“เยอ เก๊ กะโพล่ว พุเม้ยง์” เราคือกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น (2) เส้นทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมที่ไม่ทิ้งรากเหง้า

ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับดินน้ำป่า  มีพิธีกรรมต่างๆ มากมาย

หลังจากที่มีการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นเมื่อปีก่อนแล้ว  ตอนนี้พี่น้องก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  เพราะเข้าไปทำกินในพื้นที่เดิมได้   ทำไร่หมุนเวียนได้  ไม่ต้องกลัวเจ้าหน้าที่จับเหมือนก่อน  ตอนนี้เพิ่งทำประปาภูเขาเพื่อเอาน้ำใส่ในแปลงเกษตร  ช่วยกันปลูกป่าเพิ่มเติม  ทำฝายชะลอน้ำ  ทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ  และทำตลาดกะเหรี่ยงเพื่อให้พี่น้องเอาผลผลิตไปขาย  วันเสาร์-อาทิตย์เด็กๆ ก็จะมาเรียนหนังสือกะเหรี่ยง”  ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  บอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น               

ก่อนหน้านี้เมื่อหลายสิบปีก่อน  ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  อำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี  ซึ่งอยู่อาศัยพึ่งพาป่าเขามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  มีความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ  เพราะมีการประกาศเขตป่าสงวน  เขตอุทยานห้วยคต  ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 15,000 ไร่  เจ้าหน้าที่ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกิน  ต้องหลบๆ ซ่อนๆ  แอบทำไร่  แอบปลูกข้าว  หากเจ้าหน้าที่เห็นจะถูกจับกุม  ทำมาหากินได้ผลผลิตไม่พอกิน 

จนเมื่อ 2 ปีหลังมานี้  ความขัดแย้งเริ่มคลี่คลาย  หน่วยงานรัฐอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปดูแลที่ดินและทำกินในที่ดินเดิมได้  และชาวภูเหม็นได้ร่วมกันประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงขึ้นมาในช่วงปลายปี 2563 แล้ว (ดู รายละเอียดที่เยอ  เก๊  กะโพล่ว  พุเม้ยง์”  เราคือกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตอน 1)  

ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นที่เคยผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากความลำบากมาแล้วช่วงหนึ่ง  วันนี้ความเป็นอยู่ของพวกเขากำลังจะดีขึ้นดังที่ลุงอังคารบอก!!

พิธีสถาปนาเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงเมื่อเดือนธันวาคม 2563  

สร้างแหล่งน้ำ  สร้างพื้นที่สีเขียว  เปิด ตลาดกะเหรี่ยง’ 5 ..นี้

ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีทั้งหมดประมาณ 200 ครัวเรือน  ประชากรประมาณ 800  คน  แบ่งออกเป็น  3 ป๊อก (กลุ่มบ้าน)  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง  อยู่ติดกับเขตอุทยานห้วยคต  ป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควาย  วิถีชีวิตดั้งเดิมจะผูกพันกับธรรมชาติ  ทำไร่หมุนเวียน  ปลูกข้าวไร่  ฟัก แฟง  แตง  พริก  มะเขือ  หาปลาในลำห้วย   ปัจจุบันปลูกข้าว  พืชไร่  ไผ่  กาแฟ  และผลไม้ต่างๆ  เช่น  สับปะรด  ส้มโอ   มะม่วง  ทุเรียน  ลำไย  ฯลฯ

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำบ้านภูเหม็นบอกว่า  ในปี 2563  หลังจากที่อุทยานห้วยคตได้ตกลงกับชาวบ้านยอมกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน  ให้ชาวบ้านบริหารจัดการ  ดูแลรักษาป่า  รวมทั้งเพื่อให้เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยง  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  13,000 ไร่เศษ  

ลุงอังคาร

ต่อมาในปี 2564  ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ  ขึ้นมา  ทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ  สร้างพื้นที่สีเขียว  อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน   ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม  วิถีชีวิต  ฯลฯ  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ‘พอช.’ หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ (การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน) รวมทั้งหมดประมาณ 1 ล้านบาทเศษ  เริ่มโครงการตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา

เช่น  โครงการประปาภูเขา  เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง  โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากบ่อด้านล่าง   แล้ววางท่อประปาความยาว 200  เมตร  รวม 6 จุด  เพื่อดึงน้ำขึ้นไปเก็บในถังน้ำบนเนินเขา  ขนาดความจุ  2,000 ลิตร  รวม  8  ถัง  แล้วต่อท่อส่งน้ำลงมาในแปลงเกษตร  มีชาวบ้านได้รับประโยชน์ประมาณ 20 ครอบครัว  ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวไร่  ข้าวโพด  ทุเรียน  ลำไย  ส้มโอ  มะม่วง  มะยงชิด  สับปะรด  ฯลฯ 

ลุงอังคารบนเนินเขาที่ต่อท่อประปาขึ้นไปเก็บน้ำ

เมื่อก่อนชาวบ้านจะปลูกข้าวโพด  ปลูกงา  และไม้ผลต่างๆ บริเวณที่ลาดเชิงเขา  แต่ขาดแคลนน้ำ  ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว  ทำให้พืชที่ปลูกไม่โต  บางอย่างก็แห้งตาย   พอเราทำประปาภูเขาก็มีน้ำใช้  โดยสูบน้ำจากบ่อข้างล่างเอาไปไว้ในถังบนเขา  พอจะรดน้ำเราก็ปล่อยน้ำจากถังลงมา  รด 2-3 วันครั้ง  ถ้าหน้าฝนก็ไม่ต้องรด  ปีนี้เพิ่งได้ใช้น้ำเป็นปีแรก  ถ้าได้ ผลดีเราก็จะขยายไปยังจุดอื่นๆ  จะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำทำเกษตรทั้งปี  ลุงอังคารบอก

สมบัติ  ชูมา  จากสถาบันธรรมชาติพัฒนาจังหวัดอุทัยธานี  ที่ปรึกษาการพัฒนาหมู่บ้านภูเหม็น  บอกว่า  นอกจากโครงการประปาภูเขาแล้ว  บ้านภูเหม็นยังมีโครงการอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.  เช่น  การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว  โดยการปลูกไม้ยืนต้น  เช่น  พะยูง  ประดู่  มะค่า  ยางนา  เต็งรัง  ฯลฯ  ในพื้นที่ป่าที่อุทยานห้วยคตกันพื้นที่คืนให้กับชาวบ้านเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่  และมีแปลงเพาะชำกล้าไม้เพื่อนำไปปลูก

สมบัติ  ชูมา  กับระบบประปาภูเขา

สร้างฝายชะลอน้ำ 2 จุดในลำห้วยภูเหม็นที่ไหลผ่านหมู่บ้าน  เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า  น้ำในห้วยที่ไหลชะลอจากการสร้างฝายจะค่อยๆ ซึมลงไปกักเก็บใต้ดิน   ทำให้ลำห้วยมีน้ำตลอดทั้งปี   ไม่ขาดน้ำ  และจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำในลำห้วย  มีเขตห้ามจับปลา  ความยาวประมาณ 400 เมตร  เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ปลา  เช่น  ปลาตะเพียน  ปลากั้ง  กดคัง  ฯลฯ

เด็กและเยาวชนกะเหรี่ยงช่วยกันเก็บหินมาทำฝายชะลอน้ำและทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำในห้วยภูเหม็น

สมบัติบอกด้วยว่า  นอกจากนี้ชาวภูเหม็นกำลังจัดทำ ตลาดกะเหรี่ยง เป็นตลาดชุมชน  ตั้งอยู่บริเวณริมถนนเส้นทางไปอำเภอห้วยคต  เพื่อให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านใกล้เคียงเอาผลผลิตที่ปลูก  หรือสินค้าต่างๆ ในครอบครัวมาวางขาย  เช่น  ข้าวไร่  ฟักทอง  สับปะรด  แตง  ผักสวนครัว  ไม้ดอก  ไม้ประดับ  อาหารพื้นบ้าน  ขนม  เครื่องจักสาน  ผ้าทอ  ย่าม  ชุดกะเหรี่ยง  ฯลฯ  มาวางขาย 

ตลาดกะเหรี่ยงเป็นการเชื่อมโยงการผลิตกับการตลาด  และจะมีการแสดงศิลปะ  ดนตรี  การเต้นและร้องเพลงของเยาวชนกะเหรี่ยง  มีอาหารและขนมกะเหรี่ยง  เช่น  แกงไก่ใส่หยวกกล้วย  แกงเผือก  ขนมทองโย้  ถือเป็นลานแสดงวัฒนธรรมด้วย  จะเปิดตลาดทุกวันเสาร์   เริ่มเปิดวันแรกวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์นี้  จะมีชาวบ้านเอาข้าวของมาขายไม่ต่ำกว่า 30  ซุ้ม  จึงขอชวนพี่น้องจากอำเภอต่างๆ  รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่สนใจมาชมตลาดและอุดหนุนพี่น้องกะเหรี่ยง สมบัติกล่าวชวน  และบอกถึงแผนงานต่อไปว่า  บริเวณพื้นที่จัดตลาดนัดนี้  ต่อไปจะเปิดเป็นลานกางเต๊นท์ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติเหมือนกับที่ตลาดแก่นมะกรูด  อ.บ้านไร่  จ.อุทัยธานี

ตลาดกะเหรี่ยงจะเปิดครั้งแรกวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้

ส่งเสริมวัฒนธรรม  ขยายงานกะเหรี่ยง 10 จังหวัด

นอกจากโครงการต่างๆ ดังกล่าว ที่พอช.สนับสนุนแล้ว  ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นยังมีโครงการส่งเสริมด้านภาษา  ศิลปะ  วัฒนธรรม  อนุรักษ์วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  

รัตนา  ภูเหม็น  แกนนำกลุ่มสตรีและเยาวชนบ้านภูเหม็น  บอกว่า  บ้านภูเหม็นมีเด็กและเยาวชนกะเหรี่ยงที่กำลังเรียนหนังสือในระดับประถมและมัธยมประมาณ 50 คน  เรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลในอำเภอห้วยคต  เมื่ออยู่ในโรงเรียนเด็ก ๆ จะพูดและเขียนเป็นภาษากลาง  แต่เมื่อกลับบ้านอยู่กับครอบครัวและเพื่อนในหมู่บ้านจะพูดภาษากะเหรี่ยง 

"เด็กๆ ยังพูดภาษากะเหรี่ยงในชีวิตประจำวัน  แต่ตัวหนังสือกะเหรี่ยงไม่ค่อยมีคนใช้  ตอนนี้ก็เหลือคนที่เขียนอ่านภาษากะเหรี่ยงได้ไม่กี่คน  เด็กๆ พูดได้  แต่เขียนอ่านไม่ได้  เราจึงเปิดโรงเรียนสอนการเขียนอ่านภาษากะเหรี่ยงขึ้นมา  เปิดสอนตั้งแต่เดือนเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  จะเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์  เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมง  เพื่อให้เด็กได้สืบทอดภาษาเขียนของกะเหรี่ยงเอาไว้”  รัตนาในฐานะที่เป็นครูสอนภาษากะเหรี่ยงบอก

เธอบอกว่า  ในวันที่เปิดสอนจะมีเด็กๆ ในระดับชั้นประถม-มัธยมมาเรียนประมาณ 40 คน  ใช้ที่ประชุมของหมู่บ้านเป็นสถานที่เรียน  ในช่วงเริ่มต้นจะสอนให้เด็กเรียนเขียน-อ่านพยัญชนะกะเหรี่ยงก่อน  ซึ่งมีอยู่ 35 ตัว     เมื่อเด็กเขียน-อ่านพยัญชนะคล่องแล้ว  ต่อไปจะสอนเรื่องสระ  การผสมสระและผสมคำ  สอนเหมือนกับภาษาไทย  และนอกจากเธอแล้ว  ยังมีลุงอังคารที่มาช่วยสอนอีก 1 คน

สุพรรณี  เยปอง  ครูสอนด้านวัฒนธรรม  เสริมว่า  เด็กๆ จะเรียนเขียน-อ่านภาษากะเหรี่ยงช่วงเช้า  ช่วงบ่ายเธอจะสอนเรื่องศิลปะ  วัฒนธรรมกะเหรี่ยง  เช่น  การรำ  การร้องเพลงภาษากะเหรี่ยง  บางเพลงเป็นเพลงเก่าที่ร้องและรำสืบต่อกันมา  บางเพลงเป็นเพลงที่แต่งหรือประยุกต์ขึ้นมาใหม่  ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับธรรมชาติ  การทำมาหากิน  ป่าเขา  ดอกไม้  เช่น  เพลง จุงปา อว่า  มีเนื้อหาถึงดอกจำปาขาวในป่าที่ส่งกลิ่นหอม  คนที่ได้กลิ่นจึงตามเข้าไปในป่า

สมบัติ  ชูมา  ที่ปรึกษาการพัฒนาบ้านภูเหม็น  บอกเพิ่มเติมว่า  นอกจากการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมดังกล่าวแล้ว  ขณะนี้ชาวภูเหม็นกำลังจัดทำ พิพิธภัณฑ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ใช้พื้นที่ใกล้กับโรงเรียนสอนภาษากะเหรี่ยง  สร้างเป็นโรงเรือนไม้ไผ่  หลังคามุงแฝก  เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงข้าวของ  เครื่องใช้  เครื่องมือทำไร่  ครกไม้ตำข้าว  เมล็ดพันธุ์พืช  พันธุ์ข้าวกะเหรี่ยง  เสื้อผ้า  เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง   เสื้อ  ผ้านุ่ง  โสร่ง  ย่าม  ฯลฯ  ขณะนี้ชาวบ้านกำลังรวบรวมข้าวของเหล่านี้เพื่อนำมาจัดแสดง  เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนกะเหรี่ยงและผู้สนใจ  รวมทั้งนักท่องเที่ยว

สีสันเสื้อผ้าชาวกะเหรี่ยง

เขาบอกด้วยว่า  เส้นทางการต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  รวมทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน  ด้านสังคม  และวัฒนธรรมที่ชาวภูเหม็นกำลังทำอยู่นี้  ถือเป็นต้นแบบที่จะนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ  เพราะยังมีพี่น้องชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดต่างๆ  10 จังหวัด  จากแม่ฮ่องสอนลงมาจนถึงเพชรบุรี  

โดยสถาบันธรรมชาติพัฒนาจังหวัดอุทัยธานีจะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  ดำเนินงานในรูปแบบของ ภูมินิเวศน์ผืนป่าตะวันตก เพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากร  ดิน  น้ำ  ป่า และวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงแบบมีส่วนร่วม  คาดว่าจะเริ่มได้ภายในปีนี้

ทั้งหมดนี้คือ  เส้นทางการต่อสู้และการพัฒนาของพี่น้องกะเหรี่ยงภูเหม็นที่ไม่ทิ้งรากเหง้า  เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนต่อไป  ดังบทเพลง คนภูเหม็นท่อนหนึ่งที่ขับขานว่า...

คนภูเหม็น  กะเหรี่ยงโปว์ที่แปลว่าคน     ต้องอดทน  เลี้ยงตน  บนกลางไพร                                                          อยู่มานาน  ชาติพันธุ์  ก็ยังคงไว้                โลกเปลี่ยนไป  ชีวิต  ก็ยังคงเดิม                                                                โอ้ชีวิต...ดินแดน   แห่งจิตวิญาณ            ร่วมสืบสาน  ตำนาน  ของความเป็นโปว์                                              เพื่อชีวิต   เด็กน้อย  ที่เติบโต                    กะเหรี่ยงโปว์  คงไว้  ในแผ่นดิน  ฯลฯ

เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา