‘คนห้วยคต’ จ.อุทัยธานีเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เตรียมเปิด ‘ตลาดกระเหรี่ยง’สร้างเศรษฐกิจชุมชน 5 ก.พ.นี้

ชาวบ้านตำบลสุขฤทัย อ.ห้วยคต ช่วยกันลงแรงสร้างบ้าน

เตรียมเปิดตลาดกะเหรี่ยง 5 กุมภาพันธ์นี้

อุทัยธานี / คนห้วยคต 3 ตำบลเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ ที่ พอช.สนับสนุน  ใช้งบกว่า 37 ล้านบาท  เช่น  ซ่อม-สร้างบ้านใหม่ให้ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนรวม 791 ครอบครัว  ขณะนี้ดำเนินการแล้วกว่า 100 หลัง  ส่วนที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นสร้างแหล่งน้ำ-ประปาภูเขาเข้าพื้นที่ทำการเกษตร  เตรียมเปิด ‘ตลาดกะเหรี่ยง’ 5 กุมภาพันธ์นี้  เพื่อเป็นแหล่งซื้อขายผลผลิต  สร้างเศรษฐกิจชุมชน

 อำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี  เป็นพื้นที่นำร่องและเป็นต้นแบบที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดและท้องถิ่นบูรณาการการทำงานร่วมกัน  เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และคุณภาพชีวิตประชาชนที่มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  ในรูปแบบของการพัฒนาทั้งเมือง  โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง พอช. กับหน่วยงานต่างๆ ใน จ.อุทัยธานี  เมื่อเดือนมิถุนายน 2564  ต่อมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา  จึงเริ่มดำเนินโครงการ

 ‘ห้วยคตโมเดล’ นำร่องการพัฒนาทั้งเมือง-ทุกมิติ

นายเชาวลิต เอี่ยมละออ   คณะประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานี  กล่าวว่า   อำเภอห้วยคตมี 3 ตำบล  คือ   ห้วยคต  สุขฤทัย  และทองหลาง  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  เช่น  ปลูกอ้อย  ข้าวโพด  มันสำปะหลัง  ทำนา  ฯลฯ  ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางถึงยากจน   มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตป่าสงวนฯ   ที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรม  รายได้น้อย  แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ  ฯลฯ 

เชาวลิต เอี่ยมละออ

“ในปี  2560  พอช.เข้ามาสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท  เพื่อให้ครัวเรือนที่มีฐานะยากจน  บ้านเรือนทรุดโทรมได้ซ่อมแซมบ้านให้มีสภาพดีขึ้น  โดยเริ่มโครงการที่ตำบลสุขฤทัยกว่า 100 ครัวเรือน  แต่เมื่อทำเสร็จแล้วพบว่าในตำบลยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน  เช่น  ปัญหาที่ดินของชาวบ้านทับซ้อนกับที่ดินป่าสงวนฯ  ขาดแคลนแหล่งน้ำในการเกษตร  เรื่องอาชีพ  รายได้น้อย  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานีจึงเห็นว่าควรจะแก้ไขปัญหาอื่นๆ  ด้วย  และขยายไปยังตำบลอื่นๆ  เป็นการแก้ไขทั้งอำเภอ ทั้งเมืองและทุกมิติ” นายชวลิตกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอห้วยคต

โครงการบ้านมั่นคงชนบทอำเภอห้วยคต  เริ่มดำเนินการในช่วงปลายปี 2564  ที่ผ่านมา  โดยก่อนหน้านั้นขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานี  ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน 3 ตำบล   คือ   ห้วยคต  สุขฤทัย  และทองหลาง  สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้ง 3 ตำบล  เช่น  ปัญหา  ความต้องการของชุมชน  เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ  ตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  การส่งเสริมอาชีพและรายได้   การพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดย พอช. สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือทำงาน   และสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ

การลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ และมอบงบประมาณสนับสนุนชุมชน  เมื่อ 28 มิถุนายน 2564 ที่จังหวัดอุทัยธานี

ในปีงบประมาณ 2564-2565  พอช. ได้อนุมัติโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อยอำเภอห้วยคต  3 ตำบล  รวม  791 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 37.1 ล้านบาทเศษ  แยกเป็น  ตำบลห้วยคต  งบประมาณ 12.9 ล้านบาท  มีโครงการที่สำคัญ  เช่น  ซ่อมสร้างบ้าน (154  ครัวเรือน  งบ 4 ล้านบาทเศษ)  เจาะบ่อบาดาล  ส่งเสริมอาชีพปลูกไม้ผล  เลี้ยงเป็ด  ไก่   ฯลฯ  ปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำ 

 ตำบลสุขฤทัย  งบประมาณ 12.9  ล้านบาท  มีโครงการสำคัญ  เช่น  ซ่อมสร้างบ้าน  ขุดบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำโซล่าร์เซลล์  ส่งเสริมการปลูกกล้วย  ผักสวนครัว  อาชีพ   และ ตำบลทองหลาง  งบประมาณ 11.3 ล้านบาทเศษ  ซ่อมแซมบ้าน  (219  ครัวเรือน  งบ 6.4 ล้านบาท) ส่งเสริมอาชีพ  สร้างแหล่งน้ำ  ประปาภูเขา  ตลาดชุมชน   วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง  ฯลฯ

โครงการต่างๆ   เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นมา   เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  ขณะนี้ซ่อมสร้างบ้านในตำบลห้วยคตและสุขฤทัยไปแล้วกว่า 100 หลัง   ส่วนในปี 2565 จะทยอยซ่อมสร้างบ้านในส่วนที่เหลือ  รวมเป้าหมายทั้งหมด 791 ครัวเรือน  นอกจากนี้ก็จะเริ่มโครงการส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้  และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนแต่ละตำบลเป็นกลไกขับเคลื่อนงาน” นายชวลิตบอกถึงความคืบหน้าและแผนงานที่จะทำต่อ

สร้างบ้านใหม่ที่ตำบลสุขฤทัย

‘บ้านมั่นคง’  ซ่อม-สร้างบ้านครัวเรือนยากจน

โครงการบ้านมั่นคงชนบทเป็นโครงการที่ พอช.สนับสนุนให้ชุมชนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกิน  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ  ครบทุกมิติ  ไม่เฉพาะการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  และจัดทำโครงการทั้งเมือง  เช่น  การซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่ยากจน  การแก้ไขปัญหาที่ดิน  การส่งเสริมอาชีพ  รายได้  สร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

นายไพโรจน์  ศรีมงคล  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลสุขฤทัย  บอกว่า  ตำบลสุขฤทัยมี 13 หมู่บ้าน  และมีตัวแทนแต่ละหมุ่บ้านเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคงร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลสุขฤทัย  ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก พอช. เพื่อซ่อมสร้างบ้านปีนี้จำนวน  268 ครัวเรือน  งบประมาณเฉลี่ยไม่เกินครัวเรือนละ 25,000 - 40,000 บาท 

“แม้งบประมาณจะไม่มาก  แต่เราจะใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน  เช่น  มีช่างในชุมชนมาช่วยถอดแบบซ่อมบ้านว่าจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง  จำนวนเท่าไหร่  และใช้วิธีจัดซื้อวัสดุร่วมกันทั้งตำบล  เพื่อจะได้ส่วนลด  หรือต่อรองราคาได้  และใช้วิธีการลงแรงซ่อมสร้างบ้านจากชาวบ้านและช่างในชุมชน  เพื่อประหยัดงบประมาณ  หากงบไม่พอ  เจ้าของจะต้องสมทบเงินเพื่อซื้อวัสดุ”  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บอกถึงกระบวนการซ่อมสร้างบ้าน

ชาวตำบลสุขฤทัยลงแรงช่วยกันสร้างบ้าน

เขาบอกด้วยว่า  ในการซ่อมสร้างบ้านจะมีคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านร่วมเป็นคณะทำงาน  แบ่งหน้าที่ต่างๆ  เช่น  ฝ่ายจัดซื้อ  สำรวจราคาวัสดุ  ตรวจรับวัสดุ  ตรวจสอบการซ่อมสร้างว่าเป็นไปตามแบบหรือไม่ 

“นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยตำบลสุขฤทัย  โดยจะเก็บเงินจากชาวบ้านที่ได้รับการสนับสนุนซ่อมบ้านทั้ง  268 ครอบครัวๆ ละ 30 บาทต่อเดือน  หรือเก็บเป็นปีๆ ละ 360 บาท  เพื่อนำเงินมาเป็นกองทุนสำหรับเอาไปช่วยผู้เดือดร้อนรายอื่นซ่อมสร้างบ้าน  หรือให้กู้ยืมเพื่อใช้ต่อเติมหรือซ่อมสร้างบ้านต่อไป”  ผู้ใหญ่บ้านบอกถึงแผนการบริหารกองทุน  และยกตัวอย่างว่า  หากครอบครัวใดได้รับงบสนับสนุนการซ่อมบ้าน 25,000 บาท  จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท  จนกว่าจะครบจำนวน 25,000 บาท  เพื่อให้กองทุนเติบโตไม่หมดไป

ป้าจำปา  กล้าถิ่นภู  อายุ 60 ปี  อยู่ที่หมู่ 13 ตำบลสุขฤทัย  บอกว่า  ป้ามีอาชีพรับจ้างทั่วไป  มีรายได้วันละ 250-300 บาท  อาศัยอยู่กับพี่น้องในที่ดินราชพัสดุ  ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง  ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการในหมู่บ้านให้ได้รับงบประมาณช่วยเหลือจาก พอช. จำนวน 40,000 บาท  จึงสร้างบ้านใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 

“เงิน 40,000 บาทคงไม่พอสร้างบ้านใหม่  ป้าก็ต้องเอาเงินเก็บที่มีมาสมทบสร้างบ้าน  อาศัยว่ามีเพื่อนบ้านและช่างในชุมชนมาช่วย  ทำให้ประหยัดเงินได้  ดีใจที่มีบ้านเป็นของตัวเอง  เพราะอาศัยพี่น้องอยู่มาตลอด  ตอนนี้บ้านเกือบเสร็จแล้ว”  ป้าจำปาบอก

บ้านของป้าจำปา  สร้างด้วยอิฐบล็อค  ขนาด 1 ห้องนอน  ชั้นเดียว

เตรียมเปิด ‘ตลาดกะเหรี่ยง’ สร้างเศรษฐกิจชุมชน

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ตำบลทองหลาง  บอกว่า  บ้านภูเหม็นได้รับงบ ประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงจาก พอช.  ประมาณ 1   ล้านบาทเศษ (พอช. สนับสนุนงบทั้งตำบลทองหลาง 11.3 ล้านบาท)  นำมาจัดทำโครงการต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา 

เช่น ประปาภูเขา  โดยใช้เครื่องสูบน้ำจากบ่อด้านล่าง  แล้ววางท่อประปาความยาว 200  เมตร  รวม 6 จุด  เพื่อดึงน้ำขึ้นไปเก็บในถังน้ำบนเนินเขา  ขนาดความจุ  2,000 ลิตร  รวม  8  ถัง  เพื่อส่งลงมาในแปลงเกษตรของชาวบ้าน  มีชาวบ้านได้รับประโยชน์ประมาณ 20 ครอบครัว  ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวไร่  ข้าวโพด  ทุเรียน  ลำไย  ส้มโอ  มะม่วง  มะยงชิด  สับปะรด  ฯลฯ  ใช้งบจาก พอช.ประมาณ 150,000 บาท

ลุงอังคารบนเนินเขาที่ต่อท่อประปาขึ้นไปเก็บน้ำ

“เมื่อก่อนชาวบ้านจะปลูกไม้ผลต่างๆ บริเวณที่ลาดเชิงเขา  แต่ขาดแคลนน้ำ  ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว  ทำให้พืชที่ปลูกไม่โต  บางอย่างก็แห้งตาย   พอเราทำประปาภูเขาก็มีน้ำใช้  โดยจะสูบน้ำจากบ่อข้างล่างเอาไปไว้ในถังบนเขา  พอจะรดน้ำเราก็ปล่อยน้ำจากถังลงมา  รด 2-3 วันครั้ง  ถ้าหน้าฝนก็ไม่ต้องรด  ปีนี้เพิ่งได้ใช้น้ำเป็นปีแรก  ถ้าได้ผลดีเราก็จะขยายไปยังจุดอื่นๆ  จะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำทำเกษตรทั้งปี  และเราจะใช้เงินจากกลุ่มออมทรัพย์หมู่บ้าน  เอามาดูแลซ่อมแซมประปา”    ลุงอังคารบอก

สมบัติ  ชูมา  ที่ปรึกษาการพัฒนาหมู่บ้านภูเหม็น  บอกว่า  นอกจากโครงการประปาภูเขาแล้ว  บ้านภูเหม็นยังมีโครงการอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.  เช่น  การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว  โดยการปลูกไม้ยืนต้น  เช่น  พะยูง  ประดู่  มะค่า  ยางนา  เต็งรัง  ฯลฯ ในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน  เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,628 ไร่  และมีแปลงเพาะชำกล้าไม้เพื่อนำไปปลูก

การทำฝายชะลอน้ำ 2 จุดในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน  เพื่อสร้างความชุ่มชื้น  ทำให้ลำห้วยมีน้ำตลอดทั้งปี  และจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาและสัตว์ในลำห้วย  ห้ามจับปลา  มีความยาวประมาณ 400 เมตร  เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ปลา  เช่น  ปลาตะเพียน  ปลากั้ง  กดคัง  ฯลฯ

เด็กและเยาวชนกะเหรี่ยงช่วยกันเก็บหินมาทำฝายชะลอน้ำและทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ

“นอกจากนี้เรากำลังจัดทำ ‘ตลาดกะเหรี่ยง’ เป็นตลาดชุมชน  อยู่บริเวณริมถนนเส้นทางไปอำเภอห้วยคต  เพื่อให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยง  และชาวบ้านใกล้เคียง  เอาผลผลิตที่ปลูก  หรือสินค้าต่างๆ มาวางขาย  เช่น  ข้าวไร่  ฟักทอง  สับปะรด  แตง  ผักสวนครัว  ไม้ดอก  ไม้ประดับ  อาหารพื้นบ้าน  ขนม  เครื่องจักสาน  ผ้าทอ  เสื้อผ้ากะเหรี่ยงมาวางขาย  เป็นการเชื่อมโยงการผลิตกับการตลาด  และจะมีการแสดงศิลปะ  ดนตรี  การเต้นและร้องเพลงของเยาวชนกะเหรี่ยง  เปิดตลาดทุกวันเสาร์และอาทิตย์   จะเปิดวันแรกวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์นี้  จึงขอชวนพี่น้องจากอำเภออื่นๆ  รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่สนใจมาชมตลาดและอุดหนุนพี่น้องกะเหรี่ยง”  สมบัติชวนทิ้งท้าย

เด็กและเยาวชนเตรียมนำการแสดงมาโชว์ที่ตลาดกะเหรี่ยง

ภาพเขียนจากศิลปินชุมชนจะนำมาประมูลในวันเปิดตลาด 5 ก.พ.นี้  เพื่อนำเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชน

 

(เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต