ตลาดกะเหรี่ยงที่บ้านภูเหม็น ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี เปิดจำหน่ายวันแรก
อุทัยธานี / เปิดตลาดกะเหรี่ยงที่บ้านภูเหม็น อำเภอห้วยคต เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านใกล้เคียงนำผลผลิตที่เพาะปลูกและสินค้าในครัวเรือนมาจำหน่าย สร้างรายได้ เชื่อมโยงการผลิตกับการตลาด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาทุกมิติ ทั้งเมือง-อำเภอ ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม เตรียมขยายพื้นที่ ‘ภูมินิเวศน์ผืนป่าตะวันตก’ ชุมชนกะเหรี่ยง 10 จังหวัด เพื่อจัดการดินน้ำป่า ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้บ้านภูเหม็นเป็นต้นแบบ
ตลาดกะเหรี่ยงเชื่อมโยงการผลิต-การตลาด
วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) เวลา 9.00 น. ที่บ้านภูเหม็นกลาง ตำบลทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี มีการเปิด ‘ตลาดนัดกะเหรี่ยง’ เพื่อเป็นตลาดให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงในตำบลทองหลางและเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงนำสินค้าเกษตรและผลผลิตในครัวเรือนต่างๆ มาจำหน่าย โดยมีนายนพดล พลเสน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) เข้าร่วมงาน มีชาวบ้านนำสินค้าต่างๆ มาจำหน่ายประมาณ 30 ราย
นายนพดล พลเสน กรรมการผู้ช่วย รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมงาน
เช่น ข้าวไร่ปลอดสารเคมี พืชผักต่างๆ ฟักทอง ฟัก มะเขือ พริก ผลไม้ สับปะรด แตง ผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ อาหารกะเหรี่ยง เช่น ขนมจีน แกงไก่ใส่หยวกกล้วย เครื่องจักสาน ผ้าทอ ย่าม ชุดกะเหรี่ยง ฯลฯ โดยมีประชาชนเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าตลอดทั้งวัน
นายอังคาร คลองแห้ง ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น กล่าวว่า ตลาดกะเหรี่ยงเป็นการเชื่อมโยงการผลิตกับการตลาด เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านใกล้เคียงนำผลผลิตที่ปลูก หรือสินค้าต่างๆ มาวางขาย ไม่ต้องขายผลผลิตผ่านพ่อค้าเหมือนแต่ก่อน มีอาหารและขนมกะเหรี่ยง เช่น แกงไก่ใส่หยวกกล้วย แกงเผือก ขนมทองโย้ มีการแสดงศิลปะ ดนตรี การเต้นและร้องเพลงของเยาวชนกะเหรี่ยง เป็นลานวัฒนธรรมด้วย เปิดตลาดทุกวันเสาร์ และต่อไปจะเปิดเป็นลานกางเต๊นท์ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติเหมือนกับที่ตลาดแก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
‘ภูเหม็นโมเดล’ ขยายพื้นที่ภูมินิเวศน์ผืนป่าตะวันตก 10 จังหวัด
นอกจากตลาดนัดกะเหรี่ยงแล้ว ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น ประปาภูเขา เพื่อช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในแปลงเกษตรตลอดทั้งปี การสร้างพื้นที่สีเขียว เพาะกล้าไม้ ปลูกต้นไม้มีค่า เช่น สัก พะยูง ยางนา มะค่า ประดู่ ฯลฯ ในเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ สร้างฝายชะลอน้ำ 2 แห่ง จัดตั้งเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำในห้วยภูเหม็น
ลุงอังคาร คลองแห้ง ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นกับระบบประปาภูเขาสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
ด้านวัฒนธรรม เปิดโรงเรียนสอนการเขียน-อ่านภาษากะเหรี่ยง อนุรักษ์ศิลปะ การรำ-ร้องเพลงกะเหรี่ยง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์กะเหรี่ยง ด้านเศรษฐกิจ เช่น เปิดตลาดนัดกะเหรี่ยง ฯลฯ รวมงบประมาณที่ พอช.สนับสนุน 1 ล้านบาทเศษ
สมบัติ ชูมา สถาบันธรรมชาติพัฒนาจังหวัดอุทัยธานี ในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนาบ้านภูเหม็น บอกว่า ที่ผ่านมาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินจนประสบผลสำเร็จ รวมทั้งได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน สังคม และวัฒนธรรมดังที่กล่าวไปแล้ว ถือเป็นต้นแบบที่จะนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพราะยังมีพี่น้องชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดต่างๆ 10 จังหวัด จากแม่ฮ่องสอนลงมาจนถึงเพชรบุรีที่ยังประสบปัญหาทั้งเรื่องที่ดินทำกิน วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
“สถาบันธรรมชาติพัฒนาจังหวัดอุทัยธานีจะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ดำเนินงานในรูปแบบของ ‘ภูมินิเวศน์ผืนป่าตะวันตก’ เพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงมีชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น คาดว่าจะเริ่มงานได้ภายในปีนี้” สมบัติบอกถึงแผนงานการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการ
ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาผืนดิน วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
‘บ้านมั่นคงชนบทอำเภอห้วยคต’ แก้ปัญหาทุกมิติ ทำทั้งเมือง
‘ตลาดนัดกะเหรี่ยง’ เป็น 1 ในโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สนับสนุนชุมชนตาม ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอห้วยคต จ.อุทัยธานี’ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน เป็นการแก้ไขปัญหาทุกมิติและดำเนินการทั้งเมือง-อำเภอ เริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้นขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน 3 ตำบล คือ ห้วยคต สุขฤทัย และทองหลาง สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้ง 3 ตำบล เช่น ปัญหา ความต้องการของชุมชน เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท เช่น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย การส่งเสริมอาชีพและรายได้ การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดย พอช. สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือทำงาน และสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ
ชาวห้วยคตประชุมหารือวางแผนพัฒนาชุมชน
ในปีงบประมาณ 2564-2565 พอช. ได้อนุมัติโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยอำเภอห้วยคต 3 ตำบล รวม 791 ครัวเรือน งบประมาณรวม 37.1 ล้านบาทเศษ แยกเป็น ตำบลห้วยคต งบประมาณ 12.9 ล้านบาท มีโครงการที่สำคัญ เช่น ซ่อมสร้างบ้าน (154 ครัวเรือน งบ 4 ล้านบาทเศษ) เจาะบ่อบาดาล ส่งเสริมอาชีพปลูกไม้ผล เลี้ยงเป็ด ไก่ ฯลฯ ปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำ
ตำบลสุขฤทัย งบประมาณ 12.9 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ เช่น ซ่อมสร้างบ้าน ขุดบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำโซล่าร์เซลล์ ส่งเสริมการปลูกกล้วย ผักสวนครัว อาชีพ และ ตำบลทองหลาง งบประมาณ 11.3 ล้านบาทเศษ ซ่อมแซมบ้าน (219 ครัวเรือน งบ 6.4 ล้านบาท) ส่งเสริมอาชีพ สร้างแหล่งน้ำ ประปาภูเขา วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง ตลาดชุมชน หรือ ‘ตลาดกะเหรี่ยง’ ที่มีการเปิดตลาดในวันนี้
ลงแรงช่วยกันซ่อมสร้างบ้านให้ครอบครัวที่มีความเดือดร้อนที่ตำบลสุขฤทัย
เชาวลิต เอี่ยมละออ คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า โครงการต่างๆ ดังกล่าว เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นมา เช่น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท ขณะนี้ซ่อมสร้างบ้านในตำบลห้วยคตและสุขฤทัยไปแล้วกว่า 100 หลัง โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 25,000-40,000 บาท ตามสภาพของบ้านที่ต้องซ่อมสร้าง
“แต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบลจะมีการจัดตั้งตัวแทนขึ้นมาดำเนินโครงการ เช่น คัดเลือกครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย มีกรรมการจัดซื้อ ตรวจสอบวัสดุ ตรวจสอบการซ่อมสร้าง และใช้วิธีการลงแรงช่วยเหลือกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ ทำให้ซ่อมสร้างได้เร็ว ส่วนในปี 2565 จะทยอยซ่อมสร้างบ้านในส่วนที่เหลือ รวมเป้าหมายทั้งหมด 791 ครัวเรือน นอกจากนี้ก็จะเริ่มโครงการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนแต่ละตำบลเป็นกลไกขับเคลื่อนงาน” นายชวลิตบอกถึงความคืบหน้าและแผนงานที่จะทำต่อไป
เรื่องและภาพ โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา
เฮลั่นไทย 'ชุมชนบ่อสวก' จ.น่าน คว้ารางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ได้มอบรางวัล