พลังหญิงไทย ขับเคลื่อนอนาคต สร้างชุมชนเข้มแข็ง

สัมมนาเครือข่ายผู้หญิงไทย 77 จังหวัด

กรุงเทพฯ/  วันที่ 4 เมษายน 2568 เครือข่ายผู้หญิงไทย 77 จังหวัด  ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวที สัมมนาเครือข่ายผู้หญิงไทย 77 จังหวัด ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้นำหญิงจากทั่วประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน พลังสตรีไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นประธานในการกล่าวเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. นางสาวศิริวรรณ บุตราช ประธานเครือข่ายผู้หญิงไทย ๗๗ จังหวัด  ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ผู้นำเครือข่ายผู้หญิงไทย 77 จังหวัด เข้าร่วมเวที จำนวนกว่า 100 คน  ณ ห้องประชุมไพบูลย์วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน บางกะปิ กรุงเทพฯ

ผู้หญิงไทย... ไม่เพียงเป็นแม่ เป็นกำลังหลักของครอบครัว แต่ยังเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคม ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของโลก วันนี้เราจะพาไปรู้จัก 'ขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทย' ที่รวมใจกันสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ภายใต้แนวคิด 'เศรษฐกิจพอเพียง' และ 'ฐานปัจจัยชีวิต 5'"

ในทุกยุคทุกสมัย ผู้หญิงเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ แม้ในอดีตบทบาทของสตรีอาจถูกจำกัดอยู่เพียงเบื้องหลัง แต่วันนี้พวกเธอลุกขึ้นมาประกาศศักยภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ และนำพาชุมชนไปสู่ความเข้มแข็งอย่างแท้จริง การรวมตัวของสตรีจากทั่วประเทศครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่คือการแสดงพลังของผู้หญิงไทย ที่พร้อมผลักดันความเท่าเทียมและความยั่งยืนในทุกมิติของสังคม “พลังสตรี เปลี่ยนสังคม พลิกโฉมชุมชน”

ขบวนผู้หญิงไทย ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2546

ขบวนผู้หญิงไทย ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 โดยการสนับสนุนจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ส่งผลให้ขบวนผู้หญิงในท้องถิ่นเกิดกระบวนเชื่อมโยงและขยายขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทยไปทั้ง 5 ภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญ ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาชุมชน ผ่านการพัฒนาศักยภาพ สร้างอาชีพ และรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น พัฒนาหญิงไทยให้มีความภาคภูมิใจในบทบาทหน้าที่ มีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน สร้างสังคมไทยให้เป็นสุขบนฐานปัจจัยชีวิต 5ประกอบด้วย คน อาหาร ยารักษาโรคสมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง ด้วยการพึ่งพาตนเอง ซึ่งการดำเนินงานของเครือข่ายผู้หญิงทำให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคของหญิงชาย ตามรัฐธรรมนูญ มีวิสัยทัศน์ “ขบวนผู้หญิงไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนา และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนสังคม สู่การจัดการตนเอง”

พลังผู้หญิงไทย พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคม

นางสาวศิริวรรณ บุตราช ประธานเครือข่ายผู้หญิงไทย 77 จังหวัด ที่กล่าวว่า  พลังผู้หญิงไทยก้าวสู่ปีที่ 18 อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง  นี่คือช่วงเวลาสำคัญของเครือข่ายผู้หญิงไทยที่ถือกำเนิดขึ้น ณ เมืองกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 จุดเริ่มต้นของเราอาจเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ แต่แนวคิดของเรายิ่งใหญ่ ด้วยพื้นฐานของความเป็นไทยและหัวใจของผู้หญิงไทยที่เต็มไปด้วย ความรัก ความห่วงใย และความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มีความงามใดเทียบเท่าความงามจากภายในของผู้หญิงไทย ผู้หญิงไทยมี ความมั่นใจ มีความเป็นเจ้าของสูง และกล้าที่จะประกาศความยิ่งใหญ่ของตนเอง คำถามหนึ่งที่เรามักได้ยินเสมอคือ “มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้เป็นลูกของใคร” และคำตอบที่ชัดเจนก็คือ "เป็นลูกของผู้หญิง" นี่คือพลังอันยิ่งใหญ่ที่เราแบกรับ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ยังรวมถึง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในวันนี้ เรามารวมตัวกันเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของชุมชนของเรา ด้วยแนวคิดพื้นฐานที่ผู้หญิงคือศูนย์กลางของชีวิตและสังคม

นางสาวศิริวรรณ  กล่าวต่อ หนึ่งในกลไกสำคัญคือ 'ฐานปัจจัยชีวิต 5' ที่ผู้หญิงเป็นผู้ขับเคลื่อน ทั้งการผลิตอาหาร สร้างที่อยู่อาศัย ดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร และฟื้นฟูวิถีชุมชน ซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยในยุควิกฤต มีดังนี้คือ  ฐานชีวิต 1 “คน” ผู้หญิงเป็นผู้ผลิตให้ชีวิตเจ้า สมบูรณ์ ได้หนึ่งเริ่มจากศูนย์ เพื่อเพิ่มพูนใจมีธรรม นำอนาคตชาติ ฐาน 2 อาหาร ผู้หญิงเป็นผู้ทำเพื่อเสริมนำให้เติบโต :  แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นของมายา ข้าว ปลา เป็นของจริง ฐาน 3 เครื่องนุ่งห่ม ผู้หญิงเป็นผู้ทอ ห่อหุ้มกายให้คลายหนาว ปิดบังกั้นความอาย เพื่อให้ได้ความอบอุ่น ฐาน 4 ยารักษาโรค ผู้หญิงเป็นแม่หมอ ที่เฝ้ารอดูอาการ เอาใจเข้าประสาน เพื่อต้านโรคให้โศกไกล ฐาน 5 ที่อยู่อาศัย  ผู้หญิงเป็น“วิศวกะ”และ“สถาปนึก” สร้างสรรค์บ้าน ให้น่าอยู่สุขสบาย พร้อมดูแลให้สะอาด มีชีวิตชีวา สมกับคำว่า “บ้านคือวิมานของเรา”

'ฐานปัจจัยชีวิต 5'

ผู้หญิง คือพลังที่ยิ่งใหญ่ ในทุกสังคม ผู้หญิงคือ ผู้ดูแล ผู้วางแผน และผู้สร้างรากฐานที่มั่นคงให้ครอบครัว หากเรารวมพลังกัน เราสามารถสร้างสังคมที่แข็งแกร่งและมั่นคงขึ้นมาได้ เครือข่ายผู้หญิงไทย ก้าวสู่ปีที่ 18 เราเติบโตขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และก้าวไปข้างหน้าด้วย ความรัก ความมุ่งมั่น และพลังของผู้หญิงไทยทุกคน ขอให้ทุกท่านมั่นใจ และก้าวเดินไปพร้อมกันเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนไปด้วยกัน เพราะเมื่อผู้หญิงแข็งแกร่ง… สังคมก็จะแข็งแกร่งตามไปด้วย นางสาวศิริวรรณ  กล่าวทิ้งท้าย

ผู้หญิงไทยพลังที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวถึง ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการพัฒนาประเทศ พลังสตรี: แรงขับเคลื่อนแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนที่มั่นคงและยั่งยืน  โดยเน้นย้ำถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของผู้หญิงในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า พวกเธอไม่เพียงแต่เป็นหัวใจสำคัญของครอบครัว คอยดูแลเรื่องการเงิน ความเป็นอยู่ อาหาร และที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนและสังคมในวงกว้าง

หนึ่งในกุญแจสำคัญของการสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน คือ “การออม” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาสังคมในหลายมิติ ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จนถึงย่าโม บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแทนของพลังสตรีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ และในปีนี้ เครือข่ายผู้หญิงก็ได้ครบรอบ 18 ปี แห่งการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนฃ

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อ การทำงานของเครือข่ายสตรีในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน อาทิ  สนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ ลดภาระทางการเงิน และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านระบบสวัสดิการที่ครอบคลุม เช่น กองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุ และโครงการดูแลสุขภาพปฐมภูมิที่ร่วมมือกับเครือข่ายหมอชนบท  สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปลอดภัย และเป็นระบบ มุ่งเน้นการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยใช้เครือข่ายจากหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กในด้านความรู้ ทักษะ และโภชนาการ สนับสนุนอาชีพและสินค้าชุมชน โดยประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น การนำสินค้า "ปั้นขลิบ" ไปวางจำหน่ายในร้าน Café Amazon ทั่วประเทศ ถือเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม  พัฒนาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมระบบการดูแลสุขภาพร่วมกับแพทย์และภาคีในพื้นที่ เช่น โครงการหมอชนบทที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยติดเตียงให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง

พลังของผู้หญิงไม่เพียงแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับครอบครัว แต่ยังขยายผลสู่สังคมในวงกว้าง ผ่านการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างเป็นระบบ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการยืนหยัดของสตรีไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้ชุมชนสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนการรวมพลังของสตรีในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด แต่คือการประกาศศักยภาพของผู้หญิงไทย ที่พร้อมเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ดีให้กับสังคม เพราะเมื่อผู้หญิงเข้มแข็ง สังคมก็แข็งแกร่งตามไปด้วย  ดร.กอบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

พลังผู้หญิงไทยแกนหลักแห่งการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า พลังผู้หญิงไทยกับการพัฒนา ในฐานะแกนหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมไทยในทุกมิติ ผู้หญิงไม่เพียงเป็นพลังสำคัญของครอบครัว แต่ยังเป็นฟันเฟืองที่ช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญขององค์กรชุมชนในระดับพื้นที่และจังหวัด  ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมที่ซับซ้อนและท้าทาย เช่น ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง การกระจุกตัวของความเจริญในเมืองใหญ่ การขาดอำนาจในการบริหารจัดการของท้องถิ่น ซึ่งทำให้เยาวชนต้องอพยพออกจากบ้านเกิดไปทำงานในเมือง นอกจากนี้ ปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว กระแสวัตถุนิยม และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชุมชน

นางสาวสมสุข  ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาสังคมต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงที่สามารถเชื่อมโยงกลุ่ม ชุมชน และภาคีต่าง ๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางหลักของการขับเคลื่อนขบวนสตรีมีดังนี้ เสริมสร้างบทบาท "แม่หญิง" ในขบวนองค์กรชุมชน ผู้หญิงต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำในองค์กรชุมชน สร้างพื้นที่ประสานงาน ยกระดับกลไกจากระดับพื้นที่สู่ระดับจังหวัดและระดับชาติ นำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะยาว สร้างการยอมรับและพื้นที่การมีส่วนร่วมของผุ้หญิง เปิดโอกาสให้สตรีมีบทบาทในกระบวนการพัฒนา การตัดสินใจ และการจัดการชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงพลังของผู้หญิง และขยายแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม ผลักดันความเท่าเทียมทางสิทธิและโอกาส สร้างการรับรู้และผลักดันให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทผู้หญิงในทุกระดับ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและยุติธรรม ส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน ครอบครัวเป็นรากฐานของสังคมที่มั่นคง หากครอบครัวมีความเข้มแข็ง ลูกหลานจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ เครือข่ายสตรีต้องเป็นเจ้าภาพในการผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการ ครอบครัว ผู้สูงอายุ เยาวชน และสุขภาวะของประชาชน  ขับเคลื่อนพลังสตรีสู่การพัฒนาท้องถิ่น จากระดับชุมชนสู่ระดับจังหวัดและระดับชาติ ขบวนผู้หญิงต้องเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างเสียงที่เข้มแข็ง สร้างการยอมรับในบทบาทของสตรี พร้อมกับขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นางสาวสมสุข  ได้กล่าวต่อไปอีกว่า ลักษณะการทำงานของผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายอย่างชัดเจน ผู้ชายมักดำเนินงานแบบ แนวดิ่ง เน้นกฎระเบียบ โครงสร้าง และเงินทุนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในทุกบริบท ขณะที่ผู้หญิงให้ความสำคัญกับ การทำงานแนวราบ โดยเน้นความละเอียด รอบคอบ ใช้การสื่อสารที่เปิดกว้าง และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นภายในชุมชน  ผู้หญิงมี ทักษะการบริหารจัดการทางสังคม ที่โดดเด่น ทั้งในเรื่องของการสร้างความร่วมมือ การจัดการกองทุน การเชื่อมโยงข้อมูลในชุมชน และการส่งเสริมวัฒนธรรมการออม ซึ่งทำให้สามารถสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้มากกว่า ทิศทางและเป้าหมายสำคัญของขบวนแม่หญิงไทย 1️ ผลักดันให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งทุกครอบครัวต้องมีความอบอุ่น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข2️สร้างชุมชนที่มั่นคงและปลอดภัยพัฒนาสังคมให้มีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สวัสดิการ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชน 3️ขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ขยายบทบาทของสตรีในการพัฒนานโยบายและกลไกของท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4️สร้างเครือข่ายขบวนสตรีระดับจังหวัดและระดับชาติเชื่อมโยงพลังของสตรีจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศ เพื่อเป็นกระบอกเสียงและพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง 5️ส่งเสริมสิทธิและศักยภาพของสตรีในทุกมิติ
ให้ผู้หญิงมีบทบาทที่สำคัญในสังคมทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

พลังของผู้หญิงแรงกระเพื่อมที่เปลี่ยนแปลงสังคมไทย จากบทบาทที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า สตรีสามารถเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ทั้งในแง่ของการใช้ข้อมูลจริงในการวางแผนพัฒนา การเชื่อมโยงเครือข่ายสู่ระดับนโยบาย และการสร้างขบวนการที่เข้มแข็งตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ หากขบวนสตรีได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่ครอบครัวจะมีคุณภาพ แต่ชุมชนและประเทศชาติจะสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีพลัง เพราะ "เมื่อผู้หญิงเข้มแข็ง สังคมก็แข็งแกร่ง"  นางสาวสมสุข  กล่าวในตอนท้าย

เวทีเสวนา “ผู้หญิงไทยกับการพัฒนาสังคมและวิกฤติประเทศไทย”

พลังสตรีกับการขับเคลื่อนสังคม: เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยBottom of Form

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช.   กล่าวว่า  ธรรมชาติได้มอบพลังบางอย่างให้กับผู้หญิงโดยกำเนิด ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเกิดที่สูงกว่าผู้ชาย หรือ อายุขัยเฉลี่ยที่ยาวนานกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นข้อได้เปรียบที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงมีศักยภาพในการเป็นกำลังหลักของสังคม ในปัจจุบัน ประเด็นเรื่อง ความเสมอภาคทางเพศ ในประเทศไทยได้ก้าวผ่านจุดของการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานมาแล้ว สิ่งที่สำคัญในขณะนี้คือ การเสริมพลังให้ผู้หญิงมีบทบาทและอำนาจในการขับเคลื่อนงานมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากแนวโน้มที่ผู้หญิงมีบทบาทในภาคการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ วิกฤตโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระยะยาว ได้แก่ สถาบันครอบครัวอ่อนแอ จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้ประชากรลดน้อยลงเรื่อย ๆ หนี้สินครัวเรือนพุ่งสูง ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในระดับฐานรากอ่อนแอลง ปัญหาสุขภาวะของประชากรสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลง ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารากฐานของประเทศกำลังอ่อนแอลง เนื่องจากประชากรขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัด

นายกฤษดา กล่าวถึง การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการสนับสนุนจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบายสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  สนับสนุนการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของชุมชน  เครือข่ายองค์กรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการ สนับสนุนพื้นที่ให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้ และที่สำคัญ การขับเคลื่อนของเวทีเครือข่ายผู้หญิง ถือเป็น กลไกสำคัญ ในการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่

พอช. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายสตรี ให้สามารถเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน การส่งเสริมรูปแบบกลไกที่ยั่งยืน เพื่อให้การทำงานในพื้นที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การสนับสนุนทรัพยากรและองค์ความรู้ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองและกำหนดทิศทางอนาคตของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ผู้หญิงไม่ได้เป็นเพียง "แรงสนับสนุน" ในสังคมอีกต่อไป แต่กำลังกลายเป็น "พลังหลักในการขับเคลื่อน" ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ การที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคงได้ ต้องอาศัยพลังของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการให้ผู้หญิงได้มีโอกาสในการกำหนดทิศทางของตนเอง รวมถึงการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง   เพราะเมื่อ ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศก็จะแข็งแกร่ง และเมื่อ ผู้หญิงมีพลัง สังคมก็จะมีอนาคตที่มั่นคงยั่งยืน นายกฤษดา กล่าวทิ้งท้าย

แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น ๕ ภาค สรุปบทเรียนที่ผ่านมาเตรือข่ายผู้หญิง

ผู้หญิงไทย พลังแห่งความหวังและการเปลี่ยนแปลง

 "เพราะเมื่อผู้หญิงเข้มแข็ง...ชุมชนก็เข้มแข็ง เมื่อชุมชนเข้มแข็ง...ประเทศก็มั่นคง" ความสำเร็จของขบวนผู้หญิงไทยคือการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ชุมชน โดยผ่านค่านิยม 'W-O-M-E-N' มีความหมายคือ W = work ทำงานอย่างมีเป้าหมาย   O = Organize จัดระบบการบริหารจัดการ ที่มีคุณภาพ     M = More ทำให้มากกว่าที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น    E = Experience เรียนรู้จากประสบการณ์จริง   N = New สร้างสิ่งใหม่ๆเพื่อการเปลี่ยนแปลทำงานเป็นทีม เรียนรู้จากประสบการณ์ และไม่หยุดพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เป็นการเสริมสร้างความเสมอภาคและสิทธิชุมชนสำหรับผู้หญิงไทย  พัฒนาขบวนผู้หญิงให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้  สนับสนุนกองทุนผู้หญิงเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่น ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นในสังคม  "พลังผู้หญิงไทย... คือพลังที่เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สร้างสังคมให้เข้มแข็งจากภายใน ด้วยสองมือและหัวใจที่มุ่งมั่น เพราะเมื่อผู้หญิงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” เมื่อผู้หญิงเข้มแข็ง ครอบครัวก็เข้มแข็ง ชุมชนเราวันนี้มีทางออกจากวิกฤตเพราะทุกคนช่วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

“ผู้หญิงไทยใจอาสา มุ่งมั่นพัฒนาสังคมไทย    ให้เป็นสุขอย่างยั่งยืน”

แลกเปลี่ยนมุมมองจากเครือข่ายผู้หญิง ๕ ภาค

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

UN-Habitat เยือนพื้นที่บ้านมั่นคงรามคำแหง 39 ต้นแบบพัฒนา “ทั้งย่าน” สู่สิทธิการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน

กรุงเทพฯ-23 พฤษภาคม 2568 นางอนาคลาวเดีย โรสบาค (Ms. Anacláudia Rossbach) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ

จากชุมชนถึงจังหวัด! พอช.เสริมพลังผู้นำภาคเหนือ สู่ 'จังหวัดจัดการตนเอง'" เปิดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน 9 จังหวัด เน้นกระจายอำนาจ สร้างฐานพลังพลเมือง หนุนท้องถิ่นเข้มแข็ง

วันที่ 23 เมษายน 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่จังหวัดจัดการตนเอง” ครั้งที่ 1

"UN-Habitat" ชื่นชมไทย ขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยเพื่อทุกคน – ดันเป็นเจ้าภาพ Habitat IV ปี 2026

รมว.พม. ต้อนรับรองเลขาฯ UN-Habitat ร่วมถกความร่วมมือระดับภูมิภาค พร้อมเปิดทางสู่การประชุมนานาชาติด้านเมืองและที่อยู่อาศัยในอนาคต

"วราวุธ" ผนึก พม.-ทส. เดินหน้า “กระเสียวโมเดล” แก้ปัญหาน้ำขาดแคลน หนุนเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนานิคมสร้างตนเอง

วันที่ 21 เมษายน 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดโครงการกระเสียวโมเดล :

'แพทองธาร' เปิดงาน SML โชว์ผลงาน 3 ชินวัตร หนุนชุมชนเข้มแข็ง

"แพทองธาร" เปิดงานใหญ่โชว์พัฒนาการกองทุนหมู่บ้านจากยุค "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน มั่นใจโครงการเล็กสร้างเศรษฐกิจใหญ่ ยาหอมชุมชนไหนทำดีได้งบเพิ่มแน่นอน

“เร่งฟื้นฟูชุมชนโรงธูป! ราชบุรี พอช. ผนึกภาคีท้องถิ่นช่วยผู้ประสบภัยไฟไหม้ วางแผนฟื้นฟูที่อยู่อาศัยทั้งระยะสั้น-ระยะยาว”

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ผนึกกำลังภาคีท้องถิ่น-ชุมชน ร่วมวางแนวทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือน 17