“เยอ เก๊ กะโพล่ว พุเม้ยง์” เราคือกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น (1) “ดินคือชีวิต น้ำคือสายเลือด ป่าคือจิตวิญญาณ”

เมื่อก่อนตอนผมยังเด็ก  อายุประมาณ 10 ขวบ  ช่วงฤดูทำไร่  ตอนเช้าจะเดินตามพ่อแม่ออกไปไร่  พ่อแม่จะร้องเพลงกะเหรี่ยง  ผมก็ร้องตามไปด้วย  เป็นเพลงเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยง  ธรรมชาติ  พออยู่ในไร่ก็จะได้ยินเสียงหนุ่มสาวที่อยู่ในไร่ข้างๆ ร้องเพลงจีบกัน  ชีวิตตอนนั้นรู้สึกว่ามีความสุขมาก”  ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ตำบลทองหลาง  อำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี  เล่าถึงชีวิตในวัยเด็ก

วันนี้ลุงอังคารอายุย่างเข้า 55 ปี  นอกจากจะเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนชาวกะเหรี่ยงแล้ว  ลุงอังคารยังมีฐานะเป็น ผู้ช่วยเจ้าวัตร อีกด้วย 

ลุงขยายความว่า เจ้าวัตรหรือ เจ้าวัดคือผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ  เป็นกะเหรี่ยงโปว์หรือโพล่ว  (กะเหรี่ยงมีหลายกลุ่ม  ประเพณีแตกต่างกันไป) ไม่ได้บวชแบบพระ  แต่นุ่งขาว  ห่มขาว  เกล้าผมมวย  สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้  ยึดถือศีล 5  อย่างเคร่งครัด  เป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนชาวกะเหรี่ยง  ตำแหน่งเจ้าวัตรจะสืบทอดต่อกันมาทางบรรพบุรุษ  ชาวบ้านจะให้ความเคารพ  เชื่อถือในคำสั่งสอน  เป็นผู้นำในการทำพิธีต่างๆ ของชาวกะเหรี่ยง  เช่น  พิธีทำบุญไหว้เจดีย์  ก่อเจดีย์ทราย  ทำบุญข้าวใหม่  ไหว้แม่โพสพ  ฯลฯ

เจ้าวัตร  ผู้นำทางจิตวิญญาณ

จาก พุเม้ยง์เป็น ภูเหม็น

อำเภอห้วยคต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุทัยธานีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 45  กิโลเมตร  ส่วนบ้านภูเหม็นอยู่ห่างจากอำเภอห้วยคตประมาณ 27 กิโลเมตร  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง  ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมานานนับร้อยปี  มีหลักฐานว่าบ้านภูเหม็นมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี พ.ศ.2415 หรือในสมัยรัชกาลที่ 5  

ปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยประมาณ 200 ครอบครัว  ประชากรประมาณ 800 คน  หาอยู่หากินตามธรรมชาติ  ปลูกข้าวไร่  ฟักทอง  พริก  พืชผักต่างๆ  สับปะรด  ลำไย  ทุเรียน  ส้มโอ  มะละกอ   กล้วย  ฯลฯ  ไม่นิยมเลี้ยงสัตว์

ลุงบ่อป่อย  ภูเหม็น  อดีตผู้ใหญ่บ้านภูเหม็นคนที่ 10  ปัจจุบันอายุ  65 ปี  บอกว่า  ลุงเกิดที่บ้านภูเหม็นปี  2500เมื่อก่อนบ้านภูเหม็นจะเป็นป่าไผ่หนาแน่น  ส่วนชื่อภูเหม็นมาจากชื่อของหมู่บ้าน  เรียกว่า พุเม้ยง์ เป็นชื่อต้นไม้ (ต้นเข้าพรรษา  เป็นพืชล้มลุก  ตระกูลขิง  มีดอกสีเหลือง  ออกดอกในช่วงเข้าฤดูฝน  คนสระบุรีใช้ใส่บาตรในวันเข้าพรรษา)  ชอบขึ้นใกล้ลำห้วย  ที่บ้านพุเม้ยง์ (ออกเสียงขึ้นจมูก) มีต้นไม้นี้มาก  จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามนั้น  แต่คนบ้านอื่นเรียกไม่ถนัด  จึงออกเสียงเป็น ภูเหม็น

‘ดอกพุเม้ยง์’  กับเด็กน้อยกะเหรี่ยง

เมื่อก่อนความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยงสบายกว่านี้  เพราะทำมาหากินสะดวก  ปลูกข้าวไร่  หาผัก  หาปลาในห้วย  เอาข้าวไปแลกเกลือกับพ่อค้า  ข้าว 1   ถังต่อเกลือ 1 ถัง  เอาเกลือมาใส่ปลา  ตากแห้งเก็บไว้จะได้กินนานๆ  และเอาข้าวแลกกับปลาทู  หอม  กระเทียม  ขาดเหลืออะไรก็แลกกับพ่อค้า  ไม่ค่อยได้ใช้เงิน  ชาวบ้านจะปลูกข้าวไร่เป็นหลัก  เป็นพันธุ์ข้าวเหลือง  ข้าวลาย  หุงสุกแล้วนิ่ม  กินอิ่มท้อง  แต่ตอนหลังชาวบ้านเริ่มหันไปปลูกมันสำปะหลัง  ปลูกข้าวโพดขาย  เพราะทำไร่ข้าวไม่ได้ ลุงบ่อป่อยฉายภาพในอดีต

ลุงบอกว่า  ลุงเป็นผู้ใหญ่บ้านภูเหม็นตั้งแต่ปี 2535  จนเกษียณอายุในปี 2560   ตลอดเวลาที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน  รวมถึงก่อนหน้านั้น  บ้านภูเหม็นไม่เคยมีคดีความ  แม้แต่ลักเล็กขโมยน้อยก็ไม่มี  ข้าวของพืชไร่ปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่หาย  ทุกคนอยู่กันแบบพี่น้อง  ไม่มีใครอยากได้ของใคร  ไม่มีคนกินเหล้า  ไม่ตีกัน  ไม่ทะเลาะกัน 

ถ้าหมู่บ้านไหนที่มีเจ้าวัตรอยู่  ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นจะไม่เลี้ยงสัตว์  เพราะเจ้าวัตรจะมีข้อห้ามไม่ให้เลี้ยงสัตว์   ไม่ให้ฆ่าสัตว์  ไม่ว่าไก่หรือหมูก็จะห้ามเลี้ยงเอาไว้กิน  เพราะถือว่าเป็นการฆ่าลูกตัวเอง   ชาวบ้านเชื่อถือเจ้าวัตรจึงไม่เลี้ยง   และไม่ฆ่าสัตว์เลี้ยงของตัวเอง 

เจ้าวัตรนุ่งขาว  ห่มขาว เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ

วิถีชีวิตเปลี่ยน  วัฒนธรรมชุมชนถูกทำลาย

ลุงอังคาร เสริมว่า  ชาวกะเหรี่ยงโดยทั่วไปมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ  มีวิธีการทำไร่แบบหมุนเวียน  ใช้เนื้อที่ประมาณ 5-10 ไร่เพื่อปลูกข้าวไร่  ฟักทอง  แตง  พริก  มะเขือ  เผือก  ฯลฯ  เก็บผักและอาหารจากป่า  เช่น  เห็ด  หน่อไม้  น้ำผึ้ง  เอาขี้ผึ้งมาทำเทียนไขเพื่อใช้ในพิธีกรรม  พอปีต่อไปก็จะหมุนเวียนจากไร่ข้าวแปลงนี้ไปปลูกแปลงอื่น  เพื่อให้ดินได้พักฟื้น  และกลับมาสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย  ไม่ใช่เป็นการทำไร่เลื่อนลอยตามที่คนภายนอกหรือหน่วยราชการเข้าใจ  แต่เป็นการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป  

ลุงอังคาร  ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นและมีฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าวัตร  นอกจากนี้ยังสอนหนังสือกะเหรี่ยงด้วย

เมื่อก่อนพวกผมตื่นแต่เช้าก็จะพากันเดินไปไร่  เดินไปร้องเพลงกันไปอย่างมีความสุข  เพราะได้ทำมาหากินอยู่กับธรรมชาติ  ประมาณปี 2515  มีการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทางเจ้าหน้าที่ก็ห้ามเข้าป่าห้วยขาแข้ง  ห้ามหาน้ำผึ้ง  พอถึงปี 2528 ชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบ  เพราะมีการประกาศเขตป่าสงวนฯ ป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควายทับที่ดินทำกินที่ชาวกะเหรี่ยงทำมาแต่เดิม  

พอปี 2535 มีการประกาศเป็นเขตปลูกสวนป่า  เจ้าหน้าที่เอาต้นไม้มาปลูกทับที่ทำกินอีก  ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน  เพราะเจ้าหน้าที่ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำไร่หมุนเวียนในสวนป่า  ขู่จะจับ  และยึดที่ดิน  ตอนนั้นชีวิตผมและคนอื่นๆ ไม่มีความสุขแล้ว  ผมจึงคิดจะประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายในไร่ทั้งครอบครัว  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รู้  แต่มีความเป็นห่วงลูกหลานที่ยังอยู่จึงเลิกความคิด”  ลุงอังคารบอกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

เมื่อชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจึงทำให้ที่ดินทำกินเหลือน้อยลงเพียงไม่กี่ไร่  บางครอบครัวไม่ที่ทำกินเลย  ต้องอาศัยพื้นที่ว่างตามซอกเขาไม่ถึง 1 ไร่เป็นที่ทำกิน  แต่ก็ไม่เพียงพอ  และต้องทำไร่แบบหลบๆ ซ่อนๆ  เพราะกลัวเจ้าหน้าที่จะมาจับ   ต้องออกไปทำไร่แต่เช้ามืด  พอพระอาทิตย์ขึ้นจึงกลับเข้าบ้าน  เพราะเจ้าหน้าที่จะออกตรวจพื้นที่ในช่วงสายๆ 

เมื่อไม่มีที่ดินทำกิน  ไม่มีรายได้  ไม่มีข้าวและอาหาร   ชาวกะเหรี่ยงจึงต้องไปกู้ยืมเงินจากพ่อค้าพืชไร่  ดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาทต่อเดือน  หรือเอาบ้านไปจำนอง ธกส. และต้องเปลี่ยนจากการทำไร่ข้าวแบบวิถีดั้งเดิมมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี  เช่น  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด  ต้องซื้อเครื่องฉีดพ่นสารเคมี  จ้างรถไถ  ฯลฯ  ปลูกเพื่อขายเอาเงินมาซื้อกินและใช้หนี้   ประเพณีดั้งเดิมหายไป  เช่น  พิธีทำขวัญข้าว  ไหว้แม่โพสพ  กินข้าวใหม่ ฯลฯ  เพราะไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวแล้ว

ที่ดินคือชีวิต  ไม่มีที่ดินก็ไม่มีข้าว  ไม่มีข้าวก็ไม่มีชีวิต

ใช้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  แก้ไขปัญหา

ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวกะเหรี่ยงยังยืดเยื้อมานานหลายสิบปี   โดยเฉพาะในระหว่างปี 2557-2560 สถานการณ์เริ่มตึงเครียด  เนื่องจากมีการประกาศเขต อุทยานห้วยคต เมื่อ 23 กรกฎาคม 2557 เนื้อที่ 15,530 ไร่  ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  และจะให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ดินใหม่ในอำเภอลานสัก (เป็นแปลงปลูกป่าเก่า  ผืนดินไม่สมบูรณ์) ภายในเดือนเมษายน 2560  ในระหว่างนี้มีชาวกะเหรี่ยงถูกจับกุมดำเนินคดี 1 รายในข้อหาบุกรุกป่า  ต่อมาศาลได้ยกฟ้อง  เพราะเห็นว่าชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน  

ลุงอังคารเล่าว่า  ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ไปร้องเรียนที่อำเภอและจังหวัดแต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข  ในเดือนเมษายน2560  จึงไปร้องเรียนต่ออนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ก่อนที่จะถึงกำหนดให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายออกจากบ้านภูเหม็นเพียงไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม  การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นไม่ได้โดดเดี่ยว  เพราะยังมีที่ปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  จังหวัดอุทัยธานี  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  (องค์การมหาชน)

การจัดประชุมสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น

สมบัติ  ชูมา  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  จ.อุทัยธานี  บอกว่า  ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  เมื่อเรื่องไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  จึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนชาวกะเหรี่ยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560  โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาแก้ไขปัญหาจำนวน 2 ชุด  โดยจะใช้ มติคณะรัฐมนตรี  3 สิงหาคม 2553  เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่มีอยู่แล้วมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา  ใช้เวลาประมาณ 2 ปีเศษ  ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นจึงได้รับการแก้ไข

โดยในเดือนสิงหาคม  2562  ชุมชนชาวกะเหรี่ยงและทีมที่ปรึกษาได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าอุทยานห้วยคต  จนได้ข้อตกลงว่า  อุทยานฯ จะกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน  และให้ชาวบ้านบริหารจัดการ  ดูแลรักษาป่า  รวมทั้งเพื่อให้เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงตามมติ ครม.ดังกล่าว  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  13,000 ไร่เศษ  (ดูรายละเอียดได้จากหนังสือ พุเม้ยง์”  พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ จัดทำโดย ผศ.ดร.วรวิทย์  นพแก้ว  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พ..2563)

ทั้งนี้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553’  มีที่มาจากคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชาชีวะ  ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553  โดยเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ เช่น  1. ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าที่มีหลักฐานประจักษ์ว่าชุมชนอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว   2.ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเรื่องที่ทำกิน ฯลฯ  เพื่อปกป้องและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบางให้สามารถดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองต่อไปได้

“ดินคือชีวิต  น้ำคือสายเลือด  ป่าคือจิตวิญญาณ”

นอกจากการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นดังกล่าวแล้ว  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ชุมชนชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดต่างๆ ได้ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิและผืนดินของตน  โดยใช้แนวทางตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง  มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง  ชาวกะเหรี่ยงยังถูกขับไล่หรือถูกจับกุมดำเนินคดี  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 

ดังนั้นพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้มติ ครม. ดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติ  โดยสนับสนุนการจัดตั้ง ‘เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ ขึ้นมา  เพื่อคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถดำรงวิถีชีวิต  ประเพณี  และวัฒนธรรมของตนเองได้

โดยมีชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่จัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมแล้ว  จำนวน  12  พื้นที่ในภาคเหนือ  เช่น  บ้านห้วยลาดหินใน ต.ป่าโป่ง  อ.เวียงป่าเป้า  จ.เชียงราย,  บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน  อ.แม่วาง  จ.เชียงใหม่, ชุมชนบ้านกลาง  อ.แม่เมาะ  จ.ลำปาง, บ้านดอยช้างป่าแป๋  ต.ป่าพลู  อ.บ้านโฮ่ง  จ.ลำพูน  ฯลฯ  ส่วนบ้านภูเหม็นได้มีการจัดงานสถาปนาเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563

พิธีสถาปนาเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมที่บ้านภูเหม็นเมื่อเดือนธันวาคม 2563

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านพุเม้ยง์  บอกว่า  เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงก็คือ  การดำรงวิถีชีวิตตามปกติของชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง  คือ  มีการทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวและอาหารเอาไว้กิน  มีจารีต  มีประเพณี  มีวัฒนธรรมอย่างไร  เราก็ปฏิบัติไปตามนั้น  ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องพิเศษแต่อย่างใด  แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ยอมรับในเรื่องสิทธิที่ดินที่พวกเราอยู่มาก่อน  เราจึงต้องเรียกร้องเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมขึ้นมา  และเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดอยู่อาศัยและทำกินต่อไป   

กะเหรี่ยงมีกฎที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  คือ  กฎจารีต  กฏประเพณี  และกฎวัฒนธรรม  แต่ที่ผ่านมาเราถูกกฎหมายเพียงกฎเดียวที่มากดขี่  บีบบังคับพวกเรา  เราจึงต้องต่อสู้และฟื้นฟูทั้งกฎของเราขึ้นมาเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนกะเหรี่ยง  ลุงอังคารบอก

นอกจากนี้ลุงอังคารยังบอกด้วยว่า  ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นได้รับการสั่งสอนจากเจ้าวัตรให้ดูแลรักษา ดิน  น้ำ  ป่า  เพราะ ดิน คือชีวิต  เหมือนร่างกายคนเราที่ต้องมีเนื้อ  มีหนัง  มีกระดูก  น้ำ  คือ  เลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย  เป็นเลือดพ่อเลือดแม่  ทำให้เรามีชีวิต  และ ป่า  คือ พลังหรือจิตวิญญาณ

 ดิน  น้ำ  ป่า  ต้องพึ่งพาอาศัยกัน  เป็นวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง  หากขาดอะไรไป  คนกะเหรี่ยงก็อยู่ไม่ได้  เราจึงต้องรักษาดินน้ำป่าเอาไว้  ลุงอาคารบอกทิ้งท้าย

เด็กๆ กะเหรี่ยงรุ่นใหม่ยึดถือประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างเหนียวแน่น

 

(ติดตาม “เยอ  เก๊  โพล่ว”  เราคือกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ตอน 2)

เรื่องและภาพ  โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา