ชาวบ้านและสมาชิกสภาองค์กรชุมชนฯ ที่เอาสินค้ามาขายที่ตลาดนอกทุ่ง
พืชผักที่ปลูกเองขายเอง
ตำบลหนองกระเจา อำเภอชุมแสง อยู่ห่างจากตัวเมืองนครสวรรค์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร มี 14 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,400 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา รับจ้าง ค้าขาย ฯลฯ เป็นอีกตำบลหนึ่งที่ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น
สร้างกองทุนหมุนเวียนในตำบล
ยอดชาย กระหล่ายพันธ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองกระเจา บอกว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ จัดตั้งในปี 2552 ปัจจุบันมีสมาชิกที่มาจากกลุ่มต่างๆ ในตำบลประมาณ 40 กลุ่ม เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ มีกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อน
เช่น โครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนครัวเรือนที่ยากจนในตำบล โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณไม่เกินหลังละ 19,000 บาท และสภาองค์กรชุมชนฯ จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ เช่น สำรวจครัวเรือนที่เดือดร้อน จัดประชาคมรับรองสิทธิ์ผู้เดือดร้อน จัดซื้อวัสดุก่อสร้าง ตรวจสอบ ฯลฯ
ส่วนหนึ่งของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองกระเจา
เริ่มดำเนินการในปี 2561 จำนวน 21 หลัง ปี 2562 จำนวน 19 หลัง ปี 2563 จำนวน 9 หลัง โดยมีกฎระเบียบร่วมกัน คือ ชาวบ้านที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมบ้านจะต้องสมทบเงินกลับคืนเข้าสู่กองทุนบ้านพอเพียง เดือนละ 100 บาท จนกว่าจะครบตามจำนวนงบที่ได้รับการสนับสนุน เพื่อให้กองทุนไม่หมดไป สามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนรายอื่นๆ ได้อีก ที่ผ่านมาได้ใช้กองทุนซ่อมบ้านให้ผู้เดือดร้อนไปแล้ว 8 ราย
“นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในตำบลที่ได้รับผลกระจากโควิด โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ 50,000 บาท สภาฯ นำมาใช้ส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน เช่น แจกพันธุ์กบ ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุก เพาะเห็ดโคนน้อย เพื่อเป็นอาหารในครอบครัว เหลือกินก็นำมาขาย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง
ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยเราจะให้ชาวบ้านที่ได้รับการช่วยเหลือสมทบเงินคืนเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท ตอนนี้มีสมาชิกที่ส่งเงินเข้ากองทุนประมาณ 140 คน มีเงินกองทุนประมาณ 30,000 บาท และจะเอาเงินกองทุนนี้ไปส่งเสริมเรื่องอาชีพต่อไป” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองกระเจาบอกถึงการส่งเสริมอาชีพและจัดการกองทุนให้เกิดการหมุนเวียน
‘นอกทุ่ง มาร์เก็ต’ ตลาดนัดวันโกนและแผนการขายที่เหนือชั้น
สรัญชณา กันสุข กำนันตำบลหนองกระเจา ในฐานะเลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลฯ เสริมว่า ชาวบ้านหนองกระเจาส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปลูกข้าวหอมมะลิปีละ 1 ครั้ง ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่ปลายปีจนถึงหน้าแล้งจะว่างงาน แกนนำสภาองค์กรชุมชนฯ จึงคุยกันเรื่องส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน โดยเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สภาองค์กรชุมชนฯ ส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด แล้วนำผลผลิต พืชผัก ข้าวปลา อาหาร ขนม เครื่องจักสาน ฯลฯ ที่แต่ละครัวเรือนมีอยู่ นำมาขายในตลาดนัด
“เราจึงเปิดตลาดนัด ‘นอกทุ่ง มาร์เก็ต’ ขึ้นมา ความหมายคือ วิถีชีวิตของชาวหนองกระเจาเป็นคนบ้านนอก ทำมาหากินอยู่ในทุ่ง ในนา เมื่อเก็บเกี่ยว ได้ผลผลิตแล้วก็จะนำมาแลกเปลี่ยน ค้าขายกัน ‘นอกทุ่ง’ และยังเชื่อมโยงกับการทำบุญตักบาตร เพราะส่วนใหญ่ชาวหนองกระเจาจะเตรียมข้าวของในวันโกนเพื่อทำอาหาร ทำขนมไปตักบาตรที่วัดทุกวัดพระ เราจึงเปิดตลาดนอกทุ่งทุกวันโกน เพราะนอกจากจะขายให้ชาวบ้านที่เตรียมทำอาหารตักบาตรแล้ว คนที่มาซื้อก็จะต้องซื้อไปฝากคนที่บ้านด้วย เช่น ถ้าซื้อขนม 2 ห่อสำหรับตักบาตร ก็อาจจะซื้อฝากที่บ้านอีก 2-3 ห่อ ทำให้คนขายๆ ได้มากขึ้น” สรัญชณาบอกถึงแผนการขายระดับเซียนการตลาดต้องไปหาซื้อเข็มขัดเส้นใหม่
สรัญชณา (ยืนขวาสุด)
นอกทุ่งมาร์เก็ต เริ่มเปิดตลาดนัดในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เริ่มแรกใช้พื้นที่บริเวณหน้าวัดเนินตะโก ซึ่งอยู่ติดถนนใหญ่ มีผู้คนสัญจรไปมาเยอะ แต่มีเมื่อการก่อสร้างขยายถนน ทำให้มีปัญหาฝุ่นควัน ปัจจุบันจึงย้ายมาอยู่ใกล้สามแยกเนินตะโก เปิดจำหน่ายทุกวันโกน (ก่อนวันพระ 1 วัน) และเปิดเพิ่มทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 6 -9 โมงเช้า มีแคร่และโต๊ะไม้ไผ่ให้ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านนำข้าวของต่างๆ มาวางขาย รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่ตำบลใกล้เคียงได้ค้าขายประมาณ 30 ราย
มีพืชผักต่างๆ ที่ปลูกเอง เช่น ข้าวโพด มะละกอ มะรุม ฟัก มะเขือ แตงกวา สายบัว หน่อไม้สด หน่อไม้ดอง หัวปลี พริกขี้หนู กล้วย ส้ม ปลาสด ปลาแดดเดียว ปลาช่อนนา ปลากด ปลาค้าว ตะเพียน ทับทิม ไข่เป็ด ไข่ไก่ แมลงกระชอน แกงเผ็ด แกงป่า ทอดมัน หมูปิ้ง-ข้าวเหนียว น้ำพริก ผักต้ม ขนมต่างๆ เช่น ตะโก้ ขนมไส่ใส้ ขนมตาล ลูกชุบ กล้วยทอด ขนมหม้อแกงโบราณ เครื่องจักสาน เช่น ตะกร้า กระบุง กระจาด กระเป๋า ถ่านหุงข้าว ปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ
แม่ค้าแต่งกายย้อนยุคสร้างสีสัน
ลูกชุบหน้าตาน่ากิน
“นอกทุ่งมาร์เก็ต เป็นตลาดเล็กๆ ที่ไม่ใหญ่มาก แต่เป็นช่องทางให้ชาวบ้านที่มีผลผลิตเหลือกินเอามาค้าขายกัน ใครมีฝีมือทำขนม ทำอาหารก็เอามาขาย ถ้าเหลือก็เอามาแลกเปลี่ยนกันกิน บางคนอาจจะขายได้วันละ 300-500 บาท บางคนอาจจะได้เป็นพัน ช่วยให้ชาวบ้านได้มีที่ค้าขายในช่วงโควิด” สรัญชณาบอก
เธอบอกด้วยว่า ตลาดนอกทุ่งฯ ได้เปิดเฟสบุคส์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกันระหว่างคนซื้อกับคนขาย ใช้ชื่อเฟสบุคส์ว่า ‘ตลาดพื้นบ้าน-นอกทุ่ง Maket’
เช่น Varanya Seangpayap โพสต์ข้อความว่า “พรุ่งนี้มีแกงเขียวหวานปลากราย แกงปลาใบยอ ห่อหมก ผัดพริกแกงไก่บ้าน ล้วนแล้วมีแต่อาหารอร่อย สะอาด ปราศจากฝุ่นและความสกปรกค่ะ”
เด็กนักเรียนใช้เวลาว่างช่วยพ่อแม่ขายอาหาร
สภาองค์กรชุมชนเตรียมจัดทำ ‘ธรรมนูญตำบลผู้สูงอายุ’
นอกจากนี้ในวันเปิดตลาดนัด สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองกระเจาได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม. เปิดบริการ ‘ศาลาคลายเมื่อย’ โดยจะนำสมุนไพร เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และการบูร นำมาต้มรวมกันในหม้อ เมื่อน้ำสมุนไพรเดือดจะปล่อยให้คลายความร้อน แล้วนำมาใส่กะละมังใบเล็กเพื่อให้คนที่มาจับจ่ายซื้ออาหาร รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าได้มานั่งพัก แช่เท้าลงในน้ำสมุนไพรอุ่นๆ ช่วยให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อเท้า เลือดลมไหลสะดวก หายเมื่อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่นิยมมานั่งแช่เท้าในศาลาคลายเมื่อย
เจ้าหน้าที่ รพ.สต.มาช่วยบริการในศาลาคลายเมื่อย
ยอดชาย กระหล่ายพันธ์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองกระเจา บอกว่า นอกจากการขับเคลื่อนงานดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ในปีนี้สภาองค์กรชุมชนฯ จะทำเรื่อง ‘ธรรมนูญตำบลผู้สูงอายุ’ เพื่อส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของผู้สูงอายุในตำบล เนื่องจากในตำบลหนองกระเจาขณะนี้มีผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 20 % (จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 4,400 คน) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง และผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจ หรือป่วยติดเตียง ทำให้เป็นภาระต่อลูกหลาน หรือหากใครไม่มีลูกหลานดูแลช่วยเหลือก็จะใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หรืออาจถูกทอดทิ้ง
“สภาองค์กรชุมชนฯ จะร่วมมือกับ รพ.สต. อสม. อบต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำธรรมนูญตำบลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุและบุตรหลานมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน เช่น งดอาหารหวาน มัน เค็ม ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง อารมณ์แจ่มใส ไม่เหงา ไม่เป็นโรคเรื้อรัง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข” ประธานสภาฯ บอกทิ้งท้ายถึงแผนงานต่อไป
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
CP LAND รุกโครงการบ้านเดี่ยว ส่ง SŌLVANI ปูพรมภาคกลาง พิษณุโลก – นครสวรรค์ จับตลาดบน
CP LAND บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย เดินหน้าสานต่อบุกตลาดบ้านเดี่ยวระดับพรีเมียมโซนภาคกลาง พิษณุโลก-นครสวรรค์
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ