัด จนสามารถยุติการทำโรงงานต้มเกลือได้ เมื่อเกิดการรวมตัวของกลุ่ม/องค์กรชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาป่าชุมชนดงใหญ่ จึงเกิดการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน/ภาคประชาสังคม ทำให้ชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการป่าชุมชน
6.การสร้าง ‘พื้นที่กลาง’ หรือ ‘พื้นที่เจรจา’ ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้วขึ้นมาในปี 2555 ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางและหน่วยประสานความร่วมมือกับองค์กรชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในตำบลและองค์กรภาคีอื่นๆ ที่อยู่ภายนอก รวมทั้งการทำงานเป็นเสมือนสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับชุมชน เป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารจากราชการสู่ชุมชน และเป็นผู้รวบรวมความต้องการในพื้นที่สื่อสารไปยังหน่วยงานภาครัฐ สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาไม้แก้วจึงมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ ทั้งในชุมชนและนอกชุมชนให้มาทำงานร่วมกัน
ทีมวิจัยชาวบ้าน ต.ขอนคลาน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัย
1.นโยบายของจังหวัด/แผนพัฒนาจังหวัดที่จะให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการดูแลตนเองมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้องค์กรชุมชนมากขึ้น มีช่องทางงบประมาณในแผนพัฒนาจังหวัดสำหรับเครือข่ายองค์กรชุมชน
2.การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ที่ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอิสระในการทำงานและไม่เอื้อต่อการสนับสนุนชุมชน เช่น การจัดสวัสดิการชุมชน การจัดการที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดการความมั่นคงทางอาหารชุมชน เป็นต้น
3.การสนับสนุนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสุขภาพ
4.การสนับสนุนพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะ (Public space) ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ การสร้างพื้นที่ของการพูดคุย ปฏิบัติการและการสื่อสาธารณะ เพื่อเป็นทางออกหนึ่งของชุมชนและสังคมไทยที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคม และเป็นช่องทางในการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมในระดับต่าง ๆ ดังนั้นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีการสร้างพื้นที่สาธารณะในระดับท้องถิ่น (ตำบล) ในระดับจังหวัด ในระดับภาค หรือในระดับชาติ จึงเป็นความท้าทายของสังคมและเป็นความท้าทายเชิงนโยบาย
ทีมวิจัยลงพื้นที่จัดประชุมที่ตำบลเปียงหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
5.การส่งเสริมการวิจัยชุมชนท้องถิ่นเพื่อชี้เป้าปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่เหมาะสมกับชุมชน
6.การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based and Community Engagement) โดยเอาปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง และเชื่อมโยงบูรณาการภารกิจของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน
7.การส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้กลไกเชิงสถาบันแบบใหม่ๆ สำหรับชุมชนให้ทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
8.การส่งเสริมบทบาทภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
ข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่กลางระดับตำบลให้เป็นกลไกกลางเพื่อการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง
1.ข้อเสนอต่อขบวนองค์กรชุมชน เช่น เร่งสำรวจสถานภาพของสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลและเทศบาลทั้งหมดในจังหวัด สร้างความรู้ ความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการสร้างพื้นที่กลางในระดับตำบลที่ต้องทำงานเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ปกครอง ส่วนราชการ และภาคีพัฒนาอื่น ๆ
สภาองค์กรชุมชนระดับตำบลต้องเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเชื่อมร้อยเพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในระดับตำบล เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกมิติแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จัดทีมหรือคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
2.ข้อเสนอต่อส่วนราชการระดับอำเภอ และจังหวัด เช่น ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดพื้นที่กลาง หรือกลไกการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมระดับตำบล เพื่อให้ชุมชนได้มีแผนงาน หรือโครงการพัฒนาที่สอดคล้องและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ สร้างการเชื่อมโยงแผนการพัฒนาระหว่างพื้นที่ตำบล อำเภอ และจังหวัด อย่างมีเป้าหมายร่วมกัน
จัดตั้งกลไก หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด ที่ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม และภาคีพัฒนาต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวมของจังหวัด
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
“วราวุธ” กำชับ ทีม ศรส. เร่งช่วย หลาน 7 ขวบ ตา-ยาย พามานอนริมถนน ปูผ้าขายของ รับสิทธิสวัสดิการ เรียนหนังสือ หลังไร้ พ่อแม่เหลียวแล
วันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปคุณยายกับหลานชาย อายุ 7 ปี นอนข้างถนน พร้อมระบุน้องมาอยู่ไร้บ้านกับตายายได้เดือนหนึ่งแล้ว น้องไม่ได้เรียนหนังสือ
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา