ช่างชุมชนและผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน จ.เชียงรายร่วมกันสำรวจข้อมูลบ้านเรือนที่จะซ่อมสร้างที่อำเภอเวียงแก่น
เชียงราย / อำเภอเวียงแก่นร่วมกับ พอช. เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงรายและผู้นำชุมชน เดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงชนบท สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านให้ครัวเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ในพื้นที่ 4 ตำบล ประมาณ 1,000 หลัง ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน ท้องถิ่น เริ่มซ่อมสร้างได้ภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้
ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อำเภอเวียงแก่นร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนในอำเภอเวียงแก่น 4 พื้นที่ คือ เทศบาลตำบลม่วงยาย เทศบาลตำบลหล่ายงาว เทศบาลตำบลท่าข้าม และตำบลปอ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเดินหน้า ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอเวียงแก่น’ โดยมีการฝึกปฏิบัติการถอดแบบ BoQ (Bill of Quantities) หรือการประเมินรายการวัสดุและค่าใช้จ่ายในการซ่อมสร้างบ้าน การเสนอโครงการ งบประมาณ ฯลฯ
เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการที่อำเภอเวียงแก่นระหว่าง 10-12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
รวมพลังซ่อมสร้างบ้านมั่นคงอำเภอเวียงแก่น
นายสมเกียรติ์ ใจงาม เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอเวียงแก่นเริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนในอำเภอเวียงแก่นมาแล้ว 2 ครั้ง เช่น ชี้แจงความเป็นมาของโครงการ การจัดทำโครงการ การสำรวจข้อมูลตำบล หมู่บ้าน ครอบครัวผู้ที่มีความเดือดร้อน ฯลฯ
ส่วนการจัดประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อฝึกปฏิบัติการถอดแบบ BoQ และสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนเพิ่มเติม โดยจะนำข้อมูลของแต่ละตำบล จำนวน 4 ตำบลมาวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน คาดว่าจะมีผู้เดือดร้อนที่ได้รับการสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้าน 200-300 ครอบครัว/ตำบล หรือทั้งอำเภอประมาณ 1,000 ครอบครัว
“ขณะนี้คณะทำงานบ้านมั่นคงฯ ในแต่ละตำบลกำลังสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่เดือดร้อนเพิ่มเติม รวมถึงการถอดแบบ BoQ ว่าบ้านแต่ละหลังที่จะซ่อมสร้าง จะต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ตามแผนงานการสำรวจข้อมูลจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเสนอโครงการ งบประมาณ การพิจารณาอนุมัติ และคาดว่าจะเริ่มลงมือซ่อมสร้างบ้านได้ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้” นายสมเกียรติ์บอก
ช่างชุมชนและผู้เข้าร่วมฝึกปฏิบัติการถอดแบบ BoQ
ทั้งนี้การดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอเวียงแก่น นายอุดม อยู่อินไกร นายอำเภอเวียงแก่น ได้แต่งตั้งคณะทำงานบ้านมั่นคงฯ ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงาน มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พัฒนาชุมชน ป่าไม้ ที่ดิน พอช. ผู้นำชุมชน ฯลฯ ร่วมเป็นคณะทำงาน นอกจากนี้ยังมีคณะทำงานระดับตำบลร่วมขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ แบ่งหน้าที่เป็นฝ่ายต่างๆ เช่น คณะกรรมการสืบราคา จัดซื้อวัสดุ ตรวจสอบ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินโครงการมีความโปร่งใส ผู้เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือจริง
“ส่วน พอช.จะสนับสนุนงบประมาณซ่อมสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 40,000 บาท และสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม โดยใช้กลไกที่มีอยู่ในตำบลมาสนับสนุนการทำงาน เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน ป่าไม้ ที่ดิน เพราะนอกจากจะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแล้ว จะต้องมีการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอาชีพ รายได้ เรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยด้วย เพราะในอำเภอเวียงแก่นชาวบ้านยังมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในที่ดิน ซึ่งก็จะต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป” นายสมเกียรติ์อธิบาย
อำเภอเวียงแก่นตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาดอยยาว-ดอยผาหม่น ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนฯ
‘ช่างชุมชน’ รวมพลังจิตอาสาซ่อมสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาส
นายธนกฤต มาตย์ภูธร ช่างชุมชนตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น บอกว่า ในแต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบล จะมีช่างก่อสร้าง ช่างฝีมือในด้านต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงชนบท ช่างเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็น ‘ช่างชุมชน’ เพื่อช่วยเหลือซ่อมสร้างบ้านให้ผู้ที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนให้เหมาะแก่การอยู่อาศัย มีความปลอดภัย เช่น เปลี่ยนหลังคาที่ผุพัง เปลี่ยนเสาเรือน พื้นบ้าน บันได ซ่อมประตู ฝาบ้าน ห้องน้ำ หรือบางหลังที่ทรุดโทรมมากๆ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ก็จะต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่
ช่างชุมชนช่วยกันถอดแบบ BoQ
“แต่งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.หลังหนึ่งไม่เกิน 40,000 บาท ถ้ารื้อแล้วสร้างใหม่คงจะไม่พอ เพราะตอนนี้วัสดุต่างๆ ขึ้นราคา เราจึงต้องใช้ช่างชุมชนมาช่วยกันสร้างเพื่อประหยัดค่าแรง และชุมชนก็ต้องช่วยกันสมทบ ทั้งเรื่องแรงงาน และงบประมาณ รวมทั้งเจ้าของบ้านก็จะต้องมีส่วนในการซ่อมสร้างบ้านด้วย” นายธนกฤตบอก
ตัวอย่างรายการซ่อมแซมบ้านที่ถอดแบบออกมา
นางกอยเสี่ยว ใจมีสุขพงศ์พันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 17 ตำบลปอ บอกว่า หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านชาวเมี่ยน (เย้า) ตั้งอยู่บนดอย มีทั้งหมด 58 หลังคาเรือน ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกร ปลูกลิ้นจี่ ลำไย ข้าวโพด และรับจ้าง ในจำนวนนี้มีฐานะยากจน บ้านเรือนทรุดโทรมจำนวน 10 ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวของนางฟามชิง ที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีรายได้วันละไม่เกิน 200-300 บาท บางวันก็ไม่มีงาน และมีภาระต้องดูแลน้องชายที่พิการ บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคารั่ว เวลาฝนตก ฝนจะสาดใส่บ้าน พื้นเป็นดิน ทำให้พื้นบ้านเฉอะแฉะ
“หมู่บ้านของเรา หลังนี้ถือว่ามีสภาพลำบากที่สุด ถ้าได้งบประมาณมาก็จะสร้างใหม่เป็นหลังแรก เพราะถ้าฝนตกจะเปียกทั้งบ้าน หน้าหนาวก็กันลมไม่ได้ ช่างชุมชนมาถอดแบบแล้ว จะสร้างบ้านใหม่ ใช้คอนกรีตบล็อคมาก่อเป็นตัวบ้าน มุงหลังคาใหม่ สร้างห้องน้ำด้วย ขาดเหลือชุมชนจะหางบมาช่วย แต่เจ้าของบ้านก็จะร่วมสมทบด้วย เราจะให้เจ้าของบ้านเก็บเงินวันละ 1 บาท เดือนละ 30 บาท พอถึงสิ้นเดือนก็เอาเงินมาสมทบเข้ากองทุนบ้านมั่นคง ครอบครัวอื่นก็ต้องสมทบเงินแบบนี้เหมือนกัน จะได้มีกองทุนเอาไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนต่อไป” ผู้ใหญ่บ้านบอก
สภาพบ้านนางฟามชิง
นางฟามชิง แซ่เติ๊น บอกว่า บ้านหลังนี้อยู่อาศัยกับพ่อแม่มานานกว่า 20 ปี เมื่อพ่อแม่เสียชีวิตก็ต้องดูแลน้องชายที่พิการ รายได้ก็ไม่ค่อยมี บ้านผุๆ พังๆ ไม่มีเงินจะซ่อม ห้องน้ำก็ไม่มี ต้องอาศัยใช้ห้องน้ำของเพื่อนบ้าน พอถึงหน้าหนาวก็หนาวมาก หน้าฝนก็เปียกแฉะ รู้สึกดีใจที่มีเพื่อนบ้าน มีหน่วยงานมาช่วยให้ได้บ้านใหม่
ผู้ใหญ่บ้านและนางฟามชิง (ขวา) ที่หน้าบ้าน
โครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอเวียงแก่นเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของรัฐบาล มีเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้น้อยประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม นอกจากโครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอเวียงแก่นแล้ว พอช.ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รวมทั้งโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกระทรวง พม. “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579”
ช่างชุมชนอำเภอเวียงแก่นและผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน จ.เชียงราย
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้นำแปซิฟิกเยือนชุมชนประชาร่วมใจ เรียนรู้โมเดลบ้านมั่นคงไทย สู่เวทีนานาชาติ
ผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 7 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ร่วมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนริมคลองในกรุงเทพฯ พร้อมถอดบทเรียนจากโครงการบ้านมั่นคงของไทย เป็นต้นแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยในระดับภูมิภาคแปซิฟิก
UN-Habitat เยือนพื้นที่บ้านมั่นคงรามคำแหง 39 ต้นแบบพัฒนา “ทั้งย่าน” สู่สิทธิการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน
กรุงเทพฯ-23 พฤษภาคม 2568 นางอนาคลาวเดีย โรสบาค (Ms. Anacláudia Rossbach) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ
จากชุมชนถึงจังหวัด! พอช.เสริมพลังผู้นำภาคเหนือ สู่ 'จังหวัดจัดการตนเอง'" เปิดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน 9 จังหวัด เน้นกระจายอำนาจ สร้างฐานพลังพลเมือง หนุนท้องถิ่นเข้มแข็ง
วันที่ 23 เมษายน 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่จังหวัดจัดการตนเอง” ครั้งที่ 1
"UN-Habitat" ชื่นชมไทย ขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยเพื่อทุกคน – ดันเป็นเจ้าภาพ Habitat IV ปี 2026
รมว.พม. ต้อนรับรองเลขาฯ UN-Habitat ร่วมถกความร่วมมือระดับภูมิภาค พร้อมเปิดทางสู่การประชุมนานาชาติด้านเมืองและที่อยู่อาศัยในอนาคต
"วราวุธ" ผนึก พม.-ทส. เดินหน้า “กระเสียวโมเดล” แก้ปัญหาน้ำขาดแคลน หนุนเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนานิคมสร้างตนเอง
วันที่ 21 เมษายน 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดโครงการกระเสียวโมเดล :
“เร่งฟื้นฟูชุมชนโรงธูป! ราชบุรี พอช. ผนึกภาคีท้องถิ่นช่วยผู้ประสบภัยไฟไหม้ วางแผนฟื้นฟูที่อยู่อาศัยทั้งระยะสั้น-ระยะยาว”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ผนึกกำลังภาคีท้องถิ่น-ชุมชน ร่วมวางแนวทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือน 17