การเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดทำร่างกฎหมายสำคัญโดยแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ปี 2015 (2015 World Anti – Doping Code : WADC) ขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti – Doping Agency : WADA) โดยได้จัดทำร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. .... ขึ้น เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา แก้ไขปรับปรุงรายการสารต้องห้ามและวิธีการต้องห้าม การห้ามการกระทำละเมิด การพิจารณาอนุญาตใช้สารต้องห้ามเพื่อการรักษา การพิจารณากำหนดโทษ การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์        การกำหนดโทษทางการกีฬาให้สอดคล้องและเป็นไปตามประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกและมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนานักกีฬาและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินกิจกรรมกีฬาอย่างเป็นธรรม (Fair play) และปราศจากการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานขององค์กรกีฬานานาชาติ และกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากลในทางการกีฬา ซึ่งจะส่งผลให้ WADA พิจารณายกเลิกมาตรการลงโทษต่าง ๆ รวมถึงการปลดล็อกเรื่องการใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬาระดับชาติและระดับนานาชาติ

ในส่วนของร่างกฎหมายทางด้านสังคมที่จะช่วยป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้สังคม เพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม แก้ไขปัญหาและลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ          สำนักงานฯ ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ซึ่งการมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง จะทำให้มีกลไกในการติดตามและเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือกระทำความผิดที่ใช้ความรุนแรงที่พ้นโทษแล้ว โดยใช้มาตรการที่หลากหลาย ทั้งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน รวมทั้งกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเฝ้าติดตามกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน อันจะเป็นการสร้างความปลอดภัยแก่สังคมและประชาชนมากขึ้น

ด้านการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในยุคดิจิทัล โดยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับบริการผ่านระบบดิจิทัลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว นั่นคือ ร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลและค่าธรรมเนียม พ.ศ. .... เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขอรับบริการทะเบียนราษฎรจากสำนักทะเบียน โดยประชาชนที่ประสงค์จะใช้งานต้องยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์ตัวตนและกำหนดรหัสลับประจำตัวด้วยตนเองต่อนายทะเบียนที่สำนักทะเบียนอำเภอ ทะเบียนท้องถิ่น หรือตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน โดยเมื่อพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัลแล้วจึงขอรับบริการผ่านระบบดิจิทัลได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย โดยมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 1 ปี

สำหรับร่างกฎหมายที่จะช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีจำนวน 17 เรื่อง ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การลดเงินเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการบรรเทาผลกระทบแก่ผู้นำเข้าหรือส่งออก เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019           ลดค่าอากรที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับผู้ส่งออกหรือนำเข้าที่ชำระอากรไว้ไม่ครบถ้วน ลงเหลือร้อยละ 0.25 ต่อเดือน ของค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่ม โดยต้องนำมาชำระภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565            และร่างกฎหมายตามมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) จำนวน 9 เรื่อง ประกอบด้วย ร่างพระราชกฤษฎีกา 1 เรื่อง ร่างกฎกระทรวง 4 เรื่อง และร่างประกาศ 4 เรื่อง

ร่างกฎหมายดังที่กล่าวมานั้นเป็นผลการปฏิบัติงานในรอบไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานฯ ได้รับเรื่องจากคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ มาดำเนินการแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 440 เรื่อง แบ่งออกเป็นงานจัดทำร่างกฎหมาย 112 เรื่อง (ร่างพระราชบัญญัติ 3 เรื่อง ร่างพระราชกำหนด 1 เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกา 15 เรื่อง ร่างกฎกระทรวง 42 เรื่อง ร่างประกาศ 47 เรื่อง ร่างระเบียบ 1 เรื่อง และหลักเกณฑ์ 3 เรื่อง) งานให้ความเห็นทางกฎหมาย 328 เรื่อง (ความเห็นทั่วไป 109 เรื่อง ความเห็นต่อ ครม. 219 เรื่อง)

สำหรับการติดต่อกับสำนักงานฯ ในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักงานฯ ได้ใช้การทำงานในรูปแบบ Work from Home สามารถติดต่อผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ [email protected] ในการรับ - ส่งหนังสือราชการ และใช้อีเมลภายในของสำนัก/กองกฎหมาย/สถาบัน อีเมลบุคลากรประจำฝ่าย (ผู้ประสานงาน) เป็นช่องทางในการสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกหรือตอบข้อสอบถามในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับในส่วนของการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สำนักงานฯ      ได้เผยแพร่ผ่านเพจสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพจ Thai Law Reform Commission (คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย) และเพจกองกฎหมายปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานฯ และเว็บไซต์ www.krisdika.go.th และ www.lawreform.go.th ในการประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ความรู้ ข่าวสาร และบทความด้านกฎหมาย infographic ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการร่างกฎหมาย การให้ความเห็นทางกฎหมายไปสู่ภาคประชาชน และใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานฯ ผ่านสื่อออนไลน์ของสำนักข่าวต่าง ๆ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนางานด้านกฎหมายตามภารกิจไปสู่เป้าหมาย คือ “Better Regulation for Better Life” หรือพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายที่ดี ทันต่อสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบทบาทผู้ขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

การมีกฎหมายที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'วิรุตม์' สอนมวยกฤษฎีกา ชี้ 'โจ๊ก' ถูกให้ออกจากราชการ ตาม ม.131 ไม่เกี่ยว ม.120

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีการตอบและตั้งข้อสังเกตตามหนังสือหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เปิดความเห็น 'กฤษฎีกา' กรณีสั่งให้ 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการไว้ก่อน

มีการเผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับให้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ออกจากราชการไว้ก่อน