สวธ.ประชุมจัดการมรดกภูมิปัญญาน่าน ‘แข่งเรือ-ผ้าทอไทลื้อ-บ่อเกลือภูเขา’ เน้นฐานชุมชน

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2568” เมื่อวันที่ 17-19 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา เพื่อให้เด็ก เยาวชนและประชาชนเกิดความตระหนักรับรู้ในคุณค่าและความสำคัญ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในชุมชนของตนเอง เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมและต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เกิดประสิทธิผลกับชุมชนเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้คัดเลือกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งหมด 11 รายการ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 1.ประเพณีแข่งเรือพญานาคเมืองน่าน 2.ผ้าทอไทลื้อ 3. บ่อเกลือภูเขา จังหวัดน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ 1.สังข์ศิลป์ชัย จังหวัดขอนแก่น 2.ผ้าทอผู้ไท จังหวัดกาฬสินธุ์ 3.เอ็งกอ จังหวัดอุดรธานี

ภาคกลาง ได้แก่ 1.ตำนานสุบินกุมาร จังหวัดนครปฐม 2.น้ำตาลมะพร้าว จังหวัดสมุทรสงคราม 3.ผ้าทอไทยวน จังหวัดราชบุรี และภาคตะวันออก 1.เสื่อกกจันทบูร จังหวัดจันทบุรี 2.วิถีชีวิตภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ชอง จังหวัดตราด

ทั้งนี้ มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่จังหวัดน่าน ตามรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมภาคเหนือ 3 รายการ ได้แก่ ประเพณีแข่งเรือพญานาคเมืองน่าน ผ้าทอไทลื้อ และบ่อเกลือภูเขา

นางสาวกิตติพร ใจบุญ ผู้อำนวยการกองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กล่าวว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ไม่เหมือนโบราณสถาน แต่เป็นองค์ความรู้ที่อยู่ในภูมิปัญญา เกิดจากทักษะที่สะสม อย่างทรงคุณค่าและสืบต่อกันมา มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่  ไม่ว่าจะเป็นความรู้เชิงช่าง ,ช่างฝีมือ,ช่างโลหะ หากไม่มีการอนุรักษ์และส่งต่อให้เยาวชนรุ่นหลังร่วมกันอนุรักษ์และสืบสาน ก็อาจส่งผลให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่านี้สูญหายไป  แม้ในปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาบางส่วน จะถูกขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาแห่งชาติ แต่ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงใกล้สูญหาย เช่น บ่อเกลือภูเขา จ.น่าน

นางลำไย วงศ์ไทย เจ้าของศูนย์การเรียนรู้เฮินลำไยลื้อ ในฐานะเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  ผ้าทอไทลื้อ กล่าวว่า ชนเผ่าไทลื้ออพยพมาจากสิบสองปันนานานกว่า 300 ปีแล้ว ด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ  สะท้อนอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่หัวจรดเท้า เสื้อผ้า  ผ้าโผกศีรษะ ถุงย่าม ล้วนแต่ทอผ้าและตัดเย็บสวมใส่เอง ย้อมด้วย สีธรรมชาติ  ไม่ว่าจะเป็น สีดำ สีแดง สีน้ำเงิน  ส่วนลวดลายผ้าก็สะท้อนเรื่องราวธรรมชาติ อย่างเช่น ผ้าลายน้ำไหล  ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวดน่าน หรือ ลวดลายสัตว์ที่อยู่ในผืนผ้า ก็สะท้อนวิถีชีวิต

นางลำไย กล่าวว่า การอนุรักษ์ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องเปิดกว้างการเรียนรู้ ไม่จำกัดว่าทุกสิ่งที่เรียนรู้จะต้องแบบเดิมตลอดไป เหมือนเช่นรูปแบบของผ้าไทลื้อที่ไม่ได้จำกัดแบบเดิมว่า ต้องเป็นการทำเพื่อใช้เป็นผ้านุ่ง หรือซิ่น เพราะโอกาสสวมใส่ปัจจุบัน อาจน้อยไม่เหมือนในอดีต ดังนั้นต้องรู้จักนำมาประยุกต์ อาจมาตัดเย็บเป็นกระโปรง เสื้อ หรือ กางเกง หรือ นำเศษผ้า ลายผ้า มาปะติดกับเสื้อยืดให้ง่ายแก่การสวมใส่
“ การสืบทอดภูมิปัญญาต้องเปิดกว้าง ไม่คับแคบ และไม่หวงกั้นทั้งเรื่องของการทอผ้า ย้อมสี หากเจออาจารย์ดีมีการเปิดกว้างทุกอย่างก็ราบรื่น มรดกทางภูมิปัญญาก็ยังคงอยู่ และส่งต่อไปอย่างครบถ้วน ”นางลำไย กล่าวว่า

ขณะที่ นางสาวศรีสวลัย คำรังษี ครูภูมิปัญญาไทย  กล่าวว่า ผ้าทอไทลื้อสะท้อนความเป็นไทลื้ออย่างแท้จริง เพราะคนทอเป็นคนไทลื้อ มีการย้อมสีธรรมชาติ  รูปแบบการทอแบบทั้งเดิม (แบบตะกร้อเขาเกาะ ) ซึ่ง มีลวดลายมากถึง 108 แบบ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ ที่ยืนพื้นมาจากลายที่เป็นรากฐานสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด  แล้วมาประดิษฐ์เป็นลวดลายเติมต่อเพิ่มได้มากขึ้น มีทั้งลายสัตว์หิมพานต์ หรือ สัตว์ในวิถีชีวิตพื้นบ้าน ม้า ,ช้าง  ซึ่งผ้าทอ 1 ผืนนี้ จะใช้เวลาประมาณ ครึ่งเดือน  
” ปัจจุบันการสวมใส่ผ้าทอไทลื้อ กลายเป็นนิยมสวมใส่ในกลุ่มคนที่มีฐานะหรือชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะราคาผ้า 1 ผืน ไม่ต่ำว่า 3,500  บาท  อีกทั้งคนทอผ้าก็เหลือน้อย เพราะขั้นตอนการทอยุ่งยาก ดังนั้นต้องอาศัยใจรัก จึงอยากให้เด็กรุ่นใหม่ เห็นคุณค่าของผ้าไทลื้อ เรียนรู้ฝึกทอ และต้องได้รับการสนับสนุนเรื่องรายได้อย่างจริงจัง  ”นางสาวศรีสวลัย กล่าว

ด้าน นายสมเจตน์ วิมลเกษม ครูภูมิปัญญา กล่าวว่า “บ่อเกลือภูเขา” จ.น่าน เป็นแหล่งผลิตเกลือเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือ ส่งผลให้ “เกลือ” กลายเป็นยุทธปัจจัยสำคัญ และเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับอาณาจักรสุโขทัยอีกด้วย แม้ปัจจุบัน  “เกลือ” ไม่ได้ขาดแคลนหรือหายากเหมือนในอดีต แต่ยังอยู่ในวิถีชีวิตของคนพื้นที่ โดย “บ่อเกลือ” ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดน่านแทน แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคน เดินทางมาเที่ยวชมบ่อเกลือ เพื่อมาศึกษาเรียนรู้มรดกภูมิปัญญาของชาติ ที่นับวันใกล้จะสูญหาย  เนื่องจากมีบ่อเกลือเหลืออยู่ 13 แห่ง และมีโรงต้มเกลือ 27 แห่ง

“ กรรมวิธีการต้มเกลือของเมืองน่าน ยังคงเป็นแบบเดิม อีกทั้ง ยูเนสโกยกย่องให้ บ่อเกลือเมืองน่านเป็น 1 ใน 29 บ่อเกลือที่มีเรื่องเล่าจากบ่อเกลือมาอย่างยาวนาน เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าคนทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของเกลือ แต่คนเมืองน่านอาจอยู่กับเกลือตั้งแต่เกิด อาจเห็นคุณค่าน้อยลง ในต่างประเทศบ่อเกลือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น  เมืองซาลซ์บูร์ก หรือ ซาลซ์เบิร์ก (Salzburg)  ประเทศออสเตรีย ”นายสมเจตน์ กล่าว

ด้าน นายสาโรจน์ อุปจักร ผู้ใหญ่บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จ.น่าน  ในฐานะเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  บ่อเกลือภูเขา กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การทำเกลือในชุมชนจะมีส่วนสำคัญให้มรดกภูมิปัญญานี้ไม่สูญหาย จึงได้ร่วมกับ โรงเรียนบ้านบ่อหลวง บรรจุวิชาการทำเกลือ ให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อย่างน้อยเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องเข้าใจกระบวนการทำเกลือ สามารถต้มเกลือได้  เพราะการทำบ่อเกลือ สงวนอนุรักษ์และส่งต่อให้คนในพื้นที่เท่านั้น

ส่วนการเพิ่มมูลค่าให้เกลือนั้น นางสาวธัชกร ทะสีแก้ว เจ้าของธุรกิจ รฤกบ่อเกลือ สปาเกลือ กล่าวว่า เกลือสินเธาว์ที่ได้จากบ่อเกลือในพื้นที่กิโลกรัมละ15 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว  เช่น เกลือสปาขัดผิว ,เกลือแช่เท้า ,ยาสีฟันเกลือ หรือ สบู่เกลือ ทำให้เกลือ 200 กรัม ขายได้ถึง 70 บาท นับเป็นการใช้ประโยชน์จากเกลืออย่างคุ้มค่า และยังเป็นการเพิ่มมูลค่า เพราะใช้เกลือในปริมาณที่น้อยลง แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นและในอนาคตเตรียมนำเกลือสมุนไพรมาวางจำหน่ายในรูปแบบสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

อาจารย์ยุทธภูมิ สุประการ อาจารย์ประจำวิทยาลัยชุมชนน่าน และเลขานุการสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน กล่าวว่า “ประเพณีแข่งเรือพญานาคเมืองน่าน” เชื่อมโยงมิติวิถีชีวิตผู้คนและเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เมือง สิ่งที่โดดเด่นที่ทำให้ตัวเรือที่นี่แตกต่างจากที่อื่นคือ การที่ตัวเรือเป็นรูปพญานาค ซึ่งพบได้ที่นี่ที่เดียว และยังเป็นประเพณีที่สะท้อนว่าชีวิตชาวน่านผูกพันกับสายน้ำ เป็น “ชีวิตวิถีน้ำ” ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเพณีแข่งเรือยังเชื่อมโยงกับศาสนาอีกด้วย เพราะชาวบ้านใช้แม่น้ำเชื่อมโยงไปที่วัด ซึ่งในช่วงออกพรรษา ชาวน่านจะมีกิจกรรมถวายทานสลากภัต ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเรือพญานาค เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านทำหลังฤดูเก็บเกี่ยว มีเวลาจัดเตรียมสลากภัตเพื่อนำไปถวายวัด โดยจะเริ่มที่วัดหลวง คือวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ทำในลักษณะการแห่เรือไปตามโค้งน้ำ ซึ่งหลังจากถวายสลากเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านก็จะพายเรือกลับบ้าน จึงเกิดเป็นประเพณีแข่งเรือเพื่อส่งทุกคนกลับบ้าน

” เรือแข่งจังหวัดน่าน เริ่มต้นจากแกนหลักสำคัญคือพระพุทธศาสนา และศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า ตัวเรือจึงเปรียบเสมือนพุทธบูชาที่ชาวบ้านร่วมแรงแข็งขันประกอบสร้างขึ้นมาเป็นเรือพญานาค และแห่ครัวตานไปถวายของที่วัด จากนั้นนำเรือมาแข่งขันเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งความงดงามของประเพณีสายน้ำเช่นนี้ได้รับการสืบทอดต่อเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น”อาจารย์ยุทธภูมิ กล่าว

ด้านพระครูวิมลนันทญาณ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ในฐานะเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กล่าวว่า ต้องช่วยกันสืบสานให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักและเห็นคุณค่าของเรือพญานาคเมืองน่าน เพราะถือเป็นเรือที่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งที่วัดเจดีย์มีพระสงฆ์ที่สามารถวาดลวดลายและแกะสลักของเรือให้สวยงามตามแบบวัฒนธรรมโบราณ โดยศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน และยังส่งพระสงฆ์ไปศึกษากับช่างสิบหมู่ ทั้งเรื่องการวาดลวดลาย การแกะสลักโขนเรือ ท้ายเรือ ตัวเรือที่เป็นรูปพญานาค โดยเรือที่อยู่ ณ วัดเจดีย์แห่งนี้ นอกจากจะนำลงแข่งจริงแล้ว ยังเป็นที่ที่ใช้เทศน์ธรรมอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน