สภาพชุมชนเดิมในเขตเทศบาลนครสวรรค์ ส่วนใหญ่อยู่อาศัยในที่ดินราชพัสดุ
ชุมชนนครสวรรค์เมืองใหม่ 102 หลัง ขณะนี้สร้างเสร็จหมดแล้ว
นครสวรรค์ / คนจนเมืองนครสวรรค์รวมพลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาล รวม 71 ชุมชน ใช้เวลา 16 ปี สร้าง ‘บ้านมั่นคง’ ไปแล้วกว่า 30 ชุมชน กว่า 4,000 ครัวเรือน ล่าสุด ‘ชุมชนหน้าวัดนครสวรรค์’ 42 ครอบครัวกำลังเร่งสร้าง คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะแล้วเสร็จ ทำให้ชาวชุมชนมีบ้านใหม่ที่มั่นคง สภาพแวดล้อมดีขึ้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 40 ชุมชนยังติดขัดปัญหาที่ดินรองรับเพราะเป็นที่ดินสงวนของทางราชการ
ปัญหาการขาดแคลนที่ดินที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองไทยมีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ก็เช่นกัน ก่อนปี 2549 มีชุมชนคนยากจน ชุมชนแออัด ชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านในที่ดินบุกรุก ทั้งของรัฐและเอกชนกว่า 70 แห่ง มีชาวบ้านที่มีความไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยนับหมื่นคน !!
ย้อนเส้นทางบ้านมั่นคงนครสวรรค์
อร่ามศรี จันทร์สุขศรี คณะทำงานการจัดการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยจังหวัดนครสวรรค์ (คทน.) กล่าวว่านครสวรรค์เป็นประตูไปสู่ภาคเหนือ และเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคกลาง ทำให้ที่ดินมีราคาแพง ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ แต่ต้องอยู่อาศัยในเมืองเพราะเป็นแหล่งทำมาหากิน เช่น ค้าขายในตลาด ทำงานรับจ้าง ส่วนใหญ่บุกรุกอยู่อาศัยในที่ดินราชพัสดุ ที่ดินวัด/สำนักงานพระพุทธศาสนา เทศบาล รถไฟ เช่าที่ดินเอกชน ฯลฯ มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เสี่ยงต่อการโดนไล่ที่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม มีปัญหาขยะ น้ำเน่าเสีย บ้านเรือนทรุดโทรม ประชาชนมีรายได้น้อย ฐานะยากจน ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ชุมชนต่างๆ ได้มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มออมทรัพย์ และเริ่มมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ให้ชาวบ้านรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการบ้านมั่นคง เริ่มประมาณปี 2549
สมชาติ ภาระสุวรรณ อดีต ผอ.พอช. (ที่ 3 จากขวา) เยี่ยมชาวชุมชนนครสวรรค์ และอร่ามศรี (ขวาสุด)
เช่น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่ทรุดโทรมและสภาพ แวดล้อมในชุมชนเดิมให้ดีขึ้น เช่น ทางเดิน ท่อระบายน้ำ เริ่มที่ชุมชนเขาโรงครัว วัดเขาจอมคีรีนาคพรต รณชัย จำลองวิทย์ ฯลฯ ซึ่งต่อมาตัวแทนชุมชนต่างๆ ได้รวมกันเป็น ‘เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์’ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นจริง มีการสำรวจชุมชนที่เดือดร้อนเพื่อเป็นใช้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหา
จากการสำรวจในครั้งนั้น (ช่วงปี 2550) พบว่า มีชุมชนในเขตเทศบาลบุกรุกที่ดินของราชพัสดุ 25 ชุมชน ที่ดินวัด/สำนักงานพระพุทธศาสนา 8 ชุมชน ที่ดินตนเอง/เช่าเอกชน 18 ชุมชน และที่ดินอื่น ๆ 10 ชุมชน รวม 16,319 ครัวเรือน จึงนำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชน
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘คณะกรรมการเมือง’ ขึ้นมา เพื่อการวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ คณะกรรมการเมืองประกอบด้วย เทศบาลนครนครสวรรค์ ธนารักษ์จังหวัดนครสวรรค์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปา สำนักงานที่ดินจังหวัด และ พอช.
“พอถึงช่วงปลายปี 2550 ชุมชนจำลองวิทย์ซึ่งบุกรุกที่ดินราชพัสดุถูกไฟไหม้ ชาวบ้านมีความเดือดร้อนไม่มีที่อยู่อาศัย ประมาณ 80 ครอบครัว เครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์และคณะกรรมการเมืองจึงได้ใช้กรณีของชุมชนจำลองวิทย์เริ่มต้นแก้ไขปัญหา โดยชาวบ้านเสนอขอเช่าที่ดินเดิมที่โดนไฟไหม้ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุที่ธนารักษ์ฯ ดูแล เพื่อจะสร้างบ้านใหม่ โดย พอช.จะสนับสนุนตามโครงการบ้านมั่นคง เมื่อธนารักษ์ให้เช่าที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี ชาวบ้านจึงจัดทำโครงการบ้านมั่นคงจนแล้วเสร็จภายในเวลา 2 ปี”
อร่ามศรีย้อนเส้นทางบ้านมั่นคงยุคแรกในนครสวรรค์ และว่า จากผลสำเร็จของชุมชนจำลองวิทย์ทำให้ชาวชุมชนเกิดความเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การยอมรับและเชื่อว่าชาวบ้านสามารถที่จะบริหารจัดการโครงการที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าหลายสิบล้านบาทได้
พลังภาคีแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง
ชุมชนจำลองวิทย์ถือเป็นต้นแบบในการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเจ้าของที่ดินแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินในเขตเทศบาลนครสวรรค์ เพราะพื้นที่ในเขตเทศบาลนครสวรรค์มีเนื้อที่ประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร แต่ประมาณ 80 % เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะที่ดินราชพัสดุที่ธนารักษ์จังหวัดดูแลอยู่
ตัวอย่างชุมชนอื่นที่แก้ไขปัญหาไปแล้ว เช่น ชุมชนรณชัย ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ตลาดสดเทศบาลนครนครสวรรค์ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายในตลาด ขายปลาสด ปลาตากแห้ง ดอกไม้ รับจ้าง ฯลฯ เดิมเป็นชุมชน บุกรุกที่ดินราชพัสดุมานานกว่า 60 ปี เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม มีชาวบ้านอยู่อาศัยเกือบ 100 ครัวเรือน เพราะอยู่ใกล้ตลาด ทำมาหากินง่าย
ชุมชนรณชัยได้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2549 โดยการร่วมกันจัดกลุ่มออมทรัพย์มีสมาชิก 62 ราย และต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากธนารักษ์จังหวัด เนื้อที่ 2 ไร่เศษ ระยะเวลา 30 ปี เพื่อเตรียมการสร้างบ้าน แต่ต่อมามีเอกชนรายหนึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของที่ดิน
โดยเอกชนอ้างว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินงอกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตนครอบครองมาก่อน จึงฟ้องร้องกรมธนารักษ์ และฟ้องร้องให้ชาวบ้านออกไปจากที่ดิน ใช้เวลาสู้คดีในศาลนานประมาณ 10 ปี กรมธนารักษ์จึงชนะคดี และชาวบ้านได้เริ่มต้นสร้างบ้านมั่นคงในปี 2560 จำนวน 54 หลัง ขณะนี้ก่อสร้างบ้านเสร็จแล้วทั้งหมด
พิธียกเสาเอกชุมชนรณชัยเมื่อ 1 สิงหาคม 2560 มีผู้บริหาร พอช.ร่วมงาน
ส่วนแบบบ้าน เป็นบ้านขนาด 4x8 ตารางเมตร แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น บ้านแฝด 2 ชั้น และบ้านแถว 2 ชั้น ราคาประมาณ 250,000-310,000 บาท ผ่อนชำระ 15 ปี (รวมค่าเช่าที่ดิน) เดือนละ 1,915-2,330 บาท โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง 2.85 ล้านบาท อุดหนุนสร้างบ้านรวม 1.42 ล้านบาท โดยใช้สินเชื่อจาก พอช. รวม 11.7 ล้านบาท และธนารักษ์จังหวัดให้เช่าที่ดินระยะ 30 ปี อัตราตารางวาละ 4.50 บาทต่อเดือน ขณะที่การไฟฟ้าได้ขยายเขตไฟฟ้าเข้าไปในชุมชน
ชุมชนรณชัยปัจจุบันสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด
‘สวรรค์เมืองใหม่’ แบ่งปันที่ดินให้เพื่อน
ชุมชนสวรรค์เมืองใหม่ ถือเป็นต้นแบบการขอใช้ที่ดินรัฐหรือที่ราชพัสดุนำมาสร้างบ้านให้แก่ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อน เป็นที่ดินแปลงใหม่ ไม่ใช่ที่ดินที่ชาวบ้านเคยบุกรุกหรือสร้างบ้านอยู่ก่อน ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่หลังสำนักงานอัยงานจังหวัด เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 16 ไร่ โดยธนารักษ์จังหวัดให้เช่าที่ดินระยะเวลา 30 ปี อัตราตารางวาละ 1.75 บาทต่อเดือน
ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่กว่า 100 ครอบครัวมาจากชุมชนสถานีรถไฟปากน้ำโพ บุกรุกที่ดินการรถไฟมานานหลายสิบปี และเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง โดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน (แต่ละครอบครัวจะต้องออมเงินเข้ากลุ่มทุกเดือนเพื่อให้ได้จำนวน 10 % ของจำนวนสินเชื่อที่จะขอใช้สร้างบ้านจาก พอช.) และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์บ้านมั่นคงสวรรค์เมืองใหม่
บ้านมั่นคงสวรรค์เมืองใหม่ สวยงามไม่แพ้บ้านจัดสรร แต่มีราคาเพียง 290,000-380,000 บาท
สุชญา อินทรปัตย์ ผู้จัดการสหกรณ์บ้านมั่นคงสวรรค์เมืองใหม่ บอกว่า ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2554 เริ่มสร้างบ้านในปี 2560 ขณะนี้ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จทั้งหมดจำนวน 102 หลัง และชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าอยู่อาศัยเกือบทั้งหมดแล้ว เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว และบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาด 6 × 8 ตารางเมตร ราคาบ้าน 290,000-380,000 บาท พอช.อนุมัติสินเชื่อรวม 26.5 ล้านบาท (หลังละ 230,000-300,000 บาท) และอุดหนุนสร้างบ้านหลังละ 23,000 บาท
ส่วนชาวบ้านสมทบเงินหลังละ 37,000-57,000 บาท ผ่อนชำระ 15 ปี เดือนละ 1,941-2,532 บาท (รวมค่าเช่าที่ดิน) นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนงบจำนวน 10.5 ล้านบาท เพื่อถมดิน ปรับภูมิทัศน์ บำบัดน้ำเสีย ส่วนเทศบาลและการไฟฟ้า สร้างถนน ประปา ขยายไฟฟ้า ฯลฯ รวมงบประมาณ 26.4 ล้านบาท
“ที่ดินที่ชุมชนสวรรค์เมืองใหม่ 16 ไร่ เราใช้สร้างบ้านประมาณ 13 ไร่ ยังเหลือเนื้อที่อีก 3 ไร่ เราจะแบ่งพื้นที่ที่เหลือนี้ทำโครงการให้ชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเองได้เข้ามาอยู่ เป็นลักษณะเป็นบ้านแถว จะสร้างได้ประมาณ 80 ห้อง ส่วนชุมชนที่จะเข้ามาอยู่ก็จะต้องทำตามกระบวนการบ้านมั่นคง คือเข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์ ร่วมประชุม ร่วมกิจกรรมในชุมชน ตามแผนงานจะเริ่มได้ในปี 2565” ผู้จัดการสหกรณ์บอก
นอกจากนี้ยังมีบ้านมั่นคง ‘ชุมชนหน้าวัดนครสวรรค์’ ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนรณชัย อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร สร้างบ้านใหม่ในที่ดินราชพัสดุแปลงเดิม ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 310,000 บาท โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อและเงินอุดหนุน ผ่อนชำระเดือนละ 2,330 บาท คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะแล้วเสร็จทั้งหมด
ชุมชนหน้าวัดนครสวรรค์ก่อนสร้าง-กำลังสร้างใกล้เสร็จรองรับ 42 ครอบครัว
เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในที่ดินรัฐ
อร่ามศรี จันทร์สุขศรี คณะทำงานการจัดการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยจังหวัดนครสวรรค์ (คทน.) บอกว่า ตัวอย่างการขอเช่าที่ดินรัฐหรือราชพัสดุเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเขตเทศบาลนครสวรรค์ เช่น ชุมชนสวรรค์เมืองใหม่และหน้าวัดนครสวรรค์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่หน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน แต่ในเขตเทศบาลนครสวรรค์ยังมีอีกหลายสิบชุมชน หลายพันครอบครัวที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะจากการสำรวจข้อมูลชุมชนผู้มีรายได้น้อย และเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาล พบว่ามีทั้งหมด 71 ชุมชน รวม 16,319 ครัวเรือน
“เราเริ่มแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2549 ตอนนี้เวลาผ่านไป 16 ปี เราทำไปได้ประมาณ 30 ชุมชน กว่า 4,000 ครอบครัว ยังเหลืออีกประมาณ 40 ชุมชน อีกหลายพันครอบครัวที่ยังไม่มีความมั่นคง ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่บ้านเช่า หรือที่ดินบุกรุก เสี่ยงต่อการถูกไล่ที่ แต่เราจะทำโครงการต่อไปก็ไม่ได้ เพราะยังไม่มีที่ดินรองรับ จะซื้อที่ดินก็เอกชนก็มีราคาแพงเกินกำลังคนจน ส่วนที่ดินของรัฐส่วนใหญ่ก็เป็นที่ดินสีน้ำเงินหรือที่ดินสงวนของรัฐ” อร่ามศรีบอกถึงปัญหาสำคัญ
เธอยกตัวอย่างว่า ที่ดินราชพัสดุ รวมทั้งที่ดินรัฐอื่นๆ ในเขตเทศบาลนครสวรรค์ยังมีอีกมาก แต่ส่วนใหญ่ผังเมืองกำหนดให้เป็นที่ดินสีน้ำเงิน สงวนเพื่อเป็นหน่วยงานราชการ กิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น เป็นที่ดินของสถาบันการศึกษา วัด ศาสนสถาน ทหาร ฯลฯ แม้ว่าโดยหลักการหน่วยงานเจ้าของที่ดิน เช่น ราชพัสดุจะยินยอมให้ชาวบ้านเช่าเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย แต่ยังติดขัดเรื่องผังเมืองสีน้ำเงิน ต้องไปแก้ไขผังเมือง ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก และไม่มีหน่วยงานไหนอยากจะเป็นเจ้าภาพ
“แต่การแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยคนจนในเมืองนครสวรรค์ก็จะต้องเดินหน้าต่อไป และที่ผ่านมาเครือข่ายบ้านมั่นคงนครสวรรค์ได้มีการพูดคุยกับทางเทศบาลว่าจะมีช่องทางไหน หรือมีกฎระเบียบอะไรที่เทศบาลสามารถนำออกมาใช้เพื่อให้ชาวบ้านอยู่อาศัยในที่ดินสีน้ำเงินได้ ซึ่งเรื่องนี้เราก็จะต้องผลักดันต่อไป” อร่ามศรีบอก
อร่ามศรีบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายได้ร่วมเสนอมติเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2559 เรื่อง ‘การจัดการและการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ’ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำมติไปขับเคลื่อนเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ยังร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เสนอรูปแบบ ‘บริษัทพัฒนาเมือง’ ที่นครสวรรค์ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ทั้งชุมชน เอกชน และประชาสังคม ไม่ใช่เฉพาะแต่ภาครัฐ เพื่อร่วมกันวางแผนว่าจะพัฒนาเมืองไปในทิศทางใด เป้าหมายเพื่อสร้างเมืองให้น่าอยู่ มีพื้นที่สีเขียว มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการมีที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจ
เพราะหากคนจนอยู่ในเมืองไม่ได้ หรือมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก เมืองก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้ !!
คนจนเมืองนครสวรรค์เดินรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” จัดกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 ส่วนภูมิภาค จังหวัดนครสวรรค์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรม แฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 โดยยกขบวน แฟรนไชส์ชั้นนำกว่า 40 แบรนด์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม บริการ และค้าปลีก มาให้ผู้สนใจได้เลือกสรรตามความสนใจและความถนัด